ศาสวัต บุญศรี : เทศกาลว้ากน้อง : แบบหล่อหลอมชีวิตของการปฏิเสธความคิดต่าง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฤดูฝนเริ่มมาเยือนเมืองไทย เป็นสัญญาณบอกกลาย ๆ ถึงเทศกาลเปิดเทอมทั้งระดับประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย พอเปิดเทอมปุ๊บ ประเด็นร้อนที่ตามมานอกจากเรื่องค่าเทอมแพงและการชักหน้าไม่ถึงหลังของผู้ปกครองแล้ว ก็เห็นจะเป็นเรื่องการรับน้องที่ถกเถียงกันเผ็ดร้อนทุกปี (เวลาผ่านไปสักเดือนกันยายน ทุกอย่างก็จะเงียบสงบประหนึ่งเหมือนไม่เคยมีการรับน้องมาก่อน)

เรื่องรับน้องโหด การว้ากน้องถูกวิเคราะห์เชิงความคิดเสรีนิยมว่าลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นตามหลักการสังคมอันปกครองด้วยประชาธิปไตย แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่บรรดาพี่ ๆ มีวัตถุประสงค์ลึก ๆ ต้องการความกลมเกลียวสามัคคี การรักกันในหมู่เพื่อนฝูง ได้รู้จักคนในรุ่นอย่างรวดเร็ว และเคารพรุ่นพี่ที่เข้าเรียนก่อน อันเป็นความงดงามของวัฒนธรรมไทยที่ผู้อาวุโสอาบน้ำร้อนมาก่อนย่อมมีศักดิ์สูงกว่า สิ่งเหล่านี้ถูกวิเคราะห์มาเยอะแล้ว ผมเองไม่ขอกล่าวซ้ำ

เป็นที่น่าสงสัยอย่างมากว่าทำไมวัยรุ่นนักศึกษาจำนวนมากถึงไม่เก็ทต่อหลักการประชาธิปไตยโดยเฉพาะเรื่องของการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ผมเองลองวิเคราะห์ดูเห็นว่ากิจกรรมรับน้องโดยเฉพาะกลุ่มที่ว้ากน้องมีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ติดตัว

การว้ากน้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานความคิดของรุ่นพี่ที่ต้องการให้รุ่นน้องรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นรุ่นพี่จึงอุปโลกน์อำนาจของตนขึ้นมาโดยใช้เครื่องมือ ‘ความมาก่อน’ เป็นกำลัง น้องปีหนึ่งก็หวั่นเกรงว่าหากไม่เกาะติดรุ่นพี่ไว้การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นเรื่องลำบาก ด้านรุ่นพี่ก็ใช้วิธีในการสร้างความเครียดความกดดันเพื่อให้รุ่นน้องทำกิจกรรมบางอย่างอันก่อความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและนำไปสู่การรักสามัคคีกัน กลายเป็นรุ่นที่กลมเกลียว

ทว่าหากใครคนใดคนหนึ่งในรุ่นริอาจไม่เข้าร่วมการรับน้อง เขาคนนั้นจะถูกกระบวนการติดตามโดยเพื่อน ๆ ในรุ่นที่ถูกคาดโทษหากทำไม่สำเร็จ และหากในที่สุดเขาคนนั้นไม่เข้าร่วมกิจกรรมเลย ผลลัพธ์ของบางคณะวิชาคือถึงกับ ‘ตัดออกจากรุ่น’ กลายเป็น ‘คนนอก’ ของคนในคณะ

อย่างไรก็ดีแท้ที่จริงแล้วการจะเลือกเพื่อนหรือคบใครสักคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องใช้เวลา บางคนกว่าจะออกลายซ่าก็ปาไปปีสาม ดังนั้นคนนอกที่ถูกตัดรุ่นเมื่อเวลาเรียนไปเขาก็อาจจะสนิทชิดเชื้อกับคนอื่นมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง บางคณะที่อินกับเรื่องนี้มาก ๆ ภาวะคนนอกไม่เคยจางหายไป ถูกหมั่นไส้จากรุ่นพี่บาง ถูกชิงชังจากเพื่อนร่วมคณะบ้าง

คำถามคือเด็กปีหนึ่งไม่มีสิทธิ์คิดต่างไปจากขนบที่รุ่นพี่วางไว้เลยหรือ หากเขามีความคิดของตัวเองที่ไม่อยากรับน้องซึ่งถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับโดยทันที เขาผิดด้วยหรือ???

จึงไม่แปลกที่กระบวนการรับน้องไม่ต้องการคนคิดต่าง คนคิดแหวก วัตถุประสงค์สูงสุดคือให้คนคิดไปในทางเดียวกัน เชื่อเหมือนกัน ดำรงอุดมการณ์บางอย่างเดียวกัน อันก่อให้เกิดการพึ่งพาในอนาคต

อย่าว่าแต่เพียงเด็กปีหนึ่งเลย ยามมีการประชุมหารือในคณะ หากมีใครคนใดคนหนึ่งที่มีความคิดต่อต้านกิจกรรมรูปแบบนี้เอ่ยปากขึ้นมากลางวงประชุม ย่อมเกิดภาวะถูกรุมสับเป็นแน่ และแล้วก็ถูกถีบดันให้ออกนอกวง พลอยทำให้คนเหล่านี้ที่คิดต่างเลือกที่จะอยู่เฉย ๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อจะได้ไม่เจ็บตัว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกิจกรรมหลักของคณะนี้ ไม่เคยมีที่ว่างให้กับความคิดอื่น ๆ ที่แตกต่าง ไม่เคยมีความคิดที่หลากหลาย ไม่เคยคิดอะไรใหม่ ๆ เพราะถือขนบประเพณีที่เคยทำกันมาเป็นสรณะหลัก และพื้นที่ว่างสำหรับคนคิดต่างพวกเขาคือคนนอกของคณะที่ถูกกีดกัน

เมื่อความคิดต่างไม่เคยถูกผลักดันให้เป็นวาระในการถกเถียงอย่างจริงจัง ส่งผลให้นักศึกษาทั้งล้วนแต่เชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วความคิดนี้ในสังคมประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เหตุด้วยในสังคมย่อมมีความคิดที่หลากหลาย การเสนอและถกเถียงความเห็นที่แตกต่างอันนำไปสู่ทางออกร่วมกันเป็นสิ่งสามัญ เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยไทย เรากลับมองว่านั่นคือวิกฤตอันนำไปสู่ความแตกอย่าง

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนไทยไม่ต้องที่จบมหาวิทยาลัยมาถึงไม่ชินและรับไม่ได้กับการได้ยินความเห็นที่แตกต่าง แถมพร้อมใช้วิธีรุนแรงเพื่อกำหราบให้ยอมแพ้ และไม่เว้นพื้นที่แม้แต่น้อยให้ความคิดที่ตนไม่เห็นด้วย

กิจกรรมรับน้องตลอดสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยหล่อหลอมความคิดบางอย่างให้แก่คนโดยไม่รู้ตัว ตราบใดที่ยังรับน้องว้ากน้องกันด้วยวิธีนี้ เรื่องการยอมรับ อดทน ต่อความคิดเห็นที่ต่างไปและเราไม่ชอบคงเป็นเรื่องที่ดูไกลเหลือเกินที่จะเกิดขึ้นจริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท