Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 " มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี    
รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี "


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ผมรู้สึกปรี๊ดขึ้นสมองขึ้นมาทันทีพลันที่เห็นข่าวนายวิพุธ สุขประเสริฐ หรือไอแพด ร้องทุกข์กล่าวโทษนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ประชาไท ด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด โดยอ้างบทความจำนวน 7 ชิ้น โดยที่ผ่านมานายวิพุธ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เขียนบทความและผู้แสดงความเห็นในเว็บไซต์ประชาไทไปแล้วทั้งสิ้น 15 ราย รวมบรรณาธิการและผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท และในกรณีนี้หลังจากร้องทุกข์แล้วยังไปโพสต์ข้อความใน   เฟซบุ๊กโอ้อวดผลงานของตนเองเสียอีกด้วย

หลังจากที่สงบสติอารมณ์แล้วความคุกรุ่นยังคงดำรงอยู่ ความคิดอันชั่วร้ายเริ่มผุดขึ้นมาว่าในเมื่อการกระทำของนายวิพุธนั้นเป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทพระองค์ท่าน เข้าข่ายกระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  เช่นกัน จึงสมควรที่จะต้องไปแจ้งความดำเนินคดีนายวิพุธเสียให้เข็ด

แต่เมื่อความคุกรุ่นหายไปแล้วความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบชั่วดีเริ่มกลับคืนมาเพราะเห็นว่าการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา  112  เพื่อแก้แค้นเอาคืนกันนี้ รังแต่จะทำให้ความชั่วร้ายเผยแพร่หนักขึ้นไปยิ่งกว่าเก่า และแทนที่จะดีกลับจะตกเป็นผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก ไว้ให้เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกกล่าวหาพิจารณาแจ้งความกลับด้วยข้ออื่นที่ไม่ใช่ มาตรา 112  ดีกว่า เช่น ข้อหาแจ้งความเท็จ เป็นต้น

การใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างคึกคะนองเช่นนี้เป็นผลเนื่องมาจากการเปิดโอกาสให้ใครๆก็ฟ้องได้ ทำให้เป็นการเปิดช่องให้มีการใช้กฎหมายนี้ไปกลั่นแกล้งผู้อื่น ส่งผลให้คดีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จะเห็นได้ว่าสถิติในการดำเนินคดีในปี 2553 สูงถึง 478 คดี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีไม่ถึง 10 คดีต่อปี

กอปรกับความไม่สมเหตุสมผลในอัตราโทษที่รุนแรงโดยมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี และสูงสุด15ปี ขณะที่ความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ กฎหมายกำหนดโทษจำคุกเพียง 2 ปี ถึง 10 ปี สะท้อนถึงความไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เมื่อเปรียบเทียบการกระทำโดยวาจาตามมาตรา  112  กับ  การกระทำความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งอาจมีผลร้ายแรงถึงกับอาจสูญสิ้นความเป็นรัฐหรืออธิปไตยของรัฐได้

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการนำคดีขึ้นสู่ศาลจนมีคำพิพากษาออกมานั้นเล่า ผู้ต้องกล่าวหาซึ่งผิดหรือไม่ผิดยังไม่รู้(แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญจะสันนิษฐานว่าตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดว่ากระทำความผิด จะปฏิบัติต่อเขาเหมือนผู้กระทำความผิดมิได้ก็ตาม) ต้องเผชิญกับความยุ่งยากตั้งแต่การเตรียมตัวต้องไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งอาจอยู่ห่างไกลออกไปเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร และภาระค่าใช้จ่าย ความยุ่งยากในชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งถูกกระทบอย่างแน่นอนสำหรับคนที่ถูกฟ้องคดี บางรายถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านและวิตกกังวล  

เมื่อคดีถึงพนักงานสอบสวนแล้วอาจจะได้ประกันตัวหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆคดีแบบนี้เป็นเผือกร้อน พนักงานสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจและพนักงานอัยการน้อยรายที่จะกล้าหาญชาญชัยสั่งไม่ฟ้อง ร้อยละเกือบทั้งร้อยต่างก็ใช้บริการส่งต่อกันไปเป็นลำดับ เหมือนกับโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคเสียกระนั้น ยกเว้นกรณีผังล้มเจ้าที่มูลคดีอ่อนปวกเปียกจนไม่รู้จะเข็ญอย่างไรให้มีมูลพอสั่งฟ้องได้ ซึ่งก็ต้องรอดูผลการร้องเรียนดีเอสไอของคุณสุเทพต่อ ปปช.ว่าผลจะออกมาอย่างไรในกรณีนี้

เมื่อคดีถึงอำนาจการพิจารณาของศาลนอกจากกรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุลแล้วผมยังไม่เคยได้ยินว่าใครได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวเลย บางรายจนถึงต้องกับตายในคุก เช่น กรณีอากง เป็นต้น และคงมีการตายในคุกกันต่อไปอีกเรื่อยๆ ว่าแต่จะมีข่าวหรือไม่มีข่าวเหมือนกรณีอากงเท่านั้นเอง แต่ที่แน่ๆกรณีอากงนี้ปรากฎเป็นข่าวไปทั่วโลกและในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆเรียบร้อยแล้ว

ที่น่าเศร้าอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาล จำเลยก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงเพื่อเป็นเหตุยกเว้นโทษได้ดังเช่นกรณีทั่วไปตามมาตรา 330 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ต้องรับโทษ เว้นเสียแต่ว่าเป็นการส่วนตัวและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ซ้ำร้ายหากศาลพิจารณาว่าจำเลยมีความผิดจริงก็ไม่สามารถได้รับการยกเว้นโทษได้ เนื่องเพราะโทษปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นใหม่โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน(จริงๆก็คือคณะรัฐประหารนั่นแหล่ะ)ยกเลิกมาตรา  112 เดิม ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุก7 ปี โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ แล้วบัญญัติขึ้นมาใหม่เป็นสูงสุด 15 ปีและเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำ คือ ตั้งแต่ 3 ปีเอาไว้ด้วย ซึ่งก็หมายความว่าหากศาลเห็นว่ามีความผิดก็ต้องพิพากษาลงโทษจำคุกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีการกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้

ผมจะไม่กล่าวถึงว่าควรหรือไม่ควรแก้ไข ควรหรือไม่ควรยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา  112  นี้ เพราะได้กล่าวไว้เยอะแล้ว แต่จะชี้ให้เห็นว่าผลร้ายจากการที่กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้นั้น ได้สร้างความทุกข์ ความยุ่งยาก สับสน แก่ผู้ถูกกล่าวหาและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ความบกพร่องของมาตรา  112 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างจริงใจ การนำมาตรา  112 มาใช้กลั่นแกล้งกันย่อมเป็นเหตุให้เสียพระเกียรติยิ่งกว่าเชิดชูพระเกียรติ ผู้ที่ขาดความจงรักภักดีหรือผู้ไม่ยอมรับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้นที่ยินดีกับข้อบกพร่องของมาตรา  112 

แทนที่กฎหมายจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความสงบสุขในสังคมตามหลักปรัชญาของการมีกฎหมายในสังคมมนุษย์ กลับกลายเป็นว่ากฎหมายกลายเป็นตัวสร้างความไม่สงบสุขขึ้นมาเสียเอง ด้วยเหตุแห่งความบกพร่องของตัวกฎหมายเอง และความคึกคะนองของคนบางคน ดังเช่นกรณีที่ผมได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น

ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  112   เพราะกฎหมายเกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น เมื่อใช้ไปแล้วมีปัญหา มนุษย์เองก็ย่อมที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือแม้กระทั่งยกเลิกไปเสีย หากเห็นว่ามีไว้ไม่เกิดประโยชน์อันใด รังแต่จะเป็นโทษต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์และต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยกเลิกเสีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือการไม่จงรักภักดีแต่อย่างใด  

---------------  

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2555  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net