Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

 

 

 

เสียงตะโกน “เรารักกัน เราทำได้ ....เราต้องชนะ" ของสมาชิกสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคประมาณ 1,500 คน

ดังกึกก้องที่กระทรวงแรงงาน เพื่อปกป้ององค์กรอย่างพร้อมเพรียงกัน

และเมื่อสหภาพแรงงานกลายเป็นองค์กรที่น่ารังเกียจของฝ่ายนายจ้าง

เมื่อนั้นก็ปรองดองกันไม่ได้อีกต่อไป

 

ประเด็นปัญหา ที่สหภาพแรงงานชินเอไฮเทคต้องออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานกดดันนายจ้างรับพนักงานกลับเข้าทำงานทุกคน (2,100 คน) หลังจากที่เรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง  คือ  การถูกนายจ้างชาวญี่ปุ่นปฏิเสธการยื่นข้อเรียกร้อง  ตัวแทนเจรจาข้อเรียกร้องถูกพักงาน คณะกรรมการลูกจ้างถูกเลิกจ้าง รวมถึงคณะกรรมการสหภาพแรงงานจำนวน 176 คน สมาชิกถูกข่มขู่ให้ลาออก และในที่สุดสหภาพแรงงานจึงใช้สิทธินัดหยุดงานวันที่ 28 เมษายน 2555 เพื่อประท้วงการกระทำของนายจ้างและทีมผู้บริหารคนไทยที่เพิ่งถูกจ้างมาร่วมกันละเมิดสิทธิในการจัดตั้ง (The Right to Organize) เลิกจ้างไม่เป็นธรรม (Unfair Dismissals) ทำลายเสรีภาพในการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม (Freedom of Association and Collective Bargaining)

 

รองประธานสหภาพแรงงาน นายองอาจ เชาระกำ กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานยื่นขอปรับปรุงสภาพการจ้างงาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555  แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. เกี่ยวกับตัวเงิน/งบประมาณ เช่น ขอค่าข้าวเพิ่มเติม  ค่ารถรับ-ส่งที่ถูกตัดไปเมื่อต้นปี 2555  ของบประมาณสำหรับปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงงาน เช่น โต๊ะนั่งเล่น

2. เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ได้แก่ ขอรถเข็นพยาบาลสำหรับเคลื่อนย้ายคนงานที่ได้รับอุบัติเหตุไปยังห้องพยาบาล  ขอยารักษาโรค  จัดหามาตรการเยียวยาคนงานหลังจากได้รับอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน

3. เกี่ยวกับสภาพการทำงาน เช่น ให้มีการตรวจสอบสภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย  ขอให้มีการวินิจฉัยโรคจากการทำงานอย่างละเอียดเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเจ็บป่วย

ข้อเรียกร้องดังกล่าวจะครอบคลุมพนักงานบริษัทชินเอ 2 แห่งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสุรนารี และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสิ้น  2,900 คน (เป็นพนักงานหญิง 80%) ซึ่งจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิต มาตรฐานแรงงานไทยตามมาตรฐานแรงงานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก

 

สัมภาษณ์รองประธานสหภาพแรงงานชินเอไฮเทค นายองอาจ เชาระกำ

 นอกจากนี้ รองประธานสหภาพแรงงานอีกท่านหนึ่งคือ นายสมพร รดจันทร์ ยืนยันว่า สมาชิกทุกคนต้องการให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากนายจ้างยื่นข้อแม้จะรับกลับ ยกเว้นกลุ่มพนักงานจำนวน 176 คน ซึ่งล้วนเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน สมาชิกระดับหัวหน้างาน

 “พวกเราสู้งานมาตลอดระยะเวลา 16 ปี จนนายจ้างชาวญี่ปุ่น จากที่มาเพียงแค่กระเป๋าใบเดียว สามารถขยายกิจการได้ถึง 3 โรง เรายอมแม้กระทั่งลดโบนัสของตัวเองเพื่อช่วยประคองกิจการของนายจ้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 52 แต่ ณ วันนี้ นายจ้างกลับเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยสนับสนุนการทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานมาเป็นการทำลายสหภาพแรงงานแทน”     นอกจากนี้ ยังยืนยันด้วยว่า

“หากไม่มีแกนนำกลับเข้าไปด้วย พวกเราจะไม่กลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างคนนี้อีก เพราะสหภาพแรงงานจะขาดอำนาจการต่อรอง และจะขอให้นายจ้างเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างทั้งหมด”

สำหรับสภาพการจ้างก่อนที่จะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเมื่อปี 2551 (ค่าจ้างขั้นต่ำปรับจาก 183 บาทเป็น 255 บาท สวัสดิการ ได้แก่ ค่าข้าว 22 บาท/วัน, ค่ารถ (โรงสุรนารี) 25 บาท/วัน, ค่ากะดึก 30 บาท/วัน, ค่าร้อน ค่าฝุ่น ค่าเสียง (ตามแผนก) 10 บาท/วัน,  ค่าครองชีพ 700 บาท/เดือน, เบี้ยขยันเดือนละ 600-800 บาท หากลากิจ ลาป่วยจะไม่ได้รับในเดือนนั้น) โดยพบปัญหา พนักงานทำงานหนักเกินไป หยุดงานเพียงเดือนละ 1 วัน จะก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวและปัญหาสุขภาพ มีการเลือกปฏิบัติระหว่างพนักงานประจำและพนักงานซับคอนแทรคที่ได้รับสิทธิน้อยกว่า  มีการละเมิดสิทธิพื้นฐาน เช่น ถูกบังคับให้ทำงานโอที ต้องทำงานตั้งแต่ 8.00-20.00 น. ทุกวัน  ทำงานหนักแต่มีรายได้รวมเดือนละ 10,000-12,000 บาท จึงเป็นเหตุผลที่พนักงานต้องจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาปกป้องสิทธิแรงงานของตนเอง

นับตั้งแต่เคลื่อนย้ายการชุมนุมจากหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมามายังกระทรวงแรงงานตั้งแต่ 21 พฤษภาคม 2555 มีการเจรจากับตัวแทนฝ่ายนายจ้างเพียง 1 ครั้ง แต่ยังตกลงกันไม่ได้เพราะตัวแทนไม่มีอำนาจตัดสินใจ  และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ได้มีใบปลิวที่ไม่มีลายเซ็นกำกับ แต่มีชื่อหน่วยงานคือ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (02 246 8455) แจกแก่คนงานที่ชุมนุมใต้ถุนตึกกสร. ชี้แจงเป็นฉบับที่ 3 สรุปความได้ว่า คนงานกลับเข้าไปทำงานได้แล้ว ยกเว้น 176 คนที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ใดๆ และให้ไปใช้สิทธิร้องทุกข์กับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อวินิจฉัย ออกคำสั่งให้รับกลับเข้าทำงานได้ ซึ่งจะดำเนินการภายใน 60 วันนับจากวันที่ร้องเรียน

ข้อความของใบปลิวดังกล่าวจะอย่างไรก็ตาม  ไม่เกินความคาดหมายของสหภาพแรงงาน “เราไม่ต้องการพึ่งพากลไกไตรภาคีนี้ เพราะไม่สามารถประกันอะไรได้ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนด้อยของกลไกรัฐที่ไม่สามารถรักษาสิทธิเสรีภาพ สถานะการเป็นลูกจ้างของพวกเราได้เลย”  คุณสมพร กล่าว

ขณะนี้ ทางสหภาพชินเอฯ ได้รับความช่วยเหลือ กำลังใจจากนักสหภาพแรงงาน ได้แก่ สมาชิกจากสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยในสังกัดเดียวกัน และจากที่อื่นๆ ซึ่งคาดหวังว่าขบวนการแรงงานไทยจะออกมาช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งคณะกรรมาธิการแรงงาน รัฐสภาจะเดินทางมารับทราบปัญหาในวันที่ 29 พ.ค. 55  (โปรดดูคลิปวิดีโอและภาพประกอบรายงานด้านล่างนี้)

 

การเดินขบวนของสมาชิกสหภาพแรงงานชินเอที่เดินทางเข้ามาสมทบ เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 28 พฤษภาคม 2555


สมาชิกสหภาพแรงงานชินเอไฮเทค จังหวัดนครราชสีมาพร้อมกันนัดหยุดงาน

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net