Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานพร้อมองค์กรแนวร่วมเตรียมจัดงาน ครบรอบ 3 ปี ก่อตั้งชุมชนบ่อแก้ว นำร่องเปิดเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์” หวังนำเสนอช่องทางและมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 
 
พื้นที่สวนป่าคอนสาร ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม บริเวณชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถูกพลิกฟื้นให้สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการนำร่องเปิดหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาเป็นแห่งแรกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ภายหลังจากที่ถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า เพื่อปลูกยูคาลิปตัส กินพื้นที่กว่า 4,401 ไร่ ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมากว่า 30 ปี
 
ในวันที่ 16 – 17 ก.ค.55 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วจะมีพิธีเปิด “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” อย่างเป็นทางการในงาน “3 ปี บ่อแก้ว เส้นทางสู่ชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์” เพื่อก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ และนำมาซึ่งสิ่งที่ดีในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปี การก่อตั้งชุมชนของเกษตรกรผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน
 
นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว กล่าวว่า “ชุมชนบ่อแก้ว” ได้ถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.52 จากการรวมตัวของชาวบ้านผู้ประสบปัญหาสูญเสียที่ดินมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ได้พร้อมใจกันเข้ามาปักหลัก ยึดพื้นที่ในบริเวณสวนป่าคอนสาร และตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของตัวเองขึ้นมา เพื่อเรียกร้องให้ได้พื้นที่ทำกินเดิมของตนเอง ที่ถูก ออป.ยึดไป กลับคืนมาดังเดิม และด้วยความหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือในเรื่องที่ดินทำกินจากหน่วยงานภาครัฐ ในการที่รัฐบาลจะร่วมแก้ไขปัญหาให้ ด้วยความถูกต้อง และเป็นธรรมต่อไป
 
นายนิด กล่าวถึงการต่อสู้อันยาวนานของชุมชนว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน ได้รวมตัวกันคัดค้าน อ.อ.ป.นับแต่เริ่มเข้ามาดำเนินโครงการ เมื่อปี 2521 รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร และคืนสิทธิในที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านผู้เดือดร้อน แต่ อ.อ.ป.ก็ยังคงเข้าดำเนินโครงการมาจนถึงปัจจุบัน
 
ทั้งนี้ เดิมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2516 ครอบคลุมเนื้อที่ของ ต.ทุ่งพระ ต.ทุ่งนาเลา ต.ทุ่งลุยลาย จ.ชัยภูมิ รวมกว่า 2 แสน 9 หมื่นไร่ กระทั่งมีการปลูกสร้างสวนป่าสวนป่าคอนสารและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม รวมถึงการใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน
 
ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้างเพราะไม่มีที่ดินหลงเหลือ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกร และนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ กลายเป็นข้อพิพาทระหว่าง ออป.กับชาวบ้าน
 
 
ในส่วนของคดีความนั้น เมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ฟ้องขับไล่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจำนวน 31 คนให้ออกจากพื้นที่ จนนำไปสู่การดำเนินคดีกล่าวหาชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ
 
กระทั่งศาลอุทธรณ์จังหวัดภูเขียว นัดฟังคำพิพากษา ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ 21 ธ.ค.54 โดยยืนตามศาลขั้นต้นว่า ชาวบ้านมีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติฯ พร้อมมีคำสั่งให้ชาวบ้าน ที่ถูกดำเนินคดีพร้อมบริวาร ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาล แต่ชาวบ้านยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ ด้วยจากชาวบ้านมีหลักฐาน ร่องรอย การถือครองที่ดินที่ชัดเจน มาแต่ปี 2494
 
นายนิด  กล่าวด้วยว่า แม้จะได้รับการรับรองจากคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหัวหน้าสวนป่าคอนสารที่ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่ว่าชาวบ้านได้ทำประโยชน์มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าจริง พร้อมมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารและนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน โดยทุกขั้นตอนจะมี ออป.มาร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง แต่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติ
 
อีกทั้งปัจจุบัน คดีความชาวข้อพิพาทเรื่องที่ดินของชาวบ้านยังถูกแขวนไว้ในชั้นการพิจารณาของ ศาลฎีกาจังหวัดภูเขียว
 
ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว กล่าวว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะต้องต่อสู้เพื่อการทำอยู่ทำกินโดยผจญความบีบคั้นของข้อกฎหมายและคดีความ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการจัดทำกิจกรรมช่วงที่ผ่านมาโดยตลอด เช่น ทำการผลิตปลูกพืช ผัก สวนครัว เพื่อเลี้ยงชีพในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ
 
นอกจากนั้นยังมีการจัดสร้างโรงธนาคารเมล็ดพันธ์, ศูนย์เมล็ดพันธุกรรม, ร้านค้าชุมชน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้า และน้ำประปา ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้ทำการวางท่อน้ำ เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยโปร่งเข้าตามบ้านต่างๆเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค ขณะเดียวกันได้ทำแท็งก์น้ำ เพื่อเป็นที่พักกักเก็บน้ำในการเกษตร และบริโภค และทำโรงอบสมุนไพร โรงปุ๋ยหมัก เป็นการต่อไป
 
“การจัดการบริหารต่างๆ ในบ่อแก้วนี้ ชาวบ้านได้ร่วมแรงและรวมใจกัน รวมทั้งได้รวบเงินเท่าที่กำลังจะหากันมาได้ ส่วนหนึ่งก็ได้รับการสมทบจากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถือเป็นการพัฒนาการที่มีขึ้นตามลำดับ เพื่อการดำเนินชีวิตบนผืนดินของตัวเองอย่างยั่งยืน ในรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบส่วนรวม โดยการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน” ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้วกล่าว
 
 
สำหรับ พิธีเปิด “บ้านบ่อแก้ว หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” ด้วยการก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์โดยปราศจากสารเคมี หรือมลพิษอื่นใด เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในแนวทางการจัดการทรัพยากรและที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน อันเป็นแนวทางหลัก ในการจัดการของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน ให้มีความมั่นคง และยั่งยืน ตกทอดไปถึงลูกหลานนั้น
 
นางสาววิชชุนัย ศิลาศรี ผู้ประสานงานการจัดเวที 3 ปีบ่อแก้ว กล่าวว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมกับองค์กรแนวร่วมต่างๆ กำหนดจัดงาน “3 ปี บ่อแก้ว เส้นทางสู่ชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สรุปบทเรียนเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน และการพัฒนาระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ระหว่างชาวบ้าน นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป รวมทั้งเพื่อเป็นการรณรงค์ และส่งเสริมแนวคิดระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ในพื้นที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
 
นอกจากนั้นยังถือเป็นโอกาส เพื่อนำเสนอช่องทางและมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรของเครือข่ายฯ ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
ทั้งนี้ บ้านบ่อแก้ว ถือเป็นชุมชนนำร่อง ในการเปิด “หมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์” โดยมีชาวบ้านในเครือข่ายฯ 16 ชุมชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบธงและป้ายหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์ พร้อมด้วยองค์ร่วมจัด อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ สำนักข่าวพลเมืองลุ่มน้ำเซิน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อีสาน กลุ่มนักศึกษาดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (CIEE) เป็นต้น
 
วิชชุนัย เล่าถึงรูปแบบและเนื้อหาของการจัดงานว่า จะมีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบเวทีด้านวิชาการ และการจัดการนิทรรศการที่ดินและระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ เวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นบ้าน การเยี่ยมชมกระบวนการผลิต และวิถีชีวิตชุมชนบ่อแก้ว นอกจากนี้ภายในงานจะมีการออกร้านสินค้า ของที่ระลึก แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และพันธุกรรมพื้นบ้าน
 
“ท่ามกลางการต่อสู้ในพื้นที่พิพาท ชาวบ้านได้คิดค้นแนวทางการจัดการที่ดินและการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ มาจากการสรุปบทเรียนเกี่ยวกับปัญหาการผลิตทางการเกษตรในปัจจุบัน การบริหารจัดการที่ดินของสังคมไทย การปลูกสร้างสวนป่าของหน่วยงานรัฐ กระทั่งนำมาสู่การการจัดที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และได้มีการพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่กลับเข้าไปยึดพื้นที่ทำกินเดิมคืน จึงเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้” วิชชุนัย กล่าว
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net