Skip to main content
sharethis
โมนา เอลตาฮาวี นักข่าวสตรีที่ถูกทำร้ายและถูกกระทำทางเพศจากรัฐบาลขิงอียิปต์ในช่วงที่มีการชุมนุมจันุรัสทาห์เรีย ออกมาเปิดใจหลังจากที่บทความที่เธอเขียนถึงลัทธิความเกลียดชังสตรี (misogyny) ในโลกอาหรับ ถูกวิพากษฺ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
 
 
 
 
ลอว์รี่ เพนนี จากสำนักข่าวดิ อินดีเพนเดนท์ของอังกฤษ ได้พูดคุยสัมภาษณ์โมนา เอลตาฮาวี นักข่าวสตรีผู้ที่ถูกกระทำทางเพศในเหตุการณ์ที่จัตุรัสทาห์เรียของอียิปต์ ซึ่งเธอตอบโต้กลับด้วยการประณามทัศนคติทางเพศที่บุรุษมีต่อสตรีในอาหรับ
 
ในตอนนี้รอยแผลบนแขนของของโมนา เอลตาฮาวี เริ่มบางลงจนกลายเป็นรอยขีดจางๆ สีขาวแล้ว เมื่อ 6 เดือนก่อน เธอเป็นนักข่าวและผู้ที่ออกตัวสนับสนุนการปฏิวัติในอียิปต์ที่ถูกตำรวจอียิปต์ทุบตีอย่างโหดร้าย และถูกกระทำทางเพศที่ข้างถนนของจัตุรัสทาห์เรีย จนทำให้แขนและมือเธอบาดเจ็บ
 
"ฉันคิดว่ามันเป็นแค่การทุบตีไปเรื่อยเปื่อย แต่นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่าพวกเขารู้ดีว่าพวกเขากำลังทำอะไร" เธอกล่าว เครื่องประดับสีเงินบนแขนเธอกระทบกันเบาๆ ร่างกายของแอลตาฮาวีในตอนนี้ยังไม่สามารถออกท่าทางได้เต็มที่ แต่เธอก็ดีขึ้นกว่าจากที่เธอเคยบรรยายไว้
 
ลอว์รี่กับโมนานัดพบกันหลังจากที่เธอได้ตีพิมพ์บทความในนิตยสารนโยบายต่างประเทศในชื่อว่า "ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรา" ซึ่งได้แสดงให้เห็นภาพการเกลียดชังสตรีในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอลตาฮาวีเขียนไว้ว่า ความเกลียดชังสตรีเป็นเหมือนกระแสธารสีดำที่ไหลผ่านการเมืองของโลกอาหรับ ตั้งแต่การห้ามผู้หญิงขับรถในซาอุดิอารเบีย ไปจนถึงความรุนแรงทางเพศ การแต่งงานกับเด็ก และการตัดตอนอวัยวะเพศของสตรีในอียิปต์, อัฟกานิสถาน, ซูดาน
 
จะบอกว่าบทความนี้กลายเป็นที่ถกเถียง คงเป็นการกล่าวที่ยังเบาเกินไป นักสตรีนิยมและผู้มีแนวคิดต่อต้านสุดโต่งร่วมวงกับชาวมุสลิมสายอนุรักษ์นิยมโต้กลับบทความนี้เอาไว้ว่าบทความของเอลตาฮาวีนั้นมักง่าย มีแนวคิดล่าแบบล่าอาณานิคมยุคใหม่ และเป็นบทความที่ล่วงละเมิดต่อสตรีของมุสลิม (จากภาพในบทความที่เป็นภาพวาดของผู้หญิงที่กำลังหวาดกลัวและเพนท์ตัวเป็นรูปญิฮาบ) และทำความเสียหายต่อการปฏิวัติโลกอาหรับ
 
อย่างไรก็ตามผู้ที่โต้ตอบเธอจำนวนมาก ไม่ได้กล่าวถึงกรณีที่เธอถูกทำร้ายเลย
 
"ฉันโกรธมาก" เธอกล่าว "ฉันเป็นผู้ถูกกระทำโดยการทุบตีและกระทำชำเราทางเพศ ดังนั้นเมื่อฉันพูดถึงแนวคิดเกลียดชังสตรี ฉันก็ได้ประสบกับมันมาด้วยร่างกายของฉันเอง มันกลายเป็นจุดกำเนิดของความโกรธแค้น ฉันรู้ว่าฉันเขียนบทความชิ้นนี้ด้วยความโกรธแค้น แต่ฉันคิดว่ามันเป็นความโกรธแค้นที่ชอบธรรม"
 
"แทนที่จะท้าทายข้อเท็จจริงที่ฉันนำเสนอ การตอบโต้กลับกลายเป็น 'คุณกล้าดียังไงถึงทำให้พวกเราดูไม่ดี' " เอลตาฮาวี กล่าว
 
"เมื่อผู้หญิงออกมาเดินขบวนเช่นที่พวกเราทำกันในวันสตรีสากลที่เดินขบวนไปยังรัฐสภา มีผู้ชายคอยล้อมคุ้มกันพวกเรา และเมื่อฉันพูดถึงปิตาธิปไตยที่อยู่นอกเขตของกลุ่มผู้ชายที่ห้อมล้อม กลับมีคนบอกฉันว่า คุณไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังพูดถึงอะไร คุณกำลังทำให้เราดูไม่ดี แต่มันคือพวกเขาที่แหละที่ทำให้พวกเราดูไม่ดี ฉันเป็นผู้อยู่รอด ฉันเป็นคนส่งสาร" เอลตาฮาวี กล่าว
 
นักข่าวจากสองสำนักนัดพบกันที่ร้านอาหารเล็กๆ ในย่านฮาร์เล็ม รัฐนิวยอร์ก เอลตาฮาวี ซึ่งตอนนี้อายุได้ 44 ปีอาศัยอยู่ที่นี่หลังจากแต่งงานกับชาวอเมริกันในปี 2000 ทุกคนในร้านรู้จักเธอ บริกรทักทายเธออย่างร่าเริงเมื่อเธอเดินเข้ามาด้วยผ้าพันคอสีน้ำเงินสดใส
 
เอลตาฮาวีเติบโตในอียิปต์, ลอนดอน และซาอุดิอารเบีย เธอทำงานเป็นนักข่าวในตะวันออกกลางตั้งแต่อายุ 21 โดยทำข่าวให้กับรอยเตอร์และเดอะ การ์เดียน เขียนคอลัมน์ให้กับ อัสชาค อัล-อัสวัท ก่อนที่สำนักข่าวของซาอุฯ จะไล่เธอออก จากคำบอกเล่าของเธอ เธอถูกไล่ออกเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมูบารัคของอียิปต์มากเกินไป
 
"การเขียนวิจารณ์รัฐบาลเป็นสิ่งที่ฉันเน้นในงานของฉันมาก ดังนั้นฉันถึงคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติมาตั้งแต่ต้น" เธอกล่าว
 
เอลตาฮาวีถูกยกย่องให้เป็นวีรสตรีหลังจากที่เธอถูกทำร้าย แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเธอเป็น 'ลุงทอม' หลังจากที่เธอบอกว่าไม่เพียงแค่จากการข่มเหงของรัฐเท่านั้นที่ทำให้เธอถูกทำร้าย แต่เรื่องแนวคิดเกลียดชังสตรีมีส่วนในการทำร้ายเธอด้วย
 
น่าประหลาดที่ผู้คนยอมรับโมนา เอลตาฮาวีได้ในฐานะของผู้กล้า ผู้ที่ถูกทำให้เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศจากรัฐ มากกว่าโมนา เอลตาฮาวี ผู้ที่ส่งเสียงโวยวาย ผู้รอดชีวิตที่รู้สึกฉุนเฉียว ใช้นิ้วทั้งสิบที่เพิ่งรักษาตัวจากการบาดเจ็บจิ้มกดลงไปที่แผล ...'แผล' ซึ่งมีนามว่า "แนวคิดเกลียดชังสตรีที่มีอยู่ในโครงสร้างสังคมของเรา"
 
"มีคนจำนวนมากอ่านบทความฉันแล้วก็บอกว่า คุณทำให้สตรีอาหรับกลายเป็นเหยื่อที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ฉันไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย" เธอกล่าว "การที่บอกว่ามีลัทธิปิตาธิปไตยในวัฒนธรรมอาหรับไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธผู้หญิงในฐานะเป็นผู้กระทำ"
 
เธอบอกอีกว่า การพูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าเธอให้ความชอบธรรมต่อการใช้กำลังแทรกแซงจากชาติตะวันตกรวมถึงการใช้กำลังทางทหาร แม้ว่านักเสรีนิยมใหม่หลายคนจะใช้เรื่องสิทธิสตรีบังหน้าสิ่งที่เป็นวาระจริงๆ ของพวกตน ซึ่งในความจริงนิตยสารนโยบายการต่างประเทศฉบับเดียวกับที่เอลตาฮาวีเขียนบทความถึงนั้นก็มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้ "การเรียกร้องสิทธิสตรี" เป็นอาวุธที่ "มีขุมพลังทางสติปัญญา" 
 
"ฉันได้เขียนไว้ในส่วนไหนของบทความว่าให้มาช่วยพวกเราหรือเปล่า?" เอลตาฮาวีถาม เธอขึ้นเสียงจนคนโต๊ะข้างๆหันมามอง "สิ่งที่ฉันต้องการสื่อถึงโลกภายนอก โอเคฉันหมายถึงโลกภายนอก นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการให้คุณทำตอนนี้ เมื่อพวกเขาบอกคุณว่านี่คือวัฒนธรรมของพวกเรา อย่ามายุ่งกับมัน ให้รับฟังแต่เฉพาะคนอื่นที่ไม่ใช่เสียงจากผู้หญิงในพื้นที่ซึ่งกำลังต่อสู้ พื้นที่นี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจมาก และถ้าหากเราไม่ได้มาพูดถึงเรื่องนี้กันในช่วงที่การปฏิวัติกำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ ผู้หญิงก็จะเป็นฝ่ายแพ้อยู่ดี"
 
เป็นไปได้ว่าสิ่งที่บทความของเอลตาฮาวีเน้นวิจารณ์มากที่สุดคือเรื่องความเกลียดชังทางเพศต่อสตรีในโลกอาหรับ ดินแดนซึ่งความโหดร้ายของลัทธิชายเป็นใหญ่เป็นเหมือนพระอาทิตย์ที่ไม่มีวันตก และเมื่อฉันพูดถึงตรงนี้ เอลตาฮาวีก็แสดงความโกรธอีก
 
"แน่นอนว่ายังคงมีลัทธิชายเป็นใหญ่ในที่อื่น" เธอกล่าว "แต่ในครั้งนี้ฉันขอเน้นย้ำที่ส่วนหนึ่งของโลก โดยที่ไม่ต้องจัดการกับปัญหาของคนอื่นก่อนได้หรือไม่?"
 
จริงๆ แล้วเอลตาฮาวีก็ยืนยันหนักแน่นว่าผู้หญิงมุสลิมทั่วโลกอาจต้องประสบอุปสรรคปัญหามากเป็นพิเศษจากการที่คนที่ยึดถือความเชื่อทางศาสนาไม่ว่าจากศาสนาใด และทัศนคติทางเพศต่อสตรีของพวกเขาดูแทบจะคล้ายกันไปหมด
 
"ในอเมริกา มีกลุ่มภราดรภาพคริสเตียน เช่นเดียวกับที่ในอียิปต์มีกลุ่มภราดรภาพมุสลิม" เธอพูดต่อ
 
แม้ว่าเธอเพิ่งได้รับการรับรองเป็นพลเมืองอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว แต่เอลตาฮาวีก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับชาวอียิปต์ที่เป็นคนเดินดินทั่วไป และยังคงเดินทางไปอียิปต์หลายครั้งต่อปี
 
"หลังจากที่ฉันโดนทำร้ายฉันก็กลับไปอียิปต์แทบทุกเดือน" เธอกล่าว "ไม่มีทางที่พวกนั้นจะกันฉันออกจากบ้านเกิดเมืองนอนได้"
 
"เมื่อฉันเอาเฝือกแขนไทเทเนี่ยมนี้ออกแล้ว ฉันจะสักที่แขนนี้ด้วยชื่อถนนโมฮาเม็ด มาห์มูด ที่ฉันถูกจู่โจม เพื่อเป็นเกียรติ์แก่ผู้ที่เสียสละในการประท้วงบนท้องถนนแห่งนี้" เธอกล่าว ด้วยรอยยิ้มซุกซนเหมือนลูกสาวช่างเฉลียวที่ล่วงรู้ถึงความลับของครอบครัวและกำลังจะเปิดเผยมัน
 
"แล้วก็บนแขนนี้ ฉันจะสักรูปของเทพีเชคเมท เทพีแห่งเซ็กส์และการขำระแค้นของอียิปต์โบราณ ผู้ที่มีเศียรเป็นสิงโตตัวเมีย"
 
 
ที่มา:
Mona Eltahawy: Egypt's angry young woman, 17-05-2012, The Independent
http://www.independent.co.uk/news/people/profiles/mona-eltahawy-egypts-angry-young-woman-7758081.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net