Skip to main content
sharethis

สมบูรณ์ วรพงษ์

"รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี" ผลงานของสมบูรณ์ วรพงษ์

เมื่อเวลา 18.18 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘สมบูรณ์ วรพงษ์’ อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโส นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และเจ้าของผลงานสารนิยายอันโดดเด่น ‘รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี’ ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่แล้ว ด้วยวัย 84 ปี 

สมบูรณ์ วรพงษ์ หรือที่แวดวงนักเขียนเรียกขานกันว่า ‘คุณลุงสมบูรณ์’ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนปรินซ์รอแยลและยุพราชวิทยาลัย เริ่มชีวิตการงานด้วยการเป็นครูที่รัฐฉานในพม่า ได้พบเห็นเรื่องราวหลากหลาย จนกลับมาเรียนวิชาครู จนได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) จากนั้นไปเรียนประกาศนียบัตรหนังสือพิมพ์ภาคค่ำที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์จาก มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ผ่านการฝึกอบรม จากสถาบันหนังสือพิมพ์นานาชาติ ( International Press Institute) ได้รับทุนดูงานหนังสือพิมพ์ ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เริ่มเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ‘พิมพ์ไทย’ พ.ศ. 2496 ตั้งแต่นั้นอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ มาตลอด อาทิ เดลิเมล์, บางกอกเดลิเมล์, หลักเมืองชีวิตใหม่และเสียงอ่างทอง จนกระทั่ง ประจำตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งแต่พ.ศ. 2517-2519 

นอกจากนั้น เขายังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์, กรรมการสมาคมนักข่าว, กรรมการสมาพันธ์หนังสือพิมพ์อาเซียน, เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ

ทั้งนี้ สมบูรณ์ วรพงษ์ เคยได้รับรางวัลผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์จากสมาคมนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2536  นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลผู้พัฒนาอาชีพดีเด่น ของสโมสรโรตารี่พระนคร พ.ศ. 2539 รางวัลนักเขียนเกียรติยศ "ช่อการะเกด" พ.ศ. 2540 และได้รับรางวัลศรีบูรพา เป็นคนที่ 17 เมื่อ พ.ศ. 2547

เมื่อพูดผลงานรวมเล่มหนังสือของเขา นั้นมีจำนวนมากมายหลายเล่ม โดยใช้ทั้งนามจริงและนามปากกา ‘คนข่าวอิสระ′ ผลงานรวมเล่มที่รู้จักกันดี อาทิ รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี , บนเส้นทางหนังสือพิมพ์ , คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี , ชุนเทียนที่ปักกิ่ง ,ครูดี เด่นดวง ,ไพร่หนีนาย ,จากลุ่มเจ้าพระยา ,จดหมายเหตุจากปักกิ่ง เป็นต้น

แต่ที่โดดเด่นและได้รับการเล่าขานกันมากเล่มหนึ่ง นั่นคือ ‘รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี’

วารุ วิชญรัฐ ได้บันทึกเอาไว้ว่า รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี เป็นการบอกเล่าเรื่องราวในพม่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุที่การเมืองในพม่าหลังการได้รับเอกราชจากอังกฤษนั้นไร้เสถียรภาพ เพราะไม่อาจจัดการบริหารชนกลุ่มน้อยต่างๆ และด้วยความขัดแย้งจนเกิดการสู้รบของชนกลุ่มน้อยอันเป็นผลมาจากรัฐบาลกลางพม่าฉีก "สัญญาปางโหลง" อันเป็นสนธิสัญญาประนีประนอมระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยเพื่อรวมกันต่อสู้กับอังกฤษและหากได้ชัยชนะแล้ว รัฐบาลกลางของพม่าก็จะยอมให้ชนกลุ่มน้อยปกครองตนเอง สนธิสัญญานี้ร่างขึ้นโดยมีนายพลอองซานเป็นแกนนำ หากต่อมาฝ่ายต่อต้านการให้ชนกลุ่มน้อยปกครองตนเองก็จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าซึ่งเป็นผู้นำของชนกลุ่มน้อยมาสังหารทั้งหมด รวมทั้งลอบสังหารนายพลอองซานในที่สุด เป็นที่มาของบทเพลง "ลีกห่มหมายป๋างโหลง" ของ จายสายเมา นักร้องชาวไทยใหญ่ นับจากนั้น ความปั่นป่วนวุ่นวายก็เกิดขึ้น และถือว่าเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองพม่าต้องระส่ำระสายอย่างมากช่วงหนึ่ง 

ห้วงชีวิตหนึ่งของสมบูรณ์ วรพงษ์ ก็ได้เดินทางไกลเข้าไปในรัฐฉานของพม่าในห้วงเวลาอันสับสนนั้น ประหนึ่งเป็นการ ‘ผจญภัย’ ไปไกลถึงเมืองปั่น เมืองยองห้วย น้ำคำ ตองยี ลางเคือ ได้พบเห็นความเสื่อมโทรม การสู้รบและการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ได้เห็นการมีมนุษยธรรมที่กว้างไกลไร้พรมแดนของหมอและพยาบาลชาวพม่าและไทยใหญ่ที่เยียวยาทั้งโรคภัยไข้เจ็บของผู้คนเป็นผลจากคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่และภัยคุกคามจากการสู้รบ จนพยาบาลบางคนอาจต้องอุทิศชีวิตเพราะสงครามนั้นย่อมไม่มีข้อยกเว้น

กระทั่งใครบางคนไม่อาจอดทนต่อความทุกข์เข็ญจากโครงสร้างบ้านเมืองที่กำลังเสื่อมโทรม ทั้งจากคอร์รัปชั่น การพนันที่ระบาดไปทั่ว ผู้คนอดอยากเจ็บไข้ล้มตายกันเป็นเบือ จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิถีทางที่เสมือนตาต่อตาฟันต่อฟัน หากในที่สุดด้วยวิธีเช่นนี้ ก็ก่อผลร้ายเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้ จนกระทั่งต้องสูญชีวิตกันไปทั้งสองฝ่าย

กระทั่งเหตุการณ์ระอุเมื่อกองกำลังกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยเข้ายึดเมืองต่างๆ เช่นตองยีหรือตองกี่ในรัฐฉาน จนสมบูรณ์ต้องหนีระหกระเหินกลับเข้ามาในประเทศไทย เรื่องราวอันระทึกและสะเทือนใจในคราวนั้น ถูกกลั่นกรองกลายเป็น "รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี" อันเป็นบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความเสื่อมโทรมของบ้านเมืองอันเกิดจากความแตกแยกในพม่าและสาระของความดีงามที่ไม่ยอมแพ้แก่ความโฉดเขลา

ที่สำคัญ สารนิยายเรื่อง"รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี"นี้ยังบันทึกเรื่องราวเล็กๆ หากสำคัญยิ่งสำหรับนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของไทย นั่นคือสมบูรณ์ได้พบปะกับ พ.ท. พโยม จุลานนท์ บิดาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เมืองหาง ในรัฐฉาน อันเป็นที่พำนักในช่วงหนึ่งของ ‘สหายคำตัน’ ก่อนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในฐานะเสนาธิการของ พคท. 

รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี พิมพ์ครั้งแรกลงเป็นตอนๆ ที่สยามสมัย เมื่อปี พ.ศ.2493 ได้รับความนิยมมากพอสมควรและนับเป็นการจุดประกายการเขียนหนังสือให้กับสมบูรณ์ วรพงษ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาเรื่องนี้ได้รับการพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ 

ล่าสุด สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มเติมภาคจบ เป็น"รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี ฉบับสมบูรณ์" โดยในภาคแรก เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ สมบูรณ์ วรพงษ์ นักเดินทางจากเมืองไทยเข้าไปท่องเที่ยวพม่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในเมืองตองยีซึ่งมีทั้งความขัดแย้งทางเชื้อชาติและความเสื่อมโทรมของผู้คนและบ้านเมือง สมบูรณ์พบกับชิตสุ นักเรียนพยาบาลผู้มีจิตใจเสียสละและได้เป็นมิตรกัน จนกระทั่งการจากพรากเพื่อไปทำหน้าที่ของตนเองในรถเที่ยวสุดท้าย

ภาคสอง เป็นบันทึกของชายผู้ต่อสู้ด้วยความรุนแรงแบบใต้ดินเพื่อกำจัดคนชั่วในแผ่นดิน แต่ในที่สุดก็เป็นเหตุให้มิตรและหญิงสาวคนรักต้องตายไป

และภาคสาม บวร รัตนสิน นักข่าวจากเมืองไทยไปทำข่าวที่พม่า ได้พบกับ สมบูรณ์ พรพงษ์ในวัยชราที่มาระลึกอดีตที่ตองยี และได้รับรู้การแบ่งแยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ผ่านปากคำของอดีตนักศึกษาประวัติศาสตร์ที่ต้องกลายมาเป็นนักดีดพิณ
ในช่วงสุดท้ายวัยบั้นปลายของชีวิต สมบูรณ์ วรพงษ์ ได้กลับมาพำนักอยู่เงียบๆ ในบ้านที่ จ.เชียงใหม่ แต่นั่นหาทำให้เขาหมดไฟในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่สมบูรณ์ มีความพยายามมุ่งมั่นอยากฝันเห็นนั่นคือ การรวมกลุ่มของนักคิดนักเขียนในเชียงใหม่อย่างเป็นรูปเป็นร่าง

หลายต่อหลายครั้ง ที่เขาคอยโทรศัพท์ติดต่อประสานกับเหล่านักคิดนักเขียนรุ่นลูกรุ่นหลานได้มานั่งล้อมวงคุยกันถึงเรื่องนี้
กระทั่งเมื่อต้นปี 2555 สโมสรนักเขียนเชียงใหม่ (Chiangmai Writer Club) จึงเกิดขึ้น

อัคนี มูลเมฆ นักข่าว/นักเขียน/นักแปล ซึ่งปัจจุบันได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ได้บอกเล่าถึงที่มาของสโมสรนักเขียนเชียงใหม่ ว่า เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ คุณลุงสมบูรณ์ วรพงษ์ ท่านเป็นคนเชียงใหม่ หลังเกษียณท่านก็มาอยู่เชียงใหม่ และอยากเห็นการรวมกลุ่มของนักเขียนในเชียงใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าจะเป็นสโมสรหรือเป็นอะไรอย่างอื่น แต่อยากเห็นการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกัน

“ตอนนั้นท่านก็เรียกพวกเราหลายคนในเชียงใหม่ไปพูดจากัน แต่หลังจากดำริแล้ว คุยกันแล้วก็ยังไม่สำเร็จ คือยังทำไม่ได้ในขณะนั้น ด้วยปัญหาหลายๆ ประการ เมื่อเวลาผ่านไป ต่อมา คุณลุงสมบูรณ์ก็ป่วย นอนอยู่กับบ้าน แต่ผมก็ได้ฝากข่าวไปแล้ว บอกว่าเรากำลังก่อตั้งสโมสรนักเขียนเชียงใหม่ขึ้นมาตามที่ท่านดำริ”

สโมสรนักเขียนเชียงใหม่ จึงเป็นการสานต่อความฝันให้กับคุณลุงสมบูรณ์ วรพงษ์ และยังกลายเป็นพื้นที่ของเหล่านักเขียนที่พำนักอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ได้มีกิจกรรมรวมตัวกันสร้างสรรค์งานร่วมกันต่อไป

“อีกอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อนๆ เราหลายคนในเชียงใหม่ก็ได้สะท้อนออกมาว่า นักเขียนในเชียงใหม่ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง จริงๆ แล้วในเชียงใหม่มีนักเขียนจำนวนมาก ถ้ารวมทั้งภาคเหนือก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก แต่คนเหล่านี้ไม่มีสเปซ ไม่มีที่สำหรับแสดงออก ไม่มีที่สำหรับการทำกิจกรรม ก็เลยคิดว่าถ้าเราได้รวมตัวกัน จัดทำออกมาในรูปสโมสรน่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งกับตัวนักเขียน ผู้อ่าน และสังคมโดยรวม ก็เลยชักชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักเขียน 2-3 คน มาคุยกัน ทุกคนเห็นว่าควรจะทำ หลังจากนั้นก็นำความคิดนี้ไปพูดคุยกับเพื่อนนักเขียนอีกหลายคน ทุกคนก็เห็นพ้องกันว่าเราควรจะมีสโมสรนักเขียนเชียงใหม่”
จึงกล่าวได้ว่า ‘สโมสรนักเขียนเชียงใหม่’ ได้ก่อเกิดขึ้นตามความฝันสุดท้ายของคุณลุงสมบูรณ์ วรพงษ์ ก่อนที่เขาจะจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยวัย 84 ปี

ทั้งนี้ จะมีพิธีสวดอภิธรรมศพตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.เป็นต้นไป ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ ทำการฌาปนกิจศพในวันที่ 29 พ.ค.นี้

ข้อมูลประกอบ

วงการสื่ออาลัย สิ้นคนข่าวอาวุโส "สมบูรณ์ วรพงษ์",ประชาชาติธุรกิจ 23 พ.ค.2555 http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1337692390&grpid=03&catid=&subcatid=

รายา ผกามาศ,อัคนี มูลเมฆ สโมสรนักเขียนเชียงใหม่,จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พ.ค.2555

กองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ  http://www.krusala.com/history_044.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net