คำถามที่ต้องตอบ จากกรณีโศกนาฏกกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลอุดรฯ

อุบัติเหตุอาคารโรงไฟฟ้าชีวมวลถล่มกับคำถามถึงมาตรฐาน การดูแลผลกระทบ และการมีส่วนร่วม หากแม้แต่มาตรฐานก่อสร้างขั้นต้นยังไม่มีความปลอดภัย แล้วชาวบ้านจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะดูแลผลกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้

 

 

กระแสข่าวครึกโครมเป็นการใหญ่ เมื่อเขตงานก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล หรือที่ชาวบ้านรับรู้ว่าโรงงานไฟฟ้าแกลบ ที่มีตัวอาคารโรงงานกว้างกว่า 240 เมตร สูง 15-30 เมตร บนพื้นที่ตั้งกว่า 100 ไร่ของบริษัท บัวสมหมาย ไบโอแมส จำกัด ในเขตพื้นที่ ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี โครงสร้างได้พังถล่มลง จนทำให้คนงานก่อสร้างเสียชีวิตทันที 1 ราย รถยนต์ 4 คัน ที่จอดอยู่ภายในตัวอาคารถูกต้นเสาและโครงเหล็กทับพังเสียหาย รวมถึงรถเครนขนาดใหญ่ที่จอดอยู่ถูกทับขาดเป็นสองท่อน ประเมินค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่นำมาสู่ความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ในช่วงเย็นของวันที่ 4 พ.ค.55 ขณะที่กลุ่มคนงานก่อสร้างที่อยู่ภายในตัวอาคารโรงงานประมาณ 20 คน กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามปรกติ ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกพัดใส่ตัวอาคารอย่างรุนแรง จนหัวหน้าคนงานต้องสั่งให้ลูกน้องหยุดการปฏิบัติงานและให้เข้าหาที่หลบกำบังภายในตัวอาคาร แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อตัวโครงสร้างเสาโรงงานที่ทุกคนเชื่อมั่นว่าแข็งแรงมั่นคงและได้มาตรฐาน กลับทยอยโค่นพังลงจนถล่มลงทั้งหมด เมื่อลมแรงระลอกสุดท้ายได้โถมเข้าใส่ตัวอาคาร
 
สิ้นสุดอาคารร่างทรงมหึมา คนงานก่อสร้างกว่า 20 ชีวิต วิ่งหนีเอาชีวิตรอดแทบไม่ทัน แต่มัจจุราชก็ยังต้องการชีวิต เมื่อเคราะห์กรรมตกอยู่ที่ชายหนุ่มจาก จ.นนทบุรี วัยเพียง 30 ปีเศษ ซึ่งไม่อาจหนีพ้นเอื้อมมือของอุบัติเหตุในครั้งนี้ได้ เขาถูกคานซึ่งจะรองรับน้ำหนักของโครงหลังคาทับเสียชีวิตคาที่ ทว่าสิ่งที่น่าแปลกและชวนสงสัยจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ คือ บ้านพักคนงานและบ้านชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งปลูกกันเป็นแบบมุงหญ้าคาธรรมดา กลับไม่มีความเสียหายใดๆ จากลมพายุฟ้าฝนในครั้งนี้เลย
 
นางสาวสดใส สร่างโศก กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม จ.อุบลราชธานี ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หากไม่เกิดอุบัติเหตุพังถล่มครั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จะยังรู้หรือเปล่าว่าจะเกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่บ้านของตนเอง จะรู้หรือเปล่าว่าหากสร้างเสร็จจะเกิดผลกระทบใดๆ ตามมากับชุมชน สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าฟ้าชีวมวล ซึ่งโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุนี้อยู่ห่างจากชุมชนไม่ถึง 1 กิโลเมตร และบริษัทบัวสมหมายฯ ไม่ได้สร้างแค่ที่อุดรฯ แห่งเดียว ที่ผ่านมามีการดำเนินโครงการและเริ่มทยอยก่อสร้างอีกมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วอย่าง จ.อุบลราชธานี หรือที่กำลังดำเนินการขออนุญาตอย่าง จ.ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ
 
“กรณีที่อุบลฯ หลังจากโรงงานเปิดใช้งานขึ้นก็เกิดปัญหากับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ผลกระทบจากฝุ่นโรงงานทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจโดยเฉพาะกับเด็ก ปัญหาการแย่งแหล่งน้ำใช้จากชาวบ้าน เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องการใช้น้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าสูง จึงทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำในการเกษตรต้องมาเสียสละแบ่งปันแหล่งน้ำให้นายทุน โดยต้องมาเสียประโยชน์จากผลิตผลทางการเกษตรของตนเองโดยที่ไม่ได้อะไรเลย” นางสาวสดใสกล่าว
 
นางสาวสดใส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลที่อุดรฯ เริ่มแรกจะผลิตไฟฟ้าเพียง 10 เมกะวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทั้งสร้างภาพต่อชุมชนว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กในชุมชนไม่มีผลกระทบรุนแรง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะจะเพิ่มพลังการผลิตเป็นกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นตามอย่างทบทวีคูณ ทั้งการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เพิ่มมากขึ้น หรือปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงแหล่งน้ำจากเกษตรกรและชุมชนเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิต ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วที่ จ.อุบลราชธานี ที่ผ่านมา บริษัทบัวสมหมายฯ หรือบริษัทอื่นที่จะดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่เคยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมหรือให้คนในชุมชนเจ้าของพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นและออกแบบการผลิตพลังงานในชุมชนของตนเองเลย แล้วอะไรจะเป็นมาตรฐานรองรับในเรื่องนี้ให้กับชุมชนและชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบได้
 
“ขณะนี้มีแผนการที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในอีสานกว่า 300 โรงงาน โรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งเป็นเรื่องของพลังหมุนเวียนที่ได้ใช้ประโยชน์ก็จริง แต่หากขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบ ไร้มาตรฐานในการจัดการดูแล ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม เพราะคนที่จะต้องรับชะตากรรมโดยตรงจากผลกระทบ คือชาวบ้านที่ต้องอยู่กับโรงงานกว่า 25 ปีของระยะเวลาการให้อนุญาตดำเนินกิจการ ไม่ใช่นายทุนเจ้าของกิจการที่มาแล้วก็ไป” นางสาวสดใสกล่าวทิ้งท้าย
 
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าสาเหตุสำคัญของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมาจากดินฟ้าอากาศ? มาตรฐานการก่อสร้าง? หรือความประมาทเลินเล่อของคนงาน? กันแน่ และหากเป็นเช่นนี้ชาวบ้านในพื้นที่จะมั่นใจกับโรงงานขนาดใหญ่ที่จะตั้งในชุมชนได้อย่างไร เพราะแม้แต่มาตรฐานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโรงงานขั้นต้นยังไม่มีความปลอดภัย ถ้าหากโรงงานแล้วเสร็จและมีการตั้งโรงงานขึ้น ชาวบ้านจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าผลกระทบอื่นจะดูแลและจัดการได้ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมในภายหลัง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท