Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ได้ฟังท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง (คำอ่านตามที่ปรากฏในเวบไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน) [1])  พร้อมกับทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นที่น่ากังวลมากยิ่งขึ้น

ด้วยความเคารพต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ และจากการที่ท่านได้แถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ด้วยตนเองว่าท่านยินดีที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ท่านและศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงขออนุญาตวิจารณ์ท่านมา ณ ที่นี้ โดยในบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงกรณีที่ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญพยายามยกมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญมาสนับสนุนสิทธิในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง ในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ขอเข้าไปอธิบายหรือแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) อันใดอีก เพราะได้แสดงความเห็นเอาไว้แล้ว และคาดหมายได้ว่าจะมีบทความ ข้อสังเกต หรือข้อวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มเติมในประเด็นการไม่มีอำนาจรับหรือไม่รับคำร้อง และผลของคำสั่งที่มีไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามมาอย่างแน่นอน ส่วนทางออกจะเป็นประการใดก็คงต้องพิจารณากันไปตามข้อกฎหมายต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีท่าทีหรือดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงเดินหน้าพิจารณาคำร้องต่อไปนั้น ผู้เขียนก็ขอเสนอข้อสังเกตที่เป็นข้อกังวลของผู้เขียนภายหลังจากดูและฟังบันทึกการแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ข่าวของท่านดังนี้

ข้อกังวลประการแรก จนถึงวันที่ท่านได้ออกมาแถลงข่าวทุกวันนี้ ท่านและเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ดำเนินการเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญในเวบไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นแต่ประการใด

ข้อกังวลประการที่สอง เป็นข้อกังวลที่สำคัญอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของข้อความคิดของหลักวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคำร้องนี้ด้วยเหตุผลสองประการดังนี้ ในที่นี้ขอยกถ้อยแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ของท่านที่ได้แถลงเอาไว้มาดังนี้คือ

“แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างว่า ลักษณะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้เนี้ยะ เป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วศาลรัฐธรรมนูญเพิกเฉยก็แปลว่าอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปช่างเขาได้หรือครับ สมควรหรือ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องไต่สวนทวนความก่อนว่าจริงหรือเปล่า นี่เป็นการแค่ชั้นรับคำร้องไว้พิจารณานะครับยังไม่ได้ชี้ขาดตัดสินว่าเป็นซ้ายหรือเป็นขวายังเลย ยังเลย แล้วก็ไอ้การที่ถ้าหากว่าทางสภาจะให้ความร่วมมือจะเลื่อนไปซักเดือนเศษๆ มันก็ไม่ได้เสียหายร้ายแรงอะไร เราก็ดูตรงนี้อยู่นะครับว่า ใช้เวลาประมาณเนี้ยะเดือนเศษๆ เท่านั้นก็คงเสร็จ (มีคำถามแทรก) ไม่ได้ก้าวล่วงคำสั่งที่เราแจ้งไปให้สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาทราบเท่านั้น เพราะในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐเพราะใครจะไปบังอาจสั่ง ผมมีหนังสือกราบเรียนประธานรัฐสภาเพื่อโปรดทราบเท่านั้น......ตอนนี้ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ผมถามหน่อย ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ ใคร ใคร ใครเป็นหัวหน้าอำมาตย์ถามหน่อย ใครหัวหน้าอำมาตย์ใคร....ขอประธานโทษนะหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริงคือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดในประเทศไทยนั่นหัวหน้าอำมาตย์ตัวจริง.....เขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดอย่างนั้นจริง เอ้าพวกท่านว่าเขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง เขาคงไม่รับใช่ไหมฮะ เขาคงไม่รับเขาก็ปฏิเสธมาสิมีเหตุผลมีพยานหลักฐานมาก็มาพิจารณากัน แต่นี่เวลานี้เขาร้องว่าพวกท่านกำลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีนี้ แล้วถ้าท่านไม่ชี้แจง ท่านแอนตี้ ท่านไม่ชี้แจงท่านเข้ามาต่อสู้ไม่ต่อสู้คดีจะให้ศาลรับฟังว่ายังไงฮะ เขาฟ้องว่าท่านเป็นหนี้ ท่านเฉย ศาลจะทำยังไงฮะ ไม่ปฏิเสธ ศาลจะทำยังไง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำยังไงที่เขาฟ้องว่าเขาร้องว่าการกระทำของพวกท่านๆ เหล่านั้นเนี้ยะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านไม่ชี้แจงความจริง ท่านไม่เข้ามาต่อสู้ในทางคดี แล้วจะให้ศาลฟังว่ายังไงฮะ ฟังข้อเท็จจริงว่ายังไงว่า ตกลงมันจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า.....”   

[2] แล้วท่านก็ลงท้ายในคลิปข่าวว่า “ศรีทนได้ค่ะ” อันเป็นประโยคที่ติดหูในโฆษณาสีทาบ้านยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาจากนักข่าวที่กำลังทำข่าวอยู่ได้อย่างดีทีเดียว

ผู้เขียนได้ฟังท่านแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ขอเรียนท่านว่า ท่านครับท่านอย่าเป็นศรีเลยครับ แล้วท่านก็อย่าทนเลยครับ และขอเรียกร้องให้ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะพิจารณาถอนตัวไม่เข้าร่วมในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในคดีนี้ ผู้เขียนขออนุญาตชี้แจงเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าท่านอาจจะไม่สมควรพิจารณาคำร้องในกรณีนี้ได้ดังต่อไปนี้

เหตุผลประการแรก เหตุผลที่เกี่ยวกับข้อความคิดในทางกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญของท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญเองเหตุผลในเรื่องของความเข้าใจต่อ “หัวใจ” หรือจะเรียกอีกประการหนึ่งว่า “แก่น” หรือ “สาระสำคัญ” ของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือ “หลักการพิจารณาคดีโดยใช้หลักไต่สวน” นั่นหมายถึง ศาลจะไม่ผูกพันอยู่กับข้ออ้างของคู่กรณีที่หยิบยกมาในคดีเท่านั้น ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีเพื่อที่ให้ได้ข้อเท็จจริง และนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี

แต่ในการแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญกลับไปหยิบยกเอาตัวอย่างการฟ้องเรียกร้องให้ชำระหนี้คดีแพ่งในมาใช้เป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อกังวลสงสัยว่า ท่านในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญท่านมีความรู้ความเข้าใจในหลักการพิจารณาคดีโดยใช้หลักไต่สวนหรือไม่เพียงใด การที่ท่านยกตัวอย่างคดีแพ่งที่ฟ้องขอให้ชำระหนี้มาเป็นตัวอย่างในคดีพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น ในคดีแพ่งที่มีหลักวิธีพิจารณาคดีโดยใช้หลักกล่าวหา ที่จะถือว่าการที่จำเลยไม่ปฏิเสธจะถือว่าจำเลยรับตามข้อกล่าวหาของโจทก์นั้น ไม่สามารถนำมายกตัวอย่างหรือนำมาใช้ในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญได้ ด้วยความเคารพการยกตัวอย่างดังกล่าวเป็นการยกตัวอย่างแบบผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง อันที่จริงตัวอย่างที่ท่านอาจจะและสมควรยกมาประกอบได้ คือตัวอย่างที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณคดีปกครอง หรือในวิธีพจารณาคดีอาญา ซึ่งใช้หลักสำคัญในการพิจารณาพิพากษาอย่างเดียวกัน คือถือหลักไต่สวนเป็นสำคัญนั่นเอง

และโดยเฉพาะในกรณีวิธีพิจารณาคดีอาญานั้น ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ ซึ่งท่านประธานเองก็เป็นเสียงข้างมากในการที่วินิจฉัยว่า บทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่บัญญัติให้สันนิษฐานว่า ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลโดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

จากคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นการยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญโดยมีท่านประธานเป็นตุลาการเสียงข้างมาก ได้ยืนยันถึงหลักสำคัญในวิธีพิจารณาคดีอาญาซึ่งใช้หลักไต่สวนเป็นหลักการสำคัญ และในกรณีนี้แม้จะมีบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดบทสันนิษฐาน แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ว่ากระทำความผิดจริง นั่นคือศาลจะต้องพิจารณาโดยต้องไต่สวนให้ได้ว่า จำเลยมีความผิดโดยปราศจากข้อสงสัยนั่นเอง

ดังนั้นกรณีของการหยิบยกคดีแพ่งอันเป็นข้อพิพาทในทางกฎหมายเอกชนมาประกอบเป็นตัวอย่างในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ใช้หลักไต่สวนนั้น จึงขอเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการยกตัวอย่างที่ผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง และในฐานะที่ท่านเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะเป็นที่คาดหวังว่า ท่านมีความรู้ความเข้าใจหลักหรือหัวใจสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี แต่ด้วยตัวอย่างของคดีแพ่งที่ท่านหยิบยกมาแถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) นั้น ด้วยความเคารพ กรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสงสัยได้ว่า ท่านมีความเข้าใจที่ในสาระสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญที่ยึดถือหลักไต่สวนเป็นสำคัญหรือไม่เพียงใด

และหากพิจารณาถึงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.๒๕๕๐(ระเบียบฯ) ในข้อ ๖ วรรคหนึ่ง ก็ได้กำหนดรับรองยืนยันถึงหลักการสำคัญของวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญเอาไว้ นั่นคือ ให้ใช้ระบบไต่สวน และก็ไม่ปรากฏว่าในระเบียบฯ ดังกล่าวได้กำหนดบทสันนิษฐานว่า ถ้าไม่มีการปฏิเสธถือว่ายอมรับเอาไว้แต่อย่างใด หากจะมีกำหนดเอาไว้ก็ย่อมขัดต่อการกำหนดให้ถือเอาระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ และหากจะมีการอ้างว่าในวรรคสองของข้อ ๖ ดังกล่าว กำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ ก็ไม่สามารถมาอธิบายถึงความชอบธรรมในการนำหลักสันนิษฐานในคดีแพ่งดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ เพราะหลักที่ว่าไม่ปฏิเสธให้ถือว่ายอมรับนั้น ย่อมขัดต่อสาระสำคัญของระบบไต่สวนอย่างชัดเจน

ประการที่สอง การที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ด้วยตัวเองนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด เพราะฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าท่านมีอำนาจในการรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาเขาก็ยังคงเชื่อว่าท่านไม่มีอำนาจรับคำร้องอยู่ดี เพียงแค่ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้แจงยืนยันก็เป็นการเพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตามท่านก็ได้ออกมาชี้แจงแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ไขไปแล้ว และด้วยความเคารพ ด้วยจริยธรรมของตุลาการแล้ว การที่ท่านแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) โดยนำเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคำร้องที่ท่านจะต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปในอนาคต มาชี้แจงแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ไข ประกอบการยกตัวอย่างคดีแพ่งดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น กระผมเห็นว่าค่อนข้างจะสุ่มเสียงต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการทำคำวินิจฉัยของตัวท่านเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ท่านได้แถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ออกมานั้นล้วนแต่เป็นทัศนะในการใช้การตีความกฎหมายของท่านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคำร้องที่พิพาทอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ท่านกล่าวว่า

“.....เขาจะรับสารภาพไหมว่า เขาคิดอย่างนั้นจริง เอ้าพวกท่านว่าเขาจะรับสารภาพไหมว่าเขาคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริง เขาคงไม่รับใช่ไหมฮะ เขาคงไม่รับ เขาก็ปฏิเสธมาสิ มีเหตุผลมีพยานหลักฐานมาก็มาพิจารณากัน แต่นี่เวลานี้เขาร้องว่าพวกท่านกำลังทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยวิธีนี้แล้วถ้าท่านไม่ชี้แจง ท่านแอนตี้ ท่านไม่ชี้แจง ท่านเข้ามาต่อสู้ไม่ต่อสู้คดีจะให้ศาลรับฟังว่ายังไงฮะ เขาฟ้องว่าท่านเป็นหนี้ ท่านเฉย ศาลจะทำยังไงฮะ ไม่ปฏิเสธ ศาลจะทำยังไง ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะทำยังไงที่เขาฟ้องว่าเขาร้องว่าการกระทำของพวกท่านๆ เหล่านั้นเนี้ยะจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านไม่ชี้แจงความจริง ท่านไม่เข้ามาต่อสู้ในทางคดีแล้วจะให้ศาลฟังว่ายังไงฮะ ฟังข้อเท็จจริงว่ายังไงว่าตกลงมันจริงอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่า.....”

ผู้เขียนจะไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งในที่นี้ได้แก่ตัวท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใดหากการแถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) นั้น จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจในการรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาเท่านั้น และไม่มีการกล่าวหรือแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) ถึงมุมมองหรือทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี

ด้วยความเคารพต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่าการที่ท่านนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคดีมาแถลง (อ่านว่า ถะ-แหลง) เช่น การหยิบยกเอาพฤติกรรมในอนาคตของผู้ถูกร้องมาว่าจะรับหรือจะปฏิเสธข้อกล่าวหาตามคำร้อง และการนำเอาตัวอย่างในคดีแพ่งซึ่งใช้หลักกล่าวหาในการดำเนินคดีแทนที่จะเป็นหลักไต่ส่วนโดยยกตัวอย่างในทำนองว่าถ้าผู้ถูกร้องไม่ปฏิเสธจะให้ศาลฟังว่าอย่างไร นั้น ในที่นี้จึงดูจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้แสดงถึงทัศนะ หรือคติของท่านในการที่จะดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปในอนาคต และอาจก่อให้เกิดความสงสัยต่อความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของท่านในคดีนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น และถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวต่อไป ด้วยความเคารพ ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาถอนตัวในการที่จะเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในคดีนี้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักความเป็นกลางในการพิจารณาคดี และหลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการไว้ในคดีนี้ต่อไป ท่านครับ ท่านอย่าทนเลยครับถอนตัวเถิดครับท่าน

 

 

.....................................................

 

[1] แถลง [ถะแหฺลง] ก. บอก เล่า หรือแจ้งให้ทราบเป็นทางการ เช่น แถลงข่าว, กล่าวอธิบาย เช่น จะแถลงให้ทราบ; แสวง เช่น บัดแถลง.(http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp)

 [2] ถอดความจากบันทึกการ แถลง(อ่านว่า ถะ-แหลง) ข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ (http://youtu.be/Bl9RoMAGi3c)

 

Calibri;mso-hansi-font-family:Calibri">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net