Skip to main content
sharethis

หลังคาดการณ์ 3 แกนนำชาวบ้านลำพูน อาจถูกตัดสินจำคุกจากการเดินหน้าปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ในคดีที่ต่อสู้มากว่า 9 ปี พร้อมเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการกระจายการถือครองที่ดิน แก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินอย่างเป็นธรรม

 
(31 พ.ค.55) ตัวแทนเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการที่ดินสากล (Land Research Action Network: LRAN) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ลงนามสนับสนุนโดยเอ็นจีโอนานาชาติ 58 องค์กร บุคคลทั่วไป 35 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีนักวิชาการ 11 คน สมาชิกรัฐสภา 2 คน ผู้นำทางศาสนา 1 คน พร้อมด้วยเครือข่ายและองค์กรพัฒนาเอกชนไทย 18 องค์กร ส่งถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีต่อประชาชนที่เข้าร่วมในปฏิบัติการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปที่ดิน และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ต่อการกระจายการถือครองและการปฏิรูปที่ดิน ตลอดจนแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อหลักประกันวิถีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยในชุมชนนับพันชุมชนทั่วประเทศ
 
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดลงโทษเยี่ยงอาชญากรต่อประชาชน ที่กำลังดำเนินงานรณรงค์เพื่อปฏิรูปที่ดินและให้ความสำคัญกับการถือครองที่ดินให้เป็นธรรม แก้ไขความขัดแย้งเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรรายย่อยทั้งหลายทั่วประเทศ” จดหมายเปิดผนึกระบุ
 
จดหมายดังกล่าวถูกเขียนขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้าวันตัดสินคดีที่ดินชั้นศาลฎีกา ที่มีแนวโน้มว่าจะตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวและแกนนำชาวบ้าน 3 คน ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการรณรงค์ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนในจังหวัดลำพูนเมื่อปี 2545 ซึ่งถือว่าเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงการขยายขอบเขตการจับกุมดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และเครือข่ายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน โดยมีการคาดการณ์ว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 คนจะถูกตัดสินจำคุกคนละไม่น้อยกว่า 4  ปี จากบทบาทในการผลักดันการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน หลังจากคดีอยู่ในชั้นศาลต่างๆ มาเป็นเวลาถึง 9 ปี
 
เครือข่ายวิจัยปฏิบัติการที่ดินสากลให้ข้อมูลด้วยว่า ขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เกิดขึ้นจากปฏิบัติการยึดที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีปัญหาโต้แย้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ในหลายอำเภอของจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ระหว่างปี 2540-2546 หลังปฏิบัติการยึดที่ดิน สมาชิกเครือข่ายมีการจัดตั้งกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน โดยการตั้งเงื่อนไขให้มีการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตไม่ให้ทิ้งร้าง เป้าหมายสำคัญของกระบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนคือ การสร้างหลักประกันว่าที่ดินจะไม่หลุดไปจากมือเกษตรกรรายย่อย และอยู่ในการครอบครองของชุมชนท้องถิ่น 
 
แนวทางและกติกาที่สร้างขึ้นจากขบวนการที่ดินลำพูน ได้กลายเป็นต้นแบบในการดำเนินการจัดทำ “โฉนดชุมชน” ซึ่งต่อมาในปี 2554 ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในฐานะที่เป็นแนวทางใหม่ในการให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน
 
การดำเนินคดีต่อสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินลำพูน-เชียงใหม่เป็นกรณีที่ใช้เวลายาวนานนับจากปี 2545 จนถึงวันตัดสินคดีชั้นศาลฎีกาในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ขณะที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีการเพิ่มจำนวนและความรุนแรงในการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านที่พยายามผลักดันการรับรองสิทธิมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีการจับกุม และไล่รื้อไร่สวนของชาวบ้านในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และการเร่งดำเนินคดีสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
 
สุมิตรชัย หัตถสาร ที่ปรึกษา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ชี้ว่า “ถ้ารัฐบาลทำหน้าที่ของตนในการจัดให้มีการปฏิรูปที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่กลุ่มชาวบ้านจะต้องมาขยับการปฏิรูปด้วยตนเอง”
 
ชามาลี กุตตาล จากเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการที่ดิน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ประสานงานการรณรงค์ครั้งนี้ กล่าวว่า“เราได้เห็นแนวโน้มการดำเนินคดีของรัฐต่อชุมชนท้องถิ่นเช่นนี้ ทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชาที่ประชาชนถูกจำคุกเป็นเวลาหลายปีจากการต่อสู้ปกป้องสิทธิที่ดิน ปกป้องวิถีชีวิตและถิ่นฐานบ้านเกิด แต่การบังคับรื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือนไร่สวนของชาวบ้านกับได้รับการยกโทษ การกระทำรุนแรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้”
 
จักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมลงนามในจดหมายด้วย กล่าวว่า “เวลานี้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีนโยบายเน้นการส่งเสริมสวัสดิการความกินดีอยู่ดีของประชาชนคนยากจน และคนชนบท  หากรัฐบาลทำงานกับเครือข่ายประชาชนรากหญ้าและพิจารณาอย่างจริงจังต่อข้อเสนอการปฏิรูป จะทำให้รัฐบาลสามารถยกระดับการส่งเสริมนโยบายเพื่อคนจนให้ประสิทธิภาพมากกว่านโยบายหาเสียงระยะสั้น และการปฏิรูปที่ดินก็เป็นประเด็นปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของคนยากจน”
 
นอกเหนือจากที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการตามข้อผูกมัดตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินของประเทศแล้ว ประเทศไทยยังได้ยืนยันอย่างหนักแน่นถึงความสำคัญของการปฏิรูปที่ดิน ต่อที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินและพัฒนาชนบท (ICCRRD) ที่จัดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
 
นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร ยังได้ให้การรับรอง “แนวปฏิบัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประมง และป่าไม้” ซึ่งเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ดำเนินการปฏิรูปการถือครองที่ดิน เพื่อตอบโจทย์ของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความเคารพ และรับรองสิทธิชุมชนในที่ดิน
 
โซเฟีย มอนซาล จากองค์กรเครือข่ายปฏิบัติการสากลอาหารต้องมาก่อน กล่าวว่า “การทำให้ผู้นำชาวนาชาวไร่กลายเป็นอาชญากรจากปฏิบัติการที่พวกเขากระทำเพื่อปกป้องสิทธิที่ดินนั้น เกิดขึ้นไปทั่วโลก ไม่แต่เฉพาะในประเทศไทย” 
 
ทั้งนี้ในวรรค 4.8 ของ “แนวปฏิบัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประมง และป่าไม้” ของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารกระตุ้นให้รัฐต่างๆ ให้ความเคารพและปกป้องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของชาวนาชาวไร่ ชาวประมง ชนเผ่า ผู้เลี้ยงสัตว์ และแรงงานในชนบท ผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตน 
 
อนึ่ง เครือข่ายวิจัยปฏิบัติการที่ดิน Land Research Action Network LRAN เป็นเครือข่ายขององค์กรและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ทำการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ปัญหาที่ดินและการปฏิรูปที่ดินทั่วโลก 
 
 
สรุปสาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีดังนี้
 
1.แสดงความห่วงใยถึงการเพิ่มขึ้นของการจับกุมดำเนินคดีประชาชนที่เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องสิทธิที่ดิน
  
2.คดีที่ดินลำพูน ในวันที่ 6 มิถุนายน จะสะท้อนให้เห็นท่าทีและแนวทางของรัฐบาลไทยต่อนักเคลื่อนไหวที่สู้เพื่อรณรงค์หรือแก้ไขปัญหาที่ดินในประเทศไทยที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากล  
 
3.ย้ำให้ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามพันธะกรณีกับระดับนานาชาติเมื่อปี 2006 ในเวที ICARRD ที่จัดขึ้นที่ประเทศบราซิลว่าด้วยความสำคัญของการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ
 
4.การปฏิรูปที่ดินและการเกษตร (Agrarian Reform) ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกโดยเฉพาะจากผู้ตรวจการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านอาหาร UN Special Rapporteur on the Right to Food ว่าจำเป็นและมีความสำคัญในการรับรองสิทธิ  การเข้าถึงอาหาร  และจากงานรวบรวมงานวิจัยต่างๆของ IAASTD ภาคเกษตรกรรายย่อย
 
5.ความขัดแย้งเรื่องที่ดินในประเทศไทยด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากการทุจริตและความไม่โปร่งใสในการออกเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน
 
6.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้เสนอข้อเสนอสำคัญในการปฏิรูปที่ดิน  ที่รกร้างว่างเปล่า การสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินให้กับคนจน  นำภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  ธนาคารที่ดินซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับในบางส่วนจากรัฐบาล แต่การดำเนินการตามข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง 
 
7.แม้ว่าประเทศไทยมีนโยบายในการปฏิรูปที่ดินมากว่า 30 ปีแล้ว  แต่ประเด็นนี้ถูกสร้างมาเป็นประเด็นระดับชาติเพราะผลพวงเกิดจากความเคลื่อนไหวของเกษตรกรรายย่อย
 
8.ขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนในภาคเหนือได้ยึดครองที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนยากจน  ณ ตอนนี้ ที่ดินผืนนี้สามารถสร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชน
 
9.กิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวขบวนการปฏิรูปที่ดินมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเด็นสิทธิที่ดินชุมชนซึ่งเป็นจุดก่อเกิด “โฉนดชุมชน” ที่น่าจะเป็นรูปธรรมการจัดการที่ดินเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อยในระยะยาว  
 
10.เป็นที่น่าตกใจที่ผลจากการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแรงผลักดันทางนโยบายการปฏิรูปการถือครองที่ดิน ทำให้สมาชิกของขบวนการนี้ต้องติดคุกระยะยาว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net