Skip to main content
sharethis
ที่ประชุม ทปอ. ชงปรับเงินเดือน-สวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัยเทียบเท่าข้าราชการ ทั้งประกันสังคม ค่ารักษาพ่อ-แม่ ค่าเทอมลูก โบนัส รวมถึงทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
14 มิ.ย. 55 - โลกวันนี้รายงานว่านายสุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมได้เสนอแนวทางปฏิบัติ/เกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัยดังนี้
 
สวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลไม่น้อยกว่าของระบบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เคยได้รับ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ ได้แก่ การประกันสังคม การประกันสุขภาพกลุ่ม ค่ารักษาพยาบาลบิดามารดา คู่สมรสและบุตร ปีละ 50,000 บาท ให้สะสมได้ การตรวจสุขภาพประจำปี เงินค่าเล่าเรียนบุตร เงินช่วยเหลือค่าทำศพ เงินตอบแทนพิเศษประจำปี (โบนัส) การเลื่อนขั้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 3 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานสะสมร้อยละ 4-8 มหาวิทยาลัยสมทบร้อยละ 8 กองทุนสวัสดิภาพบุคลากร การให้เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย/หอพัก/ค่าเช่าบ้าน ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม การลาศึกษาต่อ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์
 
นอกจากนั้นยังเสนอปรับโครงสร้างค่าตอบแทน/อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของพนักงานมหาวิทยาลัยดังนี้ ในระยะ 2 ปีแรก 1.ให้จ้างพนักงานสายวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 2.ให้จ้างพนักงานสายสนับสนุนวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ส่วนระยะ 2 ปีถัดมา 1.ให้จ้างพนักงานสายวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.6 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 2.ให้จ้างพนักงานสายสนับสนุนวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.4 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ
 
3.การได้รับเงินประจำตำแหน่งแบ่งเป็น สายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จำนวน 5,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท รองศาสตราจารย์ จำนวน 9,900 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 9,900 บาท ศาสตราจารย์ ระดับ 10 จำนวน 13,000 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 13,000 บาท ศาสตราจารย์ ระดับ 11 จำนวน 15,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 15,600 บาท
 
ส่วนสายสนับสนุนวิชาการ ชำนาญการ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท เชี่ยวชาญ 9,900 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 9,900 บาท เชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 13,000 บาท สำหรับเรื่องการออกจากงานกรณีพนักงานสัญญาจ้างทดลองงาน 1 ปี สัญญาต่อไปจนถึง 60 ปี แต่สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้ถ้าไม่ผ่านการประเมิน ให้ใช้วิธีการประเมินแบบ 360 องศา หรือคณะกรรมการเป็นผู้ประเมิน
 
นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยมอบหมายให้ ทปอ. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ไปศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของหลักเกณฑ์ตามที่เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยเสนอ เพราะการบริหารจัดการต่างๆขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่มีอำนาจไปบังคับ และหากได้ข้อสรุปอย่างไรจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พิจารณาอีกครั้ง หาก ก.พ.อ. เห็นชอบ จะต้องออกเป็นประกาศ ก.พ.อ. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net