Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี” กลายเป็นที่รู้จักสนใจของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.55 ครก.112 หรือ คณะรณรงค์แก้ไขม.112  เปิดตัวคณะรณรงค์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการรณรงค์ ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ เรื่อยมา เพื่อ ให้ประชาชนร่วมกันเสนอชื่อแก้ไขเพิ่มเติมม.112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์  จนมาถึงวันที่ 5 พ.ค.55 ครบ 112 วันของการรณรงค์ มีผู้เสนอชื่อมากกว่าสามหมื่นคน และในวันที่ 29 พ.ค.55 ครก.112 นำรายชื่อที่สมบูรณ์เรียบร้อยทั้งหมด 26,986 ชื่อ ไปยื่นต่อรัฐสภา

ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคมของปีนี้ ฉันยังอยู่ที่มหาวิทยาลัยและเป็นเวลาช่วงสอบ วันหนึ่งในเดือนนั้นหลังทำข้อสอบเก็บคะแนนเสร็จ ฉันนำเอกสารลงชื่อขอแก้ไขกฎหมายนี้ไปส่งยังห้องพักอาจารย์ผู้เป็นตัวแทนรับ ระหว่างทางเดินไปห้องนั้น ฉันก้มมองเอกสารในมือเห็นข้อความในวงเล็บเขียนชัดเจนว่า “แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์” ฉันอ่านซ้ำไปมาหลายรอบและคิดไปต่างๆนานา ไม่ใคร่แน่ใจนักว่าการกระทำของตัวเองครั้งนี้ จะส่งผลต่อใคร แค่ไหนอย่างไร รู้เพียงว่า “อากง” “สมยศ” และคนอื่นๆ ที่ฉันไม่รู้จักนักกำลังอยู่ในคุกเพราะกฎหมายข้อนี้  ฉันรู้ว่ากฎหมายนี้มีโทษรุนแรงอย่างเหลือเชื่อและยังไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอนในการตีความ ส่วนนิติราษฎร์ก็เป็นกลุ่มนักวิชาการที่ออกมาเสนอให้แก้ไขกฎหมายนี้ ฉันเห็นว่าข้อเสนอของพวกเขาน่าสนใจ  คิดว่ามันน่าจะช่วย "อากง" คนนี้และคนอื่นๆ ได้ โดยไม่ยากเย็นนัก แค่เขียนเอกสารสามแผ่นและส่ง ณ จุดรับ ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ เมื่อคิดจนได้ข้อสรุปฉันก็เดินถึงห้องอาจารย์ วางเอกสารเรียบร้อยก็เดินออกมา ความคิดสุดท้ายก่อนจะหันเหไปหาข้อสอบ ฉันรู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้อื่นแม้ว่าจะน้อยนิดเพียงเท่านี้ก็ตาม แต่ฉันไม่เคยคิดว่าจะได้ทำอะไรมากไปกว่าการลงชื่อเช่นนี้อีกแล้ว กระทั่งได้มาทำงานอาสาสมัครให้กับครก.112

โดยหลักการแล้ว ประชาชนที่จะร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ต้องใช้เอกสาร3ฉบับ ประกอบด้วย หนึ่ง แบบ ขก.1 หรือแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย สองสำเนาบัตรประชาชนหรือหลักฐานอื่นๆของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ และสาม สำเนาทะเบียนบ้าน เมื่อผู้เสนอฯกรอกรายละเอียดและรับรองสำเนาถูกต้องเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งมายังตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 หรือส่ง ณ จุดรับลงชื่อเพื่อให้ส่งต่อมายัง ครก.112 จึงจะเห็นได้ว่า ครก.112เป็นคณะที่ทำงานโดยตลอดกระบวนการเสนอชื่อ หากจะแบ่งงานของ ครก.112 ออกเป็นฝ่ายๆ อย่าง่ายที่สุดน่าจะแบ่งได้ 2 ฝ่ายคือส่งออกและรับเข้า ส่งออกหมายถึงส่งออกข้อมูลและความรู้เรื่องกฎหมาย ส่วนรับเข้า หมายถึง รับเอกสารที่ประชาชนลงชื่อแล้วนำมาจัดการตามกระบวนการให้เป็นระเบียบ 


ฉันเข้าใจว่าเป็นโอกาสอันดีประกอบกับความตั้งใจที่จะช่วย จึงเริ่มร่วมงานกับ ครก.112 ตั้งแต่ก่อนกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการรณรงค์ แต่กลับเป็นช่วงเวลาอันหนักหน่วงสำหรับกลุ่มผู้รับเข้า หรือแรงงาน หากจะแบ่งการทำงานของส่วนรับเข้าออกเป็นขั้นๆ ฉันคงแบ่งได้แค่สองขั้น ซึ่งแต่ละขั้นนั้นมีความแข็งไม่แพ้กัน ขั้นที่หนึ่ง หลังแข็ง คือเราต้องนั่งตรวจความเรียบร้อยของเอกสารว่า มีเอกสารครบสามแผ่นหรือไม่ เอกสารทั้งสามแผ่นเป็นชื่อเดียวกันหรือไม่  มีลายมือชื่อรับรองครบถ้วนถูกต้องหรือไม่  หรือแม้กระทั่งการเรียงเอกสารก็จะต้องมีแบบแผนที่ชัดเจนว่า ใบปะหน้าคือ ขก.1 ตามด้วยบัตรประชาชนและปิดท้ายด้วยทะเบียนบ้าน ขั้นตอนนี้ดูจะไม่ยากและใช้เวลาไม่นานนัก หากผู้ลงชื่อได้อ่านเงื่อนไขและรวบรวมมาเรียบร้อยแล้ว กระนั้นก็ตาม ฉันเพิ่งประจักษ์กับตาว่ากฎหมายก็ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ทำให้คนธรรมดาที่ไม่รู้จักมันต้องตื่นเต้นประหม่าอยู่เสมอ เราจึงได้พบว่ามีผู้ลงชื่อบางคนเซ็นเอกสารไม่ครบ ส่งหลักฐานไม่ครบ เรียงเอกสารผิด ส่วนนี้เราต้องแกะลวดเย็บออกและจัดการเย็บใหม่ และการทำงานในขั้นหลังแข็งก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากเราจะต้องแยกเอกสารว่าผู้ลงชื่อนั้นมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านที่จังหวัดใด เมื่อจัดแยกเรียบร้อยแล้วก็จะต้องนับจำนวน ให้ได้ปึกละ 100 ชุด พอดิบพอดี เพื่อให้การทำงานในขั้นต่อไปง่ายขึ้น และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฟังดูเหมือนไม่ยากนัก แต่ขั้นหลังแข็งนี้แรงงานหลายคนนั่งทำตั้งแต่สายๆ จนดึกดื่น เป็นเวลากว่าสามวันเราจึงนับเอกสารเกือบสี่หมื่นชุดได้หมด

ขั้นแข็งขั้นที่สอง คือ ตาแข็ง เพราะต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้อง “คีย์” รายชื่อลงในคอมพิวเตอร์ หรือจะเรียกว่ากรอกรายละเอียดของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้เป็นระเบียบ รายละเอียดนั้นประกอบไปด้วย วันที่ลงชื่อ ชื่อนามสกุลที่บอกเพศ และที่อยู่อย่างละเอียด จะให้ผิดไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลขประจำตัวประชาชน สำหรับผู้ลงชื่อคนเดียวก็มีมากถึง 13 ตัว นี่ยังไม่นับเลขที่บ้าน วันที่ลงชื่อ รวมๆ กันแล้ว 1 รายชื่อ ต้องใช้ตัวเลขมากกว่า 20 ตัว และการคีย์แต่ละครั้งเราจะต้องทำให้เสร็จ100ชุดที่นับไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน นั่นก็หมายความว่า ตัวเลขกว่า 2000 ตัวจะได้ผ่านประสาทสัมผัสเราไปในการคีย์แต่ละปึก ซึ่งก็แน่นอนว่าในหนึ่งวันอาสาสมัคร 1 คน ต้องคีย์ให้ได้มากกว่า 1 ปึก ส่วนจะมากขึ้นไปแค่อีกไหนก็เป็นไปตามความถนัดและความตั้งใจ ตั้งแต่วันที่นับเสร็จเราก็คีย์กันมาเรื่อยๆ ผู้ต้องการเสนอชื่อก็ส่งชื่อเข้ามาเรื่อยๆ กระทั่งใกล้ถึงวันงานบันทึก112วัน แก้ไขม.112 เราก็ยังคงคีย์กันอยู่

 



ทว่า งานของครก.112 ก็ไม่ได้มีแค่หลังแข็งและตาแข็งเท่านั้น  หากยังมีหน้าที่จัดเวที เตรียมห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้พร้อมสำหรับการรองรับประชาชนที่จะมาร่วมงานบันทึก 112 แก้ไขม.112 วัน ในวันที่27 ดังนั้น ในช่วงสายๆ ของวันที่ 26 อาสาสมัครจึงทยอยเดินทางไปสถานที่จริง เพื่อร่วมกันจัดเวที สิ่งที่เราจะต้องตั้งบนเวทีประกอบด้วยตัวเลขใหญ่ยักษ์ 5 ตัว กับตู้ไปรษณีย์อีก1ตู้  แน่นอนว่ามันไม่มีขาย เราจึงต้องสร้างขึ้นเอง งานนี้ใช้กระดาษลังไปนับร้อยใบ ประกอบขึ้นเป็นตัวเลขและตู้ไปรษณีย์ หากไม่คิดเป็นเด็กจนเกินไป ฉันรู้สึกว่าการทำงานในวันนี้สนุกมาก เหมือนเป็นช่วงเวลาของการทำความรู้จักกันระหว่างอาสาสมัครที่เคยคุ้นอยู่แต่หน้าคอมพิวเตอร์ เหมือนเป็นการทำละครเวทีสักเรื่องหนึ่ง เหมือนเป็นสนามเด็กเล่นเพราะเราแอบทำไปเล่นไป แกล้งเพื่อนไป เถียงกันไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก การทำงานร่วมกันต้องมีความขัดแย้ง มีการใช้เหตุผลและตกลงกันได้ แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมเวทีก็เสร็จสิ้นลงทันเวลา เราสามารถ ประกอบ ติด ต่อ ตัด แปะ ตั้ง กล่องทั้งหมด ให้เป็นเลข 3 9 1 8 5 พร้อมกับตู้ไปรษณีย์สีแดงสดใสได้เรียบร้อยสมบูรณ์ก่อนที่เจ้าหน้าที่หอประชุมจะมาปิดประตู

งานหนักชิ้นต่อมาของ ครก.112 ก็อยู่ตรงที่การรวบรวมรายชื่อทั้งหมด ขนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ที่บริเวณหมุดหมายของคณะราษฎรเพื่อจะเดินขบวนไปยังรัฐสภาในวันที่ 29 และก็เช่นเคย 1วันก่อนนั้น เราเหลืองานที่จะต้องทำ คือ คีย์รายชื่อที่เหลือให้เสร็จ จัดเอกสารลงกล่องดำ จัดทำเอกสาร ขก.2 และขนเอกสารทั้งหมดไปยังจุดนัดหมายในเวลา 9.00 น. ก่อนจะเริ่มงานวันนี้ ฉันเข้าใจว่า งานคงจะเหลือน้อยเต็มที หรือเรียกว่าไม่มีไรมากนัก แต่เอาเข้าจริง แต่เมื่อถึงเวลาทำงาน อาสาสมัครที่เคยมาช่วยทุกวันๆกันต่างก็เหนื่อยนักอยากพักหน่อย คราวนี้การเกณฑ์แรงงานจึงต้องข้ามไปยังองค์กรเพื่อนบ้าน ฉันรู้สึกว่าเมื่องานเดินมาจนถึงวันสุดท้าย เราจะต้องทำงานทุกกระบวนการที่เคยทำมาในวันนี้วันเดียวเพื่อตรวจทาน จัดทำทุกอย่างให้ครบถ้วนสมบูรณ์ คืนวันที่ 28 เราจึงต้อง ทั้งนับ แยก คีย์ แปะกล่อง ฯลฯ จนดึกดื่น และสุดท้ายงานทั้งหมดก็สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี


เช้าวันที่ 29 เป็นวันสุดท้ายของทีมแรงงานครก. 112 เราก็ยังคงติดตามส่งเอกสารจนถึงสถานที่เก็บ เช้าของวันนี้ฉันไปถึงหมุดหมายคณะราษฎร การแบกหามนั้นดูจะเหลือกำลังเกินไปฉันจึงมีหน้าที่เพียงแค่ถ่ายรูป รอดูการจัดเรียงกล่องดำ รอดูการตั้งขบวน และคอยตรวจตราว่ากล่องที่เราขนกันมานั้นยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ มีรอยถลอกฉีกขาดหรือไม่ ส่วนพี่ๆทีมงานครก.112 ที่เป็นผู้ดูแลกล่องก็ยังต้องทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สภา ยกกล่องลงรถ ขนกล่องขึ้นรถ กระทั่งกล่องทุกใบถูกขนไปเก็บ ถึงตอนนี้ ฉันเองก็อยู่ร่วมด้วย ครั้งสุดท้ายที่กล่องดำใบใหญ่ถูกหามเข้าห้องเก็บเอกสาร ฉันนึกไปถึงวันแรกที่เดินไปส่งเอกสาร 3 แผ่นนั้นตามลำพัง วันนั้นฉันคิดถึงหลายๆ เรื่อง แต่ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้คัดแยกเอกสารนานถึงสามวัน ไม่คิดว่าจะได้เห็นรายชื่อของผู้ร่วมเสนอเป็นพันๆ ชื่อ ไม่คิดว่าจะได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรณรงค์ และไม่คิดว่าจะว่าจะมีคนอีกมากมายที่เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนกฎหมายข้อนี้ ท้ายที่สุดฉัน การทำงานหนักและสนุกที่ผ่านมาก็ทำให้ฉันได้ตระหนักว่า มีประชาชนอีกมากมายที่เห็นความสำคัญถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเองตามระบอบประชาธิปไตย แวบหนึ่งก่อนกล่องดำทั้งหมดจะลับตาไป ไม่ว่าจะเพราะทำงานหนักมาหลายวันหรือเพราะยังเชื่อในความมีเหตุผลของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ฉันแอบคิดอยู่คนเดียวว่า มันจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างสิน่า

             

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net