Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ได้อ่านงานของการล้อ (Parody) การตลกร้าย (Irony/Satire) ในช่วงนี้แล้วก็เห็นการถกเถียงอย่างกว้างขวางมากมายทีเดียวครับ หนึ่งในบทความที่คิดว่าชอบที่สุดคือของ อธิป จิตตฤกษ์ [1] ซึ่งได้ให้หลักของการล้อและข้อโต้แย้งมุมกลับต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ในบรรดาความรู้มากมายที่ได้จากงานของคุณอธิปนั้น สิ่งแรกที่จับได้คือ หัวใจสำคัญของการล้อได้แก่การหาแง่มุมที่จะทำให้เกิดอารมณ์ “ขำ” แต่การขำที่ว่าไม่เคยเป็นสากล (universality) เพราะอย่างน้อยคนที่ถูกล้อหรือคนที่เคารพบูชาสิ่งที่ถูกล้อก็ไม่ขำไปด้วย และเมื่อมีคนไม่พอใจเสมอ การล้อจึงเป็นทั้งการส่งเสียงเรียกร้อง (active voices) และต้องรับแรงปฏิกิริยาร้องเรียก (reactive voices) กลับมาด้วยในเวลาเดียวกัน


 ภาพจาก Fabrication Fabrication (CC BY-NC-SA 2.0)

 

ทีนี้หากลองบิดมามองในแง่มุมแบบเศรษฐศาสตร์ทางเลือกสาธารณะ (Public Choices Economics) ก็คงกล่าวได้ว่า การส่งเสียงล้อและเสียงต่อต้านการล้อนั้นคือกระบวนการใจกลางของประชาธิปไตย เพราะทุกเสียงที่แสดงออกมานั้นเมื่อนับถ้วนแล้วหากเสียงไหน “มากกว่า” เสียงนั้นก็ควรจะได้รับการยอมรับ เช่น หากนายขนมต้มล้อนายขนมปัง แล้วนายขนมปังโกรธ (คนที่รักนายขนมปังก็โกรธไปด้วยก็พาลมาด่านายขนมต้ม) แต่โดยรวมแล้วการล้อของนายขนมต้มทำให้คนส่วนใหญ่ขำขันได้มากกว่าที่จะเกลียด (ซ้ำยังช่วยล้อเสียด้วย) เช่นนี้ กลุ่มของนายขนมปังก็นับว่าพ่ายแพ้ประชาธิปไตยการล้อในแบบเศรษฐศาสตร์ทางเลือกสาธารณะไป

ปัญหาสำคัญคือในตลาดการเมืองแห่งการล้อเลียน (Political Market of Parody) หรือตลาดที่จะนับได้ถ้วนว่าเสียงสนับสนุนการล้อเลียนดังกล่าวหรือเสียงคัดค้านปฏิเสธนั้นมากกว่ากัน “ไม่มีอยู่จริง” ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่คนเรานำบัตรไปลงคะแนนหย่อนลงกล่องแล้วสามารถนำขึ้นมานับได้อย่างเห็นๆ จะจะ การแสดงออกถึงเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านการล้อจึงต้องกระทำผ่านการแสดงออกทางการเมืองในรูปต่างๆ

นัยนี้ นับว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียเมื่อเทียบกับการหย่อนบัตรลงคะแนน เพราะว่า การหย่อนบัตรลงคะแนนนั้นเป็นเรื่องของการวัดแบบให้น้ำหนักเท่าๆ กันสำหรับทุกๆ คนในสังคม แต่ในพื้นที่ของการล้อเลียน น้ำหนักความรู้สึกไม่มีทางเท่าเทียมกัน คนที่ผ่านมาขำๆ กับคนที่เป็นใจกลางการถูกล้อเลียนย่อมรู้สึกเจ็บปวดขำขันในระดับที่แตกต่างกัน การแสดงออกทางการเมือง “นอกแบบ” การลงคะแนนเสียงเปิดโอกาสให้พูดถึง ความเข้มข้นของความรู้สึก (intensity of utility/disutility) ได้อย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันการขับเน้นอารมณ์เพื่อแสดงออกอย่างเต็มที่เหล่านั้นก็แฝงความเสี่ยงความรุนแรงเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามแต่การพิจารณาเรื่องนี้จากแง่มุมแบบเศรษฐศาสตร์ซึ่งอิงกับความสุขมวลรวมแต่เพียงอย่างเดียว (Utilitarianism) นั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมเท่าใดนัก เพราะหากพิจารณาเช่นนั้น อาจนำไปสู่สังคมที่โหดร้ายได้ เช่นในสังคมที่ไม่ Mature (จริงๆ สังคมที่ Mature แล้วก็มีให้เห็นอยู่มาก) อย่างเช่นสมัยเด็กเรามักจะล้อเลียนเพื่อนชั้นประถมที่มีลักษณะแตกต่างออกไป เช่น เรียนช้า หน้าตาแปลก ฯลฯ การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นที่ชัดแจ้งว่า “ขำมากๆ” คือในชั้นเรียนทุกคนก็แสดงออกว่าสนุกสนานกับการล้อเพื่อนเหล่านี้ ในแง่นี้เสียงเอกฉันท์กลับไปกระทำกับผู้ที่อ่อนแอทางสังคมและกดทับเขาให้ต้องยินยอมพร้อมใจกับการถูกล้อ การล้อที่เป็นการเมืองและเป็นประชาธิปไตยจึงต้องมีเงื่อนไขเบื้องต้นว่าจะต้องเป็นการล้อ ซึ่งเสียงของคนเล็กคนน้อยในสังคมถูกยกระดับขึ้นมาต่อสู้กับเสียงของใจกลางอำนาจบางอย่าง การล้อควรใช้เพื่อต่อสู้กับเสียงที่ยิ่งใหญ่กว่าและไม่สามารถจะเผชิญหน้าได้อย่างตรงไปตรงมา มากกว่าที่จะกลายเป็นเรื่องเสรีในความหมายที่ใครๆ ก็สามารถจะใช้งานการล้อเลียนได้โดยไม่มีขีดจำกัด

แต่หากตั้งกฎเกณฑ์เอาเสียเช่นนี้แล้ว การล้อก็จะต้องมาพร้อมกับการทำให้โรแมนติกและอ่อนแอ (Romanticized and etiolated) และนำมาสู่ภาพบิดเบือนที่ทำให้เข้าถึงสถานะที่แท้จริงได้ยากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ แล้วใครจะเป็นคนตัดสินว่าการล้อเลียนไหนเป็นการล้อเลียนจากจุดยืนของผู้ที่อ่อนแอ และหลีกเลี่ยงสภาวะโหดร้ายที่คนอ่อนแอถูกรุมล้อเลียน... คำตอบก็คือ “ไม่มี” ซึ่งหมายความว่า การจะมีคนกำกับเส้นแบ่งเหล่านี้ได้นั้นต้องมีการยอมรับอำนาจเด็ดขาดอันหนึ่งก่อน อาจจะโดยการทำสัญญาประชาคมให้แก่รัฐเป็นผู้ดำเนินการนั้น แต่ทว่า ในโลกของการล้อเลียนแล้ว รัฐนั่นเองที่มักตกเป็นเป้าของการล้อเลียน (เพราะรัฐเป็นศูนย์กลางอำนาจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว) การให้รัฐเข้ามากำกับเส้นแบ่งตรงนี้จึงไม่สามารถทำได้ นัยนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องเรียนรู้กันเอาเองจากความโหดร้ายในอดีต (live and learn)

นอกจากนี้แล้วบางครั้งการเผชิญหน้ากันในพื้นที่ของการล้อเลียนนั้นไม่ได้มุ่งไปที่ “ตัวคน” แต่อาจจะมุ่งไปที่อุดมการณ์หรือตัวคนที่เป็นภาพตัวแทนของอุดมการณ์บางอย่างอยู่ เช่นการล้อฮิตเลอร์ ไม่ได้เป็นการล้อตัวฮิตเลอร์หากเป็นการล้อเลียนต่ออุดมการณ์นาซี และนีโอนาซีสม์ที่ยังดำรงอยู่ เป็นต้น การล้อประเภทหลังนี้จึงเป็นการล้อแบบที่เรียกว่าการล้อไร้เหยื่อ (Victimless Parody) หรือในขณะเดียวกันอาจกล่าวได้เช่นเดียวกันว่าเป็นการล้อที่เต็มไปด้วยเหยื่อมากมาย (Victimful) เพราะใครก็สามารถเป็นเหยื่อจากการล้อเช่นนี้ได้ด้วย

การล้อในระดับที่สลับซับซ้อนขึ้นไปอีกก็เช่น หากนายขนมต้มเป็นภาพตัวแทนของลัทธิเสรีนิยม แต่เนื่องจากนายขนมต้มเป็นที่เคารพอย่างมาก นายขนมต้มจึงได้รับการเชิดชูบูชาอย่างอนุรักษนิยมด้วยโดยชนรุ่นหลัง ทีนี้เมื่อมีการนำนายขนมต้มมาล้อเลียน โดยนัยคือการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อ “การบูชา” นายขนมต้มอย่างอนุรักษนิยม (แต่ไม่ได้มุ่งเอาขำขันตัวนายขนมต้มเป็นหลัก) จึงเกิดความสับสนขึ้นมาว่าการล้อดังกล่าวเป็นการล้อต่อการบูชา หรือต่อตัวนายขนมต้มกันแน่

นัยนี้ การล้อจึงต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการล้อนายขนมต้ม กับการ detox-conservatism ออกจากตัวนายขนมต้มให้กลับมาเป็นภาพตัวแทนเสรีนิยม และอาจจะเป็นสิ่งที่คุณอธิปเขียนเอาไว้ในบทความว่า “Parodize at Your Own Risk” คือเมื่ออยากจะล้อก็ต้องมีชั้นมีเชิงพอจะสร้างความแตกต่างตรงนี้และทำให้คนเชื่อ/และขำขันไปกับมันให้ได้ ถ้าทำไม่ได้และเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธก็ต้องรับความเสี่ยงไปเอง ทั้งนี้การปฏิเสธก็ต้องมีขอบเขตที่จำกัดด้วยโดยไม่ไปประทุษร้ายต่อร่างกายของผู้ทำการล้อเลียนหรือสร้างความหวาดผวา (terror) ด้วยการล่าแม่มด

เมื่อกล่าวถึงความขำกับความเป็นสากล นอกจากจะเป็นสากลในแง่ของผู้รับสารว่าจะขำเหมือนกันหมดหรือไม่?แล้ว... การถามในเชิงการเมืองว่า “ถ้าคุณจะล้อนายขนมต้ม แล้วไม่ล้อนายขนมปังหรือไม่ล้อคนอื่นๆ อย่าล้อดีกว่ารึเปล่า?” ก็มีความสำคัญ, คำถามนี้มีประเด็นเพราะเป็นการพยายามถามกลับไปว่าตกลงแล้วการล้อนั้นเป็นเรื่องที่ถ้าไม่ได้ล้อคนทุกๆ คนได้อย่างเสมอหน้ากันนั้นนับว่ามีคุณค่าหรือไม่? อย่างไรก็ตามต้องทบทวนให้เห็นว่า คำถามดังกล่าวมีคำตอบได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าเรามองการล้อบนฐานทางทฤษฎีแบบใด

หากมองการล้อว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองปราศจากอุดมการณ์ (neutral ideology) หมายความว่าการล้อสามารถรับใช้อุดมการณ์ได้ทั่วๆ ไป ก็อาจจะตอบได้ว่า การล้อไม่จำเป็นต้องล้อทุกคนถึงจะมีสิทธิธรรมที่จะล้อนายขนมต้ม (การล้อไม่เคย fair ขนาดนั้นอย่างน้อยคนที่อนุรักษนิยมคงไม่นำการล้อไปล้อภาพตัวแทนอนุรักษนิยมเป็นแน่) ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว “การล้อต้องเลือก” และเป็นการเลือกตามอำเภอในหรือรสนิยมของผู้ล้อเป็นสำคัญ (โดยตระหนักถึงความเสี่ยงจาก reactive voices ตลอดเวลา)

กระนั้นก็ตาม แม้การล้อจะต้องเลือก แต่หากเลือกแล้วว่าจะล้ออะไร... การล้อควรมีเสรีภาพที่จะได้ล้อ สิ่งนี้สำคัญ หมายความว่า คำกล่าวประเภทที่บอกว่า "ถ้าคุณจะล้อนายขนมต้มได้ คุณควรจะล้อนายขนมปังได้ด้วยนั้น" ไม่ได้เป็นคำกล่าวที่บอกว่าถ้านาย A จะล้อนายขนมต้ม นาย A จะต้องล้อนายขนมปังด้วย แต่หมายความว่า ถ้านาย A จะล้อนายขนมต้ม แล้วนาย B อยากล้อนายขนมปัง นาย B ควรมีสิทธิ์ได้ล้อนายขนมปังเท่าๆ กับที่นาย A มีสิทธิ์ล้อนายขนมต้ม อันนี้คล้ายๆ กับกำลังกล่าวถึงความเป็นธรรมของการล้อ (equity of parody)

มองในมุมเศรษฐศาสตร์ การจะตัดสินการล้อเลียนจึงเป็นอำนาจที่สังคมควรมีสัญญาประชาคมที่จะยกการตัดสินไปเป็นสิทธิธรรมของ “ตลาด” และตลาดดังกล่าวควรเป็นตลาดเสรี คือใครใคร่ล้อต้องได้ล้อ และรอรับผลจากการล้อเหล่านั้นอย่างมี equity of parody เพราะในท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครจะสามารถมาตัดสินคุณภาพความขำ และความเหมาะสมของการล้อเลียนได้โดยลำพัง

การตัดสินโดยตลาดนั้นไม่ได้หมายความถึงเพียงเชิงปริมาณเท่านั้น (เช่นมีคนสนับสนุนต่อการล้อเลียนและความขำขันเหล่านั้นมากน้อยเพียงไร) แต่ยังหมายถึงความเข้มข้นของความขำขันและการสนับสนุนด้วย ทั้งนี้ ความขำนอกจากมันจะไม่เคยเป็นสากลแล้วมันยังมีลักษณะเป็นสกรรมสภาวะ (transitive reality) กล่าวคือ มันมีความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นสมมติว่าวันนี้นายขนมต้มโดนล้อเลียน คนขำกันทั้งบ้านทั้งเมือง แต่วันพรุ่งนี้มีคนเผาตัวเองประท้วงที่ไปล้อเลียนนายขนมต้ม สังคมคงไม่ขำกับการเผาตัวเองดังกล่าว และในขณะเดียวกันการขำขันไปกับการล้อเลียนนายขนมต้มก็ถูกเปลี่ยนสภาวะไปเป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ทันที

 


Referenced:-

[0] เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.facebook.com/MadEconomist
[1] http://www.siamintelligence.com/politics-of-parody/
[2] ภาพจาก http://blog.fabricationfabrication.com/post/3148708773/ronald-reagan-stamp-for-punks
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net