บทสัมภาษณ์อองซาน ซูจี บทเรียนที่นักการเมืองไทยพึงเรียนรู้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผ่านไปแล้วกับการเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี กับภารกิจที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุดในช่วงเวลาเพียงสี่วันที่เธออยู่ในเมืองไทยทั้งการเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวพม่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชาวพม่าผู้พลัดถิ่นในพื้นที่จังหวัดตาก และการเยี่ยมเยียนศูนย์พิสูจน์สัญชาติ

การเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ของซูจีในครั้งนี้ เธอไม่ได้เข้าร่วมในฐานะผู้นำประเทศหรือในฐานะรัฐบุรุษ(สตรี)ของโลก แต่เธอได้ย้ำกับผู้สื่อข่าวเสมอว่า เธอปรารถนาที่จะรับฟังและเรียนรู้มากกว่าที่จะพูด และเธอยังบอกอีกว่าเธอได้เรียนรู้มากมายจากการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ จากภารกิจการเข้าร่วมการประชุมเวทีระดับโลกในฐานะนักการเมืองแม้ว่าขณะนี้เธอไม่ใช่นักการเมืองกลุ่มที่มีเสียงข้างมากในสภา แต่เธอได้ทำหน้าที่อย่างน่าชื่นชม

จากการได้อ่านบทสัมภาษณ์ ผู้เขียนอยากจะขอแบ่งปันบทสัมภาษณ์บางส่วนที่อ่่านแล้วรู้สึกเคลื่อนไหวจิตใจและได้แรงดลใจ โดยเฉพาะกับบุคคลที่ทำงานด้านการเมืองที่จะได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากบทสัมภาษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักประเทศชาติ รักประชาธิปไตย และรักประชาชนของเธอ ความรักที่เป็นความรักที่แท้จริงที่สัมผัสได้ และเป็นความรักอย่างคนที่มีความเข้าใจ ยิ่งกว่านั้น เบื้องหลังการพูดและให้สัมภาษณ์ของเธอปรากฏว่า เธอไม่มีแม้สมุดบันทึกคำกล่าว ไม่มีแม้แต่เครื่องอุปกรณ์อีเลคทรอนิคใดๆ แต่เธอก็พูดได้อย่างลื่นไหลและสร้างความประทับใจให้กับผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่กำลังใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยอย่าง iPhone และ iPad เพื่อบันทึกและสื่อสารคำพูดของเธอแบบคำต่อคำ

รวมบทสัมภาษณ์นางอองซาน ซูจี จากเวที World Economic Forum วันที่ 1  มิถุนายน 2012

- ซูจี กล่าวว่า อยากให้พม่าเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตพัฒนาต่อไป การปฏิรูปประเทศในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อชาวพม่าและประเทศอื่นที่เข้ามาลงทุน

- อยากให้การเข้ามาลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนพม่ามีงานทำมากขึ้นไม่อยากให้เป็นโอกาสต่อคนที่รวยอยู่แล้วคอร์รัปชั่น

- ต้องทำให้คนพม่าเข้าใจกฎหมาย และการใช้กฎหมายไม่ควรเอื้อใครคนในคนหนึ่ง

- จะต้องไม่คิดว่าใครมาจากพรรคการเมืองไหน สิ่งสำคัญคือต้องฟังเสียงของประชาชน

- การปกครองเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการให้คนเป็นคนตัดสินอนาคตของตัวเองได้

- การปกครองในปัจจุบันควรเป็นประชาธิปไตย แต่ยอมรับว่าอาจยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่

- ณ เวลานี้พม่าได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะเดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่อยากถูกคนอื่นทิ้งห่าง

- ยอมรับว่าพม่าล้าหลังกว่าหลายประเทศ ดังนั้นจึงต้องการนักลงทุนเข้ามาช่วยพัฒนาพม่า

- ขอให้นักลงทุนอย่ามุ่งเพียงแค่ผลกำไรจากการลงทุนในพม่า แต่ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

- ดิฉันจะให้ความสำคัญกับการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานในพม่า เพื่อทำให้คนหางานทำได้ง่ายขึ้น

- พม่าประกอบไปด้วยคนกลุ่มน้อยจำนวนมาก จึงต้องมีการปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าปฏิรูปได้

- การปฏิรูปในพม่าในครั้งนี้ เป็นการให้คำมั่นของทหารว่าจะพัฒนาประเทศ จะไม่หันหลังกลับ

- การปฏิรูปในพม่า ไม่ใช่เพียงแค่การปฏิรูปทางการเมือง แต่เน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจ

นักข่าวถามว่า เห็นตึกสูงในกรุงเทพคิดถึงอะไร ซูจีบอก “เห็นไฟฟ้าตามตึกสูงตอนกลางคืน คิดถึงคนพม่าที่จุดเทียนประท้วงที่ไฟฟ้าดับ”

การเปิดประเทศของพม่า เป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่กำลังแข่งขันกันฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีกับพม่าอย่างเร่งรีบ ซึ่งไม่ต่างกับนักลงทุนจากหลายๆ ประเทศที่พร้อมที่จะเข้าร่วมกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศที่ปิดตัวมาอย่างยาวนาน ประเทศที่ยังคงเหลือทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างล้นเหลือ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นกลุ่มนักลงทุนชาวไทยที่มีชายแดนติดกับประเทศนี้

แม้เธอจะทราบดีว่านักลงทุนจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แต่เธอก็มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของนักลงทุนจากต่างประเทศเหล่านั้น เป็นการเปิดรับอย่างมีความเข้าใจ เพราะเมื่อมีการลงทุนจำนวนมากก็จะมีการสร้างงานจำนวนมากเช่นเดียวกัน สิ่งดังกล่าวย่อมส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนชาวพม่าให้ดียิ่งขึ้นจากการจ้างงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่านอกเหนือจากการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาด้านสังคมและการเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ จากมุมมองของเธอในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยเธอเห็นว่าการศึกษามีส่วนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประชาธิปไตย นี่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของเธอที่มองไปถึงอนาคตอันยาวไกล และการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน อีกทั้งเธอยังได้ย้ำเตือนสิ่งที่ผู้นำทหารของพม่าที่ได้ให้สัญญาว่าจะไม่เดินถอยหลังอีก นั่นแสดงว่า จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนเพื่อให้สอดรับกับกระบวนการพัฒนาของโลกในสังคมปัจจุบัน

ล่าสุดผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์เธอผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า 'ซูจี' เยี่ยมศูนย์พักพิงจังหวัดตาก พบผู้ลี้ภัยพม่า รับปากจะพากลับบ้าน” ผู้เขียนได้แต่คิดว่า หากถึงเวลานั้นคงเป็นช่วงวิกฤตของประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยขาดแรงงานกว่าสามแสนอัตราในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวพม่ากว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน (ข้อมูลจาก UNHCR ปี 2011) จึงมีคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะใช้แรงงานจากคนเหล่านี้ เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลอยู่ในประเทศอย่างมากมายกลับไม่ใช้ แต่ปล่อยให้เป็นภาระของรัฐในการบริหารจัดการที่ไม่ได้มาตรฐานของหน่วยงานดูแลกลุ่มผู้พลัดถิ่นชึ่งต้องสูญเสียงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปและในหลายทวีปในกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งกลับต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานรุนแรงและส่งผลเสียต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยอันมีผลสืบเนื่องมาจากการจ้างแรงงานราคาสูง เหตุผลของการไม่จ้างงานชาวพม่าพลัดถิ่นเหล่านี้คือ เหตุผลด้าน “ความมั่นคงของรัฐ”

ข้อเท็จจริงจากสภาพความเป็นอยู่ที่ปรากฏ ชาวพม่าในศูนย์ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังขาดการเข้าถึงการจ้างงาน การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการศึกษาที่จำเป็นต่อบุคคล

แม้ประเทศไทยไม่ได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว  และไม่มีกฎหมายใดที่รองรับสถานะภาพผู้ลี้ภัยของชาวพม่าและผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศอื่นๆ ผลคือ ทำให้บุคคลเหล่านี้ขาดสถานะภาพบุคคลตามกฎหมายและขาดสิทธิในการเข้าถึงการบริการสังคมและสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายระบุ แต่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination 1965: CERD) หลักการสำคัญตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าวระบุว่า “รัฐภาคีจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะเป็นการเลือกปฏิบัตทางเชื้อชาติิต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และสถาบันในทุกรูปแบบ” (ข้อ 2) หลักการประการหนึ่งที่สำคัญคือ สิทธิในการมีทำงาน (Rights to work) นอกเหนือจากสิทธิที่สำคัญอื่นๆ เช่น การเข้าถึงการบริการสังคม การบริการทางการแพทย์หรือการบริการด้านสาธารณะสุข ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และการเข้าถึงการศึกษา (ข้อ 5)

ด้วยเงื่อนไขข้างต้น หากเพียงจะรอให้มีการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาตามที่ระบุและมีการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของคนเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาเนิ่นนาน จุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถทำได้ทันทีคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีทัศนะคติต่อคนต่างชาติพลัดถิ่นเหล่านี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นคนชาวพม่า เขมร หรือชาติอื่นๆ เข้ามาในประเทศไทย เขาเหล่านั้นหนีร้อนมาพึ่งเย็น ไม่ว่าอย่างไรเขายังมีความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human dignity) ไม่ต่างจากคนไทย ดังนั้น บุคคลเหล่านี้พึงได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค (non-discrimination) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีงานทำ สิทธิการเข้าถึงการบริการสังคม การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ หรือแม้แต่สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา เพราะคุณค่าของความเป็นคนของบุคคลไม่ได้ลดลง ไม่ว่ารวยหรือจนหรือมาจากเชื้อชาติใด

การมาเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี ในครั้งนี้ ส่วนตัวผู้เขียนได้เรียนรู้จากชีวิตของสตรีผู้นี้ในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้ชื่นชมนางอองซาน ซูจี ในฐานะที่เป็นบุคคลที่วิเศษดีเลิศ หรือเป็นคนดีที่สมบูรณ์แบบอะไร เพียงแต่แนวคิด ท่าที แรงปรารถนา และการกระทำที่ดีที่เธอมีให้ประชาชน ประเทศชาติ และความเป็นประชาธิปไตยของเธอ ถือเป็นแบบอย่างและเป็นบทเรียนที่สำคัญที่เราชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองไทยควรเอาเยี่ยงอย่างบ้างไม่มากก็น้อย

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์โดย: Teerat Ratanasevi, Pattra Apimyawat and Voice TV @ Twitter 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท