ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101: ตอนที่ 3 ดนตรีฮิปฮอปกับใบอนุญาตล้อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความตอน 3 ในซีรีส์เบื้องต้นว่าด้วยการละเมิดงานดนตรี อธิป จิตตฤกษ์ เขียนถึงการ “แซมปลิง” ในดนตรีฮิปฮอป ซึ่งมีรากฐานมาจากการดัดแปลง-ล้อเลียน แต่เมื่อมันถูกตัดสินว่าละเมิดกม. ลิขสิทธิ์ จะมีนัยสำคัญอย่างไรต่อวัฒนธรรมดนตรีและ “ฟรีสปีช”

ถ้าไม่มีงานสร้างสรรค์ใดๆ ที่สร้างขึ้นมาอย่างเป็นเอกเทศโดยไม่ขึ้นกับงานชิ้นอื่นดังชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “Everything is a remix” แล้ว การคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเรื่องน่าขัน อย่างไรก็ดีระบบลิขสิทธิ์ทั้งหมดก็ไม่ได้ล่มสลายไปง่ายๆ กับความจริงที่ว่ามานี้ เพราะถึงที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่อง “ความมีเอกลักษณ์” ของงานชิ้นหนึ่งๆ นั้นดูจะไม่ใช่เรื่องของการที่งานชิ้นนั้นๆ ไม่ได้ “ลอกเลียน” งานชิ้นอื่นๆ เลย แต่ประเด็นกลับอยู่ที่การลอกเลียนนั้น “มากเกินไป” หรือไม่?

ในแง่นี้ประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์และการลอกงาน (plagiarism) ทั้งหลายแหล่นั้นทางปฏิบัติก็เป็นปัญหาในเชิงปริมาณเช่นเดียวกับปัญหาเชิงคุณภาพ เป็นเรื่องปกติที่บทบัญญัติของกฏหมายลิขสิทธิ์หรือคำตัดสินศาลคดีลิขสิทธิ์ทั่วโลกจะมีการกล่าวถึงหลักการพิจารณาการละเมิดลิขสิทธิ์ว่างานที่จัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คืองานที่นำส่วนประกอบของงานที่ถูกละเมิดมาใส่ในงาน “มากเกินไป” อย่างไรก็ดีไอ้ “มากเกินไป” ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเท่าใดถึงจะจัดว่ามากเกินไป และจะเอาอะไรมาวัด?

ปัญหานี้มีตั้งแต่ประเด็นเรื่องปริมาณการถ่ายเอกสารหนังสือในห้องสมุดว่าต้องถ่ายไม่เกินร้อยละเท่าไดของเนื้อหาหนังสือทั้งหมดว่าเป็นการละเมิด ไปจนถึงความละม้ายคล้ายคลึงกันของโน๊ตเพลงในทำนองเพลงที่บางทีต้องมานับกันว่าโน๊ตเหมือนกันไม่เกิดกี่ตัวๆ ถึงจะไม่จัดเป็นการละเมิด ดังนั้นในแง่นี้ความผิดการลอกเลียนมันจึงไม่ใช่เรื่องของการเหมือนต้นฉบับมากหรือน้อยในเชิงคุณภาพ เพราะถ้าความเหมือนนั้นเหมือนทุกกระเบียดนิ้วแต่ยังไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ว่า “มากเกินไป” การลอกเลียนเหล่านั้นก็ชอบธรรมแน่นอน

การสร้างงานดนตรีบนฐานของความเหมือนนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ในดนตรีฮิปฮอปที่มีการใช้การตัดต่อเสียงของเพลงอื่นๆมาประกอบกันเป็นดนตรีที่เรียกกันว่า “การแซมปลิง” (sampling) ก่อนจะทำการร้องทับลงไป การแซมปลิงเป็นรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ขัดกับรากฐานของกฏหมายลิขสิทธิ์อย่างถึงราก เพราะธรรมชาติของการใช้ตัวอย่างเสียงมันเป็นการทำซ้ำอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีธรรมชาติของการแซมปลิงต่างจากการลอกเลียนและดังแปลงทำนองเพลง เพราะแซมปลิงยืนอยู่บนการลอกเลียนและดัดแปลงตัวงานบันทึกเสียงโดยตรง แซมปลิงมีความตรงไปตรงมาในการลอกเลียน และโดยทั่วไปมันก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าขันที่จะบอกว่าการแซมปลิงเป็นการลอกเลียนงานคนอื่นมาและกล่าวอ้างว่าเป็นงานตัวเอง (plagiarism) เนื่องจากธรรมชาติของแซมปลิงมันไม่เคยอ้างว่าวัตถุดิบที่มันทำซ้ำและดัดแปลงนั้นตกเป็นของผู้ทำซ้ำและดัดแปลงอยู่แล้ว กล่าวคือการที่วงฮิปฮอป Public Enemy ได้ทำการแซมปลิงท่อนริฟฟ์ท่อนบริดจ์ของเพลง Angel of Death ของ Slayer วงแธรชเมทัลชื่อดังไปใส่ในเพลง She Watch Channel Zero ของตน มันก็ไม่ได้ทำให้ท่อนริฟฟ์ดังกล่าวกลายเป็นของวง Public Enemy แต่อย่างใด [1]

ธรรมชาติของการแซมปลิงทำให้การอ้างอิงงานต้นฉบับเป็นไปโดยอัตโนมัติ ธรรมชาติของสายสัมพันธ์ระหว่างงานต้นฉบับและงานที่ใช้แซมปลิงที่ตัดไม่ขาดนี้ทำให้การแซมปลิงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับการล้อเลียนมากกว่าการลอกเลียน หากมองในแง่นี้เสรีภาพในการล้อเลียนมันจึงน่าจะเป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพในการใช้แซมปลิงเสียงในดนตรีฮิปฮอป อย่างไรก็ดีความเป็นจริงมันก็ซับซ้อนกว่านั้น

ดนตรีฮิปฮอปเกิดขึ้นในอเมริกาช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1970 และก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ในตลอดช่วงทศวรรษ 1980 ในอเมริกาที่ดนตรีฮาร์ดร็อค/เฮฟวี่เมทัลครองเมือง น่าสนใจว่าในช่วงราวๆ ทศวรรษครึ่งที่ดนตรีฮิปฮอปดำรงอยู่ในอเมริกา มันแทบจะไม่มีปัญหาถูกฟ้องร้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เลยทั้งๆ ที่งานทุกๆ ชิ้นก็เกิดขึ้นจากการการแซมปลิงบทเพลงต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด เหตุผลส่วนหนึ่งที่ไม่มีการดำเนินคดีใดๆก็อาจเป็นเพราะในช่วงดนตรีดนตรีฮิปฮอปเป็นดนตรีที่ค่อนข้างจะอยู่นอกกระแสหลักและถึงบางส่วนของมันจะเข้าไปในกระแสหลักก็ไม่ได้สร้างรายได้มากมายอะไรให้โดดเด่นเตะตาบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนัก ซึ่งนี่ก็เป็นคำอธิบายที่สัมพันธ์กับการที่มูลเหตุของการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีโดยมากก็เกิดจากแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลทางศีลธรรมที่ดูสวยหรูซึ่งหลายฝ่ายชอบยกมา

ในตอนปลายทศวรรษที่ 1980 เมื่อดนตรีฮิปฮอปเริ่มเป็นดนตรีที่ทำเงิน การแซมปลิงในงานดนตรีฮิปฮอปก็เริ่มถูกฟ้องร้องในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ คดีเหล่านี้เป็นคดีแพ่งที่เรียกค่าเสียหายในการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งคดีในช่วงนี้ก็ไม่เคยไปสิ้นสุดในระดับศาล แต่มักจะจบด้วยการตกลงจ่ายค่ายอมความกันนอกศาลมากกว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายพอควรเพราะในหลายๆ คดี หากทำการต่อสู้กันจนคดีสิ้นสุดแล้ว ผ่ายจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าทำการละเมิดลิขสิทธิ์ก็น่าจะเป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากแซมเปิลเสียงที่ใช้นั้นเป็นเพียงแซมเปิลสั้นๆ ที่คนฟังน่าจะไม่นึกถึงเพลงต้นฉบับด้วยซ้ำ

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นเพลง Transmitting Live From Mars ของ De La Soul [2] เพลงนี้จะเรียกว่าเพลงก็ไม่เชิงเพราะมันเป็นเพียงแทร็คเสียงยาว 1 นาทีที่เอาไว้คั่นระหว่างเพลงด้วยซ้ำ ในเพลงนี้ De La Soul ได้ทำการแซมปลิงให้เพลง You Showed Me ในเวอร์ชั่นของวง The Turtles ยาว 12 วินาที [3] ผลก็คือสมาชิกวง The Turtles ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.5 ล้านดอลลาร์จาก De La Soul สุดท้ายคดีไปสิ้นสุดที่ De La Soul ยอมจ่ายค่ายอมความ 1.7 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 141,666.67 ต่อวินาทีของการแซมปลิง

หากลองฟังจะพบว่าเพลง Transmitting Live From Mars นั้นใช้แซมปลิงเพลง You Showed Me ไปพร้อมๆ กับเสียงประกอบอื่นๆ จำนวนไม่น้อยในแบบที่คนที่ฟังผ่านๆ อาจไม่รู้สึกถึงการแซมปลิงด้วยซ้ำ หากทาง De La Soul สู้คดีบนฐานของหลักการใช้อย่างชอบธรรมและแก้ต่างว่าว่าตนไม่ได้นำแซมเปิลเพลงต้นฉบับมาใช้มากเกินไปแต่อย่างใด (เพราะแซมเปิลที่เอามาก็เป็นเพียงแซมเปิลสั้นๆ และบทเพลงที่เกิดขึ้นใหม่ก็มีความแตกต่างกับบทเพลงต้นฉบับมากเพียงพอ) ทาง De La Soul ก็น่าจะมีลุ้นในการชนะคดีอยู่ แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น

คดีแบบนี้เกิดขึ้นประปรายในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 และเรื่องก็ไม่เคยถึงการตัดสินของผู้พิพากษา อย่างไรก็ดีเมื่อมีการสู้คดีแซมปลิงในปี 1991 คดีหนึ่งจนถึงชั้นศาล ผลการตัดสินของศาลก็เป็นจุดหักเหให้เกิดเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตดนตรีฮิปฮอปจำนวนมากนับแต่นั้นเป็นต้นมาก

เรื่องมีอยู่ว่าแร็ปเปอร์ร่างท้วมนาม Biz Markie ได้นำดนตรีในเพลง Alone Again (Naturally) [4] ซึ่งเป็นเพลงเก่าของ Gilbert O'Sullivan นักร้องชาวไอริชมาตัดต่อและทำการร้องแร็ปเข้าไปใหม่เหนือดนตรีพร้อมตั้งชื่อเพลงว่า Alone Again (ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงเพลงต้นฉบับชัดเจน) [5] ทางค่ายเพลงที่ถือลิขสิทธิ์ O’Sullivan ไม่พอใจจึงฟ้องค่ายเพลงของ Biz Markie ฐานละเมิดลิขสิทธ์ [6] ทางทนายของ Biz Markie พยายามจะสู้คดีว่าการแซมปลิงเป็นปรากฏการณ์แพร่หลายที่ “ใครๆ ก็ทำกัน” ในอุตสาหกรรมดนตรีตอนนั้น แต่ทางผู้พิพากษาก็ไม่เห็นชอบด้วยและตีความว่าการแซมปลิงเป็น “การขโมย” รูปแบบหนึ่ง และก็ได้ตัดสินให้ทางค่ายเพลงที่ถือลิขสิทธิ์เพลงของ O’Sullivan ชนะคดีไป

ความพ่ายแพ้ของ Biz Markie เป็นเรื่องใหญ่เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ศาลชี้ชัดว่าการแซมปลิงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ นี่ส่งผลให้ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ที่ต้องการแซมปลิงเพลงทั้งหมดต้องขออนุญาติผู้ถือลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงต้นฉบับทั้งหมดหากไม่ต้องการโดนฟ้องร้อง นี่ทำให้การแซมปลิงในวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปในแบบเดิมๆ หายไปในวงกว้าง กล่าวคือ แซมปลิงส่วนใหญ่ภายหลังคำตัดสินของศาลในปี 1991 ก็ได้กลายเป็นแซมปลิงปลอมๆ ที่เกิดจากการแต่งทำนองดนตรีขึ้นมาใหม่ให้ฟังดูเหมือนเป็นการแซมปลิงแบบเดิม แทนที่จะเป็นการแซมปลิงจากตัวงานบันทึกเสียงของคนอื่นดังเช่นที่ปฏิบัติกันมาตลอดตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970’s

ทั้งนี้หากลองฟังทั้งสองเพลงเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่าเพลงของ Biz Markie นั้นมีการอ้างอิงบทเพลงต้นฉบับชัดเจนตั้งแต่ชื่อเพลง และการร้องแร็ปลงไปใหม่ก็ดูจะสร้างความขำขันให้แก่ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังบทเพลงต้นฉบับมากกว่า นี่ทำให้สิ่งที่ Biz Markie ทำน่าจะเข้าข่ายการล้อเลียน และทำให้คำพิพากษาของศาลเป็นการออกกฏแบบกลายๆว่าการล้อเลียนโดยการใช้แซมปลิงบทเพลงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกล้อเลียน คำถามคือการห้ามล้อเลียนนี้เป็นการละเมิด “เสรีภาพในการพูด” (freedom of speech) อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญอเมริกาให้ความสำคัญมากหรือไม่? นี่เป็นแนวทางที่ทนายของ Biz Markie ไม่ได้ใช้สู้คดี และนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะก็มีคดีหลังจากนั้นที่แนวทางการสู้คดีแบบนี้ทำให้ฝ่ายจำเลยชนะ ซึ่งผู้เขียนจะเล่าในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนจบของชุดบทความนี้

อ้างอิง:

  1. ฟังทั้งสองเพลงได้ที่ http://youtu.be/XNnaRHqtrDQ (Slayer – Angel of Death) และ http://youtu.be/n5AYMiAdqhQ (Public Enemy - She Watch Channel Zero)
  2. เพลงนี้เป็นแทร็คที่ 8 ของอัลบั้ม 3 Feet High And Rising ในปี 1989 อันเป็นอัลบั้มแรกของ De La Soul ฟังเพลงนี้ได้ที่ http://youtu.be/0cUibv9Q-3g
  3. เพลงนี้เวอร์ชั่นแรกสุดเป็นของ The Byrds ในปี 1964 (ฟังได้ที่ http://youtu.be/HBBj82YCEzo) แต่วง The Turtles ได้นำมาคัฟเวอร์ในปี 1969 (ฟังได้ที่ http://youtu.be/-sHCEYjNYsI) อ่านข้อมูลอื่นๆ ของเพลงนี้ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/You_Showed_Me
  4. ฟัง Alone Again (Naturally) ของ Gilbert O'Sullivan ได้ที่ http://youtu.be/iCZGqcMZ6Jw
  5. ฟัง Alone Again ของ Biz Markie ได้ที่ http://youtu.be/OebqNsNRBtU
  6. คดีนี้มีนามว่า Grand Upright Music, Ltd. v. Warner Bros. Records Inc. ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Grand_Upright_Music,_Ltd._v._Warner_Bros._Records_Inc.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท