Skip to main content
sharethis

ชาญชัย ชัยสุขโกศล จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล เสนอกรณีศึกษาจากต่างประเทศและแนวทางในการจัดการกับปัญหา Hate speech โดยไม่ต้องเซ็นเซอร์ แต่ย้ำให้ระวังการพูดที่ยั่วยุให้เกิดการคุกคามทำร้าย (Do harm speech)

(19 มิ.ย.55)  ในการประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “แผ่นดินเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละโลก ? : วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ที่ รร.มิราเคิลแกรนด์   ชาญชัย ชัยสุขโกศล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในหัวข้อ Hate Speech และข้อมูลที่อันตราย (Harmful information) ด้านมืดอินเทอร์เน็ตและประสบการณ์การรับมือของต่างประเทศ โดยยกตัวอย่าง Hate speech ว่ามีอาทิ กลุ่ม KKK ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ความรุนแรงกับคนผิวสี หรืออีกกรณีคือ การใช้ Free speech อย่างสุดโต่ง ในรวันดาที่มีผู้เสียชีวิต 800,000 คนใน 100 วัน โดยการใช้วิทยุสื่อสารบอกตำแหน่งของกลุ่มตุ๊ดซี่ ซึ่งเป็นผู้ถูกล่าว่าอยู่ที่ไหนและจะเดินทางไปได้อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจคล้ายๆ กับบ้านเรา นอกจากนี้ยีงมีเว็บไซต์ของกลุ่มคนที่เชิดชูผิวขาว มีเกมยิงคนผิวสี-ผิวเหลือง นักเขียนการ์ตูนชาวเดนมาร์กวาดภาพลูกระเบิดอยู่บนศีรษะศาสดามูฮัมหมัด ส่วน Harmful information เช่น การเผยแพร่เชือดคอคนอย่างไร วิธีสร้างระเบิด สูตรปรุงยาพิษโดยหาซื้อส่วนผสมได้จากร้านยาทั่วไป 

ชาญชัย ชี้ว่า การจัดการกับ Hate Speech มักใช้มาตรการทางกฎหมายและการเซ็นเซอร์ อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเสรีภาพในการแสดงออกหรือ Free speech ควรมีได้ โดยยก จอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่ให้เหตุผลว่า หากคนไม่ได้ถกเถียงกัน จะเกิด Dogma (หลักเกณฑ์ที่ไร้ข้อพิสูจน์) เกิดความมัวเมา จึงต้องเปิดให้มีการถกเถียงเพื่อหาความจริง โดยมีกรณีเดียวที่ควรถูกจำกัดคือมีการใช้ Free speech เพื่อทำร้ายผู้อื่น ดังนั้น ในส่วน harmful information เขาจึงเห็นว่าควรเซ็นเซอร์ แม้การเซ็นเซอร์อาจมีประสิทธิภาพต่ำ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้เผยแพร่ผ่านช่องทางของตัวเอง

ทั้งนี้ เขาเสนอว่า การจัดการกับ hate speech นั้นมีวิธีอื่นๆ ได้แก่ หนึ่ง การพูดโต้ตอบกับ hate speech เพื่อให้มีตลาดเสรีทางความคิด ให้คนฟังพิจารณา ใช้วิจารณ์ของตัวเองและเลือก สอง อารยะขัดขืนทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กรณีกลุ่มซาปาติสต้า ในรัฐเชียปาส เม็กซิโก ที่ต่อต้านรัฐบาลเนื่องจากเข้าร่วมเขตการค้าเสรี NAFTA โดยให้คนคลิกเข้าเว็บของรัฐบาล 5 เว็บพร้อมกันจนส่งผลให้เว็บล่ม โดยวิธีการแบบนี้ทำให้ให้คนทั่วโลกร่วมประท้วงได้ แต่ก็ถือเป็นความผิดในกฎหมายไทย 

สาม การป่วนทางวัฒนธรรม เช่น การกลับสัญลักษณ์ ล้อเลียน เปลี่ยนความหมาย เช่น ในแอฟริกาใต้ มีผู้ที่รำคาญป้ายโฆษณาจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนได้ จึงเปลี่ยนคำ เช่น Red Bull เป็น Dead bull, คลื่นวิทยุ Virgin กลายเป็น Viagra, Coca Cola เป็น corruption นอกจากนี้ยังมีกรณีนักเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า "เจ้าหญิงฮิยาบ" (Princess Hijab) ในฝรั่งเศส ซึ่งปฏิบัติการคลุมฮิยาบให้โปสเตอร์ที่มีภาพโป๊ๆ ในรถไฟใต้ดิน หรือทาสีกำแพงเป็นรูปผู้หญิงคลุมฮิยาบโดยใช้สีธงชาติฝรั่งเศส เพื่อสื่อว่า ฮิยาบและฝรั่งเศสต้องอยู่ด้วยกันได้  

 

ภาพจาก http://www.princesshijab.org/

"เรามีวิธีแสดงออกได้เยอะมากกว่าการเซ็นเซอร์และใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน"ชาญชัยกล่าวและว่า เมื่อพูดเรื่องสันติวิธี ความหมายจะกว้างมาก แต่เขาเน้นเพียงว่าต้องไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ โดยชี้ว่า หากเรามีความเกลียดชังไม่ได้ จะผิดธรรมชาติ แต่คำถามคือควรจะทำอย่างไรกับความเกลียดชังมากกว่า 

ชาญชัย กล่าวว่า hate speech ไม่จำเป็นต้องแบน แต่สิ่งที่ต้องแบนคือความรุนแรงทางกายภาพ เช่น Do harm speech หรือการแสดงความเห็นให้มีการทำร้ายคนอื่น ขณะที่ความรุนแรงทางวัฒนธรรม หรือด้านอื่นๆ นั้น แม้ว่าอยากจะจัดการก็ควรใช้มาตรการอื่น 

เขากล่าวย้ำว่า สันติวิธีมีได้ในทุกจุดยืน คืออาจจะเป็นนาซีแบบสันติวิธีก็ได้ เกลียดใครก็เชิญ แต่อย่าใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ตอนนี้ ในเมืองไทย เราเกลียดชังกันมาก ซึ่งยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ในระยะยาว จะเป็นระเบิดเวลาของความเกลียดชัง ซึ่งที่ผ่านมาก็ระเบิดมา 2-3 ทีแล้ว และอาจก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างมหาศาลตามมา 


รายงานวิจัยฉบับเต็ม

http://chaisuk.wordpress.com/2011/06/16/hate-speech-full-report/ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net