Skip to main content
sharethis

แม้พรรคเพื่อไทยจะมีแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งของตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อประเด็นการเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขณะที่ประธานรัฐสภา แถลงจะไม่มีการนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณา

พรรคเพื่อไทยแถลงไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา68 ไว้พิจารณาและคำสั่งให้รัฐสภาระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพิจารณาไม่ชอบ พร้อมเรียกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญต้องทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของศาลในกรณีนี้

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานเมื่อเวลา 15.30 น. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกับคำสั่งชะลอการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยเหตุผล 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้งส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรและตามเจตนารมณ์ 2.ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งให้องค์กรนิติบัญญัติชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เป็นการใช้อำนาจแทรกแซงอำนาจอธิปไตย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะมีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาอย่างกว้างขวาง สำหรับพรรคเพื่อไทยกำชับ ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว

ขุนค้อนถอย แถลงไม่มีวาระลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของนายนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นั้นเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย โดยเขาแถลงภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาว่า ตนจะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ซึ่งมีวาระพิจารณาเรื่องที่เสนอตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เท่านั้น โดยและจะไม่มีเรื่องของการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม

ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสความเห็นต่อประเด็นเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวล่วงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้น เว็บไซต์ คมชัดลึกรายงานคำพูดของประธานรัฐสภาว่า “ช่วงนี้ผมขอทำจิตให้ว่างก่อน และยอมรับว่ามีแรงกดดัน เพราะว่าไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ก็มีคนว่าผมผิด ไม่ว่าผมจะทำอะไรก็ผิด หากสั่งให้เดินหน้าประชุม และให้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระสาม ก็ผิดเพราะละเมิดอำนาจศาล แต่หากฟังคำสั่งศาล ระงับการลงมติ ก็ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (5) อีก ผมขอถามคนที่เกี่ยวข้องช่วยชี้ทางให้ผมที ว่าจะทำอย่างไรดี”

ประธานวิปรัฐบาลคาด ประชุมครั้งหน้าไม่มีวาระแก้ไขรธน.
มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 17.31 ว่า นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 8 มิถุนายนนี้นั้น ตามระเบียบวาระเดิมจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นเรื่องแรกก่อนที่จะตามด้วยการพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศตามมาตรา 190 ทั้ง 6 ฉบับ แต่เมื่อเกิดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งถึงประธานรัฐสภาให้ชะลอการพิจารณาออกไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวประธานว่าจะบรรจุวาระการประชุมอย่างไร

"การประชุมร่วมรัฐสภาโดยหลักๆ เป็นการพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งประธานคงจะแจ้งต่อที่ประชุมถึงคำสั่งศาล เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครรับทราบอย่างเป็นทางการรู้กันจากสื่อเท่านั้น" นายอุดมเดชกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการแจ้งคำสั่งศาลจะมีการลงมติเลยหรือไม่ นายอุดมเดชแสดงความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะยังไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ อยู่ที่ตัวประธานว่าจะบรรจุระเบียบวาระหรือไม่ ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลและเตรียมยื่นถอดถอนนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละคน เพราะในกระบวนการรัฐสภาไม่ได้มีพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียวแต่มีวุฒิสภาและพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

หมายเหตุ

สาระของรัฐธรรมนูญมาตรา 68
มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง
ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ
ในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net