Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากข่าวที่กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุขมาชุมนุมเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้เร่งบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้กับลูกจ้างใน รพ.ชุมชนทั่วประเทศต่อกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเคยร้องเรียนผ่านหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นผล ซึ่งหากยังไม่คืบหน้า อาจมีการนัดชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 แล้ว เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้ามาประเมินระบบราชการไทยในฐานะเจ้าหนี้ พบว่า ระบบมีจำนวนข้าราชการมากเกินไป จึงมีการจำกัดการบรรจุข้าราชการแบบเหมารวม ขาดวิจารณญาณในการแยกแยะว่าส่วนใดที่เกินแล้ว ส่วนใดที่ยังขาดอยู่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงถูกผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถบรรจุ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ต้องหันมาใช้คำว่าพนักงานราชการแทน จนต่อมาเริ่มมีตำแหน่งมากขึ้นแต่ก็เพียงพอแค่การบรรจุ แพทย์ และทันตแพทย์เท่านั้น ส่วน พยาบาล , เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ประเภทอื่นๆ ได้บรรลุเพียงเล็กน้อยจากการรอตำแหน่งว่างจากผู้เกษียณเท่านั้น

จากข้อมูลของสภาการพยาบาล ในการเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในระหว่างปี 2549-2553 จำนวนพยาบาลวิชาชีพทำงานเต็มเวลาในโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มจาก11,000 คน เป็น 15,000 คน เป็นการเพิ่มถึงร้อยละ 36.36 ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งการเข้างานสู่งานในภาคเอกชนของพยาบาลวิชาชีพปีละประมาณ 1,000 คน สภาการพยาบาลคาดว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ภาคเอกชนจะต้องการพยาบาล ถึง 20,000 คน เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ต้องการได้รับรับรองคุณภาพจากJCI ที่กำหนดให้มีการจัดอัตรากำลังพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยตามมาตรฐานบริการพยาบาลสากล ซึ่งมาตรฐานอัตรากำลังของพยาบาลไทยต่ำกว่าที่กำหนดของมาตรฐานวิชาชีพอยู่ถึงร้อยละ 30 ในทางตรงกันข้าม กระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันมีพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 18,000 คน และยังขาดแคลนทั่วประเทศอยู่อีกประมาณ 33,112 คน  ซึ่งการขาดแคลนก็จะทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อความผิดพลาด ไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย

การที่พยาบาลถูกละเลยไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้มีการลาออกไปสู่ภาคเอกชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมืองมากขึ้น หรือออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้นหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economy Community :AEC) ในปี พ.ศ.2558   ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่ง มีการปรับตัวอย่างไร้ทิศทาง เพื่อให้สามารถดึงดูดให้พยาบาลเข้ามาทำงาน และรักษาคนไว้ในระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนต่างๆในโรงพยาบาลในเมืองให้ทัดเทียมภาคเอกชน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่คนจะไปทำงานในเขตชนบท เพราะค่าตอบแทนที่ต่ำกว่า  ซึ่งหากปล่อยให้การแข่งขันในกลไกตลาดแรงงานดำเนินต่อไป อาจทำให้เกิดการบริการ 2 มาตรฐานระหว่างภาครัฐ และเอกชน ที่ภาครัฐไม่แสดงภาวะผู้นำ ความรู้ความสามารถในการแทรกแซงแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดบริการได้ตามมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชนไทยที่ฐานะยากจน ไม่มีกำลังจ่าย   โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ห่างไกล

แต่เป็นที่น่าผิดหวังยากมาก เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน  มุ่งให้ความสนใจแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพัฒนาเมดิคัลฮับ (medical hub) และการทำโครงการที่เพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐโดยไม่จำเป็น เช่น โครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในราคาที่สูงเกินไป  หน่ำซ้ำยังตัดงบประมาณรายจ่ายสำหรับการประกันสุขภาพในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ลงจากเดิม  5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท  จากความเรื้อรังของปัญหาดังกล่าวนั้น ราวกับว่ารัฐบาล, ก.พ. และกระทรวงสาธารณสมรู้ร่วมคิด ยินยอม พร้อมใจไปด้วย หรือไม่ก็เกิดจากความปล่อยปะละเลยของทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ คือ ก.พ. และความมุ่งมั่นที่ไม่เพียงพอของผู้นำกระทรวงสาธาณสุข ผลร้ายย่อมตกกับพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งไม่สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้

ดังนั้นเพื่อแสดงความจริงใจ และศักยภาพของรัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ นายวิทยา บูรณศิริ รมต.กระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อย และอาศัยในเขตชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพจากสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่พรรคเพื่อไทยได้กล่าวอ้างในการหาเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด โดยการแสดงภาวะผู้นำและความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาการคงอยู่และกระจายของพยาบาลวิชาชีพในสถานบริการระดับต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นระบบ เป็นธรรม สร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net