เอฟทีเอวอทช์ เตือนรัฐบาลเปิดเสรีรอบคอบ ทำตาม ม.190

 

29 พ.ค.55 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอวอทช์ ออกแถลงการณ์เรื่อง เจรจาการค้า-เปิดเสรีรับการลงทุนอย่างรอบคอบและตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไม่ทำให้ตกขบวนอย่างที่คิด โดยระบุว่า ขณะที่ภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการบางส่วนอ้างว่า หากประเทศไทยไม่รีบกระโดดเข้าร่วมการเจรจาฯ หรือเปิดเสรีเพื่อรับการลงทุนต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้ตกขบวนรถไฟ เสียเปรียบคู่แข่ง แต่ไม่ได้ปรากฏว่าประเทศสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องแลกหรือเสียไปจากการเจรจากลับกลายเป็นต้นทุนที่สูงยิ่ง ดังนั้น ภายใต้มุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC: ASEAN Economic Community) และการเจรจาเขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยอาจเข้าร่วมเจรจามีประเด็นที่ล่อแหลมและอาจนำมาซึ่งความสูญเสียดหลายด้าน จึงเสนอให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามหลักการความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบอย่างเป็นกลางและถี่ถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มีการประเมินผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบอย่างรอบด้าน

แถลงการณ์ระบุว่า

ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม World Economic Forum on East Asia ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.- 1 มิ.ย.นี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาพประชาชน (FTA Watch) เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะพิจารณาเปิดต้อนรับรับนักลงทุนที่มีคุณภาพและการลงทุนซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่แท้จริงอย่างยั่งยืนใน 3 ด้านคือ ด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา

จะเห็นได้ว่า ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แม้ระบบเศรษฐกิจของมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, สหรัฐฯ หรือ ยุโรป จะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรง แต่ความพยายามในการครอบงำและตักตวงผลประโยชน์จากประเทศกำลังพัฒนาผ่านการทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA มิได้เบาบางลงแต่อย่างใด ญี่ปุ่นใช้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (EPA) เป็นกลไกสำคัญในการขจัดข้อจำกัดด้านศุลกากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อแปลงพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ทิ้งขยะพิษอุตสาหกรรม สำหรับสหภาพยุโรป แม้จะระงับการเจรจากับ ASEAN ไปเนื่องจากมีความคืบหน้าช้ามาก ก็ได้เร่งเจราจาทวิภาคีกับหลายประเทศในภูมิภาคเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม โดยมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญต่อไป ทางด้านสหรัฐฯเองได้มีการใช้การเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement: TPPA) เป็นเครื่องมือสำคัญในการหันกลับมาจับจองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกพร้อมไปกับการถ่วงดุลอำนาจของจีน ขณะเดียวกัน จีนก็ใช้ทุนมหาศาลที่ตนมีอยู่มาทุ่มในเกมการลงทุนเพื่อขยายอิทธิผลทางการค้าและสร้างเสริมอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศนี้ด้วยอย่างแข็งขัน

ขณะที่ภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการบางส่วนอ้างว่า หากประเทศไทยไม่รีบกระโดดเข้าร่วมการเจรจาฯหรือเปิดเสรีเพื่อรับการลงทุนเหล่านี้ จะทำให้ตกขบวนรถไฟ โดยเสียเปรียบคู่แข่งที่จะสามารถส่งสินค้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ในระดับภาษีที่ต่ำกว่า พร้อมทั้งจะดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้นผ่านการให้สิทธิคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ แต่ข้อเท็จจริงจากความตกลงที่ผ่านมาของไทย ไม่ได้ปรากฏว่าประเทศสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องแลกหรือเสียไปจากการเจรจากลับกลายเป็นต้นทุนที่สูงยิ่ง

ภายใต้มุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC: ASEAN Economic Community) และการเจรจาเขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยอาจเข้าร่วมเจรจามีประเด็นที่ล่อแหลมและอาจนำมาซึ่งความสูญเสียได้ดังต่อไปนี้

ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยารักษาโรค - ข้อเรียกร้องสูงกว่ามาตรฐานความตกลงทริปส์ หรือที่รู้จักกันว่าเป็นทริปส์พลัส เช่น การให้สิทธิผูกขาดข้อมูลยา  การขยายอายุการผูกขาดตลาดยาที่ยาวกว่า 20 ปี และใช้ข้อยืดหยุ่นทริปส์ไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดราคายาที่แพงจนผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา ส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ

ภาคการเกษตร - การเข้ามาแย่งยึดชิงที่ดิน และทรัพยากร ซึ่งในปัจจุบันซึ่งปัจจุบันมีปัญหามากอยู่แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น และจะนำไปสู่การผูกขาดทรัพยากรทางชีวภาพของไทย

สุขภาพ - สินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอร์, บุหรี่ รวมถึงขยะสารพิษอันตราย จะถูกปฏิบัติไม่ต่างจากสินค้าทั่วไปที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายอย่างเสรี แอลกอฮอร์, บุหรี่ รวมถึงขยะสารพิษอันตราย เป้นอันตรายต่อสุขภาพและสังคมโดยรวม

แรงงาน- มาตรฐานและสิทธิแรงงานต้องถูกลดทอดเพื่อแข่งกันดึงดูดการลงทุนด้วยค่าแรงถูกและกฎระเบียบคุ้มครองแรงงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานและนำไปสู่การละเมิดสิทธิคนงานอย่างกว้างขวาง ต่อต้านสิทธิการรวมตัวและต่อรองของแรงงาน นอกจากนี้ จะยิ่งทำให้มีการขยายการเลือกปฏิบัติในส่วนของสภาพการทำงานและสิทธิระหว่างแรงงานมีฝีมือและแรงงานที่ไร้ฝีมือหรือไม่มีทักษะ 

ผู้บริโภค - ผู้บริโภคมักถูกนำไปเป็นข้ออ้างว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกเสมอ เพราะกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆจะถูกทำให้อ่อนแอ นโยบายสาธารณะต่างๆที่อาจไปจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมและกลุ่มทุนต่างๆ จะถูกท้าทายด้วย ‘กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน’ ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อล้มนโยบายสาธารณะหรือทำให้ไทยต้องเสียค่าโง่ดังหลายๆกรณีที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลด้านการเจรจาจัดทำความตกลง FTA หรือความตกลงที่นำไปสู่การเปิดเสรีด้านการค้า บริการและการลงทุน (ไม่ว่าจะเรียกชื่อแบบใด) ต้องปฏิบัติตามหลักการความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบอย่างเป็นกลางและถี่ถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 มีการประเมินผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบอย่างรอบด้าน ทั้งมิติด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ไม่พิจารณาเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวดังเช่นที่ผ่านมา โดยต้องกำหนดกรอบการเจรจาอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีการกำหนดประเด็นหรือหัวข้อการเจรจาที่ประเทศไทยจะไม่นำไปแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น เรื่องการขยายอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา เป็นต้น ทั้งนี้ ความตกลงใดที่ได้ดำเนินไปแล้ว อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ขอให้ทบทวนรายการสินค้าภายใต้ความตกลงฯ ฉบับดังกล่าวอีกครั้ง และให้เพิกถอนรายการสินค้าที่เป็นของเสียอันตรายทั้งหมดความตกลงฯ ฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท