Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์[1]
 
คณะนิติราษฏร์ขอแจ้งให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับข้อเสนอฯ ทราบและสบายใจว่า ข้อเสนอฯ ทุกข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ เป็นเรื่องที่วางอยู่บนหลักวิชาการและอำนาจตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 
การเสนอให้แก้ไข มาตรา 112 นั้น ไม่ถือเป็นความผิดใด ๆ ทั้งสิ้น [2]
คณะนิติราษฎร์
26 มกราคม 2555
 
 
คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าจึงแถลงมายังสังคมและประชาชนให้ทราบโดยทั่วกัน และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ปกป้องเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป [3]
มหรรณพ เดชวิทักษ์ นายกสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า
31 มกราคม 2555
 
 
 
การปฏิสัมพันธ์กับการปฏิวัติสยาม 2475 การเมืองเรื่องของความทรงจำ
 
เอาเข้าจริงแล้ว คณะราษฎรและการปฏิวัติสยาม 2475 นั้นอาภัพกว่า รัชกาลที่ 7 มากนัก เนื่องจากว่า ในวาระครบรอบสำคัญ การกระทำในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนถูกมองข้ามความสำคัญไป ตั้งแต่ปี 2525 ที่เป็นวาระครบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะที่ปี 2535 ก็ถูกรัศมีของวิกฤตพฤษภาทมิฬบดบังไปเสีย และตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา อันเป็นยุคสมัยที่เราคาดคิดกันว่า ประชาธิปไตยจะเติบโตและเบ่งบานอย่างงดงาม โดยเฉพาะความหวังจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เอื้อต่อชนชั้นกลางในเขตเมืองเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ กระแสสำนึกถึงประชาธิปไตยอันเป็นผลจากการลงทุนลงแรงของคณะราษฎรในนามของการปฏิวัติสยาม 2475 นั้น กลายเป็นเพียงภูมิปัญญาชายขอบ ที่การเฉลิมฉลองและการสร้างความหมายก็ยังอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย และยิ่งหากพิจารณาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระปกเกล้า กับ การปฏิวัติสยามอาจจะมองได้อย่างน้อย 3 ช็อต ดังนี้
 
 
ช็อตแรกในปี 2545  ครบรอบ 70 ปีปฏิวัติสยาม
 
ถนนราชดำเนินนับเป็นสมรภูมิที่ผลัดกันช่วงชิงความหมายของอุดมการณ์ทางการเมืองตลอดมา คณะราษฎรเริ่มต้นทำการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองก็บริเวณใกล้กับลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ศูนย์กลางสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ในเวลาต่อมาได้ทำการก่อสร้างหมุดคณะราษฎรขึ้นเพื่อรำลึกการกระทำทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ตามมาด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การสร้างความทันสมัยด้วยโครงการตึกแถวทั้งสองฝั่งของราชดำเนินกลาง 
 
หลังจากการเพลี่ยงพล้ำของคณะราษฎรจนแทบตกจากเวทีประวัติศาสตร์ไปหลังทศวรรษ 2490 แล้ว ถนนราชดำเนินก็เริ่มหมดความหมายที่ผูกพันกับคณะราษฎรไปทุกที โดยเฉพาะความยิ่งใหญ่ของการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา 16 ที่ปราศจากที่ยืนของคณะราษฎร แต่กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เชิดชูกษัตริย์แทน ยิ่งทำให้การปฏิวัติสยามดูเป็นเรื่องแปลกแยก ที่ชัดเจนมากก็คือ การต่อสู้ของประชาชนในช่วงพฤษภาทมิฬ 2535 ก็แทบจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสยาม 2475 หรือคณะราษฎรในเชิงฐานความคิดของการเคลื่อนไหวใดๆ
 
ในทางกลับกัน แม้ว่าสถาบันพระปกเกล้าจะพึ่งถือกำเนิดขึ้น แต่สถาบันนี้สามารถยึดตำแหน่งแห่งที่บนถนนราชดำเนิน โดยใช้ตึกกรมโยธาธิการเดิม เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ซึ่งทำหน้าที่ประดุจโรงละครที่ฉายซ้ำวาทกรรม ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีกษัตริย์และพิธีกรรมประชาธิปไตยเป็นศูนย์กลาง อาคารแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 7 ธันวาคม 2545 ปีเดียวกับการครบรอบ 70 ปี การปฏิวัติสยาม
 
 พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า บนถนนราชดำเนิน
ภาพจาก ฅนหลังเขา. " พาไปเที่ยวชมไฟกันครับ".
  (30 มิถุนายน 2549)


พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการพูดถึงโดยละเอียดแล้วโดยชาตรี ประกิตนนทการ ในบทความ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” [4]  บทความนี้ทำให้เห็นความหมายและการรับรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้ดีจากการวิเคราะห์นิทรรศการ มีอย่างน้อย 4 ประเด็นที่จะกล่าวถึง คือ 
 
ประเด็นแรก รัชกาลที่ 7 ในฐานะกษัตริย์นักประชาธิปไตยขับเน้นผ่านประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นนั่นคือ 
การทดลองจัดตั้งเทศบาลเพื่อสอนให้ประชาชนรู้จักสิทธิในการเลือกตั้ง เพื่อที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับประเทศ ขณะที่การมีประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วก็เป็นสิ่งที่อันตรายเหมือนกับการได้รับยาแรงเกินไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง[5]
 
ประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญที่เคยอ้างกันว่าเป็นสิ่งที่ รัชกาลที่ 7 ตั้งใจจะพระราชทานอยู่แล้ว แทนที่จะนำเสนอเป็นเรื่องหลักเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือเรื่องคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามก็เปล่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกเน้นย้ำในฐานะเครื่องมือที่ใช้ข่มการปฏิวัติสยาม ต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้รับการแปล ขณะที่ในส่วนนิทรรศการอื่นๆ ถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ไม่สำคัญกลับแปลเสียละเอียดยิบ ซึ่งทำราวกับว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับที่มองไม่เห็น เหตุผลก็คือ โดยสาระแล้วรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ใจกลางของอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนนายกรัฐมนตรียังอยู่กับกษัตริย์ หรืออาจกล่าวได้ว่าโครงสร้างของอำนาจไม่ได้เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนคือรูปแบบเท่านั้น[6]
 
ประเด็นที่สาม นิทรรศการยังแสดงท่าทีที่เป็นปรปักษ์ต่อการปฏิวัติสยาม 2475 อย่างชัดเจน ในด้านการออกแบบแล้วพื้นที่ของนิทรรศการส่วนที่กล่าวถึงการปฏิวัติสยามถือว่า ขัดแย้งกับภาพรวมของนิทรรศการทั้งหมด ทั้งในด้านความไหลลื่นของนิทรรศการ และขนาดของพื้นที่ที่เล็กเกินไปเมื่อเทียบกับนิทรรศการส่วนอื่นๆ ขณะที่เอกสารสำคัญอย่างประกาศคณะราษฎร วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ถูกทำให้กลายเป็นเพียงเอกสารโจมตีรัชกาลที่ 7 โดยไม่ได้ทำให้เห็นบริบทที่ว่า นั่นคือเหตุผลและหลักการของคณะราษฎร 
 
นอกจากนั้น หากอ่านระหว่างบรรทัดจากนิทรรศการจะเห็นว่า ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎรนั้นถูกกล่าวร้ายอย่างมีชั้นเชิงด้วยการใช้กรรมวิธีที่แยบยล นั่นคือ การใช้คำพูดของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรกล่าวถึงปรีดีว่าเป็นผู้ที่ 
 
“serious danger to the government” (อันตรายอย่างร้ายแรงต่อรัฐบาล-ผู้เขียน) 
 
ขณะที่นิทรรศการอัญเชิญพระกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ 7 กลับไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือ 
 
“นายปรีดีนี้เป็นคนฉลาด แต่ออกจะอวดดีสักหน่อยตามวิสัยคนหนุ่ม ถ้าได้รับราชการในตำแหน่งรับผิดชอบ
แล้ว ก็น่าจะได้ราชการดีต่อไป” 
 
วิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้จึงมีนัยว่า แม้รัชกาลที่ 7 จะทรงเชื่อใจปรีดีว่าจะไม่เป็นผู้ทรยศดังที่พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรกังวล แต่ในที่สุดแล้วปรีดีนั้นเองกลับเป็นผู้เนรคุณ กำเริบเสิบสานจนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง มิหนำซ้ำยังเขียนประกาศคณะราษฎรกล่าวร้ายพระองค์อย่างเสียๆหายๆ  ที่ควรกล่าวไว้ด้วยก็คือ นี่เป็นการวิจารณ์ปรีดีในบริบทที่ปรีดีเริ่มมีสถานะที่สูงส่งมากขึ้น หลังจากงาน 100 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ในปี 2543 เป็นต้นมา
 
ประเด็นสุดท้าย ก็คือ จุดเน้นที่สุดของนิทรรศการกลับไปสถิตอยู่ที่พิธีกรรมพระราชทานรัฐธรรมนูญ อย่าลืมว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้รัชกาลที่ 7 กลายเป็นที่จดจำถึงความเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยนั่นก็คือ ภาพซ้ำๆของพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่กี่วินาที แต่ภาพซ้ำนี้กลับถูกผนึกแน่นกลายเป็นเนื้อเดียวกับความหมายของประชาธิปไตยแบบไทยๆ มาหลายทศวรรษ ทั้งที่ภาพลักษณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเปลือกนอก การแสดงออกถึงความสำคัญของประชาธิปไตยแบบนี้ ชาตรี เรียกมันว่า “ประชาธิปไตยแบบเน้นพิธีกรรม"[7]
 
 
นิทรรศการที่เน้นความสำคัญที่สุด พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ที่มา :
Puripatt."ไปเที่ยว พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กันเถอะ"
ใน touronthai.
(22 ธันวาคม 2553)

 
การเปิดพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าในปลายปี 2545 ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของสถานะของรัชกาลที่ 7 เหนือการปฏิวัติสยาม อย่างไรก็ตามการปฏิวัติสยาม 2475 ก็มิได้หมดความหมายไปเสียทั้งหมด งานศึกษาเกี่ยวกับปฏิวัติสยามเริ่มฟื้นตัวอีกระลอกจากงานวิชาการในทศวรรษ 2530 หลังครบรอบ 70 ปี เห็นได้จากการตีพิมพ์ ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (2546) ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 
 
ขณะที่ ชาตรี ประกิตนนทการ มีข้อเสนอใหม่ๆจากการตีความคณะราษฎรผ่านงานศิลปะสถาปัตยกรรม เพื่อถกเถียงก้บข้อสรุปเดิมๆว่า ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการฟาสซิสต์ ข้อเสนอนี้ชี้ให้เราเห็นถึงงานศิลปะที่มีมิติทางการเมืองสูง โดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคเท่าเทียม การชูความสำคัญของความงามเรียบง่ายแบบสามัญชน แม้กระทั่งการทำลายฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมแบบเดิมลง ที่เราเห็นได้จาก การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (2547 ที่ปรับมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ในปี 2546) และ คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมือง หลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม "อำนาจ" (2548) 
 
นอกจากนั้นเรายังพบงานเขียนที่พยายามทำความเข้าใจกับพลังภูมิปัญญาและเครือข่ายของฝ่ายตรงกันข้ามกับคณะราษฎรจนสามารถยึดครองตำแหน่งแห่งที่ในความทรงจำหลักเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบไทยๆที่มีกษัตริย์เป็นหัวใจได้สำเร็จ ณัฐพล ใจจริงได้แสดงให้เห็นในบทความ "การรื้อสร้าง 2475" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" (2548) ใน ศิลปวัฒนธรรม[8]   
 
 
ช็อตที่สอง รัฐประหาร 19 กันยา 49
 
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของพลังประชาธิปไตย พวกที่สนับสนุนและแอบดีใจที่สามารถขับไล่ทักษิณออกไปได้ด้วยกระบอกปืน ไม่ว่าจะในนามนักกิจกรรมหรือนักวิชาการที่มีป้ายเรียกร้องประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม
 
แต่สิ่งที่ได้สังคมไทยได้รับหลังจากนั้น กลับเป็นประสบการณ์ทางการเมืองอันล้ำค่า ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550, การเลือกตั้งหลังรัฐประหาร, ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์, การเกิดขึ้นของคนเสื้อแดง นปช. ฯลฯ มันทำให้เกิดการต่อสู้ทางความคิดการเมืองที่แหลมคมมากขึ้น ผู้ที่อ้างประชาธิปไตยแต่ปากได้เปิดเผยตัวอย่างล่อนจ้อน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรูปแบบการปกครองภายใต้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมดังขึ้นมาอย่างเซ็งแซ่ ขณะที่เว็บไซต์ เว็บบอร์ดที่เสนอข่าวสารทางการเมืองต่างคึกคักเป็นอย่างยิ่ง นำไปสู่การตั้งคำถามไปสู่ดินแดนอันต้องห้าม จึงไม่แปลกอะไรที่กระแสการบล็อกเว็บไซต์ เว็บบอร์ดจำนวนมหาศาลถูกสั่งการโดยรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน กระทั่งการปิดตัว ว่ากันว่า หนังสือเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองอย่าง ฟ้าเดียวกัน ขายดีในที่ชุมนุมเสื้อแดง
 
แรงผลักดันทางอุดมการณ์ได้ทำให้เกิดการแสวงหาความรู้ เราพบว่าหลังรัฐประหาร 2549 ได้เริ่มมีการรื้อฟื้นความรู้ และอุดมการณ์ของคณะราษฎรและการปฏิวัติสยาม เพื่อมาผนวกกับการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น "หมุดประชาธิปไตย" มีกูไว้ (ในใจ) ไม่ไร้เสรีภาพ (2550)[9]   โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง บทความนี้ต้องการจะล้อเลียนกระแสจตุคามรามเทพ โดยให้น้ำหนักแก่หมุดคณะราษฎรมาเป็นแก่นของเรื่อง บทความนี้ตีพิมพ์ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน
 
ณัฐพล ใจจริง ได้เขียนบทความชี้ให้เห็นเกมการเมืองที่ฝ่ายเจ้าต้องการโค่นล้มการปฏิวัติสยาม ของคณะราษฎรใน “คว่ำปฏิวัติ - โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"” (2551)[10]   ในวันที่ 24 มิถุนา ก็เป็นคิวของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในบทความชื่อ “ความ เป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน” (2551)[11]   รวมถึงงานเขียน ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (2552) ของ ชาตรี ประกิตนนทการ อันเป็นหนังสือรวมบทความใน ฟ้าเดียวกัน ดังนั้นกระแสภูมิปัญญาเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 จึงเริ่มเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ 
 
 
ฟ้าเดียวกัน (ปีที่6 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2551)
ณัฐพล ใจจริง เขียน “คว่ำปฏิวัติ - โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของ 
"ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"”
 
จะเห็นได้ว่า หลังรัฐประหาร 2549 การหยิบยืมวาทกรรม ศิลปะ และสัญลักษณ์ของคณะราษฎร และการปฏิวัติสยาม 2475 ถูกมาใช้ในพื้นที่สาธารณะเพื่อผนวกและสร้างพลังให้กับการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น ความคุกรุ่นของอุณหภูมิทางการเมือง เกิดขึ้นหลังจากที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 โดยอาศัย ท็อปบูธของทหาร กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะพลังตุลาการภิวัตน์ที่นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน ขณะที่นักการเมืองตัวสำคัญอย่างเนวิน ชิดชอบ ก็ได้เปลี่ยนขั้วไปร่วมวงกับพรรคประชาธิปัตย์ การใช้อำนาจอย่างเลยเถิดโดยไม่สนใจผลที่จะตามมา นำไปสู่ความตึงเครียดเดือนเมษายน 2552 ที่กลุ่มเสื้อแดงพยายามขับไล่อภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่ง จนเกิดเหตุปะทะทั้งที่พัทยาและในกรุงเทพฯ 
 
ในสถานการณ์เช่นนั้นทำให้กำหนดการกิจกรรมที่เกี่ยวกับคณะราษฎรและการปฏิวัติสยาม 2475 คึกคักอย่างไม่น่าเชื่อ[12]  ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของนปช. นำโดย สุรชัย แซ่ด่านในวันที่ 22-24 มิถุนายน ซึ่งมีกำหนดการทำบุญให้กับคณะราษฎร และการอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎรที่หมุด ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่เพียงเท่านั้นยังมีงานอีกหลายแห่งได้แก่ งาน "70 ปีสยามเป็นไทย-ย้อนเวลาสู่อนาคต 24 มิถุนายน 2482-2552 " ที่ม.ธรรมศาสตร์ ภายในมีกิจกรรมเกี่ยวกับวันชาติ 24 มิถุนายน 2475 จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมด้วยคณะศิลปศาสตร์ มธ., โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ศศ. มธ., สมาคมจดหมายเหตุสยาม, กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์, ชมรมอุษาคเนย์-อาเซียน ที่เชียงใหม่จัดงาน "ฟังเพลงวันชาติ อ่านแถลงการณ์คณะราษฎร"จัดโดย กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ, แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.), กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
 
นอกจากการรื้อฟื้นความหมายของหมุดคณะราษฎร ผ่านกิจกรรมการแสดงความรำลึกถึงปฏิวัติสยาม 2475 อย่างช้าในปี 2552 เป็นต้นมาแล้ว ก้าวที่น่าสนใจก็คือ การรื้อฟื้นสัญลักษณ์ที่คนแทบจะลืมไปแล้วอย่างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ ให้อยู่ในการรับรู้ของสาธารณะ ผ่านการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง วันที่ 12 มีนาคม 2553 ที่นำโดย วีระ มุสิกพงศ์ แกนนำเสื้อแดง แต่ที่น่าเสียดายก็คือ อีกความหมายหนึ่งที่ซ้อนอยู่กับการต่อสู้เช่นนี้ก็คือ การใช้พิธีพราหมณ์และเลือกฤกษ์ยามที่ถือว่าเป็น วันดับอำมาตย์และยังต้องบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช[13]  ซึ่งในระยะยาวแล้วการสู้ไปกราบไปแบบนี้จะขัดแย้งกับพลังความเสมอภาคของประชาธิปไตยหรือไม่ก็ต้องคิดกันอีกที
 
ขณะที่ครบรอบรัฐประหาร 19 กันยาในปีที่ 4 ก็ได้มีการเปิดตัวของ คณะนิติราษฎร์[14] โดยชื่อแล้ว ถือว่าพ้องกับคณะราษฎร และมีสโลแกนว่า “นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” คณะนี้เป็นเหล่าอาจารย์นักวิชาการทางกฎหมายที่ยืดหยันหลักการประชาธิปไตยที่ใช้คณะราษฎรเป็นธงนำทาง ซึ่งต่อมา คณะนิติราษฎร์นี้เองได้กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่อีกระลอกที่เป็นดังเสี้ยนหนามทิ่มแทงความไม่ชอบมาพากลอันเนื่องจาก รัฐประหาร, ตุลาการภิวัตน์ หรือกระทั่งกฎหมายอาญามาตรา 112  ซึ่งนำไปสู่แคมเปญทั่วประเทศในนามการรณรงค์แก้ไข กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ได้ตัวเลขผู้สนับสนุนการแก้ไขประมาณ 30,000 กว่าคน ในเดือนพฤษภาคม 2555
 
 
การชุมนุมของคนเสื้อแดง ณ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่

เว็บไซต์ของนิติราษฎร์
 

อ้อ เราอาจจะลืมไปแล้วว่า หลังรัฐประหาร 2549 สถาบันพระปกเกล้าที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยนี้มีบทบาทอย่างไร แม้ว่าจะมีกิจกรรมอันใดบ้างของสถาบัน แต่ก็ไม่โดดเด่นเท่าใดนัก สิ่งนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า ในจังหวะความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความขัดแย้ง สถาบันแห่งนี้ไม่ได้แสดงจุดยืนทางวิชาการใด ต่อความเปลี่ยนแปลงสำคัญในช่วงดังกล่าว 
 

ช็อตที่สาม ปี 2555 ครบรอบ 80 ปีปฏิวัติสยาม
 
จนกระทั่งมี 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สถาบันพระปกเกล้ามีชื่อปรากฏอยู่ในสังคมสาธารณะ นั่นคือ กรณีการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์และกลุ่มผู้สนับสนุน ตั้งแต่ปลายปี 2554 ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มการเมือง สื่อมวลชนและชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมได้แสดงออกให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ที่น่าสนใจก็คือ การคัดค้านของสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า 
 
แท้จริงแล้วสมาคมนี้ก็คือ กลุ่มทางสังคมที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาเก่าของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งแต่ปี 2544[15]  มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งคือ “เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสร้างจิตสำนึกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”[16]   สมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการกระทำของนิติราษฎร์อย่างชัดเจน แม้จะไม่ได้ระบุชื่อ ซึ่งการต่อต้านก็คือการต่อต้านข้างๆคูๆ ไม่ได้ยกเหตุผลอย่างที่นักวิชาการและวิญญูชนจะนำมาหักล้างกันตามหลักการ ถึงกับมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่พิลึกพิลั่นนั่นคือ[17]
            
1.ให้คณะบุคคลดังกล่าวได้ยุติการกระทำที่ละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2.ขอให้สถาบันการศึกษาต้นสังกัดของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้ดำเนินการควบคุมพฤติกรรมและการกระทำที่สร้างความแตกแยกแก่สังคมและประเทศโดยรวม และพิจารณาถึงการกล่าวอ้างตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศไปแสวงหาผลประโยชน์ให้เกิดแก่กลุ่มตนเองและพวกพ้องแห่งตน ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป           
3.ขอเรียกร้องให้สาธารณะสังคมได้โปรดติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด
       
เหตุนี้อาจนับเป็นปรากฏการณ์ต่อสู้กันของนอมินี อันเป็นตัวแทนอุดมการณ์คณะราษฎร และฝ่ายตรงข้ามได้อย่างพอสังเขป
 
 
 
กรณีที่สอง งานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ[18]  เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยรัฐสภา จากกรรมาธิการปรองดอง ตัวเนื้อหาแบ่งเป็นส่วนศึกษาวิเคราะห์ด้วยบริบทสังคมการเมือง รวมไปถึงทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอต่อทางออกในการปรองดอง ที่กลายเป็นประเด็นร้อนและทำให้สถาบันพระปกเกล้าโด่งดังในข้ามคืน ที่น่าประหลาดใจก็คือ ตัวบทในงานวิจัยนี้ มีประเด็นให้ถกเถียงอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอการนิรโทษกรรมที่อาจมีผลเป็นบวกแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้รักษาความไม่สงบ ซึ่งพวกเขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้สังหารประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 (หน้า 143-146) ยกเว้นนิรโทษกรรมกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (หน้า 146) ฯลฯ แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีนักต่อฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และฝ่ายเสื้อแดงที่สูญเสียจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ ในอีกด้านหนึ่งก็พยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของอีกฝ่ายในสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา
 
แต่แทนที่จะมีเสียงคัดค้านอย่างใหญ่โตจากฝั่งนี้ การณ์กลับเป็นว่าเสียงออร์เคสตร้าแห่งอวิชชาและความเกลียดชังของฟากฝั่ง “อประชาธิปไตย” กลับส่งเสียงต่อต้านอย่างชัดเจนผ่านสื่อ ผ่านเส้นเสียงของ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[19] , มารุต บุนนาค[20]  ที่อ้างว่าตัวเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเกรงว่าจะถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือ, รวมไปถึงสื่อของชนชั้นกลางในเมือง[21]   พวกเขาสอดบรรเลงให้ท่วงทำนองที่สยดสยองยิ่ง ด้วยการมองว่า งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า จะช่วยทักษิณ ชินวัตรให้คืนเมือง ซึ่งการเขียนเสือให้วัวกลัวเช่นนี้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันบนฐานด้วยเหตุและผลกันอีกต่อไป แน่นอนว่างานวิจัยนี้มีคุณูปการต่อประชาธิปไตยตรงที่
  แผนภาพจากงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ
แผนภาพจากงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ 
 
มันได้สร้างการถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับ “ความจริง” อุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” และเปิดหน้ากากให้เห็นกันว่า ใครเป็นใครในจุดยืนที่ต้องการถกเถียงทางสติปัญญาในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้
 
ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างใดที่สถาบันพระปกเกล้า แทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับการเฉลิมฉลองวาระมหามงคล 80 ปีปฏิวัติสยาม เท่าที่ค้นเจอ จะพบก็เพียงแต่การมีเครดิตเอี่ยวกับการร่วมจัดอย่างงาน “ความร่วมมือ 5 สถาบันกับภารกิจการขยายพื้นที่เสรีภาพให้แก่สังคมไทย 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ในนาม สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย, ทีดีอาร์ไอ, สถาบันพระปกเกล้า,สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯและสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ที่นำโดย ธีรยุทธ บุญมี[22]  และอาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจเตรียมจัดงานฉลองใหญ่ในวันที่ 10 ธันวาคมมากกว่า เนื่องจากชื่อสถาบันที่ค้ำคอ รวมไปถึงการดำเนินรอยตามวาทกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นและผลิตซ้ำจนทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่า มีความหมายน้อยเสียเหลือเกินแล้ว เนื่องจากว่า ภาพลักษณ์ดังกล่าวขัดกันกับประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้นทุกที
 
ที่ผ่านมา จุดยืนของสถาบันพระปกเกล้าจึงหนักแน่นและมั่นคงอย่างยิ่ง กับการผูกตัวเองเข้ากับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ปฏิเสธความรุ่งโรจน์ของการปฏิวัติสยาม 2475 และคณะราษฎร กระทั่งการไม่เห็นด้วยของสถาบันพระปกเกล้าเอง ไม่ยอมสร้างข้อถกเถียงทางวิชาการเพื่อที่จะหักล้างข้อเสนอที่ผ่านมาของคณะราษฎร แต่กลับก้มหน้าก้มตาผลิตชุดความรู้เดิมและสร้างเครือข่ายทางการเมืองผ่านชุดความรู้นั้นผ่านงบประมาณของชาติ โดยแทบจะลืมไปแล้วว่า สถาบันพระปกเกล้าอยู่ภายใต้กำกับของรัฐสภาที่ยึดโยงกับประชาชน คนหมู่มากของประเทศ
 
ในตอนสุดท้าย เราจะเข้าไปดูความสัมพันธ์ภายในและบทบาทของสถาบันพระปกเกล้าที่มีต่อสังคมไทยอย่างละเอียดกัน ว่าพวกเขาสร้างและบำรุงเครือข่ายประชาธิปไตยแบบไทยๆอย่างไร.
 
 ____________________________________________________________
 
 
[1] อาจารย์ประจำ สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
[2] นิติราษฎร์. "สารถึงผู้อ่าน - ข้อเสนอฯ ของนิติราษฏร์ยืนอยู่บนหลักการแห่งกฎหมาย" . http://www.enlightened-jurists.com/blog/61 (26 มกราคม 2555)
[3]มติชนออนไลน์. ""สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า" แถลงให้ "คณะนักวิชาการ" หยุดละเมิดสถาบันฯ" .http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1328022771&grpid=03&catid=03 (31 มกราคม 2555)

[4]ชาตรี ประกิตนนทการ. “ประชาธิปไตยแบบไทยๆที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” ใน อ่าน, 1 : 4 (มกราคม-มีนาคม 2552)
[5]ชาตรี ประกิตนนทการ. “ประชาธิปไตยแบบไทยๆที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” ใน อ่าน, 1 : 4 (มกราคม-มีนาคม 2552) : 103-104
[6]ชาตรี ประกิตนนทการ. “ประชาธิปไตยแบบไทยๆที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” ใน อ่าน, 1 : 4 (มกราคม-มีนาคม 2552) : 110-111
[7]ชาตรี ประกิตนนทการ. “ประชาธิปไตยแบบไทยๆที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า” ใน อ่าน, 1 : 4 (มกราคม-มีนาคม 2552) : 111-112
[8]ณัฐพล ใจจริง. “ "การรื้อสร้าง 2475" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" “ใน ศิลปวัฒนธรรม, 27 : 2 (ธันวาคม 2548)
[9]ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง. “ "หมุดประชาธิปไตย" มีกูไว้ (ในใจ) ไม่ไร้เสรีภาพ” . http://prachatai.com/journal/2007/06/13221(24 มิถุนายน 2550)
[10]ณัฐพล ใจจริง. “คว่ำปฏิวัติ - โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"”. ฟ้าเดียวกัน (ปีที่6 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2551)
[11]สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. รำลึก "วันปฏิวัติ 24 มิถุนา" : ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน. http://prachatai.com/journal/2008/06/17161 (24 มิถุนายน 2551)
[12]ไทยอีนิวส์. "จัดกิจกรรมรำลึกวันชาติ24มิถุนากระหึ่มทั่วประเทศ". http://www.thaienews.blogspot.com/2009/06/24_17.html (17 มิถุนายน 2552)

[13]ประชาไทออนไลน์. "ประมวลภาพเสื้อแดงบวงสรวงวิญญาณทหารพิทักษ์ รธน. ที่หลักสี่ เช้า 12 มี.ค." http://prachatai.com/journal/2010/03/28134 (12 มีนาคม 2553)
[14]วรเจตน์ ภาคีรัตน์. "นิติราษฏร์ ฉบับที่ 1 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)" ใน นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร . http://www.enlightened-jurists.com/blog/2 (19 กันยายน 2553)
[15]สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า. เกี่ยวกับสมาคมฯ, ประวัติ. http://www.kpisociety.com/about01.php (2 มิถุนายน 2555)
[16]สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า. เกี่ยวกับสมาคมฯ, วัตถุประสงค์. http://www.kpisociety.com/about02.php (2 มิถุนายน 2555)
[17]มติชนออนไลน์. ""สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า" แถลงให้ "คณะนักวิชาการ" หยุดละเมิดสถาบันฯ" .http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1328022771&grpid=03&catid=03 (31 มกราคม 2555)

[18]อ่านที่นี่: งานวิจัยฉบับเต็ม “แนวทางปรองดอง” จากสถาบันพระปกเกล้า
http://prachatai.com/journal/2012/03/39768 (12 มิถุนายน 2555)
[19]ASTVผู้จัดการออนไลน์. “อภิสิทธิ์” วอนทบทวนรายงานปรองดอง ส.พระปกเกล้า ซัดปกปิดความจริงอื้อ-เอื้อคนกลุ่มเดียว. http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034911 (19 มีนาคม 2555)
[20]ASTVผู้จัดการรายวัน. "วอนถอนปรองดองหวั่นขัดแย้งหนัก". http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000041808 (2 เมษายน 2555)
[21]ASTVผู้จัดการออนไลน์. "ชำแหละ! ผลวิจัยปรองดอง 20 นักวิชาการพระปกเกล้า กำลังฆาตกรรมประเทศไทย". http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000035401(21 มีนาคม 2555)
[22]ASTVผู้จัดการออนไลน์. "5 สถาบันเปิดตัวจับมือขยายพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการให้สังคมไทย". http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000039516 (28 มีนาคม 2555)
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net