Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อธิป จิตตฤกษ์ เปิดซีรีย์ยาว ว่าด้วยหลักตัดสิน อะไรละเมิด/ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ในแวดวงดนตรี นำเสนอตอนแรก "การมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการประพันธ์และการเล่นกับจารีตของการด้นสด"

สังคมชนชั้นกลางไทยยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่นิยมชมชอบการจับผิดการลอกเลียนผลงานดนตรีของนักดนตรีในประเทศ กระแสการจับผิดนี้มักจะก่อตัวขึ้นในเว็บ www.pantip.com และกระแสการประณามผู้ที่ลอกผลงานดนตรีของคนอื่นค่อยๆ แพร่กระจายไปในส่วนอื่นๆ ของอินเทอร์เน็ต ระบบศาลเตี้ยในการตัดสินการลอกผลงานดนตรีนี้เอาเข้าจริงก็ดูจะประหยัดงบประมาณและบุคคลากรของรัฐดี เพราะรัฐก็ไม่ต้องเสียงบประมาณในการรักษาระเบียบของระบอบทรัพย์สินทางปัญญา แต่ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ศาลเตี้ยในกรณีแบบนี้ก็ไม่ได้ต่างจากการใช้ศาลเตี้ยกรณีอื่นๆ ที่มันไม่มีคำตอบด้านความยุติธรรมตามมาตรฐานของระบบยุติธรรมสมัยใหม่แต่อย่างใด

การจับผิดการลอกเพลงแต่ละครั้งในหมู่ชนชั้นกลางไทยมักจะเป็นไปอย่างไม่มีหลักการใดๆ กำกับทั้งสิ้น ผู้ที่ต้องการกล่าวหาว่าผู้อื่นทำการลอกเพลงเพียงแค่หาบทเพลงต่างประเทศที่มีท่วงทำนองใกล้เคียงกับบทเพลงของไทยมาสักเพลงแล้วก็เพียงแค่โพสต์คลิปของเพลงทั้งสองเพลงคู่กัน เพียงเท่านี้จิตใจอันโน้มเอียงต่อการจับผิดการลอกเพลงของนักจับผิดก็จะทำงานเพื่อการจับผิดและทำการยืนยันอย่างสิ้นความสงสัยว่าผู้ต้องหาลอกงานดนตรีนั้นได้ลอกงานดนตรีมาแน่ๆ โดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว หากพิจารณากันในระดับหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วไปแล้วมันมีประเด็นที่ต้องพิจารณาจำนวนหนึ่งก่อนที่จะตัดสินว่างานดนตรีหนึ่งๆ ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ประเด็นพิจารณาการละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีโดยทั่วไปน่าจะแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้

  1. ผลงานที่ถูกลอกเลียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (originality) หรือไม่?
  2. ผู้ลอกเลียนเคยได้ยินได้ฟังงานดนตรีที่ถูกลอกเลียนหรือไม่?
  3. ตัวงานที่ลอกเลียนมีงานที่ถูกลอกเลียนประกอบอยู่มากน้อยแค่ไหน?
  4. การลอกเลียนอยู่ในเงื่อนไขการใช้อย่างเป็นธรรม (fair use) ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่?

เงื่อนไขทั้งสี่ข้อที่กล่าวมาสมควรจะได้รับการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก่อนจะทำการตัดสินว่ามีการลอกงานดนตรีเกิดขึ้น และผู้ต้องหาลอกงานดนตรีก็สามารถให้มิติต่างๆ เหล่านี้เพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตนเองในชั้นศาลได้ทั้งสิ้น ผู้ที่กล่าวหาผู้อื่นว่าทำการลอกงานดนตรีควรจะถามตนเสมอว่างานที่ตนกล่าวหาว่าผู้อื่นไปลอกเลียนมามันเป็นแค่งานตามจารีตบางแบบหรืองานอันมีเอกลักษณ์? งานที่ตนกล่าวหาว่าผู้อื่นไปลอกเลียนมาเป็นงานดนตรีที่ผู้ถูกกล่าวหาน่าจะเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหรือไม่? งานที่ว่าทำการลอกเลียนนั้นลอกเลียนนั้นได้ลอกเลียนมาจากงานต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน? และการลอกเลียนเหล่านั้นเป็นสิ่งชอบธรรมอยู่แล้วหรือไม่ภายใต้ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมาย? หากไม่มีหลักการเหล่านี้ บรรดานักจับผิดการลอกเลียนดนตรีก็ดูจะทำตัวเป็นศาลเตี้ยที่ไม่ใส่ใจกฎหมายบ้างเมืองเสียเองด้วยซ้ำ

เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญต่อสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นในฐานะของสังคมหนึ่งที่อยู่ภายใต้ระบอบลิขสิทธิ์โลก และในฐานะของสังคมสมัยใหม่ที่ความยุติธรรมสมควรจะดำเนินไปตามหลักกฏหมายของรัฐที่พิจารณาความผิดถูกของผู้คนในรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ผู้เขียนจึงจะขอกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ในชุดบทความยาว 4 ชิ้นโดยเริ่มจากชิ้นนี้

จริงๆ แล้วประเด็นที่ควรตั้งคำถามประเด็นแรกเมื่อเราเห็นว่างานดนตรีหนึ่งๆ มีความละม้ายกับงานดนตรีอีกชิ้นหนึ่งก็คือ ความคล้ายคลึงดังกล่าวเป็นผลจากการที่งานทั้งสองมันอยู่ในขนบทางดนตรีเดียวกันหรือไม่? หรือถ้าเรียกแบบไทยๆ ก็ต้องถามว่ามัน “แนวเดียวกัน” หรือไม่? ถ้างานอยู่ในจารีตเดียวกัน ความคล้ายคลึงก็น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย และการตัดสินว่างานนั้นแตกต่างกันหรือไม่ก็ควรจะพิจารณาตามมาตรฐานของจารีตนั้นๆ เป็นหลัก

ความเข้าใจเรื่องจารีตทางดนตรีเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณาการลอกเลียนแบบเพราะจารีตทางดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่เทียบเท่ากับที่เรียกในภาษากฏหมายลิขสิทธิ์ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ (public domain) ซึ่งก็คือทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของคนทุกคนที่ทุกคนสามารถหยิบฉวยมาใช้ได้โดยไม่เป็นการละเมิด ซึ่งการนำทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะมาใช้ในการสร้างงานดนตรีของตนก็เป็นสิ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ

ดนตรีร่วมสมัยที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะเป็นวัตถุดิบในการผลิตที่ชัดเจนมากๆ ก็คือดนตรีบลูส์ ถ้าแก่นสารของดนตรีบลูส์คือทางทางโน๊ตและทางคอร์ดกีต้าร์แบบบลูส์อัดโอดครวญที่สืบทอดมาตั้งแต่เพลงคนดำผู้เป็นทาสในไร่ฝ้าย ส่งผ่านมาอคูสติคเดลต้าบลูส์ยุคแรก และมาสู่ยุคบลูส์ไฟฟ้าหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันแล้ว แก่นสารดังกล่าวก็น่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะของบรรดาบลูส์แมนและคนอื่นๆ ทุกๆ คนที่ใครก็หยิบใช้ก็ได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิด

ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ ไม่น่าจะเคยมีการฟ้องร้องผู้ลอกเลียนเพลงบลูส์เพลงหนึ่งๆ [1] เพราะเพลงบลูส์ทั้งหมดมันก็ล้วนเป็นการลอกเลียนและดัดแปลง ไม่ว่าจะในระดับโครงสร้างเพลง ทิศของตัวโน๊ต เพลงบลูส์แต่ละเพลงโดยทั่วไปก็มีความละม้ายกันในระดับที่คนที่ไม่คุ้นเคยกับดนตรีชนิดนี้ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบทเพลงได้ด้วยซ้ำ นี่ก็เป็นตัวอย่างในวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ดีเยี่ยมของสิ่งที่เรียกว่า จารีตทางดนตรี ที่ใครๆ ก็หยิบมาใช้ได้ และมันเป็นเรื่องที่น่าขันที่จะมาจ้องจับผิดการลอกเลียนแบบอะไรทำนองนี้

ลักษณะของการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะเป็นวัตถุดิบในการผลิตงานใหม่ๆ ของดนตรีบลูส์นั้นสามารถนำมาอธิบายลักษณะเดียวกันของเพลงพื้นบ้าน (folk music) จากสารพัดท้องถิ่นทั่วโลก บทเพลงและขนบทางดนตรีเหล่านี้เป็นจารีตที่มีลักษณะเช่นเดียวกับดนตรีบลูส์แทบทั้งสิ้น กล่าวคือบทเพลงเหล่านี้แต่บทเพลงแต่ละเพลงในจารีตเดียวกันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากในสายตาของคนที่อยู่นอกจารีต และจารีตของการสร้างบทเพลงใหม่ก็คือ การหยิบยืมบทเพลงเก่าๆ มาลอกเลียนและดัดแปลงตามความต้องการของนักดนตรีที่ “ประพันธ์” บทเพลงใหม่ออกมา

จริงๆ แล้ว การใช้คำว่า “ประพันธ์” น่าจะไม่เหมาะสมนักกับกระบวนการสร้างบทเพลงตามจารีตแบบเพลงพื้นบ้าน เพราะเพลงส่วนใหญ่ในจารีตแบบนี้น่าจะเกิดจากการ “ด้นสด” (improvise) มากกว่า [2] การด้นสดเป็นส่วนหนึ่งของเพลงพื้นบ้านทั่วโลก มันเป็นการแสดงปฏิภาณไหวพริบของนักดนตรีที่จะต้องใช้ทั้งความรู้และความคล่องแคล่วในการเล่นกับจารีตของตน ซึ่งการให้คุณค่ากับการด้นสดมันทำให้แม้แต่การแสดงบทเพลงเดียวกันแต่ละครั้งมันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในจารีตของดนตรีที่ให้คุณค่ากับการด้นสด การแสดงดนตรีแบบเดียวกับสองครั้งอย่างไม่ผิดเพี้ยนก็ดูจะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความอับจนของปฏิภาณไหวพริบของนักดนตรีมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่ชี้ใช้เห็นถึงการซักซ้อมมาเป็นอย่างดีของนักดนตรี

ถ้าเราจะลองตั้งข้อสังเกตดูแล้ว เราก็พบว่าดนตรีที่อยู่กับจารีตของการด้นสดก็มักจะเป็นดนตรีที่ไม่เคร่งครัดในการจับผิดการลอกเลียนแบบนัก แน่นอนว่าดนตรีพื้นบ้าน และดนตรีบลูส์อันมีรากมาจากดนตรีพื้นบ้านมีลักษณะแบบนี้ แต่สิ่งที่ต้องเสริมไปด้วยก็คือดนตรีที่เน้นการด้นสดที่เกิดขึ้นในบริบทของเมืองอย่างดนตรีแจ๊ส และดนตรีฟรีอิมโพรไวซ์ ก็มีลักษณะที่ไม่เคร่งครัดกับการจับผิดการลอกเลียนเช่นกัน

ความไม่เคร่งครัดต่อการจับผิดการลอกบทประพันธ์ของจารีตดนตรีที่เน้นด้นสดเหล่านี้เกิดจากการให้คุณค่าทางดนตรีกับทักษะในการด้นสดของนักดนตรีแทนที่จะให้คุณค่ากับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบทประพันธ์อันเป็นอุดมการณ์เบื้องหลังของกฏหมายลิขสิทธิ์ นักดนตรีที่ขยันประพันธ์บทเพลงใหม่ๆ ออกมาแต่ไม่มีทักษะการด้นสดนั้นยากที่จะเป็นนักดนตรีที่ดีได้ในขนบเหล่านี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วในจารีตทางดนตรีที่ให้คุณค่ากับการด้นสด แม้แต่การเล่นบทเพลงของตัวเอง ผู้ประพันธ์ดนตรีก็ถูกคาดหวังให้แสดงทักษะการด้นสดออกมา ซึ่งจะทำให้การแสดงบทเพลงเหล่านี้แม้จะเป็นเพลงเดียวกันของนักดนตรีคนหรือคณะเดียวกันก็ไม่มีทางเหมือนกันเลยแม้แต่ครั้งเดียวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งพวกเพลงแถมในอัลบั้มเพลงแจ๊สแบบรีอิสชูที่เป็นเทคที่ต่างกันของบทเพลงในอัลบั้มเวอร์ชั่นแรกก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่หาฟังได้ง่ายที่สุดของจารีตในการไม่เล่นดนตรีซ้ำกันแม้แต่รอบเดียวที่ว่านี้

เมื่อนักดนตรีได้รับการคาดหวังให้เล่นไม่ซ้ำกันแม้แต่รอบเดียว ตัวบทเพลงก็ไม่อยู่นิ่ง มันเปลี่ยนแปลงและลื่นไหลไปเรื่อยๆ เมื่อเพลงไม่อยู่นิ่ง ก็ยากเหลือเกินที่จะเป็นฐานที่มันคนในการประณามงานอื่นๆ ที่ลอกเลียนมัน นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาการลอกเลียนจะเกิดขึ้นได้ชัดเจนจากงานดนตรีที่อยู่นิ่งเท่านั้น มันสะท้อนว่าแนวคิดการจับผิดการลอกเลียนมีพื้นฐานมาจากงานทางศิลปวัฒนธรรมที่ตัวงานมาลักษณะหยุดนิ่งอย่างงานเขียน (ถ้าจะไม่นับว่าการอ่านจะทำให้มันไหวไปเรื่อยๆ) เมื่อกรอบแบบนี้ถูกนำไปประเมินการไหลและกลายพันธุ์ของความคิดและงานทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ในวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ สิ่งที่จะได้ก็รังแต่จะผิดฝาผิดตัว กล่าวคือระบบคุณค่าที่ใช้ประเมิน “เอกลักษณ์เฉพาะตัว” ของงานในวัฒนธรรมการเขียน มันต่างจากระบบคุณค่าที่ใช้ประเมิน “เอกลักษณ์เฉพาะตัว” ของงานทางศิลปวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ ความสดใหม่ไม่ลอกเลียนแบบใครในการนั่งเขียนงานประพันธ์มันเป็นคนละเรื่องกับปฏิภาณไหวพริบในการสร้างงานจากจารีตไปพร้อมๆ กับทำการเพิ่มเติมและดัดแปลงรายละเอียดงานดนตรีอย่างสดๆ ในการแสดง

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าทั้งการผลิตงานดนตรีตามจารีตและการด้นสดนั้นเป็นสิ่งที่น่าจะอยู่นอกคำถามว่างานชิ้นหนึ่งๆ นั้นทำการลอกเลียนงานชิ้นอื่นมาหรือไม่ได้ลอกเลียน เพราะถ้ามันเป็นการลอกเลียน มันก็เป็นการลอกเลียนที่มีความชอบธรรม และบทเรียนที่สำคัญของการพิจารณาลักษณะการสร้างสรรค์ทางดนตรีผ่านการด้นสดตามจารีตที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ มันทำให้เห็นว่าปัญหาของการลอกเลียนงานดนตรีเป็นปัญหาที่แยกไม่ขาดจากมาตรฐานการตัดสินงานดนตรีแบบหนึ่งๆ หรือถ้าจะให้กล่าวให้เจาะจงกว่านั้นก็คือ การลอกเลียนงานดนตรีเป็นปัญหาของวัฒนธรรมดนตรีที่หมกหมุ่นกับความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานดนตรี วัฒนธรรมดนตรีที่ไม่ได้ถือโดยปริยายว่างานดนตรีชิ้นหนึ่งๆ ควรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ตัดขาดออกจากงานชิ้นอื่นๆ จะไม่มีปัญหานี้ หรือมีปัญหาน้อยกว่ามาก ดังนั้นเราจึงควรพึงสังวรไว้เสมอถึงสมมติฐานเบื้องหลังของการประเมินว่างานชิ้นหนึ่งๆ ทำการลอกเลียนงานชิ้นอื่นๆ ว่ามันก็ไม่ได้มีความเป็นสากลแต่อย่างได มันเป็นเพียงปัญหาของแค่ปีกหนึ่งของดนตรีสมัยสมัยเท่านั้น (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปีกที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่สุดให้กับอุตสาหกรรมดนตรี แต่นั่นก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง)

อ้างอิง

  1. กรณีที่มีการฟ้องร้องคือกรณีที่มีการลอกเอาเนื้อเพลงไปทั้งดุ้นเช่นกรณีที่วง Led Zeppelin ทำกับเพลงของ Muddy Waters ที่ Willie Dixon ประพันธ์ (เพลงของ Zeppelin คือ Whole Lotta Love และเพลงของ Waters คือ You Need Love) ผู้ฟ้องคือทางบริษัทที่ถือลิขสิทธิ์เพลงของ Dixon และเรื่องก็จบลงด้วยการตกลงการจ่ายค่ายอมความนอกศาล ทั้งนี้วงร็อคที่โด่งดังอันดับต้นๆ ของทศวรรษที่ 1970 อย่าง Led Zeppelin ก็เป็นวงที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ด้านการลอกเพลงชาวบ้านมาอย่างหน้าด้านๆ มากชนิดที่นักลอกเพลงชาวไทยที่ไหนก็ควรจะอาย การค้นพบนี้น่าจะเกิดในภายหลังที่การค้นหาบทเพลงเก่าๆ ของวงดนตรีร่วมสมัยของ Led Zeppelin เป็นไปได้ง่ายขึ้น โปรดดูคลิปเปรียบเทียบเพลง “ต้นฉบับ” ต่างๆ กับเพลงของวงร็อคระดับนำนานวงนี้ได้ที่ http://youtu.be/JyvLsutfI5 และ http://youtu.be/zThdTAWQFAQ
  2. อันที่จริงแล้วดนตรีในโลกก่อนศตวรรษที่ 19 ก็เต็มไปด้วยการด้นสดทั้งสิ้นแม้แต่ดนตรีคลาสสิคจากโลกตะวันตก แต่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ดนตรีคลาสสิคก็มีแนวโน้มที่จะตัดการด้นสดไปจากสารบบและหันไปเล่นตามตัวโน๊ตที่บันทึกไว้ใน “บทประพันธ์” อย่างเคร่งครัด (ซึ่งเรื่องตลกคือภายหลังนักประพันธ์เพลงคลาสสิคในศตวรรษที่ 20 ก็ถึงกับต้องประพันธ์ความบังเอิญมาทำลายความเคร่งครัดนี้) และการเคร่งครัดกับ “บทประพันธ์” นี้ก็สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ยุคใหม่ที่คุ้มครองงานดนตรีในฐานะของ “บทประพันธ์” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net