Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“แด่การปฏิวัติสยาม 2475, คณะราษฎร และผู้ถางทางประชาธิปไตยไทยอันไร้นามสกุล”

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ [1]

0 0 0

 

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง

ประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 [2]

 

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ 2 มีนาคม 2478 [3]

 

พล็อตประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติไทย ถูกวางรากฐานให้เป็นเครื่องมือสร้างความทรงจำร่วมเพื่อเอกภาพของรัฐ อดีตอันยิ่งใหญ่เท่านั้นที่จะสร้างปมเด่นให้กับประเทศชาติ เราจึงมีประวัติศาสตร์ที่อาศัยจินตนาการสูง แต่สมรรถภาพในการตั้งคำถามต่ำ ตั้งแต่พล็อต “คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต” กับการอธิบายประวัติศาสตร์ราชธานีสี่กรุง กรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี-กรุงรัตนโกสินทร์ ในที่สุดประวัติศาสตร์ไทยจึงจอดเทียบท่าอยู่กับความส่องสว่างของยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลที่ 5 ขณะที่ความเรืองรองของประวัติศาสตร์ปฏิวัติสยาม 2475 และความพลิกผันของสถานการณ์เมืองที่มีปัจจัยอันสลับซับซ้อน ได้ถูกทำให้ลืมๆกันไป ด้วยการยกความดี ความจริง ความงามของบางสิ่งบางอย่างเข้าแทนที่ พร้อมโครงเรื่องง่ายๆ ที่แบ่งข้างด้วยความดี ความชั่ว ขาว ดำ พระเอก ผู้ร้าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในการสร้างความจดจำ แม้มันจะไม่บันเทิงใจเท่าละครหลังข่าวเท่าใดนักก็ตาม

ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ โดยเฉพาะการปฏิวัติสยาม 2475 ได้ถูกทำให้มีสถานะคลุมเครือ การพลิกอำนาจจากกษัตริย์มาสู่ประชาชนอันเป็นความสำเร็จที่ท้าทายและมีรากเหง้าของความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ก็ถูกอธิบายง่ายๆว่า ครั้งนั้นเป็นเพียงการแค่อำนาจที่เปลี่ยนมือจากผู้มีอำนาจเดิม คือ กษัตริย์ไปสู่มือของชนชั้นนำที่ไม่ได้มีเชื้อเจ้าเท่านั้น การโต้แย้งถกเถียงถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของคณะราษฎรจึงมีข้อจำกัด และส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกันด้วยซ้ำว่า คณะราษฎรเป็นต้นตอของสภาพสังคมไทยอันวุ่นวาย สังคมที่อยู่ในวังวนของการแก่งแย่งชิงดีของอำนาจของนักการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์แห่งความเลวร้าย ซึ่งอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกับความบริสุทธิ์ของสิ่งดีงามที่บริสุทธิ์ “ไร้การเมือง” อย่างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

หลังจากการรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 และปรากฏผลอย่างจริงจังในทศวรรษ 2500 ได้ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการทหารไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในอีกด้านหนึ่งก็เบียดบังความสำคัญและความทรงจำต่อคณะราษฎรออกไปจากความทรงจำร่วมของสังคมไทยได้อย่างเหลือเชื่อ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองของไทยมาสู่ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะเป็นวาระที่สมควรเฉลิมฉลอง ผลิตซ้ำความหมาย ความคิด ความรู้และประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสยามและคณะราษฎรแล้ว เราควรจะมองปัจจัยที่ทำให้คณะราษฎรและการปฏิวัติสยามถูกลดทอนคุณค่าลงไป

ผู้เขียนเห็นว่า การประเมินความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอีกฝั่งฟากเป็นเรื่องสำคัญ ในที่นี้ผู้เขียนสนใจเขียนถึงและครุ่นคิดกับองค์กรประชาธิปไตยองค์กรหนึ่งที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐนั่นคือ สถาบันพระปกเกล้า อาจกล่าวได้ว่า สถาบันดังกล่าวเป็นผลผลิตของพลังของตำนานกษัตริย์นักประชาธิปไตยที่ขยายตัวอย่างชัดเจนในกลางทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา

บทความชุดนี้ได้แบ่งย่อยเป็น 3 ตอน จะขอเปิดประเดิมด้วยจุดเริ่มต้นการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า

 

1. จากผู้แพ้ สู่ ผู้ชนะ รัชกาลที่ 7 กับฐานะอันสูงเด่นหลัง 14 ตุลา 16

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นับเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่ไม่มีการสร้างพระเมรุมาศและการออกพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตต่างแดน ในปี 2484 ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับยุคทองของคณะราษฎรที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงเอยด้วยการประกาศสละราชสมบัติในปี 2478 ต้องรอให้คณะราษฎรเสื่อม จนตกลงจากบัลลังก์อำนาจด้วยการรัฐประหารปี 2490 การฟื้นฟูพระเกียรติยศจึงได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันการฟื้นคืนอำนาจของกลุ่มนิยมเจ้าในทศวรรษ 2490 ทำให้เจ้านายกลับมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกหยิบฉวยมาใช้ในการอธิบายในฐานะคุณูปการต่างๆ ต่อสังคมไทย หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของรัชกาลที่ 7 อยู่ด้วย

ปี 2492 พบว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กราบทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย [4] อีกไม่กี่ปีต่อมาก็พบว่ามีการประชุมคณะรัฐมนตรี ปี 2496 [5] และมีข้อเสนอให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้น ให้รื้อป้อมกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และให้นำอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่กล่าวกันว่ามีขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าตัวคนไปแทนที่ เหตุผลก็คือ พานรัฐธรรมนูญเป็นเพียง “สิ่งของ” ขณะที่ “พระบรมรูป” เป็นเพียงความเหมาะสมในการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ดีกว่า ดังนั้นในมุมนี้รูปเคารพที่เป็นมนุษย์จับต้องได้ จึงมีความสำคัญกว่าสัญลักษณ์ในเชิงหลักการ

นอกจากนั้น ความสำคัญของรัชกาลที่ 7 ยังถูกผลิตซ้ำด้วยพระบรมราชินีของพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปรากฏเรื่องเล่าว่า พระองค์เสด็จมาที่จันทบุรีเพื่อสร้างพระตำหนักส่วนพระองค์ ทรงทำมีดบาดพระดัชนี (มีดบาดนิ้ว) จึงเข้าโรงพยาบาลจันทบุรี [6] โรงพยาบาลขณะนั้นมีขนาดเล็ก จึงทรงเห็นว่าควรจะช่วยเหลือ ในปี 2497 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกศัลยกรรม ปรากฏว่ามีพระญาติวงศ์ ข้าราชการประชาชน เข้าร่วมบริจาคสมทบด้วย อาคารหลังดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2499 ได้ชื่อว่า “ตึกประชาธิปก” และยังได้ใช้ “ตราศักดิเดชน์” ประจำรัชกาลที่ 7 เป็นตราประจำตึกอีกด้วย มีการบันทึกว่า มุขหน้าตึกได้มีการสร้างพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ด้วย เข้าใจว่าน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการสร้างพระบรมรูปฯ รัชกาลที่ 7 ในที่สาธารณะ สอดคล้องกับการที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุมัติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์

อย่างไรก็ตามในบริบททางประวัติศาสตร์ ปลายทศวรรษ 2490 เป็นช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นอย่างมาก พบหลักฐานว่ารัฐบาลให้งบประมาณในการปรับปรุงและสร้างสถานพยาบาล จนขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด [7]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ที่มา : วังสวนบ้านแก้ว http://www.rbru.ac.th/bankeaw/kittikun/index.php?option=com_content&view=article&id=21:-qq&catid=3:2010-12-08-17-36-51&Itemid=3

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย ในปี 2492 หลังจากสวรรคต 8 ปี ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

ภายใต้สังคมเผด็จการ ทศวรรษ 2500 มีผู้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 .อีกครั้ง ในฐานะที่พระองค์ทรงวางรากฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตย จนประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองมาได้ วิชัย ประสังสิต เป็นผู้เสนอในปี 2505 [8] ที่ตลกร้ายก็คือ นี่ถือเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของประชาธิปไตยภายใต้การปกครองเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์! ความบิดเบี้ยวดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการลบความทรงจำเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สัมพันธ์กับคณะราษฎรออกไป ถึงขนาดว่ากันว่าชาวธรรมศาสตร์จำนวนมากในยุคก่อน ไม่รู้จักปรีดี พนมยงค์ ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างไรทั้งในนามผู้ประศาสน์การ ธรรมศาสตร์และมันสมองของคณะราษฎรเสียด้วยซ้ำ [9] ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กระแสภูมิปัญญาของปัญญาชนและนักศึกษา ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา จึงผนวกรวมรัชกาลที่ 7 เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ [10] แสดงให้เราเห็นถึงพลังของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาช่วง 14 ตุลา 16 ตัวบทที่ถูกคัดลอกออกมาจากบริบทเพียง 3 บรรทัด โดยละเลยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของเอกสาร ที่มีการต่อรองและต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 อย่างถึงพริกถึงขิงที่เกิดขึ้นตลอดเอกสาร ยิ่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือ ทำให้รูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์มีบทพูดที่เฉียบแหลม ขณะที่ทรงยืนอยู่กับประโยชน์สาธารณชนเป็นใหญ่

พลังของการอ้างอิงข้อความดังกล่าวในด้านหนึ่งแล้ว มันเสริมความแข็งแกร่งให้กับความเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็กล่าวได้ว่า เป็นการปักหมุดความวิเศษและภาพลักษณ์ใหม่ของรัชกาลที่ 7 ในนามของกษัตริย์นักประชาธิปไตย ในที่สุดพลังถ้อยคำของเอกสารนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองเพื่อโค่นล้มเผด็จการ ข้อความดังกล่าวไปปรากฏในหนังสือของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าเป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของขบวนการนักศึกษายุคนั้น การแจกจ่ายเอกสารนี้นำไปสู่การจับกุมนักศึกษา อันลุกลามไปสู่เหตุการณ์อันไม่คาดฝันนั่นคือ 14 ตุลา 16

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ส่วนหนึงของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ส่วนหนึงของ พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ รัชกาลที่ 7 ที่ถูกคัดลอกมาเพียงส่วนหนึ่ง ปรากฏอยู่ใน “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”

 

เดือนมกราคม 2517 สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่เกิดขึ้นจาก 14 ตุลาคม 16 จำนวนหนึ่งได้เสนอให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 อีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการนำเสนอไปในคณะรัฐมนตรีรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 แต่คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นไม่เคยนำเรื่องเข้าพิจารณา จนรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ลงมติเห็นชอบและให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการ [11] นั่นได้ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาพลักษณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 คือ พลังสำคัญอย่างหนึ่งในการโค่นล้มเผด็จการทหารจนประเทศได้รับประชาธิปไตย การผลักดันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

 

2. จาก 14 ตุลา 16 สู่ 6 ตุลา 19 ชัยชนะยังเป็นของฝ่ายเจ้า

ความหมายของประชาธิปไตยกับรัชกาลที่ 7 ถูกผลิตซ้ำเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อเดือนมกราคม 2518 กรมไปรษณีย์โทรเลข พิมพ์ตราไปรษณียากรชุด “14 ตุลาคมรำลึก” ออกจำหน่าย มีอยู่ 4 รูปแบบ คือ ตราไปรษณียากร มูลค่า 75 สตางค์ที่เป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2 บาท และ ภาพปั้นนูนที่เป็นส่วนล่างของปีกอนุสาวรีย์ มูลค่า 2.75 บาท และสุดท้าย ภาพพานรัฐธรรมนูญและมีข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” พิมพ์ซ้อนทับลงไป มีมูลค่าสูงที่สุดนั่นคือ 5 บาท [12]

ภาพประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเรือนหมื่นเรือนแสนแน่นขนัดถนนราชดำเนิน กลับไม่ถูกเลือกให้เป็นภาพตัวแทนของพลังประชาธิปไตย ดังนั้นตราไปรษณียากรนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการจับคู่ประชาธิปไตยที่ละเลยความสำคัญของประชาชน และพลังของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ตราไปรษณียากรชุด 14 ตุลาคมรำลึก

 

หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและขบวนการประชาชน เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ และกรรมกร เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ของสามัญชนไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน การหยุดงานประท้วง มีมากขึ้นทุกที ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ก่อความหวาดระแวงให้กับชนชั้นนำมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับอาการตื่นตระหนกเสียขวัญของชนชั้นนำ หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวสามารถยึดครองประเทศได้ในปี 2518 ก็ได้ทำให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกประเมินว่า มีฝ่ายซ้ายชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นคือ ภัยคุกคามขั้นอุกฤต ดังนั้นภาพลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน หลัง 14 ตุลา 16 จึงกลายเป็นภาพลบ ฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่ก้าวหน้า ก็ดูเหมือนจะก้าวล้ำเส้นมากไปจนน่าหวาดหวั่น จึงไม่แปลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะมีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน คือ มวลชนขวาจัดอันเกรี้ยวกราด พวกเขาต่อต้านเหล่านักศึกษาและประชาชนอย่างอุกอาจและเปิดเผยหลายครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังด้วยสื่อวิทยุจากฝ่ายรัฐบาล และหนังสือพิมพ์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมทางการเมืองที่โหดเหี้ยมอย่างยิ่งที่เราทราบกันดี นั่นคือเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ความวุ่นวายอันเนื่องมาจากประชาธิปไตย หรือการสูญเสียในเหตุการณ์โศกนาฏกรรม กลับไม่มีผลกระทบต่อตำนานกษัตริย์ประชาธิปไตยใดๆ สถานะตัวแทนประชาธิปไตยจึงยังคงอยู่ร่วมกับความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะกษัตริย์ได้ ภาพลักษณ์ของกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ปราศจากรอยมลทินใดๆ กลับยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

 

3. รูปเคารพกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ณ รัฐสภา

หลังจากการอนุมัติก่อสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 แล้วเสร็จ ได้มีกำหนดการพิธีเปิด ก็คือวันที่ 10 ธันวาคม 2523 อันถือพระราชพิธีควบกัน 2 งาน นั่นคือ “พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ธันวาคม พุทธศักราช 2523”

ความสำคัญของอนุสาวรีย์นี้แสดงอย่างชัดเจนว่าอะไรคืออะไร

รัฐสภา ที่เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจอธิปไตยของประชาชน กลับถูกพื้นที่ทางการเมืองอีกแบบหนึ่งวางซ้อนทับ ที่น่าสนใจก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์นั้น ได้โฟกัสความสำคัญไปที่รัชกาลที่ 7 และพระราชหัตถเลขาอันลือลั่นเท่านั้น แต่ไม่ยักปรากฏชัยชนะของประชาชนที่มีส่วนร่วมในการโค่นเผด็จการในช่วง 14 ตุลา 16 เลยแม้แต่น้อย

ที่น่าสังเกตก็คือ พระบรมรูปนี้ประทับนั่งในพระอิริยาบถเดียวกับตอน “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ต่างกับพระบรมรูปทรงประทับยืนที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า นอกจากนั้นบริเวณฐานไม่มีพระราชประวัติจารึกไว้ เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์อื่นๆ [13] พื้นที่ทางการเมืองนี้ได้แยกพระบรมรูปออกมาเป็นเอกเทศมากขึ้นเมื่อมีการจัดตั้ง มูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาใกล้เคียงกัน [14]  หรืออาจกล่าวได้ว่า การผลิตซ้ำพิธีกรรมทุกปี ได้ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 เปรียบเสมือนเป็นศาลเจ้าประชาธิปไตยที่กลายเป็นรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภาไปในที่สุด นอกจากนั้นพบว่า ยังมีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันนั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์รัฐสภาที่อยู่ในตำแหน่งใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์นำมาจัดแสดงพร้อมกันด้วย พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2523 พิพิธภัณฑ์นี้ในเวลาต่อมาได้ย้ายไปสร้างใหม่ ณ อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณถนนราชดำเนิน

อนุสาวรีย์แห่งนี้เปิดขึ้นปีเดียวกับ การออกคำสั่ง 66/2523 ที่นำไปสู่ชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อนุสาวรีย์แห่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงผู้เสียสละในการต่อสู้กับ พคท. เช่น อนุสาวรีย์เราสู้ จ.บุรีรัมย์ (2523) อนุสาวรีย์วีรชนอาสาสมัครทหารพราน (2524) อนุสาวรีย์ผู้เสียสละเขาค้อ (2527) [15]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ณ อาคารรัฐสภา เปิดเมื่อ 10 ธันวาคม 2523

 

ในช่วงนี้ กระแสอนุรักษ์นิยมเฟื่องฟูขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพร้อมๆกับ การเบ่งบานของประวัติศาสตร์แห่งชาติกระแสหลักที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลาง งานรัฐพิธีที่แสดงความยิ่งใหญ่ของชุดความคิดดังกล่าว ก็คือ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีในปี 2525 งานสมโภชประกอบด้วยแผนงานหลักๆ ก็คือ ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ และการประมวลเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ยังพบว่ามีความพยายามอ้างอิงถึงปี 2475 ที่รัชกาลที่ 7 สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปีอีกด้วย [16]

ไม่เพียงเท่านั้น ทศวรรษ 2520 ยังเป็นช่วงที่อนุสาวรีย์วีรบุรุษในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ผุดขึ้นทั่วประเทศอย่างคึกคัก [17] ได้แก่ พระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก อุทัยธานี (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระนอง (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ระยอง (2522) พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จันทบุรี (2524) พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (2525) ฯลฯ

ขณะที่ การสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในปี 2527 ได้ทำให้รัฐบาล รื้อฟื้นงานประเพณีออกพระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวงในปี 2528 หลังจากที่งานออกพระเมรุครั้งสุดท้ายคือ งานออกพระเมรุมาศของ สมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ในปี 2498 ที่ขาดช่วงไปกว่า 3 ทศวรรษ โอกาสนี้จึงถือเป็นงานออกพระเมรุที่แสดงถึงพระราชอำนาจและความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ผ่านพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สามัญชนเป็นเพียงผู้ชมและเสพรับความหมายอันศักดิ์สิทธิ์นั้นให้ฝังแน่นในมโนสำนึก

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี (2528)

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ธนบัตรฉบับละ 50 บาท ด้านหลังเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ (2528)

 

ในปีเดียวกันนี้ยังพบว่า มีการพิมพ์ธนบัตรฉบับใบละ 50 บาท โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านหลังมีภาพประธานคือ “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อาคารรัฐสภา และพระที่นั่งอนันตสมาคม” โดยจุดมุ่งหมายของการจัดพิมพ์ธนบัตรแบบนี้ ระบุว่าเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี [18]

 

4. การก่อรูปกลุ่มการเมือง หลังวิกฤตการณ์ พฤษภาคม 2535

หลังวิกฤตการณ์การเมืองหลังพฤษภาคม 2535 ที่มีฉากหน้าคือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรมอีกรอบ ทหารที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ปะทะและสังหารประชาชน บาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก ตามโครงเรื่องหลักแห่งชาติ จบลงด้วยพระบารมีหลังจากที่เชิญให้สุจินดา คราประยูรและจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า และได้นำบรรยากาศการเข้าเฝ้าถ่ายทอดเทปบันทึกเหตุการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

นอกจากนั้นปี 2535 ยังถือว่าเป็นวาระครบรอบ 60 ปีการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 อีกด้วย แต่ไม่วายที่วาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตย ยังสำแดงฤทธิ์ได้อยู่ ดังเห็นได้จากการพิมพ์หนังสือ อนุสสติ 60 ปีประชาธิปไตย ข้อความที่ปรากฏหน้าแรกคือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ…” จากพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของ ร.7 [19]

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของวิกฤตการณ์การเมืองครั้งนี้ มีการตีความว่า ได้ทำให้ดุลอำนาจการเมืองระดับชาติเปลี่ยนไป จากเดิมที่กองทัพและระบบราชการ เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย แต่หลังปี 2535 เป็นต้นมาได้ทำให้นักการเมืองที่เคยเป็นพลังที่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยกลายเป็นอุปสรรคไปแทน [20] พลังการเมืองที่มาจากตัวแทนประชาชนกลับถูกชี้นำว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ตรงกันข้ามกับพลังจากกองทัพและระบบราชการก็ดูไม่มีพิษสงเท่าเดิม หลังจากถูกบีบให้กลับไปตั้งหลักอยู่ในกรมกอง ขณะที่ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังมากพอ ขณะที่กลุ่มการเมือง “ภาคประชาชน” “เอ็นจีโอ” ที่สมาทานความคิดชุมชนนิยมก็ขยายตัวขึ้น เช่นเดียวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่สูงอย่างยิ่งในฐานะผู้มีบทบาทต่อภูมิปัญญาสาธารณะ รวมไปจนถึงประชาธิปไตย [21]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

เหตุการณ์ความขัดแย้งช่วงพฤษภา 2535 หรือที่รู้จักกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ที่มา Mthai. "พฤษภาทมิฬ 2535". http://scoop.mthai.com/hot/143.html (17 พฤษภาคม 2552)

 

ในอีกด้านหนึ่ง พบว่ามีการรื้อฟื้นเกียรติภูมิของการปฏิวัติสยามขึ้น โดยเฉพาะงานเขียนที่ศึกษาภูมิปัญญาของการปฏิวัติสยาม 2475 เริ่มมีการพิมพ์หนังสือสู่ตลาดสาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (2533) และ การปฏิวัติสยาม 2475 (2535) โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ 2475 : การปฏิวัติของสยาม (2535) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งชาญวิทย์เองจะมีบทบาทเชิดชูปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรและการปฏิวัติสยามอย่างจริงจังในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญากระแสรองที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันมากนักในระดับสาธารณะ

 

5. จังหวะ 100 ปี รัชกาลที่ 7 ทำคลอด “สถาบันพระปกเกล้า”

วาระครบรอบ “100 ปี วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในปี 2536 ได้ถูกกำหนดเป็นวาระสำคัญของทางการ ขนาดว่ามีการจัดทำเหรียญที่ระลึก ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดทำเหรียญที่ระลึกใน พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เมื่อปี 2523 รวมไปถึงการจัดทำดวงตราไปรษณียากร มูลค่า 2 บาท จำนวน 1 ล้านดวง [22]

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

แสตมป์ที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

เหรียญที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7 (ด้านหน้า)

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

เหรียญที่ระลึก 100 ปี วันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 7 (ด้านหลัง)

 

ในเวลาใกล้เคียงกัน ได้มีข้อเสนอให้ตั้ง “สถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” [23] โดย มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาขณะนั้น รายละเอียดก็คือ ได้มีคำสั่งรัฐสภาที่ 12/2536 วันที่ 7 ธันวาคม 2536 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกรรมการพิจารณากำหนดรูปแบบและพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สถาบันนี้สามารถดำเนินกิจการได้ในปี 2537 โดยมีหลักการและเหตุผลว่า เพื่อให้สถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานทางวิชาการใต้การควบคุมของ “รัฐสภา” เมื่อเราพินิจการออกแบบองค์กรนี้แต่แรกเริ่ม จะเห็นว่าสถาบันนี้มีรากฐานมาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั่นคือ จากรัฐสภา ต่างจากองคมนตรี ต่างจากฝ่ายตุลาการที่ไม่ได้มีอำนาจยึดโยงจากประชาชน และเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะทำการตรวจสอบได้ ในโครงสร้างและกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการวิพากษ์วิจารณ์

ที่น่าสนใจก็คือ ตัวบทที่เน้นไปที่การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ในหมู่สมาชิกพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน นักเรียนและนักศึกษาทั่วไป ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมที่เห็นว่า ผู้ที่ควรได้รับการสั่งสอนคือ ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปที่ยังโง่และไม่เข้าใจประชาธิปไตย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ในสำนึกทางการเมืองแล้ว พวกเขาจะเห็นว่าชาวบ้านและประชาชนไม่ใช่ตัวปัญหา ในทางกลับกันพวกเขาละเลยที่จะแก้ไขปัญหานั้น และหันหลังกลับเข้าสู่ชนชั้นกลางต่างหาก

หากเราพิจารณาโครงสร้างเดิมของรัฐสภาที่ทำหน้าที่นี้ พบว่ามี 2 หน่วยงานซึ่งฐานะเทียบเท่าระดับกรม ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พูดง่ายๆก็คือว่า ทั้งสองเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยที่มาจากปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายความว่า ในทางทฤษฎีและอุดมคติแล้ว รัฐสภาจะต้องรับใช้ประชาชนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือการตีกรอบจำกัดแต่ “อุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง” อุดมการณ์ใด อุดมการณ์หนึ่ง องค์กรที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องใจกว้าง หนักแน่นในหลักการ และเปิดรับอุดมการณ์และความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย กระทั่งการยืนยันสิทธิที่จะคิดเห็นต่าง หรือมีข้อเสนอทางการเมืองที่อย่างน้อยเทียบได้กับมาตรฐานประชาธิปไตยในสากลโลก

ตัวอย่างก็คือ กรณีที่เคยมีความเคลื่อนไหวในการรื้อฟื้นพรรคสังคมนิยมขึ้นมาใหม่ในปี 2552 แต่ก็มีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกมาขวางคลองไม่อนุญาตรับจดทะเบียน [24] สิ่งนี้ควรจะเป็นหน้าที่ของสถาบันที่อ้างตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหรือไม่ ที่จะออกมายืนยันในความเป็นไปได้ตามหลักการสากล โดยการสนับสนุนความคิดนี้อย่างเป็นทางการ ตามหลักวิชา ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่มีหลักการชัดเจน ลากคุณค่าสากลอันเป็นสมบัติของมนุษยชาติให้เข้ารกเข้าพงไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้นการแยกงานออกมาจากทั้งสองหน่วยงานมาตั้งเป็นสถาบันใหม่โดยใช้ชื่อว่า สถาบันพระปกเกล้า จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของนาม “พระปกเกล้า” และกลไกของสถาบันนี้ มีเหตุผลใดอื่นอีก นอกจากวาระครบ 100 ปี วันพระราชสมภพรัชกาลที่ 7

ถ้าหากสถาบันดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่ “เลือกข้าง” แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นการยอมรับความคิดต่างอย่างใจกว้างและหลากหลายจึงเป็นไปได้ยาก ไม่ต้องฝันไปไกลถึงพรรคคอมมิวนิสต์ หรือพรรคสังคมนิยมหรอก เพียงแค่การมีพื้นที่ให้กับ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่า “สถาบันพระปกเกล้า” จะวางตำแหน่งแห่งที่และจัดความสัมพันธ์อย่างไรให้มีที่ทางที่ไม่ขัดแย้งและทำลายความเป็นรูปเคารพ และสัญลักษณ์พิธีกรรมประชาธิปไตยที่พวกเขาพยายามสร้างกันมา

 

6. รัฐธรรมนูญ 2540 กับสมดุลการเมืองที่เปลี่ยนไปหลังโค่นกองทัพ

การร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกกันภายหลังว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ปี 2540 มีกรอบคิดที่ “รังเกียจนักการเมือง” อุ้มชูแนวคิด “ชุมชนนิยม” เป็นรัฐธรรมนูญ เอื้อให้กับชนชั้นกลางในเขตเมืองที่ไม่พอใจ การเมืองแบบการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อคอยตรวจสอบ ส.ส. นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี กำหนดให้ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี ซึ่งเป็นการกีดกันชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่มีวุฒินี้ และพลังเหล่านี้เองจึงเป็นอุปสรรคที่แท้จริงต่อประชาธิปไตย [25]

นอกจากนั้นวิกฤตเศรษฐกิจหลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและการตั้งคำถามถึงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่อย่างมากมาย สำนักคิดชุมชนนิยมท้องถิ่นนิยมถึงเวลาตีปีก พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของแนวคิด “ทฤษฎีใหม่” “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พลังภูมิปัญญาเช่นนี้ได้ค่อยรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งอย่างมิได้นัดหมาย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตฺโต) ก็มีงานเขียน พุทธเศรษฐศาสตร์ เสนอเศรษฐศาสตร์บนฐานจริยธรรม จุดหมายความสุขสูงสุดมาจากการบริโภคแบบพอดี แนวคิดนี้ อภิชัย พันธเสน นักเศรษฐศาสตร์กระแสก็ยังสนับสนุน แต่นั่นไม่เท่ากับผู้ที่เรียกตนว่า “ราษฎรอาวุโส” อย่าง ประเวศ วะสี ได้ขยายความทฤษฎีใหม่และสนับสนุนแนวทางเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ ประเวศโจมตีการพึ่งทุนภายนอกและเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่นึกถึงแต่เงินจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง และเรียกร้องให้กลับมาสนใจครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และเสนอให้สร้างสังคมและเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยมีฐานจากชุมชนท้องถิ่น [26] เหล่านี้คือบริบทในช่วงต้นกำเนิดของสถาบันพระปกเกล้า

 

7. ตัวตนเป็นทางการ ใน พระราชบัญญัติ สถาบันพระปกเกล้า 2541

อาจกล่าวได้ว่า ในทศวรรษ 2530-2540 ราว 20 ปี รัฐได้ออกแบบและสร้างองค์กรสาธารณะในกำกับของรัฐขึ้นจำนวนมากด้วยทุนมหาศาล สิ่งที่เหลือเชื่ออีกประการก็คือ สถาบันที่เป็นผู้สนับสนุนและผลิตความรู้อย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. 2534), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. 2535) และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส. 2535) ถูกจัดตั้งขึ้นผ่านสภาในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร 2534 ทั้งสิ้น ดังนั้นที่มาของสำนักงานต่างๆ จึงมิได้มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชน แต่มาจากปากกระบอกปืนและผู้หวังดีแต่ชอบเดินทางลัด

ในอีกสายหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังพฤษภาคม 2535 ได้แก่ สถาบันเอกชนอย่างสถาบันปรีดี พนมยงค์ (2538) และสื่อมวลชนอย่าง สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (2539)

การเกิดขึ้นของสถาบันพระปกเกล้า ก็อยู่บนกระแสธารความเปลี่ยนแปลงหลังรัฐประหารนั้น โดยเฉพาะภายใต้การริเริ่มของ “รัฐสภา” อันเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ช่วงแรก สถาบันพระปกเกล้าได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกอง สังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 19 มกราคม 2538 [27] ภารกิจแรกก็คือการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับไปสู่สถาบันอย่างสมบูรณ์ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี นำไปสู่ความเห็นชอบของสภานำไปสู่การตรา พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541 [28] สถาบันพระปกเกล้ากลายเป็น สถาบันนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลของประธานรัฐสภา เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ "ไม่เป็น" ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ

โครงสร้างของสถาบัน จะเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นก็คือ ส่วนกำกับดูแลและตรวจสอบ ประกอบด้วยสภาสถาบันพระปกเกล้าที่เน้นกำกับนโยบาย, คณะกรรมการติดตามผล และผู้ตรวจสอบภายใน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนบริหารที่นำโดย เลขาธิการสถาบันที่ทำหน้าที่ร่วมกับ คณะกรรมการบริหารสถาบัน

สภาสถาบัน มีประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า โดยตำแหน่ง วันมูหะมัดนอร์ มะทา คือ ประธานคนแรก ขณะที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคนแรก (2542-2546) คนที่สองคือ นรนิติ เศรษฐบุตร (2546-2549) และบวรศักดิ์กลับมาเป็นเลขาธิการครั้ง มาตั้งแต่ ธันวาคม 2549 มาจนถึงปัจจุบัน [29] ที่น่าสังเกตก็คือ การเข้ารับตำแหน่งของบวรศักดิ์ หลังรัฐประหาร 2549 หลังจากที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้กับรัฐบาลไทยรักไทย ข้างล่างนี้คือ บทสัมภาษณ์บวรศักดิ์ วันที่ 24 ตุลาคม 2549 หลังรัฐประหารเป็นเวลาเดือนเศษ

“ไม่มีใครอยากเห็นการรัฐประหารหรอกครับ ผมก็เชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ไม่อยากทำ เพราะว่าเสี่ยงต่อการที่ถ้าทำไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต แล้วคนที่สอนกฎหมายมหาชนอย่างอาจารย์ อย่างผมก็ไปผลักดันให้มีการปฏิวัติไม่ได้หรอก แต่เมื่อทำไปแล้ว แล้วก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมที่เกิดความเขม็งเกลียว เครียดกันอยู่ในเวลานั้นผ่อนคลายลงข้อหนึ่ง ...เมื่อไม่มีทางออก การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นก็เหมือนยาถ่าย ที่ใครท้องดี ๆ อยู่ก็ไม่อยากกิน ข้อที่สอง เลี่ยงการเผชิญหน้าของคนที่ต่อต้านรัฐบาลและคัดค้านรัฐบาล กับพวกที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ต้องตีรันฟันแทงจนเลือกตกยางออกได้ เมื่อเหตุการณ์เกิดไปแล้ว หมุนนาฬิกาย้อนกลับไม่ได้ คำถามก็คือทำอย่างไรต่อให้ดีที่สุด [30]

สถาบันพระปกเกล้า ถูกสถาปนาขึ้นมาพร้อมๆกับเงื่อนไขสังคมการเมืองไทยที่เห็นแสงสว่างที่เรืองรองนั้นประทับอยู่ร่วมกับพระนามและพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นสำคัญ ภายใต้การนิยามถึงประชาธิปไตยที่พิเศษไม่เหมือนใครในโลก ดังนั้น แม้ว่า เลขาธิการสถาบันคนล่าสุด จะมีประวัติกระโดดออกจากรัฐนาวาประชาธิปไตย มาช่วยขับรถถังเก็บกวาดเศษซากรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอยู่แล้ว

บทความหน้า ในตอนที่ 2 จะเป็นเรื่องของ พลวัตของข้อถกเถียงและการโต้แย้งวาทกรรมกษัตริย์นักประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงพลังมากขึ้น อันเป็นแรงกระทำต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งแรกของไทยในศตวรรษที่ 21.

 

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

ตราสัญลักษณ์ของ สถาบันพระปกเกล้า ที่ผนวกเอาสัญลักษณ์ ปปร.ของรัชกาลที่ 7 และพานแว่นฟ้าอันเป็นสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงประชาธิปไตย มาอยู่ด้วยกัน

14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม?  ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา

โครงสร้างสถาบันพระปกเกล้า ที่มา สถาบันพระปกเกล้า. "โครงสร้างสถาบัน". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=20&Itemid=9 (3 มิถุนายน 2555)

 

อ้างอิง:

 

  1. อาจารย์ประจำ สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  2. “ประกาศคณะราษฎร” ใบแทรกใน จุลสาร หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 16 (มิถุนายน 2555 - พฤษภาคม 2556)
  3. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก), น.20
  4. "กำหนดการ ที่ 6/2492 รับพระบรมอัฎฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 2492" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66, ตอน 29 ง, 24 พฤษภาคม 2492, น.2262 และ "กำหนดการ ที่ 9/2492 บรรจุพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2492" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 66, ตอน 34 ง, 28 มิถุนายน 2492, น.2931
  5. หจช., (1) มท. 1.1.3.3/1 เรื่อง อนุสสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2496, หน้า 1. อ้างถึงใน ชาตรี ประกิตนนทการ. "ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน" ใน เมืองโบราณ ฉบับที่ 33.4 (2550)
  6. "โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี". โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี. http://ppkhosp.go.th/general/history/history.htm (27 พฤษภาคม 2555)
  7. ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม : ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2550
  8. ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2548, น.494-495
  9. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “ความทรงจำของธรรมศาสตร์ในยุค “สายลม แสงแดด และยูงทอง” ของ ผมนั้น ถูกตัดขาดไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่ก่อตั้งมาเพียง 27 ปี ผมเกือบไม่เคยได้ยินชื่อ ของผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง-ปรีดี พนมยงค์ พวกเราเคยคิดเพ้อเจ้อกันว่าผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสียด้วยซ้ำไป” ใน "สุนทรกถา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในงานเปิดตัวห้อง สมุดอิเล็กทรอนิกส์ และ เว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13.00 – 16.30 น. http://www.pridi-phoonsuk.org/chanvit-open/ (27 พฤษภาคม 2555)
  10. แต่แรกทั้งสองเคยเขียนบทความร่วมกันใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก), น.20-30 ต่อมาบางส่วนได้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ที่ถูกตีพิมพ์ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ. เรื่องเดียวกัน, น.497-519
  11. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28-29
  12. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28
  13. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.28-29
  14. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและตราสาร "มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" " ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 101, ตอนที่ 170, 20 พฤศจิกายน 2527, น.4557
  15. มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น (กรุงเทพฯ : วิภาษา), 2548, น.311-313
  16. "ประกาศ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 98, ตอนที่ 219, 31 ธันวาคม 2524, ฉบับพิเศษ น.1-8
  17. มาลินี คุ้มสุภา. เรื่องเดียวกัน, น.310-311
  18. ธนาคารแห่งประเทศไทย. "ธนบัตรแบบ13". http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/HistoryANdSeriesOfBanknotes/Pages/Banknote_Series13.aspx (29 พฤษภาคม 2555)
  19. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง”, น.29
  20. โยชิฟูมิ ทามาดะ. “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตยและการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 104-106
  21. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ Mass Monarchy ไว้ว่า ก่อนทศวรรษ 2530 สถาบันกษัตริย์มีจุดมุ่งหมายสื่อสารในวงแคบเพียงในหมู่ชนชั้นนำ (elite) ด้วยกัน แต่หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้มีลักษณะการสื่อสารผ่าน “สื่อมวลชน” และสื่อสารต่อประชาชนมากเท่าๆกับชนชั้นนำ "เมื่อในหลวงประชวร ปี 2525 และข้อเสนอว่าด้วย สถาบันกษัตริย์แบบมวลชน (Mass Monarchy)". http://somsakwork.blogspot.com/2007/11/2525-mass-monarchy.html (15 พฤศจิกายน 2550)
  22. "ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองพระบรมราชสมภพ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว " ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 110, ตอนที่ 195, 25 พฤศจิกายน 2536, น.4
  23. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
  24. เจ้าพระยานิวส์. "ก.ก.ต. ไม่รับจดพรรคสังคมนิยมฯ". เจ้าพระยานิวส์ (3 พฤษภาคม 2552)
  25. โยชิฟูมิ ทามาดะ. “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตยและการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 118-119
  26. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ (กรุงเทพฯ : ซิลค์เวอร์ม, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2546, น.521-522
  27. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
  28. "พระราชบัญญัติ สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ.2541" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 115, ตอนที่ 57 ก, 4 กันยายน 2541, น.20-29
  29. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมา". http://kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=9 (27 พฤษภาคม 2555)
  30. นันทวัฒน์ บรมานันท์. "บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549" . http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=999 (28 ตุลาคม 2549)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net