Skip to main content
sharethis

ตอนค่ำของวันที่ 31 ..55 ที่ผ่านมา ที่โรงภาพยนตร์ลิโด 1 มีการจัดฉายภาพยนตร์รอบสื่อมวลชนเรื่อง “สถานี 4 ภาค” ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ บุญส่ง นาคภู่ ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระที่มีประสบการณ์หลากหลาย เคยผ่านชีวิตของอาจารย์ในสถาบันการศึกษา การเป็นนักแสดง ผู้ฝึกสอนการแสดง คนเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์

สถานี 4 ภาค” หรือ “Four Stations” สร้างขึ้นโดยดัดแปลงวรรณกรรมจากเรื่องสั้น 4 เรื่องของนักเขียนชื่อดัง 4 คนจาก 4 ภาคของไทย ไดแก่ "ตุ๊ปู่" ของมาลา คำจันทร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวพระสงฆ์สูงวัยในชนบทภาคเหนือของไทย, "สงครามชีวิตส่วนตัวของทู-ทา" ของวัฒน์ วรรยางกูร บอกเล่าชีวิตของ “ทู” หนุ่มชาวมอญที่ข้ามพรมแดนมาใช้ชีวิตอยู่ในชนบทภาคกลางประเทศไทย, "ลมแล้ง" ของลาว คำหอม สะท้อนวิถีชีวิตอันแร้นแค้นของคนชนบทในภาคอีสาน และ "บ้านใกล้เรือนเคียง" ของไพฑูรย์ ธัญญา บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกันในชนบทของภาคใต้ โดยนักแสดงส่วนใหญ่คัดเลือกจากคนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของสถานที่ถ่ายทำ

บทสัมภาษณ์ บุญส่ง นาคภู่ ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “สถานี 4 ภาค”

ภาพยนตร์เรื่อง “สถานี 4 ภาค” ได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2554 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีกำหนดฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 14-20 มิ..นี้ วันละ 1 รอบ เวลา 18.30 . ที่โรงภาพยนตร์ลิโด 1

 
 

บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับภาพยนตร์ “สถานี 4 ภาค”

 
 

ทำไมจึงเลือกเรื่องสั้น 4 เรื่องนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ แต่ละเรื่องมีความเชื่อมร้อยกันตรงไหน

4 เรื่องนี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่ละเรื่องเน้นเสนอวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนแต่ละภาค วิถีชีวิตของคนแต่ละภาคชัดเจน นักเขียนแต่ละคนก็เป็นคนท้องถิ่น ถามว่าทั้ง 4 เรื่องมีจุดร่วมไหม ไม่มีจุดร่วมเลย มีจุดร่วมตรงนี้แหละ รถไฟผมเอามาแทรก เอามาใส่ทีหลัง มีการดัดแปลงขึ้นเยอะเหมือนกัน ผมเลือกเพราะมีความเป็นท้องถิ่น มีความเป็นวัฒนธรรมชัดเจนของแต่ละภาค เช่น ภาคใต้ สะท้อนความป็นคนใต้ชัดเจน ภาคกลาง ไม่อยากเป็นกรุงเทพฯ เพราะเฝือ คนที่อยู่ภาคกลางแต่ว่าเป็นคนนอก มอญ พม่า เป็นเรื่องสั้นที่คุณวัฒน์ (วรรณยางกูร) เขียนใหม่ แล้วก็ภาคเหนือ เรื่องตุ๊ปู่ก็งดงามมากแบบพระเหนือ ผมก็ดัดแปลงเป็น realistic หมดเลย เรื่องเกินจริงไม่เอา เรื่องลมแล้งของลุงคำสิงห์ เป็นเรื่องเก่า แต่ผมดัดแปลงให้ร่วมสมัยมากขึ้น

 

อะไรเป็นสิ่งที่ที่ท้ายชีวิตคนเล็กคนน้อยในแต่ละเรื่อง

หนังของผมทุกเรื่อง พยายามพูดเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อย แน่นอนเรื่องสั้น 4 เรื่องนี้พูดถึงชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อย ผมไม่อยากเล่าถึงประเทศไทยแล้วพูดถึงคนตัวใหญ่ๆ เพราะมันไม่มีค่าอะไรกับผม ผมคิดว่าคนตัวเล็กตัวน้อยมีเสียงที่เล็กก็จริง แต่ก็มีความหมายมาก นี่คือเหตุผลที่เลือก 4 เรื่องนี้

หนังเรื่องนี้ผมไม่ได้ทำให้ชาวบ้านดู ผมอยากทำให้คนอื่นดูชีวิตชาวบ้าน เห็นมิติอื่นๆ ของชีวิตบ้าง ไม่ใช่มองแต่เรื่องทั่วๆ ไป มันจะเป็นภาพที่หาดูได้ยาก ถ้าชาวบ้านดูคงหลับ (หัวเราะ)

 

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 2 ที่เป็นหนังนอกกระแส มันตอบโจทย์อะไรในตัวผู้กำกับบ้าง

ผมมีปัญหากับหนังกระแสหลัก เพราะทำแล้วมันไม่ขาย แล้วผมก็ไม่อินกับมันเลย คือผมเข้าวงการหนังเพราะอยากทำหนังที่ดีๆ อยากเล่าเรื่องที่อยากเล่า ชีวิตชาวนา ชาวบ้าน ชีวิตพระ ชีวิตเณรที่เรารู้จักดี แต่ในโลกหนังกระแสหลักมันไม่มีเรื่องพวกนี้เลย ผมรอมาสิบกว่าปีนะถึงมีโอกาส

ผมทำเรื่องมือปืน 191 เป็นหนังตลก ชีวิตตำรวจ ผมก็พยายามเอาชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยเข้าไป นายทุนด่าเช็ดเลย สุดท้ายก็พยายามใส่ความเป็นบ้านๆ เข้าไป มันก็ไม่ขาย มันก็ไม่เป็นรสนิยมสาธารณ์ ผมอาจจะไม่เหมาะก็ได้ แล้วก็พยายามอีกหลายครั้ง ผมไม่ย่อท้อง่ายๆ นะ ยุคนั้นเป็นยุคที่ทำหนังต้องเข้าวงการ ต้องทำเป็นฟิล์ม 16 ฟิล์ม 35 เท่านั้น ดิจิตอลไม่มี พอมาถึงยุคนี้สบายแล้วล่ะ มันมีดิจิตอลคราวนี้ผมจะทำเรื่องอะไรก็ได้ ผมเลยถอยออกมาจากวงการกระแสหลักพร้อมกับความเชื่อมั่นว่าทำหนังที่เราอยากทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร

ผมทะเยอทะยานอยู่ 2 เรื่องในชีวิตของผม หนึ่ง ผมอยากเล่าเรื่องที่ผมอยากจะเล่า ซึ่งมีอีกเยอะ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะเล่าในประเทศนี้ เช่น เรื่องต่อไปอยากจะทำเรื่องวังพิกุล เป็นตำนานหมู่บ้านผม จะทำไตรภาคเลย ผมจะดัดแปลงเรื่อง “เพื่อนบ้าน” เป็นแรงงานพม่า 2 คน ผมจะดัดแปลง “Old man and the sea” ของแฮมมิ่งเวย์ เป็นชาวนาต่อสู้กับทุนนิยมโลก มีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมดเลย

สอง ผมท้าทายตัวเองเรื่องความเป็นภาพยนตร์ สังเกตหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่รูปแบบทั่วไปอย่างที่เราเคยเห็น มันไม่ใช่อาร์ตจ๋า ไม่ใช่หนังดูยากอะไรเลย ดูง่าย แต่เป็นจังหวะอีกแบบหนึ่งซึ่งหาไม่ได้ในหนังทั่วๆ ไป ก็คือท้าทายว่าผมเข้าใจหนังแค่ไหน ที่ผมเข้าใจมันถูกหรือเปล่า ผมลองพิสูจน์ดู

ผมทำหนังให้คนดูอินกับมันแล้วจินตนาการ ให้เกียรติคนดูอย่างสูงสุดมันจะเป็นยังไง ท้าทายคนดูในจุดนี้ ท้าทายผมด้วยว่าจะเป็นยังไงต่อไป ผมก็ต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น

 

งานชิ้นนี้ได้รับทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม มองการสนับสนุนแบบนี้จากรัฐอย่างไรบ้าง

จู่ๆ ก็มีโครงการนี้ขึ้นมา มันงดงามมากเลยนะ เปิดโอกาสให้ผู้กำกับตัวเล็กๆ อย่างผมได้เล่าเรื่องราวที่อยากเล่า ให้ป่าผืนนี้ได้มีความหลากหลายบ้าง

ตอนนี้วงการหนังไทยไม่มีความหลากหลายเลย มีแต่หนังตลก หนังรัก หนังผี หนังแอคชั่นฟอร์มใหญ่ซึ่งไร้สาระหมด ผมรู้สึกไม่มีความหลากหลาย ป่าผืนนี้มีแต่ยูคาลิปตัส มันน่าจะมีป่าหลายๆ ชนิดสิ กระทรวงวัฒนธรรมให้โครงการนี้ขึ้นมา สร้างความหลากหลายให้วงการ หนังเล็กๆ เต็มไปหมด ผมก็ได้ทำ บังเอิญจบแล้ว ไม่มีอีกแล้ว ป่าผืนนี้ก็จะยังเป็นป่าเสื่อมโทรมเหมือนเดิม ความหลากหลายไม่มีแล้ว ถ้าไม่มีโครงการนี้ผมก้ไม่มีหนัง แต่นั่นเป็นความคดเมื่อปีที่แล้วนะ ต่อจากนี้ไม่เกี่ยวแล้ว ไม่ให้ทุนก็ทำได้ ลงทุนเองมี 10 บาท ทำ 10 บาท ต่อไปไม่มีปัญหาเรื่องให้ทุนไม่ให้ทุน

สมมติผมทำเรื่องชีวิตคนทุกข์ยากในชนบท เป็นเรื่องสุขภาวะเลย ผมควรจะขอกระทรวงสาธารณสุข ผมควรจะได้เลย ถูกไหม ปรากฏว่าไม่ได้เพราะไม่เข้ากับวาระ ไม่เข้ากับนโยบายเขา การจ่ายเงินแต่ละครั้งมันมีเงื่อนไขพิเศษที่ไม่ตรงกับเรา ผมทำเรื่องชีวิตคนมอญ กระทรวงวัฒนธรรมต้องให้เงินผมสิ ยาก ขอทุนต่างประเทศก็เงื่อนไขเยอะมาก งั้นผมก็ทำเท่าที่ทำได้ก็แล้วกัน มีโอกาสขอทุนผมก็ขอ มีกล้องตัวนึง ทำเลย นี่คืออนาคตของหนัง ทุกคนสามารถทำหนังได้ โรงหนังไม่ใช่ผู้มีอำนาจอีกต่อไป นายทุนอย่าแหยม

ผมสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อจะสร้างทางเลือกใหม่ให้คนดูที่จะเสพอรรถรสภาพยนตร์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นิยมดาษดื่นอย่างหนังทั่วไป เหมือนหนังฝรั่งที่พยายามยัดเยียดอะไรเข้ามา แต่หนังเรื่องนี้ไม่ยัดเยียดเลย ให้มาดูแล้วพิจารณาด้วยตัวเขาเอง แล้วจะพบความงดงามบางอย่าง รอยหยักสมองจะมากขึ้น จิตใจจะดีขึ้น แล้วจะเข้าใจสังคมเข้าใจชีวิตมากขึ้นเหมือนอ่านวรรณกรรม ผมดัดแปลงจากวรรณกรรม แล้วแต่ละเรื่องก็ทรงคุณค่ามาก ผมว่าเราน่าจะเรียนรู้ชีวิตคนอื่นเพื่อเรียนรู้ชีวิตตัวเอง ผมว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออันนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นมาส่งเสริมหนังทางเลือกเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ส่งเสริมเลย ทางเลือกก็จะน้อยลง แล้วสุดท้ายเราก็เป็นทาสเขา ไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น

 

……………………………………………….

ความเห็นของผู้ชมภาพยนตร์

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

สถานี 4 ภาค เป็นหนังที่น่าสนใจ เรียกว่าได้สะท้อนชีวิตของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ซึ่งยอมรับทุกชีวิตในหนังคือชีวิตของคนไทยจริงๆ ที่มีอยู่ในประเทศเรา แต่อาจจะมีความเหลื่อมล้ำกันซะบางคนอาจจะไม่คิดถึงชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา ซึ่งส่วนตัวกอล์ฟชอบ ชอบหนังที่เล่าเรื่องมนุษย์ที่ชายขอบ โดยเฉพาะคนตัวเล็กๆ ที่ต้องต่อสู้กับระบบที่มันใหญ่ๆ แล้วก็ทำลายทำร้ายคนตัวเล็กๆ อย่างที่เห็นในหนังทั้ง 4 ภาค ไม่ว่าอะไรที่มันถาโถมเข้ามา มันเป็นสงครามที่ต่อสู้ด้วยคนๆ เดียวมันยากอยู่แล้ว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

ผมว่าน่าสนใจตรงที่เอาเรื่องของนักเขียนมีชื่อเสียง 4 คนของเมืองไทยมารวมกัน แล้วทำให้ทั้งหมดมาเชื่อมโยงกันตรงชีวิตของคนธรรมดา แล้วทำให้เห็นว่าชีวิตของคนธรรมดามันต้องดิ้นรนยังไงบ้าง การดิ้นรนของตัวละครแต่ละตัวที่จะมีชีวิตอยู่รอดในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหนังก็เล่าความดิ้นรนของตัวละครเหล่านี้คู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา มันทำให้เห็นว่าจริงๆ มีการเมืองซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net