Skip to main content
sharethis

TCIJ จัดเสวนา ‘วารสารศาสตร์ยังเป็นวิชาชีพอยู่หรือไม่’ วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ นักวิชาการระบุสื่อเก่าไม่มีพื้นที่ให้คนทุกกลุ่ม ดันสื่อใหม่-สื่อออนไลน์โต บก.ประชาไทโยนระเบิด วิชาวารสารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีในสังคมการเรียนรู้ปัจจุบัน การเขียนข่าวสามารถฝึกฝนได้ไม่ต้องจบวารสารฯ งานวิจัยชี้คนไทย 30 ล้านไม่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่อ่านข่าวผ่านช่องทางอื่น บีบหนังสือพิมพ์ปรับตัวเพื่ออยู่รอด เรียกร้องปรับหลักสูตรวารสารฯ ต้องเน้นความรู้พื้นฐานให้นักข่าว รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงข้อมูล เพิ่มความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่แค่รีทวิต

เทคโนโลยีเป็นมือที่มองเห็นชัดๆ ว่ากำลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างรวดเร็วและส่งผลสะเทือนไปยังทุกๆ องคาพยพ ในแวดวงสื่อสารมวลชน อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีคือนักเขียนแผนที่ผู้ขะมักเขม้นรื้อถอนภูมิทัศน์ของสื่อชนิดถอนรากถอนโคน นำพาความท้าทายใหม่ๆ ที่สื่อเก่าอาจไม่เคยเผชิญมาก่อน องค์กรสื่อหลายแห่งเริ่มปรับตัวในอัตราความเร็วที่แตกต่างกันไปเพื่อรับมือและเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อาณาเขตของสื่อใหม่ 

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็เอื้อให้คนธรรมดาที่อยู่ถูกที่ ถูกเวลา แปรฐานะเป็นสื่อพลเมือง เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย ได้อย่างง่ายดาย และบ่อยครั้งที่มุมมองความคิดของสื่อพลเมืองมีความแหลมคมไม่ยิ่งหย่อนหรือบางครั้งก็เหนือกว่าตัวนักข่าวอาชีพ ภาวการณ์นี้ก่อเกิดข้อกังขาที่ตามมาเป็นลูกโซ่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสื่อมืออาชีพ เลยเถิดไปถึงต้นตอว่า เกิดอะไรขึ้นกับการผลิตนักข่าวของสถาบันการศึกษา ที่นับวันก็ดูเหมือนคุณภาพของนักข่าวจะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่สามารถนำเสนอประเด็นสาธารณะที่แตกต่าง เชื่อมโยง แหลมคม ลึก และเข้มข้นได้ คำถามแรงๆ ที่เคยถามนานมาแล้ว จึงกลับปรากฏขึ้นอีกครั้งในยุคนี้ว่า ‘วารสารศาสตร์ยังเป็นวิชาชีพอยู่หรือไม่?’ เพราะนักข่าวอาชีพจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ผ่านหลักสูตรด้านวารสารศาสตร์

ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ร่วมกับโครงการสะพานของ United States Agency for International Development (USAID) จึงได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อนี้ขึ้น  เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา   เพื่อระดมสมองค้นหาคำตอบต่อปรากฏการณ์อันท้าทาย ท้าทายทั้งต่อสื่อมวลชน นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์ และอาจหมายถึงสังคมไทยด้วย

การพิมพ์เพิ่มอำนาจประชาชน แต่ถูกทุนครอบงำทำให้ไม่รองรับคนทุกกลุ่ม
จากการซักถามผู้คนในวิชาชีพสื่อของ อริน เจียจันทร์พงษ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าวารสารศาสตร์ยังจำเป็นหรือไม่ คำตอบที่ได้แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ทางหนึ่งเห็นว่ายังจำเป็น เพราะวารสารศาสตร์จะมอบหลักการ ความคิดพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน เข้าใจบุคลิกของสื่อต่างๆ และรู้วิธีการสื่อสารให้ถูกต้องตามขนบหรือไวยากรณ์ของสื่อนั้น ที่สำคัญ จะมีความแม่นยำด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมากกว่า ผู้ที่ไม่ได้จบมาโดยตรง 

คำตอบอีกแนวทางหนึ่งแย้งว่า นักข่าวไม่จำเป็นต้องจบวารสารศาสตร์ แต่สามารถเรียนรู้การเขียนข่าวจากการทำงานจริงได้ทันที ทั้งยังไม่เห็นว่า ผู้ที่จบด้านวารสารศาสตร์จะมีสิ่งที่เรียกว่า จรรยาบรรณวิชาชีพ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้จบมาตรงไหน และเสนอด้วยว่า วารสารศาสตร์ควรเปิดสอนระดับหลังปริญญาตรี หลังจากเรียนศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์อื่นๆ แล้ว

อรินตั้งต้นอธิบายผ่านกรอบประวัติศาสตร์ว่า ในอดีตที่การอ่านออกเขียนได้ผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำในสังคม หมายถึงอำนาจก็ถูกผูกขาดด้วยเช่นกัน แต่การพิมพ์ทำให้อำนาจสั่นคลอนเพราะทำให้เกิดผู้ที่อ่านออกเขียนได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประวัติศาสตร์ดำเนินถึงจุดจุดหนึ่ง หนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นและสอดรับกับแนวคิดประชาธิปไตยพอดิบพอดี เป็นที่มาของคำว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน

“แต่เมื่อสื่อมวลชนเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบภายใต้ทุนนิยมที่หล่อเลี้ยงด้วยการลงทุนและกำไร ผู้อ่านก็เริ่มเปลี่ยนไป จากพลเมืองกลายเป็นลูกค้า มีการประหยัดการลงทุนด้วยการขยายกิจการข้ามสื่อ เนื้อหาสำเร็จรูปแบบเดียวใช้ได้กับทุกช่องทาง เน้นข่าวเข้าใจง่ายๆ แบบมุมมองขาวกับดำทั้งที่สังคมซับซ้อนขึ้น ผลก็คือ ระบบการสื่อสารของสังคมจึงไม่มีพื้นที่รองรับคนทุกกลุ่ม และคนที่จบด้านวารสารศาสตร์มาทำอาชีพนี้ก็มักถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ตามปรัชญาแห่งวิชาชีพอยู่เสมอ”

นักข่าวเชื่อมโยงความรู้ไม่ได้ จึงขาดการตั้งคำถาม
ในมุมมองของอริน แม้ว่าหลักสูตรวารสารศาสตร์จะมีการสอนวิชาพื้นฐาน เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ แต่ปัญหาคือให้ความสำคัญแค่ไหนและสามารถฝึกให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้และประเด็นที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสาขาวิชาได้หรือไม่ อรินยกตัวอย่างข่าวการขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มุ่งนำเสนอแต่ปัญหาจากการขึ้นค่าแรง แต่ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มแรงงานได้ส่งเสียงมากนักและดูเหมือนจะมองไม่เห็นโครงสร้างที่กดทับแรงงานอยู่ 

“เมื่อเชื่อมโยงความรู้จากวิชาพื้นฐานได้ไม่ดีพอ ไม่มีพื้นที่ให้ มันจึงเกิดแนวคิดและการดำเนินการที่ท้าทายสื่อหลัก อย่างสื่อทางเลือก สื่อพลเมือง สื่อชุมชน เพราะของเดิมไม่ตอบโจทย์พวกเขา มันสร้างญัตติสาธารณะของพวกเขาขึ้นไม่ได้ เมื่อสร้างไม่ได้ก็เชื่อมโยงพลังของสังคมได้ไม่มากพอที่แก้ไขปัญหา”

ที่ผ่านมาจึงเกิดกรณีที่สื่อหลักดึงข่าวจากสื่อทางเลือกมารายงาน ซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หากสื่อหลักไม่ปรับตัว ผู้อ่านก็ไม่อ่าน

เทคโนโลยีลดอำนาจสื่อ เพิ่มอำนาจผู้อ่าน กดดันนักข่าวให้รับผิดชอบมากขึ้น
นอกจากนี้ อรินยังเห็นว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ประชาชนสามารถสื่อสารสู่สาธารณะได้ง่ายและไม่มีใครควบคุมช่องทางการสื่อสารใหม่ได้ สถานการณ์เช่นนี้กำลังสั่นคลอนอำนาจที่เคยอยู่เฉพาะในมือสื่อมวลชนแต่เดิม และเกิดกระบวนการประชาธิปไตยและการสื่อสารขึ้น เนื่องจากนักข่าวไม่ใช่ผู้เดียวที่เป็นผู้รักษาช่องทางการสื่อสารอีกต่อไป แต่โอนไปยังทุกคนจึงเท่ากับเป็นการกระจายอำนาจการผลิตและอำนาจการควบคุมการไหลเวียนข่าวสาร อำนาจการนิยามความจริงก็ถูกกระจายออกไปสู่ใครก็ได้จากที่เคยมีแต่นักข่าวเป็นผู้กำหนดวาระความคิด การควบคุมโดยรัฐและทุนทำได้ยากขึ้นเนื่องจากมีผู้ให้บริการมากขึ้นเท่ากับกระจายอำนาจการให้บริการ และจากเดิมที่ผู้อ่าน/ผู้ชมถูกกำหนดให้เลือกเสพข้อมูลข่าวสารที่สื่อกำหนดมา แต่ยุคนี้เสรีภาพในการอ่านมีมากขึ้น ทางเลือกมีมากขึ้น

“พฤติกรรมการอ่านยุคใหม่จึงเป็นการกวาดสายตาไปเรื่อยๆ เพื่อหาข้อมูลเฉพาะที่สนใจมากกว่าอ่านรายละเอียด ซึ่งก็มีปัญหาในตัวเอง เพราะคนอ่านจะมีหน้าจอเป็นโลกแห่งความจริง สิ่งที่มานอกช่องทางกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และยังอาจมีปัญหาเรื่องความถูกต้องหรือไม่ก็เป็นข้อมูลที่ผลิตขึ้นมาโจมตีกัน”

อรินทิ้งคำถามไว้ว่า อันที่จริงสื่อหลักถูกท้าทายมานานแล้ว การที่สื่อใหม่มีเนื้อหาที่เป็นทางเลือก สร้างบทบาทให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น มีมุมมองแหลมคมขึ้น ซึ่งความสำเร็จของสื่อทางเลือกและการมีส่วนร่วมของคนทั่วไปกับสื่อใหม่ สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความไม่สำเร็จของสื่อที่มีอยู่แต่เดิมหรือเปล่า ปัจจุบันสื่อหลักจึงกำลังถูกกดดันให้มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ

อรินสรุปในช่วงท้ายว่า การที่ใครก็สามารถสื่อสารได้ผ่านช่องทางของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อ สะท้อนว่าที่ผ่านมาสื่อเองต่างหากที่ไม่ค่อยสนใจใคร การเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องไปสู่ปรัชญาแห่งวิชาชีพด้านวารสารศาสตร์อย่างเข้มข้น ผลิตนักศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้และประเด็นทางสังคมได้ อรินยังมองว่า จะอย่างไรก็ตามการผลิตข่าวยังคงต้องยึดหลักการทางวารสารศาสตร์ เพราะบางครั้งประชาชนก็ไม่มีเวลาและทักษะเพียงพอ นักวิชาชีพต้องเข้ามาทำในส่วนนี้ วารสารศาสตร์ต้องช่วยเป็นอาวุธให้สาธารณะและพลเมืองให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น

ระหว่างนี้ ผู้ร่วมอภิปรายท่านหนึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า เหตุที่วิชาวารสารศาสตร์กำลังตกต่ำ ปัญหาน่าจะอยู่ที่โรงเรียนผลิตครูวารสารศาสตร์ที่ผลิตซ้ำอยู่แบบเดิมทั้งที่สังคมเปลี่ยนไป โรงเรียนวารสารศาสตร์และแหล่งผลิตครูวารสารศาสตร์ที่มาสอนนักศึกษาวารสารศาสตร์ก็หยุดนิ่งอยู่กับที่ เปลี่ยนเฉพาะเครื่องมือ ขณะที่ตั้งแต่ยุค 1980 วิชาวารสารศาสตร์ในต่างประเทศมีการเชื่อมโยงผสมผสานกับต่างวิชาแล้ว เช่น เศรษฐศาสตร์การสื่อสาร การสื่อสารทางการเมือง สังคมวิทยาการสื่อสาร แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีการสอน นักศึกษาต้องเป็นผู้เชื่อมโยงเอง ซึ่งก็ขึ้นกับอัตวิสัยของนักศึกษาแต่ละคนว่าจะมีความ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้มากเพียงใด

บก.ประชาไทย ยันวิชาวารสารศาสตร์ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว
มุมมองของอรินยังเป็นไปในเชิงประนีประนอมและตั้งคำถามว่า วารสารศาสตร์ควรจะปรับตัวให้ทันโลก แต่ในมุมที่สุดขั้วกว่าของชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท เห็นว่าวิชาวารสารศาสตร์ไม่มีความจำเป็นอีกแล้วท่ามกลางสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ การฝึกฝน และทักษะต่างๆ ผ่านโลกไซเบอร์ ส่วนประเด็นจรรยาบรรณ ชูวัสก็ไม่เห็นว่านักข่าวที่ผ่านการเรียนวารสารศาสตร์จะมีมากน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนตรงไหน ดังนั้น วิชาวารสารศาสตร์จึงควรยกไปอยู่ในระดับปริญญาโทมากกว่า และเน้นการเรียนในเชิงทฤษฎีและปรัชญา

ชูวัสอธิบายความแตกต่างของนักข่าวออนไลน์ซึ่งจะเกี่ยวพันถึงการปรับตัวที่ควรจะเป็นของวิชาและวิชาชีพวารสารศาสตร์ผ่านประสบการณ์ของประชาไทว่า สำหรับประชาไทที่วางตำแหน่งตนเองเป็นสื่อทางเลือก ส่งผลต่อการกำหนดความเป็นนักข่าวว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ข้อจำกัดในยุคแรกๆ ที่ประชาไทเผชิญคือการมีนักข่าวน้อย ไม่เพียงพอที่จะไปประจำตามสถานที่ต่างๆ จึงต้องเขย่าระบบการทำงานใหม่ตามต้นทุนในมือ โดยดึงนักข่าวทุกคนเข้าสำนักงานและแต่ละคนต้องตามประเด็นหลากหลาย ไม่วิ่งตามกระแสรายวัน เน้นการทำข่าวที่ไม่เป็นข่าว และกล้านำเสนอข่าวที่สื่อกระแสหลักไม่เอ่ยถึง ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประชาไทเป็นที่รับรู้ของสังคมผ่านข่าวกรณีตากใบ จังหวัดนราธิวาส

สื่อออนไลน์เปลี่ยนขนบ-วิธีทำงาน ช่วยพัฒนานักข่าว
“ผมจึงคิดว่าที่ทางของสื่อทางเลือกมี เพียงแต่ต้องหานักข่าวต้องปรับตัวตามสภาพของสื่อ ทฤษฎีที่เรียนกัน สามเหลี่ยมหัวคว่ำที่เนื้อหาสำคัญที่สุดจะต้องอยู่ส่วนบนไล่เรียงความสำคัญลงมาถึงน้อยที่สุด มันเกิดขึ้นตามข้อจำกัดของเนื้อที่กระดาษให้บรรณาธิการตัดส่วนท้ายทิ้งไปได้ แต่มันใช้ไม่ได้บนพื้นที่ออนไลน์ที่ไม่จำกัด ขนบ วิธีการเขียนข่าว วิธีคิดต่อข่าว มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว”

พื้นที่และขนบที่แตกต่างของนักข่าวออนไลน์สร้างจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวมันเอง ชูวัสกล่าวว่า เมื่อพื้นที่ไม่จำกัด ข่าวที่นักข่าวออนไลน์เขียนจึงสามารถลงรายละเอียดได้โดยปล่อยภาระความยาวของเนื้อหาให้เป็นของผู้อ่าน การทำข่าวงานเสวนาหรือสถานการณ์ต่างๆ จึงเป็นการ ‘ฟังยาว’ ‘ตามยาว’ ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ของนักข่าวไปในตัว อีกประการคือทำให้หน้าที่ของนักข่าวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะมันบังคับให้นักข่าวต้องเป็นบรรณาธิการ ต้องรีไรท์งาน ต้องรู้หลายสาขาที่ติดตาม และต้องเชื่อมโยงข้อมูลได้ ขณะเดียวกัน จุดอ่อนก็เกิดขึ้นเมื่อนักข่าวออนไลน์มักจะไม่คลุกคลีกับแหล่งข่าว ทำให้ไม่มีแหล่งข่าวเชิงลึกเหมือนสื่อรายวันที่อยู่ตามกระทรวงซึ่งจะสนิทกับนักการเมืองมาก เอื้อให้เกิดข่าวเจาะได้ง่ายกว่าสื่อทางเลือก ชูวัสคิดว่าอาจจะไม่เป็นธรรมนักที่จะเรียกร้องข่าวเจาะในเชิงข้อมูลลับจากนักข่าวออนไลน์

“ทั้งหมดนี้ผมสรุปได้ว่า สื่อทางเลือกหรือนักข่าวประชาไทมีแนวโน้มที่จะเป็นนักกิจกรรมที่มีข่าวเป็นเครื่องมือ เนื่องจากคลุกคลีกับปัญหาเยอะ ไม่ใช่นักข่าวที่มีอุดมคติในแบบเดิม”

นักข่าวไม่ต้องจบวารสารฯ แต่ต้องขยันเรียนรู้
แล้วประชาไทจะรับนักข่าวแบบไหน ในมุมมองของชูวัสที่ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้มากกว่าการเรียนในห้องเรียน แน่นอนว่า ผู้จบวารสารศาสตร์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลือกแรก แต่จะดูความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เป็นสำคัญ เพราะทักษะการเขียนข่าวไม่ใช่เรื่องยากและสามารถฝึกฝนได้ในเวลาไม่นาน แต่ที่ยากและต้องอาศัยเวลามากกว่าคือการขลุกกับประเด็นปัญหา การหามุม การเหลาประเด็นข่าว ซึ่งชูวัสเชื่อว่าสื่อทางเลือกจะเอื้อกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก

“สรุปจาก 7 ปีของประชาไท ถ้าผมจะรับนักข่าว ผมอยากรับนักข่าวที่ไม่ต้องเขียนข่าวเป็น ไม่ต้องท่องจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ สิ่งเหล่านี้มาเรียนรู้ทีหลังได้ ขอแต่เพียงมีของ แล้วมาผสมกับพวกเรา ช่วยกันสร้างนวัตกรรม ผมจะรับคนแบบนี้”

คนไทย 30 ล้านไม่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่เลือกสื่อประเภทอื่น บีบหนังสือพิมพ์ปรับตัว
ด้าน ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้ทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนผ่านของหนังสือพิมพ์ไทยไปสู่ยุคดิจิตอล กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศกำลังประสบปัญหาจำนวนผู้อ่านลดลง ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินจากโฆษณาที่ลดลงต่อเนื่องด้วย ทำให้สื่อหลายสำนักต้องปฏิรูปองค์กร ปรับรูปแบบเนื้อหา พัฒนาศักยภาพนักข่าว และแสวงหาแหล่งรายได้อื่นเพิ่มเติม

ในส่วนของประเทศไทย แม้ยังไม่มีปรากฏการณ์ล้มละลายของหนังสือพิมพ์ให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ก็ถูกสื่อใหม่ดึงงบโฆษณาไปมาก และข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร ปี 2551 ก็พบว่า คนไทยถึง 31,919,617 คน ระบุว่าไม่อ่านหนังสือพิมพ์ โดยเหตุผลที่มีผู้ให้มากที่สุดคือ สนใจสื่อประเภทอื่นมากกว่า หลักฐานเหล่านี้บ่งบอกได้ว่า หากหนังสือพิมพ์ไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะล้มหายตายจาก

งานศึกษาองค์กรหนังสือพิมพ์ 7 แห่งของ ดร.สุดารัตน์ พบว่า ทุกองค์กรตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ที่มีต่อหนังสือพิมพ์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการประเมินศักยภาพขององค์กร ณ ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์บางแห่งโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ ดูจะไม่ค่อยกังวลนัก เชื่อว่าผลกระทบยังมาไม่ถึง เพราะผู้อ่านผูกติดอยู่กับคอลัมนิสต์เป็นหลัก สื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ไม่น่าจะส่งผล ขณะที่บางฉบับคิดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่เก่ามากจึงมีการปรับตัวเพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่บางฉบับก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบมาก ประเด็นที่น่าสนใจคือผู้บริหารหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือการดึงคนไปทำงานในสื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

ทุกองค์กรยังเห็นตรงกันว่าพฤติกรรมผู้อ่านเปลี่ยนไปมาก ผู้อ่านกลุ่มเดิมมีอายุมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่มีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะมีทางเลือกการบริโภคสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ช่วยตอบสนองการเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าและเข้าถึงได้ตลอดเวลา

ในแง่ของการปรับตัวนั้น ดร.สุดารัตน์กล่าวว่า มีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของแต่ละองค์กร ที่ผ่านมาจะได้ยินข่าวว่าองค์กรสื่อจัดหาอุปกรณ์สื่อสาร เช่น บีบี ไอแพด แอร์การ์ด ให้แก่นักข่าว บางแห่งมีนโยบายให้นักข่าวต้องมีเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ สำหรับเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวในโซเชียล มิเดีย ถ้าหากองค์กรให้ความสำคัญมากก็จะจัดหาอุปกรณ์ให้แก่นักข่าวทุกคน ไม่ว่าจะเป็นซื้อให้หรือออกเงินให้บางส่วนก็แล้วแต่องค์กร ถ้าเห็นความสำคัญปานกลางก็จะให้อุปกรณ์เฉพาะหน่วย แต่ถ้าคิดว่ามีความสำคัญน้อยก็จะให้อุปกรณ์เฉพาะบางคนที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีมาตรฐานของการให้เทคโนโลยีไม่เท่ากัน

เร่งพัฒนาคน-ปรับเนื้อเบาลง รับพฤติกรรมการอ่านคนรุ่นใหม่
“ด้านการพัฒนาบุคลากรก็มีหลายแบบ บางที่รับคนใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีมาเสริม เก็บคนเก่าที่เนื้อหาแน่นๆ ไว้ หรือสมาคมวิชาชีพก็เป็นแหล่งอบรมฝึกฝนที่องค์กรสื่อจะส่งนักข่าวของตนไปร่วม รวมทั้งการจัดอบรมสัมมนาภายใน พบว่าทุกองค์กรเน้นตรงนี้ค่อนข้างมาก เช่น การชี้แจงนโยบาย การใช้สื่อใหม่ มีการอบรมการทำเว็บไซต์ การใช้บีบีในการทำรายงานข่าว การตัดต่อคลิปวิดิโอ”

ประเด็นข้างต้นเกี่ยวเนื่องกับการปรับเปลี่ยนกำลังคนที่มีหลายรูปแบบ บางแห่งใช้การเกษียณอายุก่อนเวลา หรือบางองค์กรที่ไม่รับคนใหม่ ยกเว้นส่วนที่จะดูแลเรื่องเทคโนโลยีและมัลติ-มิเดียซึ่งมักเป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะใช้วิธีฝึกอบรมคนเก่าเพิ่มเพื่อให้คนเหล่านี้ทำงานได้หลากหลายสื่อมากขึ้น ทำงานรอบด้านมากขึ้น ด้านการบริหารจัดการจะเปิดโอกาสให้คนในองค์กรก้าวสู่ระดับบริหารก่อน หากไม่สามารถปฏิบัติงานถึงจะดึงบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารแทน

“กรณีเดลินิวส์ที่ปรับเปลี่ยนกำลังคนโดยนำนักข่าวหน้า 1 ขึ้นมารับผิดชอบข่าวทีวีสลับกับข่าวออนไลน์ เพื่อจะดูว่าคนไหนน่าจะไปต่อได้ และให้เลือกทิศทางที่อยากไป”

แน่นอนว่า ช่องทางและพฤติกรรมการอ่านที่ไม่เหมือนเดิม เนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอย่อมต้องถูกปรับเปลี่ยน ดร.สุดารัตน์ พบว่า ทุกองค์กรจะมีการเน้นเนื้อหาที่ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น กีฬา บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ข่าวมีความสั้นและกระชับ เพราะพฤติกรรมการอ่านคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบอ่านเนื้อหายาวๆ เน้นภาพประกอบขนาดใหญ่ กราฟฟิก เพื่อช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้รวดเร็วและเพิ่มสีสันการนำเสนอ

องค์กรสื่อมุ่งธุรกิจพีอาร์-อีเวนท์เพิ่ม หวังอยู่รอด
ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านธุรกิจก็บีบให้องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ต้องเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดขนาดกระดาษ หรือการขยายไปสู่สื่อออนไลน์และสื่ออื่นๆ ดร.สุดารัตน์ ย้ำว่าการขยายไปสู่สื่ออื่นไม่ใช่ทางเลือก แต่คือความจำเป็นในการดำรงอยู่ทางธุรกิจ เป็นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ไปพร้อมกัน

“ตรงนี้มีการขยับทุกแห่ง มีการสร้างสตูดิโอทีวีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีวิธีข้ามไปยังสื่ออื่นไม่เหมือนกัน องค์กรเก่าจะมีปัญหาคนเก่าๆ ที่ค่อนข้างปรับตัวยาก ก็ให้อยู่ไป แต่จะส่งลูกหลานรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสร้างระบบอีกแท่งหนึ่งที่เป็นสื่อใหม่ เช่น ไทยรัฐที่เก่ากับใหม่จะแยกกันเลย แต่เดลินิวส์จะพยายามเกลี่ยรวม”

อีกวิธีการหนึ่งคือการทำธุรกิจด้านกิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ การจัดงานอบรมสัมมนา การรับจัดกิจกรรมพิเศษ (Event Organizer) หรือกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

“จะเห็นว่าเราสามารถแบ่งองค์กรสื่อได้เป็น 3 กลุ่ม หนึ่ง-ยังนิ่งอยู่ แต่ก็กังวลใจ เตรียมเปิดเว็บไซต์เหมือนกัน สอง-พยายามจะก้าวเดิน แต่อาจจะยังไม่มั่นคงมากก็เลยกั๊กๆ นิด แต่มีรองรับไว้หมดแล้ว ดังนั้น สื่อสิ่งพิมพ์จะขยายไปสู่สื่ออื่นๆ แน่นอน 3-กลุ่มที่วิ่งเลย บางองค์กรในกลุ่มนี้ก็กำลังมองๆ เนชั่นเหมือนกันว่าจะเวิร์คหรือจะล้ม ถ้าเวิร์คก็จะไปแบบเนชั่น”

สื่อไทยกำลังเป็น ‘นิวส์รูม 2.0’ แต่ยังไปไม่ถึง 3.0
จากข้อมูลข้างต้น ดร.สุดารัตน์ ตั้งคำถามในฐานะผู้ผลิตวิชาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงานสื่อมวลชนว่า นักวารสารศาสตร์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในสภาวะที่ ‘ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้’ ซึ่ง ดร.สุดารัตน์ให้คำตอบว่า Newspapers may die but journalism will stay หรือสื่อหนังสือพิมพ์กระดาษอาจจะตายไป แต่ความเป็นวิชาชีพวารสารศาสตร์ยังมีความจำเป็น ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าวารสารศาสตร์และนักวิชาชีพต้องปรับตัว

ดร.สุดารัตน์ กล่าวถึง การทำงานข่าวในยุคก่อนที่เรียกว่า นิวส์รูม 1.0 หมายถึงแต่ละสื่อ-โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุแยกออกจากกัน มีกองบรรณาธิการผลิตเข้าไปในช่องทางออกมาเป็นสื่อแต่ละประเภทในแนวตั้ง ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่คัดสรรข่าวจากแหล่งข่าวผ่านเข้าสู่กระบวนการบรรณาธิการและการผลิตสู่ผู้รับสาร  บรรณาธิการเป็นศูนย์กลางของนิวส์รูม 1.0 ซึ่งเป็นรูปแบบเก่า

แต่จากการทำวิจัย พบว่า หลายที่พยายามหลอมรวมสื่อ ปัจจุบัน หลายที่อยู่ที่ นิวส์รูม 2.0 คือนักข่าวทำข่าวหนึ่งชิ้น แล้วส่งเผยแพร่แยกตามสื่อต่างๆ ในเครือ เรียกว่าระบบถังข่าวหรือกระทะข่าว สื่อแต่ละประเภทสามารถหยิบยืมข่าวเดียวกันนี้ไปเผยแพร่ได้ ดร.สุดารัตน์ กล่าวว่า ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นการหลอมรวมสมบูรณ์แบบ คือหนึ่งเนื้อหาสำหรับหลายช่องทาง ทำเนื้อหาที่เดียวแล้วกระจายออก แต่ถ้าเป็นระบบนิวส์รูม 3.0 แต่ละโต๊ะข่าว เช่น ข่าวกีฬา การเมือง เศรษฐกิจ แต่ละโต๊ะจะแยกกันเป็นอิสระและทำข่าวส่งสื่อทุกประเภทโดยตัวเอง ซึ่งขณะนี้องค์กรสื่อในบ้านเรายังไปไม่ถึง

ระบบนิวส์รูมที่แตกต่าง หมายถึงนิเวศใหม่ของสื่อย่อมเปลี่ยน เห็นได้ว่า ตัวชุมชน ผู้รับสื่อ หรือกลุ่มบล็อกเกอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น หมายความว่าบางครั้งประเด็นข่าวอาจเกิดจากชุมชนที่โพสต์มันขึ้นมา อย่างกรณีครูอังคณา สื่อมวลชนไม่ได้เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป เพราะฉะนั้นรูปแบบที่วุ่นวายแบบนี้จะมีกระแสเรื่องผ่านไปมามากมาย ทำให้เกิดประเด็นมากขึ้น

ต้องปรับหลักสูตรวารสารฯ เตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มเทคโนโลยีและนิเวศสื่อต้องเคลื่อนไปในทิศทางที่ว่าแน่นอนและเริ่มแล้ว การเรียนการสอนวารสารศาสตร์น่าจะถึงเวลาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบท ดร.สุดารัตน์ ยกตัวอย่างการสอนวิชาวารสารศาสตร์ในอเมริกาว่า

“ในอเมริกา นักศึกษาต้องเรียนตัวอื่นจบก่อน แล้วจึงจะเรียนวารสารศาสตร์เป็นวิชาโท เพราะเขาถือว่าทักษะทางวารสารศาสตร์เป็นส่วนที่เสริมเข้ามา แต่ของประเทศไทยจะกลับหัวนิดหนึ่ง คือเอาวารสารศาสตร์เป็นตัวหลัก แล้วไปลดทอนความรู้ในประเด็นสาธารณะอื่นๆ ทำให้หลายคนบ่นว่าการเรียนการสอนของเราทำไมไม่เหมือนชาวบ้าน”

เมื่อมีกระแสเรื่องวิ่งผ่านไปมามากขึ้น จำเป็นที่ตัวนักข่าวจะต้องเชื่อมโยงองค์ความรู้และมองหาประเด็นผลประโยชน์สาธารณะขึ้นมานำเสนอ เพราะถึงแม้ว่าใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ แต่ข้อมูลส่วนนี้ยังเป็นส่วนที่นักข่าวพลเมืองทั่วไปเข้าไม่ถึง

“ถ้าถามว่ายังมีอาชีพนักข่าวอยู่หรือไม่ มี เพียงแต่แต่ละจุดตอบสนองไม่เหมือนกัน บางส่วนเรื่องกว้าง บางส่วนเรื่องแคบๆ เจาะๆ ไม่มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องเหมือนกัน ในตลาดข่าวตำแหน่งผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญ ต้องสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของคนอื่น”

อนาคตของนักวิชาชีพด้านวารสารจึงต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้อ่าน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเนื้อหา รูปแบบ การจัดหน้า และวิธีการนำเสนอ นั่นแปลว่าในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหนึ่งเว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาทุกอย่าง หรือไม่จำเป็นต้อง Mass นักข่าวต้องเพิ่มทักษะด้านอื่นๆ เช่น การเจาะข่าว หรือกลวิธีการเล่าเรื่องให้สอดคล้องกับสื่อแต่ละประเภท สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่รูปแบบอีกต่อไป แต่อยู่ที่สามารถเล่าเรื่องได้หรือไม่

“ในอนาคต ความมีลักษณะเฉพาะจะเป็นสิ่งสำคัญกว่ารูปแบบ ฉะนั้น หน้าตาของการศึกษาวารสาร เชื่อว่าทักษะการรายงานข่าวหรือทักษะการเขียนยังต้องมีอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบไป การแสวงหาแหล่งข่าวต้องมี แต่ไม่เหมือนเดิม การเล่าเรื่องต้องคำนึงถึงสื่อหลายๆ ประเภท ถ้าออกโมบายต้องแบบนี้ ออกวิทยุต้องแบบนี้ คลิปต้องแบบนี้ นักข่าวต้องผลิตข่าวข้ามสื่อได้”

วารสารศาสตร์จำเป็นต้องมีหรือไม่?
ในช่วงของการอภิปรายแลกเปลี่ยน ชูวัส เปิดประเด็นแบบที่เขาเรียกว่า ‘โยนระเบิด’ ด้วยคำถามที่เป็นหัวข้อการเสวนาว่า วารสารศาสตร์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งเขามองว่าไม่จำเป็นอีกแล้ว เพราะในสังคมแห่งการเรียนรู้เช่นนี้มันมีกลไกขึ้นมาแทนหมดแล้ว

“มีอะไรที่เรียนรู้ไม่ได้บ้างในสังคมแห่งการเรียนรู้ตอนนี้ที่เกี่ยวกับวารสารศาสตร์ แต่ผมไม่ได้บอกว่า วิชาชีพสื่อมวลชนไม่ควรมี แต่วิชาชีพวารสารศาสตร์ไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่ควรจะไปในเชิงปรัชญา การรู้เท่าทันสื่อ จะทวิตหรือรีทวิตอย่างไร และควรอยู่ในทุกวิชาชีพ สอนตั้งแต่เด็ก ป.1 เรื่องการสื่อสารกับมวลชนก็เห็นด้วยว่าต้องมี แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นภายใต้การเรียนการสอนเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เองแล้วในสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุคนี้” ชูวัสกล่าว

ด้านศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์ข่าว TCIJ เห็นต่างกับชูวัสในแง่ที่ว่า แม้คนที่จะเป็นนักข่าวไม่จำเป็นต้องจบวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ แต่เขายืนยันว่าผู้ที่จะเป็นนักข่าวมืออาชีพได้จะต้องผ่านการฝึกฝน มิใช่แค่การเรียนรู้ผ่านยูทูบ โดยยกตัวอย่างว่า บีบีซีของอังกฤษถึงจะเปิดช่องทางให้คนนอกป้อนเรื่องให้ แต่ก็ไม่ได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางหลัก ส่วนที่เผยแพร่ผ่านช่องทางหลักจะเป็นเนื้อหาที่บีบีซีเป็นผู้ผลิตและบางรายการจะเห็นได้ว่าใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้มือสมัครเล่นทำได้

ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อประเด็นความเป็นนักข่าว ความเป็นข่าว และข้อมูลที่เผยแพร่ในโลกโซเชียล มิเดีย ซึ่งดูเหมือน ดร.นิษฐา พยายามตอบคำถามที่ว่า วารสารศาสตร์ยังมีความจำเป็นหรือไม่

“เดี๋ยวนี้ทุกคนนิยมทวิต อ่านทวิตเตอร์เป็นร้อยๆ และที่ทวิตกันมา ก็เป็นการรีทวิตสัก 98 ข้อความ เหลือที่เป็นต้นทางจริงๆ แค่ 1 หรือ 2 ข้อความเท่านั้น ซึ่งเราพบว่าเพียงแค่นี้เป็นข่าวแล้วหรือ ทั้งที่เป็นแค่การรีทวิต เพราะถ้าข้อมูลผิดตั้งแต่ทวิตแรก แสดงว่าที่รีทวิตก็ผิดมาเรื่อยๆ ตรงนี้เราต้องบอกนักศึกษาไม่เฉพาะวารสารศาสตร์ว่า ถ้าคุณเริ่มต้นจากการรีทวิตโดยไม่ตรวจสอบต้นทางให้เห็นที่มาที่ไปเสียก่อน ก็อย่าเป็นนักข่าวเลยดีกว่า เพราะอย่างนี้ใครก็ทำได้”

ผอ.ทีซีไอเจ ระบุเป็นความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทย
ส่วนสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ข่าว TCIJ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นความตกต่ำของวิชาวารสารศาสตร์ว่า จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เฉพาะวารสารศาสตร์เท่านั้น แต่รวมถึงวิชาอื่นๆ ด้วย ทั้งหมดอาจเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นความอ่อนแอของระบบการศึกษา แต่เหตุที่วารสารศาสตร์ถูกตั้งคำถามสองสามชั้น อาจเป็นเพราะ... 

“มันเป็นอำนาจชนิดเดียวที่เหลืออยู่ที่พอเรียกได้ว่าเป็นสมบัติสาธารณะหรือเป็นสถาบันสาธารณะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมตั้งคำถามเยอะ บวกด้วยสถานการณ์ทางการเมืองช่วง 5 ปีนี้ ที่เราวุ่นวายอยู่ในหลุมดำที่มีสื่อเป็นตัวเล่นสำคัญตัวหนึ่ง เพราะผู้คนในสังคมรับรู้ข่าวสารผ่านกลไกชนิดเดียวที่ทำงานอยู่คือสื่อ จึงต้องจับตา เรียกร้อง ตั้งคำถาม ด่าว่าสื่อ มากกว่าวิชาชีพอื่น เมื่อวารสารฯ เป็นศาสตร์แห่งการผลิตคนที่จะทำงานเกี่ยวกับกลไกการสื่อสารของสังคม จึงถูกเรียกร้องมาก”

นอกจากนี้ สุชาดา ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า มีวิชาชีพไม่กี่วิชาชีพที่ต้องผ่านการฝึกงาน เช่น แพทย์ ทนายความ และวารสารศาสตร์ นั่นเป็นเพราะอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ให้คุณให้โทษแก่คนจำนวนมาก จึงต้องผ่านการฝึกงานเพื่อแปรทฤษฎีสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง ต้องรับรู้อารมณ์ของสังคม มีการตัดสิน มีความรอบรู้เพียงพอ

“นักศึกษาวารสารศาสตร์อาจไม่รู้จากชั้นเรียนว่าอีไอเอ (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) เอชไอเอ (การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ) คืออะไร แต่เมื่อเป็นนักข่าว แม้จะไม่ได้ทำข่าวสิ่งแวดล้อม แต่เกิดเหตุหุ้นตกในตลาดหลักทรัพย์ แล้วไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ไม่มีเอชไอเอ แล้วมันเกี่ยวกันได้อย่างไร คุณสามารถอธิบายได้หรือไม่ ปัญหาคือนักข่าวไม่มีความรู้ เมื่ออ่านข้อมูลชุดหนึ่งแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่มีความสามารถที่จะนำเสนอสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้”

รื้อถอนความคิดใหม่ เพิ่มความเป็นมืออาชีพของนักข่าว
ขณะที่การอภิปรายดำเนินไปอย่างเข้มข้นจากการโยนระเบิดของชูวัส ดร.สุดารัตน์ ได้แสดงความคิดเห็นว่าที่น่าสนใจด้วยการถอยไปสู่รากศัพท์ของคำว่า Journalist ที่มีความหมายว่า ผู้บันทึก ซึ่งในยุคสมัยใหม่ที่มีความหลากหลาย หากยังยึดติดกับความหมายเดิมๆ ของวารสารศาสตร์อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เมื่อผู้คนมีความสนใจเฉพาะด้านมากขึ้น นักวิชาชีพวารสารศาสตร์ต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความสนใจเฉพาะให้ได้ ดังนั้น เมื่อ Journalist คือผู้บันทึก ไม่ว่าจะบันทึกผ่านสื่อใหม่ สื่อเก่า หรือสื่อออนไลน์ ก็ยังคงเป็น Journalist จึงอาจป่วยการที่จะถกเถียงว่าใครเป็นหรือไม่เป็น Journalist สิ่งสำคัญกว่าคือวิชาวารสารศาสตร์จะสร้างนักข่าวที่มีคุณภาพได้อย่างไร

“ตั้งแต่อดีตก็ไม่มีเจอร์นัลลิสต์ คนที่สอนวารสารในอเมริกา อังกฤษ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากด้านวารสารศาสตร์ แต่มาจากภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มาจากหลายสายผสมกัน วารสารก็เพิ่งเป็นสาขาเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้น คนที่เป็นคนสอนก็ต้องรู้ว่าจะบูรณาการอย่างไรเพื่อให้อาชีพนี้มีพื้นที่ จะต้องรื้อถอนวิธีคิดเก่าและสร้างวิธีคิดใหม่ๆ ขึ้น”

ดร.สุดารัตน์ ยกถ้อยคำของนักข่าวชาวต่างประเทศผู้หนึ่งที่ผันตัวเองไปเป็นอาจารย์ว่า อนาคตลักษณะของนักข่าวจะเหมือนไข่ดาว คนที่มีความสามารถด้านการจับประเด็นจะเหมือนไข่แดงตรงกลางและจะมีไม่มาก ส่วนไข่ขาวข้างนอกคือนักข่าวพลเมืองที่อาจจะมีความเชี่ยวชาญบางเรื่อง ไข่แดงจำนวนน้อยจะเป็นหลักของข้อมูลที่ถูกนำไปเผยแพร่ต่อผ่านโซเชียลมีเดีย

“ถ้าเราบอกว่าไม่มีสื่อมวลชนแบบเดิมเลยหรือคนที่ทำหน้าที่หาข่าว แล้วเราจะเอาที่ไหนมาทวิต นักข่าวพลเมืองจะไปอยู่ในสภาได้หรือเปล่า เรายังต้องมีคนที่ทำหน้าที่เป็นแก่น แล้วคนที่เหลือจะทำหน้าที่เสริมในส่วนที่เป็นข้อมูลรอบๆ นอก เช่น น้ำท่วมประมาณไหน ลำปางจะหนาวมากหนาวน้อย เป็นนักข่าวพลเมืองได้ เมื่อก่อนถ้านักข่าวไม่เข้าใจเรื่องที่จะเขียนก็ไม่รู้จะเขียนออกมายังไง แต่ตอนนี้ด้วยปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ มันทำให้เราสามารถดึงศักยภาพของคนเยอะแยะมาขยำรวมกันได้ และทำให้รู้เรื่องได้ มันอาจไม่ใช่รูปแบบเดิม อย่ายึดติด อาจจะเป็นรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปเลยก็ได้ สิ่งสำคัญ ณ เวลานี้ คือจะต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ระหว่างคนที่เป็นมืออาชีพกับมือสมัครเล่น ถ้ามืออาชีพไม่มีความแตกต่างกับมือสมัครเล่น ก็ไม่เป็นมืออาชีพ ต้องลึกกว่า ขุดคุ้ยได้มากกว่า เฉพาะด้านมากกว่า รวบรวมประเด็นได้ดีกว่า เพราะคนที่เป็นเจอร์นัลลิสต์คือศูนย์กลางที่ดึงศักยภาพหลายๆ ทางเข้ามาได้ แต่ถ้าแค่ทวิตเตอร์ ก็เป็นได้แค่นักข่าวพลเมือง”

วารสารศาสตร์ยังเป็นวิชาชีพอยู่หรือไม่? ยังไร้คำตอบ
ช่วงสุดท้ายของการเสวนา สุชาดา สรุปการพูดคุยทั้งหมดว่า ขณะนี้กำลังเกิดการปะทะกันระหว่าง 2 กระแส หนึ่งคือกระแสที่ว่าการเรียนการสอนในระบบวารสารศาสตร์กำลังมีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนของการผลิต อันเนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยน ผู้รับสารเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน และกำลังตกอยู่ในภาวะถูกรื้อถอน ซึ่งยังไม่มีคำตอบสุดท้ายว่าจะเป็นอย่างไร

กระแสที่สอง ไปในทางตรงกันข้ามคือไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นธรรมชาติทั่วไปของการเกิดสิ่งใหม่ เช่น เมื่อสื่อกระแสหลักเดิมไม่เคยมีพื้นที่ให้แก่คนทุกกลุ่ม ก็ย่อมต้องมีคนที่เข้าไม่ถึงพื้นที่กระแสหลักพยายามสร้างพื้นที่ของตนเพื่อส่งเสียง พร้อมกับมีคนส่วนหนึ่งที่อยากได้ข่าวสารทางเลือก

“ทั้งหมดที่คุยกันมามีเรื่องสั้นๆ แค่สองสามเรื่อง หนึ่งคือเรากำลังพูดถึงวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของวารสารศาสตร์ว่าของเดิมมีปัญหาหรือไม่ และกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่อะไร สอง วิธีการสื่อ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ต้องหาวิธีการเขียน การนำเสนอแบบใหม่ ให้เหมาะกับเครื่องมือที่เปลี่ยนไป รวมถึงเรื่องของเนื้อหาด้วย”

ส่วนวารสารศาสตร์ยังเป็นอาชีพอยู่หรือไม่นั้น คงต้องกลับไปทบทวนให้ชัดเสียก่อนว่า วิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของวารสารศาสตร์ถึงเวลาต้องสร้างความรอบรู้ชนิดข้ามศาสตร์หรือยัง หรือจะคงรักษาวารสารศาสตร์แบบเก่าไว้ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีคำตอบ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net