รอบโลกแรงงานพฤษภาคม 2555

ผู้นำมาเลย์ ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 9,000-8,000 /  สหภาพแรงงานนิวซีแลนด์เรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ / กาตาร์จะอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงาน / แพทย์ศรีลังกาผละงานประท้วง ขอเพิ่มค่าครองชีพ / แรงงานธุรกิจท่องเที่ยวกรีซประท้วงแผนลดค่าจ้าง

ผู้นำมาเลย์ ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 9,000-8,000

1 พ.ค. 55 - มาเลเซียประกาศเตรียมนำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำมาใช้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนครัวเรือนที่มรีายได้น้อยและท่ามกลางการคาดหมายว่ารัฐบาลอาจเลื่อนให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น

ทั้งนี้ แรงงานในภาคเอกชนในมาเลเซีย เฉพาะในรัฐที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมาลายูจะได้รับรายได้ขั้นต่ำ 900 ริงกิตต่อเดือน (ประมาณ 9,000 บาท) ขณะที่แรงงานในรัฐซาราวักและซาบาห์ จะได้รับรายได้ต่อเดือน 800 ริงกิต (8,000 บาท)  ซึ่งเชื่อว่าจะมีแรงงานกว่า 3.2 ล้านคน ที่ได้รับประโยชน์ โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในมาเลเซีย อยู่ที่เดือนละ 760 ริงกิต ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้มีรายได้น้อยในมาเลเซีย และเป็นค่าแรงที่ได้จากภาคการผลิต

โดยมาเลเซีย ซึ่งเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าหมายว่าจะมีสถานะเป็นชาติร่ำรวยภายในปี 2020 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจีน ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก ที่เตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอย่างน้อย 13 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 ปี

เนื่องในโอกาสวันแรงงานสากล นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ประกาศนโยบายเอาใจผู้ใช้แรงงานและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศ คือการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นครั้งแรกในมาเลเซีย โนายนาจิบย้ำว่านโยบายดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์มาเลเซีย โดยการประกันรายได้ขั้นต่ำจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศได้

ถึงแม้ว่าการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวจะเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างมากนี้ อาจกลายเป็นภาระหนักสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ค่าแรงจำนวนประมาณ 30 ริงกิต หรือ 300 บาทต่อวัน ซึ่งบังคับใช้ในซาราวักและซาบาห์นั้น ยังเป็นค่าแรงที่แพงเกินจริงและไม่สอดคล้องกับรายจ่ายสำหรับประชาชนในชนบทอีกด้วย

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมองว่า การออกนโยบายเอาใจแรงงานในครั้งนี้ เป็นการหาเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนัก ทั้งจากปัญหากรณีอื้อฉาวการทุจริตคอรัปชั่นของบุคคลในรัฐบาล  ทั้งนี้ รัฐบาลซึ่งมีกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปกระทั่งเดือนมีนาคมปีหน้า เชื่อว่าอาจเลื่อนการเลือตั้งให้เร็วขึ้น ภายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้  ซึ่งปัจจัยหนึ่งในนั้นคือการประท้วงของกลุ่มเบอร์ซิห์ 3.0 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ต้องการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม

สหภาพแรงงานนิวซีแลนด์เรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

1 พ.ค. 55 - เวลลิงตัน 1 พ.ค.- สหภาพแรงงานในนิวซีแลนด์เรียกร้องโดยอ้างสถิติของทางการว่า ควรปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนยากจน 

นายจอห์น รีออล เลขาธิการสหภาพแรงงานด้านบริการและอาหารแห่งชาติกล่าวว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยยังไม่มากพอที่จะช่วยเหลือแรงงานค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมากที่มีชีวิตยากลำบาก ขณะที่นายจ้างภาครัฐและภาคเอกชนกลับมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และคนรวยที่สุดในประเทศ 150 คน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 

นายรีออลอ้างสถิติของทางการนิวซีแลนด์ที่ว่า แรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 ในปีการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคม ดัชนีค่าใช้จ่ายแรงงานระบุว่า อัตราเงินเดือนและค่าจ้างในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 สูงที่สุดในรอบ 3 ปี ส่วนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 แต่เมื่อรวมทั้งลูกจ้างและนายจ้างในภาครัฐและภาคเอกชนพบว่า ค่าแรงปีการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปีการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2553 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.9

กาตาร์จะอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงาน

โดฮา 1 พ.ค.- กระทรวงแรงงานกาตาร์เผยว่า จะอนุญาตให้ตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน และจะยกเลิกระบบอุปถัมภ์สำหรับแรงงานต่างชาติ

นายฮุสเซน อัล มุลลา ปลัดกระทรวงแรงงานเผยกับหนังสือพิมพ์อะลาหรับว่า สหภาพแรงงานซึ่งจะเป็นอิสระจากกระทรวงแรงงานจะบริหารงานโดยชาวกาตาร์ ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของแรงงานและคุ้มครองสิทธิแรงงาน ส่วนแรงงานชาวต่างชาติมีสิทธิลงคะแนนในสหภาพแรงงาน แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหาร โครงการตั้งสหภาพแรงงานนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์

นอกจากนี้ทางการยังจะยกเลิกระบบอุปถัมภ์สำหรับแรงงานต่างชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะกำหนดให้แรงงานต่างชาติทุกคนต้องมีนายจ้างท้องถิ่นอุปถัมภ์ ส่งผลให้ถูกนายจ้างควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ แรงงานต่างชาติบางรายถูกยึดหนังสือเดินทางและไม่ให้เปลี่ยนงาน ทางการจะแทนที่ระบบนี้ด้วยสัญญาจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในระหว่างที่กำลังทยอยเพิ่มการจ้างงาน 1 ล้านคนเพื่อเตรียมรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ปัจจุบันกาตาร์มีประชากร 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวกาตาร์ไม่ถึง 300,000 คน

อินเดีย..นักบินนัดหยุดงานประท้วง

9 พ.ค. 55 - สายการบินแห่งชาติ แอร์ อินเดีย ของอินเดีย ต้องยกเลิกเที่ยวบินนานาชาติ 4 เที่ยวเมื่อวานนี้ หลังนักบินประมาณ 150 คน พากันผละงานประท้วงต่อต้านผู้บริหารที่ไม่ยอมจ่ายเงินเดือนที่ยังค้างจ่าย และสภาพการทำงานที่ย่ำแย่

เจ้าหน้าที่ของแอร์อินเดีย เปิดเผยว่า สายการบินได้ไล่นักบิน 10 คนออก และสั่งให้นักบินที่ประท้วงด้วยการนัดหยุดงานกลับมาทำงานภายในเย็นวานนี้

การนัดหยุดงานอาจสร้างความเสียหายหนักให้กับปฏิบัติการบินระหว่างประเทศของแอร์อินเดีย ช่วงก่อนหน้าฤดูวันหยุดสูงสุดของอินเดีย

แอร์อินเดียที่เลื่องชื่อเรื่องขาดประสิทธิภาพ มีนักบินทั้งสิ้นประมาณ 1,500 คน

ในแต่ละวัน แอร์อินเดียจะให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ 50 เที่ยว และเที่ยวบินภายในประเทศ 400 เที่ยว

รัฐบาลอินเดียเพิ่งจะประกาศว่าจะให้เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูมูลค่า 6,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯกับแอร์อินเดียที่มีปัญหา โดยเงินจำนวนนี้มีกำหนดจะถูกอัดฉีดเข้าไปในสายการบินตลอดช่วง 8 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันแอร์อินเดียขาดทุนปีละประมาณ 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่บริษัทต้องต่อสู้กับมรดกของการควบรวมกิจการที่บริหารไม่ดีในปี 2550 ค่าใช้จ่ายด้านหนี้สิน และจำนวนบุคลากรที่มากเกินไป

นักบินกำลังเจรจาขอเงินเดือนเพิ่ม และการส่งเสริมงาน แต่การเจรจาล้มเหลว ทำให้นักบินประมาณ 150 คน พร้อมใจกันลาป่วย

แอร์อินเดียประกาศว่า กำลังจัดการให้ผู้โดยสารเดินทางไปกับเที่ยวบินของสายการบินอื่น

แพทย์ศรีลังกาผละงานประท้วง ขอเพิ่มค่าครองชีพ

11 พ.ค. 55 -  แพทย์ในศรีลังกาพากันผละงานประท้วง เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าครองชีพรายเดือน ส่งผลให้การรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งล่าช้า

แพทยสมาคมแห่งศรีลังกาแถลงว่า แพทย์ตัดสินใจผละงานประท้วงในวันนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่ทำตามคำสัญญาว่าจะเพิ่มเงินตอบแทนพิเศษ ค่าล่วงเวลา และค่าเดินทางให้กับแพทย์ หลังเคยรับปากไว้เมื่อปี 2551 ว่า จะขึ้นค่าครองชีพให้จาก 15,000 รูปี (3600 บาท) เป็น 29,000 รูปี (6,900 บาท) ขณะที่คนไข้ซึ่งเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลรัฐในศรีลังกาต่างประสบปัญหาในการบริการ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเปิดดำเนินการตามปกติ

คนงานกัมพูชากว่า 40,000 กำลังทำงานอยู่ในมาเลเซีย

12 พ.ค. 55 - ปัจจุบันมีคนงานหญิงชาวเขมรกำลังทำงานบ้านอยู่ในมาเลเซียถึง 30,000 คน กับอีกกว่า 10,000 คนกำลังทำงานรับจ้างในแขนงอื่นๆ ทั้งหมดเป็นคนวานที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำนักข่าวกัมพูชารายงานโดยอ้างตัวเลขอย่างเป็นทางการจากบริษัทจัดส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ 

ทั้งนี้ยังไม่รวมคนงานที่ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากไม่แพ้กัน

ชาวกัมพูชายังคงออกจากประเทศไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการลงทุนของต่างชาติในประเทศนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม จำนวนมากลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีชายแดนติดกัน

ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานในกรุงพนมเปญเมื่อปีที่แล้ว มีคนงานาวเขมรไปขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศไทยราว 80,000 คน แต่ฝ่ายไทยเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนเท่าๆ กันที่ลักลอบทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งแรงงานข้ามแดนประเภทไปเช้าเย็นกลับหรือแรงงานที่เข้าไปแสวงหางานทำระยะสั้นๆ ตามฤดูกาล

นายวงโซ้ต (Vong Saut) รัฐมนตรีแรงงานกัมพูชาได้พบหารือกับดาโต๊ะเสรีสุบรามาเนียม (Datuk Seri S Subramaniam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซียในวันศุกร์ 11 พ.ค.นี้ ในกรุงพนมเปญ เพื่อร่วมกันหาทางดูแลคนงานชาวเขมรในประเทศนั้น ทั้งกลุ่มที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

สองฝ่ายมีกำหนดจะลงนามในบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในมาเลเซีย สำนักข่าวกัมพูชากล่าว

ปัจจุบันในกัมพูชามีบริษัทจัดหางานต่างประเทศราว 30 แห่ง และทางการได้เข้มงวดกวดขันให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ ขณะเดียวกันก็ชักชวนให้ชาวเขมรหางานทำในประเทศ แทนการออกไปทำงานในต่างแดน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องพรากจากครอบครัว

กัมพูชากำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแระชุมรัฐมนตรีแรงงานกลุ่มอาเซียน ในวันเดียวกันนายโซ้ตได้พบหารือกับรัฐมนตรีแรงงานสิงคโปร์ กับรัฐมนตรีแรงงานเวียดนามด้วย สำนักข่าวของรัฐบาลกล่าว.

ชาวสเปนนับแสนคน ไม่พอใจมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล รวมตัวประท้วงใจกลางเมืองหลวง

14 พ.ค. 55 - ตำรวจได้ใช้กำลังบังคับให้กลุ่ม ลอส อินดิกนาดอส ออกไปจากจตุรัสโซล เมื่อเวลา 04.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น หรือราว 09.45 น. ตามเวลาในไทย แต่ผู้ประท้วงได้ไปชุมนุมกันใหม่อีกในเวลา 22.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่น หรือราว 03.00 น. ตามเวลาในไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อจะจับจองจตุรัสโซล เป็นสถานที่ปักหลักชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม โดยไม่ยอมออกไปไหน

ตำรวจเปิดเผยว่า มีประชาชน 72,000 คน ได้ก่อการประท้วงทั่วประเทศสเปน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการประท้วงที่บาร์เซโลน่า 3 หมื่นคน และกรุงมาดริดอีก 22,000 

คน ผู้ประท้วงคนหนึ่ง บอกว่า คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นคนทุกวัยและหลากหลายแนวคิด แต่ต่อสู้เพื่อสิ่งเดียวกันคือ สวัสดิการสังคม

เมื่อวันอาทิตย์ ตำรวจได้จับผู้ประท้วงไป 18 คน ที่ปักหลักประท้วงกันที่ ปัวร์ต้า เดล โซลเรียกร้องให้ยุติในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นมาตรการที่ยึดมั่นในหลักการจนเกินไป นายกรัฐมนตรี มาเรียโน่ ราฮอย ได้ปกป้องมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดของรัฐบาลของเขาว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงของสเปน ซึ่งเป็นเพียงวันเดียว หลังจากชาวสเปนนับหมื่นคน ออกไปชุมนุมประท้วงตามถนนสายต่างๆ เพื่อแสดงพลังต่อต้านการรับมือวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษของประเทศ

สื่อมวลชนสเปน รายงานว่า ตำรวจได้ขับไล่ผู้ประท้วงออกจากสถานที่สาธารณะในเมืองอื่นๆ ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ รวมทั้ง วาเลนเซีย , ซาราโกซ่า , ปัลม่า เด มายอร์ก้า

เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการชุมนุมประท้วงแบบเดียวกัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่นำไปสู่การปักหลักประท้วง ลอส อินดิกนาดอส ในจตุรัสของเมืองต่างๆ เช่น มาดริด และบาร์เซโลน่าที่ยืดเยื้อยาวนานหลายสัปดาห์

สเปนได้เข้าสู่ภาวะล่อแหลมเป็นครั้งที่สอง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย และอัตราการว่างงานของสเปนก็สูงที่สุดในกลุ่ม 17 ประเทศ ที่ใช้เงินสกุลยูโร หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปี ของสเปน พุ่งขึ้นสูงถึง 6 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลได้หันไปใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม , สาธารณสุขและการศึกษา นับตั้งแต่รัฐบาลของนายราฮอยก้าวเข้าสู่อำนาจในปีนี้

เมื่อวันศุกร์ รัฐบาลได้แจ้งบรรดาธนาคารต่างๆ ของสเปนว่า จะต้องจัดสรรเงินอีก 3 หมื่นล้านยูโร เพื่อให้ครอบคลุมความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่เจอพิษเศรษฐกิจ และสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีอิสระเกี่ยวกับหนี้ทั้งหลาย เพื่อความพยายามเรียกคืนความเชื่อมั่นใจภาคการธนาคารของประเทศ

ILO เตือนทั่วโลกอาจมีตกงานเพิ่ม 75 ล้านคน

23 พ.ค. 55 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานระบุว่า คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาและทักษะ มักถูกผลักให้ไปเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ หรือไม่ก็แรงงานไร้ฝีมือ และเตือนให้ระวังวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างภาพลวงตาที่ว่ากลุ่มคนดังกล่าวมากกว่า 6 ล้านคน กำลังท้อแท้กับการหางานทำ โดยแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายการสร้างงานมาปฏิบัติเป็นลำดับต้นๆ รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการลดภาษีสำหรับลูกจ้าง รายงานในหัวข้อ Global Employment Trends for Youth หรือแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกสำหรับคนวัยรุ่น ชี้ว่า ในปีนี้คาดว่าเกือบร้อยละ 13 ของกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15 - 24 ปี หรือเกือบ 75 ล้านคน จะไม่มีงานทำ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2009 ก็ตาม และเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2016อย่างไรก็ดี เมื่อมองในแง่ดี พบว่า หนุ่มสาวที่ยังไม่มีงานทำหลายราย เลือกที่จะศึกษาต่อ ขณะที่อีกบางส่วนเลือกทำงานที่ไร้ทักษะ เนื่องจากไม่สามารถหางานในสาขาที่ตนเรียนมาได้ ซึ่ง ILO ยังระบุว่า คนหนุ่มสาวกว่า 6 ล้านคนทั่วโลกได้ถอดใจที่จะหางานทำ และเริ่มมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกจากสังคมเพิ่มขึ้น โดย ILO เสนอแนะให้มีการปรับลดอัตราภาษี และแรงจูงใจอื่นๆ แก่ภาคธุรกิจ เพื่อให้มีการจ้างคนหนุ่มสาวเข้าทำงาน และเสนอโปรแกรมฝึกอบรมสำหรับแรงงานมือใหม่ เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น

HP ประกาศแผนเลิกจ้างงานครั้งใหญ่

24 พ.ค. 55 - บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (23 พ.ค.)ว่าบริษัทมีแผนการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ พร้อมกับเปิดเผยรายงานผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุด

บริษัทเผยว่า แผนการเลิกจ้างพนักงานกว่า 27,000 คน ซึ่งเป็นจำนวน 8% ของพนักงานทั้งหมด ณ วันที่ 31 ต.ค.2554 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งคาดว่าการเลิกจ้างจะเสร็จสิ้นภายในปีงบการเงิน 2557

นายเม็ก วิทแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮิวเลตต์-แพคการ์ด กล่าวว่า “การปลดพนักงานเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเนื่องจากคนจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง แต่ก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นในระยะยาว เราตั้งเป้าหมายให้ฮิวเลตต์-แพคการ์ดมุ่งไปสู่การคงสถานะผู้นำในระดับโลก และนำเสนอมูลค่าสูงสุดให้แก่ลูกค้าและผู้ถือหุ้นของเรา" 

ในขณะเดียวกัน บริษัทเสนอแผนการเกษียณอายุก่อนกำหนด ดังนั้น ยอดพนักงานที่จะถูกปลดออกจากบริษัท จะขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดดังกล่าวด้วย

ฮิวเลตต์-แพคการ์ดคาดการณ์ว่า แผนการปรับโครงสร้างองค์กรนี้จะช่วยให้บริษัทออมเงินได้ 3.0-3.5 พันล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นสุดปีงบการเงิน 2557 ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปลงทุนต่อในบริษัท

สำนักข่าวซินหัวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์และไอทีแห่งนี้ คาดว่าจะใช้เงินออมเพื่อหนุนการลงทุนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ในส่วนงานหลักที่บริษัทตั้งเป้าหมายทางกลยุทธ์ไว้ คือ ธุรกิจ core printing และการวางระบบส่วนบุคคล, การประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ (cloud computing), การประมวลผลข้อมูลขนาดมหึมา, การป้องกันความปลอดภัย รวมถึง ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การจัดเก็บข้อมูล และระบบเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ในองค์กร

ลูกจ้างรบ.นอร์เวย์ประท้วงขอขึ้นค่าแรงหนแรกในรอบเกือบ 30 ปี

24 พ.ค. 55 - ลูกจ้างของรัฐบาลนอร์เวย์ ก่อเหตุประท้วงเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี หลังการเจรจาเรื่องค่าจ้างล้มเหลวไม่เป็นท่า ส่งผลให้โรงเรียน ศูนย์ดูแลเด็ก และองค์กรของรัฐอีกหลายแห่งต้องปิดทำการ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในสังคมของดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนแห่งนี้

รายงานข่าวระบุว่า ลูกจ้างของรัฐบาลกลางนอร์เวย์และรัฐบาลท้องถิ่นราว 25,000-30,000 คน จากทั้งหมด 600,000 คนทั่วประเทศ ยืนยันจะขยายการประท้วงของพวกตนออกไปจนกว่าการเจรจาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าอัตราการปรับเพิ่มของค่าจ้างแรงงานในภาครัฐ มีความล้าหลังกว่าในภาคเอกชนอย่างมาก ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่า ทางตัวแทนฝ่ายลูกจ้างต้องการให้ภาครัฐพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างที่อัตราเฉลี่ย 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ สวนทางกับท่าทีของทางการนอร์เวย์ที่ระบุอัตราค่าจ้างในปี 2012 นี้ อาจเพิ่มได้เพียง 3.75 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 4.0 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า

ทั้งนี้ นอร์เวย์ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 1.4 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ถือเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในยุโรปที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สินของกลุ่มยูโรโซนมากนัก

พนักงานรถไฟบราซิลหยุดงานประท้วง

24 พ.ค.55 - นครเซาเปาโลแทบกลายเป็นอัมพาตเมื่อพนักงานของบริษัทรถไฟใต้ดินหลายพันคนหยุดงานประท้วง จนทำให้รถไฟใต้ดินที่มีผู้โดยสารใช้บริการถึงวันละกว่า 4 ล้านคนต้องหยุดวิ่ง ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบความยากลำบากในการเดินทาง โดยหันไปใช้รถแท็กซี่และรถขนส่งมวลชนแทน ในขณะที่การจราจรบนท้องถนนติดขัดเป็นทางยาว 249 กม.ทั่วเมือง สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้บริการรถไฟ โดยมีอย่างน้อยเกือบ 2,000 คนชุมนุมประท้วงด้วยการปิดกั้นถนน ขว้างปาก้อนหิน และกรีดยางล้อรถโดยสารประจำทาง ทำให้ตำรวจต้องใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาและกระสุนยางสลายกลุ่มผู้ประท้วง

สหภาพพนักงานรถไฟใต้ดิน บอกว่า พนักงาน 8,000 คนจากเกือบ 9,000 คนหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องการขึ้นเงินเดือน 20% ทำให้มีรถไฟเพียงไม่กี่ขบวนที่สามารถให้บริการและจอดแวะบางสถานีเท่านั้น แต่สุดท้ายสหภาพพนักงานยอมยุติการผละงานประท้วง โดยยอมรับข้อเสนอของบริษัทที่จะขึ้นเงินเดือนให้ 6.9% เพิ่มมูลค่าในคูปองแลกอาหารที่แจกให้กับพนักงาน และเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารสำหรับครอบครัวพนักงาน

การผละงานประท้วงนาน 5 ชั่วโมงเมื่อวานขึ้นแม้ศาลแรงงานมีคำสั่งเมื่อวันอังคารว่าจะต้องมีพนักงานทั้งหมดทำงานในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และอย่างน้อย 85% ทำงานในช่วงเวลาอื่นของวัน ซึ่งหากฝ่าฝืน สภาพแรงงานจะต้องถูกปรับเงินวันละ 5 หมื่นดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพนักงานรถไฟใต้ดิน และพนักงานขับรถโดยสารประจำทางหยุดงานประท้วงในอีก 6 เมืองเช่นกัน

แรงงานธุรกิจท่องเที่ยวกรีซประท้วงแผนลดค่าจ้าง

27 พ.ค. 55 - แรงงานธุรกิจท่องเที่ยวในกรีซชุมนุมประท้วงไม่พอใจแผนปรับลดค่าจ้างลงกว่า 40% พนักงานโรงแรมหลายร้อยคน รวมทั้งบริกร พนักงานทำความสะอาด คนครัว และผู้บริหาร ชุมนุมกันกลางกรุงเอเธนส์ ประกาศผละงาน 24 ชั่วโมง เพื่อประท้วงแผนปรับลดค่าจ้างแรงงานลงกว่า 40% ตามนโยบายประหยัดรัดเข็มขัดของรัฐบาล ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงต่างอ้างว่า แทบทุกคนต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวในกรีซแต่ละปีมีช่วงเวลาอยู่แค่ 5 เดือน แต่ทุกคนต้องทำงานเก็บเงินใช้กันตลอดทั้งปี หากถูกลดรายได้ลงกว่า 40% ต้องเผชิญวิกฤติอย่างแน่นอน 

นอกจากนั้น กลุ่มผู้ประท้วงยังประกาศขยายการชุมนุมออกไปอีก ถ้าเงื่อนไขไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ ขณะที่ฤดูกาลท่องเที่ยวของกรีซกำลังมาถึง

OECD เรียกร้องอิตาลีเร่งอนุมัติแผนปฏิรูปตลาดแรงงาน

28 พ.ค. 55 - นายแองเจล กูร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัมนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีอนุมัติการปฏิรูปตลาดแรงงานโดยเร็ว โดยแผนปฏิรูปนี้จะทำให้เป็นการง่ายขึ้นที่บริษัทต่างๆจะปลดพนักงานในช่วงเศรษฐกิจขาลง

นายกูเรียกล่าวว่า แม้ว่าการปฏิรูปแรงงานของนายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่เขาต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งขณะนี้แผนการปฏิรูปอยู่ในระหว่างการหารือในวุฒิสภาอิตาลี โดยแผนนี้จะอนุญาตให้พนักงานที่ถูกปลดออกจากงานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจสามารถกลับเข้าทำงานได้ก็ต่อเมือมี"เหตุผลที่เหมาะสม"เท่านั้น

แผนการปฏิรูปนี้เป็นส่วนสำคัญของแผนการปฏิรูปโดยรวมของรัฐบาลและจะเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดว่า รัฐบาลยังคงมีการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ OECD เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของอิตาลีจนถึงปี 2560 จะอ่อนแอกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ และเศรษฐกิจของอิตาลีจะหดตัวรุนแรงกว่าที่รัฐบาลคาดในปีนี้ อันเนื่องมาจากการขึ้นภาษี

ชาวอิตาลีประท้วงแผนรัดเข็มขัด

29 พ.ค. 55 - ชาวเมืองเบอร์กาโม ทางตอนเหนือของอิตาลีหลายร้อยคน เดินขบวนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลอิตาลี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของประเทศเดินทางเยือนเมืองนี้ พร้อมทั้งกล่าวโจมตีนายมอนติ ในช่วงที่เขา ปราศัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อดีของอัตราจัดเก็บภาษีใหม่ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศ

การชุมนุมประท้วง ทำท่าว่าจะบานปลาย จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องเข้ามาตรึงกำลัง แต่ผู้ชุมนุมประท้วง ก็ยังคงจุดไฟตามจุดต่างๆ และนำแบงก์ยูโรปลอมไปติดตามกำแพงทั่วเมือง ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากรัฐบาลของนายมอนติ ตัดสินใจขึ้นการจัดเก็บภาษี มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณของประเทศ พร้อมทั้งควบคุมรายจ่ายของหน่วยงานรัฐตลอดจน ควบคุมหนี้สาธารณะไม่ให้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของอิตาลี มีสัดส่วนประมาณ 120 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านภาษีของอิตาลี เผชิญแรงกดดันอย่างหนัก และ "อีควิทาเลีย" ซึ่งเป็นหน่วยงานเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม ตลอดจนค่าปรับต่างๆ ตกเป็นเป้าการโจมตีและถูกขู่ จากกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติหนี้ของประเทศมาตลอด 

แม้การพุ่งเป้าโจมตีไปที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านภาษี จะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายออกมาประณาม แต่บรรดาผู้สังเกตุการณ์ส่วนใหญ่ ก็เห็นใจบรรดาผู้เสียภาษีที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นมาก และโจมตีรัฐบาลที่ตัดสินใจดำเนินการเรื่องนี้ด้วยท่าทีแข็งกร้าว

ก่อนหน้านี้ ฟิทช์ เรตติ้ง บริษัทจัดอันดับชั้นนำ ระบุว่า มีแนวโน้มที่ฟิทช์ จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทุกชาติในยูโรโซน ถ้าหากกรีซ ออกจากยูโรโซน โดยประเทศที่มีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบ และมีความเสี่ยงมากที่สุด ที่จะถูกปรับลดอันดับลงในไม่ช้า ได้แก่ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน,ไซปรัส, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส, สโลเวเนีย และเบลเยียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท