เผยรายงานค้ามนุษย์ปี 54 สหรัฐฯ จัดอันดับไทยต้องถูกจับตามองเป็นปีที่ 2

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยเผยแพร่รายงานข้อเท็จจริงฉบับแปลภาษาไทย ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เรื่องรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2554 ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง)
 
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานข้อเท็จจริงฉบับแปลภาษาไทย ในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport11-t.html เรื่องรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2554 ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง)  โดยมีใจความว่า  เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับหรือล่อลวงมาเพื่อถูกใช้แสวงหาประโยชน์ในธุรกิจทางเพศ อุตสาหกรรมประมง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล โรงงานผลิตเสื้อผ้าราคาถูก และงานรับใช้ตามบ้าน
 
อีกทั้งแรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย และบุคคลไร้สัญชาติในไทยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากกว่าคนไทย ขณะที่นายหน้าจัดหาแรงงานในขบวนการค้ามนุษย์นั้นมีทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมมือกับนายจ้าง และบางครั้งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย
 
ส่วนคนไทยมักจะถูกหลอกไปค้าที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บาห์เรน และจีน และบางส่วนถูกนำไปค้าอีก 22 ประเทศ คือ รัสเซีย แอฟริกาใต้ เยเมน เวียดนาม สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี อินโดนีเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และติมอร์-เลสเต
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้เกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ และไม่ได้แสดงหลักฐานอย่างเพียงพอว่าได้พยายามเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและบังคับใช้แรงงาน การปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ และการคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ รวมถึงประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ พ.ศ.2543 ทำให้ไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องถูกจับตามอง เป็นปีที่ 2
 
โดยรายละเอียดของรายงงานมีดังนี้ ...
 

ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง)

ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่าน สำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี  ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่อยู่ห่างไกล เช่น อุซเบกิสถานและฟิจิ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยเหตุผลต่างๆ รวมทั้งปัญหาความยากจน แรงงานชาวพม่าซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในไทย เข้ามาหารายได้ในไทยและหลบหนีการปราบปรามของทหาร เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับหรือล่อลวงมาเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือแสวงหาประโยชน์ในธุรกิจทางเพศ มีการประมาณการว่าจำนวนประชากรกลุ่มนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นคน เหยื่อค้ามนุษย์ในไทยมักพบในอุตสาหกรรมประมง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล โรงงานผลิตเสื้อผ้าราคาถูก และงานรับใช้ตามบ้าน มีหลักฐานที่ชี้ว่าเหยื่อค้ามนุษย์ ผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่ถูกใช้เป็นแรงงานในอุตสาหกรรม เช่น การประมงเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประมง และงานรับใช้ตามบ้านคิดเป็นส่วนใหญ่ของเหยื่อค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงงานในประเทศไทย

ผลการวิจัยโดยองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติที่นำออกเผยแพร่ในช่วงปีที่จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุว่าประชากรที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในประเทศมีจำนวนมาก มีการประมาณการตัวเลขว่าร้อยละ 23 ของชาวกัมพูชาที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศที่ปอยเปตเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ โครงการความร่วมมือสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (UNIAP) ประมาณการตัวเลขว่าทางการไทยส่งตัวเหยื่อค้ามนุษย์ชาวกัมพูชากว่า 23,000 คนกลับประเทศในแต่ละปี ทางการลาวรายงานในปีที่จัดทำรายงานว่าในจำนวนชาวลาวหลายพันคนที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศ มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ชาวลาวประมาณ 50-100 คนรวมอยู่ด้วย จากการประเมินความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าร้อยละ 57 ของคนงานกลุ่มนี้ผ่านประสบการณ์ที่เป็นสภาพของการถูกบังคับใช้แรงงาน รายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ที่นำออกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ระบุว่าสภาพการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการเป็นแรงงานขัดหนี้ พบอยู่ทั่วไปในกลุ่มแรงงานกัมพูชาและพม่า ซึ่งถูกบังคับหรือล่อลวงให้มาทำงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย รายงานดังกล่าวระบุว่าชายชาวพม่า กัมพูชา และไทยถูกค้าแรงงานตามเรือประมงของไทยที่แล่นทั่วน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ และคนเหล่านี้อาจต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปี โดยไม่ได้รับค่าแรง ถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ถูกข่มขู่ และถูกทุบตี ผลการสำรวจของ UNAIP ก่อนหน้านี้ยังพบว่าในจำนวนคนต่างด้าวที่ถูกค้าแรงงานบนเรือประมงไทยที่ได้รับการสำรวจ 49 คน มี 29 คน (ร้อยละ 58) ที่เคยเห็นเพื่อนคนงานถูกฆ่าโดยไต้ก๋งเรือเมื่อไต้ก๋งเห็นว่าอ่อนแอหรือป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ โดยทั่วๆไปแรงงานบนเรือประมงไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว นักค้ามนุษย์ (รวมทั้งนายหน้าหาแรงงาน) ซึ่งนำคนต่างด้าวเข้ามาในไทยมักทำงานคนเดียวหรือทำงานแบบกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นทางการ ในขณะที่นักค้ามนุษย์ที่หลอกคนไทยไปค้าในต่างประเทศจะทำงานเป็นกลุ่มที่จัดตั้งเป็นทางการมากกว่า ผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับข้อมูลในเรื่องนี้ยังรายงานด้วยว่านายหน้าจัดหาแรงงานบางคนที่ช่วยอำนวยความสะดวกหรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ มีทั้งนายหน้าที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติที่ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยร่วมมือกับนายจ้างและบางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย

แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย และบุคคลไร้สัญชาติในไทยมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากกว่าคนไทย โดยคนกลุ่มนี้ถูกนายจ้างยึดเอกสารเดินทาง บัตรจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และใบอนุญาตทำงานไว้ โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากขึ้น เนื่องจากฐานะทางการเงิน ระดับการศึกษา อุปสรรคด้านภาษา และการขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิของตนเองภายใต้กฎหมายไทย ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวเขาเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากที่สุดคือการไร้สัญชาติ เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านบางคนถูกบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง ในช่วงปีที่จัดทำรายงาน พบหญิงชาวเวียดนามที่ถูกจำกัดบริเวณและถูกบังคับให้ทำหน้าที่อุ้มบุญเด็กในครรภ์หลังจากถูกหลอกพาเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ คนไทยที่ถูกหลอกไปค้าในต่างประเทศและได้รับความช่วยเหลือกลับประเทศในช่วงปีที่จัดทำรายงานส่วนใหญ่จะถูกนำไปค้าที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บาห์เรน และจีน และบางส่วนก็ถูกนำไปค้าที่รัสเซีย แอฟริกาใต้ เยเมน เวียดนาม สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังมีคนไทยบางส่วนที่ถูกนำไปค้าในออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี อินโดนีเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย  แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และติมอร์-เลสเต แรงงานชายไทยบางรายที่เดินทางไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำตามสัญญาชั่วคราวและทำงานในภาคเกษตรในต่างประเทศต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงานและมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้ เหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีโดยทั่วไปเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย และความต้องการดังกล่าวน่าจะเป็นพลังผลักดันให้มีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี ไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถานและพม่า ซึ่งจะถูกนำไปค้าในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย ยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี รัฐบาลกำลังดำเนินความพยายามที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลยังนำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง และยังจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการนำกฎหมายที่อนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์สามารถพำนักและทำงานชั่วคราวในไทยมาสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้มักจะถูกกักกันตัวอยู่ในสถานพักพิงของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมกับองค์กรด้านแรงงานและองค์กรประชาสังคมเพื่อประสานความพยายามในการปราบปรามปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ. 2554 — 2559) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 นายกรัฐมนตรียอมรับต่อสาธารณชนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐให้ดีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยรายงานว่ามีการดำเนินคดีและการพิพากษาตัดสินคดีค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น แต่ภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่าการดำเนินคดีและการพิพากษาลงโทษดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่ แม้จะมีความพยายามสำคัญที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ แต่รัฐบาลไม่ได้แสดงหลักฐานอย่างเพียงพอว่าได้ดำเนินความพยายามเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและบังคับใช้แรงงาน การปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ และการคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) เป็นปีที่สอง เมื่อพิจารณาขอบเขตและความร้ายแรงของการค้ามนุษย์ในไทยแล้ว การพิพากษาลงโทษคดีค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและการบังคับใช้แรงงาน ตลอดจนการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มเสี่ยงถือว่ายังมีจำนวนน้อย มีรายงานว่าการที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีส่วนร่วมโดยตรงหรืออำนวยความสะดวกแก่การค้ามนุษย์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย เจ้าหน้าที่รายงานว่ามีการสอบสวนคดีสองคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่สี่คน ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ในจำนวนนี้ มีนายตำรวจยศนายพันรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผลการพิพากษาตัดสินหรือลงโทษข้าราชการเหล่านี้ในช่วงปีที่จัดทำรายงาน รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดๆกับรายงานหลายฉบับที่ระบุว่ามีการทุจริตในวงกว้างโดยการกรรโชกเงินและการค้าชาวพม่าที่ถูกส่งตัวกลับประเทศจากไทย องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่าการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลมีอุปสรรคหลายด้าน อาทิ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับท้องถิ่น การมีอคติต่อแรงงานต่างด้าว การขาดระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการติดตามผลการทำงานของรัฐบาล การขาดความรู้ความเข้าใจของข้าราชการท้องถิ่นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การที่ศาลไม่ได้พิจารณาคดีบังคับใช้แรงงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และระบบที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยให้เหยื่อค้ามนุษย์แสดงตัวว่าตนคือเหยื่อค้ามนุษย์ รัฐบาลยังดำเนินความพยายามต่อไปเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ยังไม่ได้แก้โครงสร้างที่เปิดช่องให้มีการค้ามนุษย์อันเกิดจากนโยบายการบริหารแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลอย่างเพียงพอ รัฐบาลควรดำเนินความพยายามให้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัญหาค้ามนุษย์ในไทยมีขอบข่ายและขนาดที่ใหญ่

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยควรปรับปรุงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนและคนต่างด้าวที่ถูกผลักดันออกจากประเทศ นอกจากนี้ ไทยควรเพิ่มความพยายามในการสอบสวนดำเนินคดี และพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศและบังคับใช้แรงงาน ปรับปรุงความพยายามในการสอบสวน ดำเนินคดี และพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ นำตัวผู้จัดหาแรงงานที่หลอกลวงและผู้บังคับใช้แรงงานมารับโทษทางอาญาอย่างเข้มงวด ปรับปรุงมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบแรงงาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานประกอบการที่ฝ่าฝืนมาตรฐานและมีการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ไทยควรปรับปรุงการดำเนินการเพื่อให้เหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนสามารถเดินทาง ทำงาน และพักอาศัยนอกสถานพักพิง และเสนอทางเลือกตามกฎหมายให้เหยื่อค้ามนุษย์ นอกเหนือจากการถูกส่งกลับประเทศต้นทางที่ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการถูกแก้แค้นหรือเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก ไทยควรพัฒนากลไกให้สิทธิเหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติที่เป็นผู้ใหญ่สามารถอาศัยในประเทศไทยได้ ไทยควรเพิ่มความพยายามในการให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับสิทธิที่พึงมี และหน้าที่ที่นายจ้างพึงมีต่อแรงงานเหล่านี้ รวมทั้งช่องทางในการฟ้องร้องและเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากนักค้ามนุษย์ นอกจากนี้ ไทยควรเพิ่มความพยายามในกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและนายหน้าที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ รวมทั้งเพิ่มการรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์กับกลุ่มนายจ้างและลูกค้าบริการทางเพศ 

การดำเนินคดี

ในช่วงปีของการทำรายงาน รัฐบาลไทยมีความคืบหน้าไปบ้างในการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุให้การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบเป็นความผิดทางอาญา และระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ถึงสิบปี ซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงและเทียบเท่ากับโทษสำหรับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่นการข่มขืน รัฐบาลรายงานว่าศาลพิพากษาตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 18 คดีในปี พ.ศ. 2553 เพิ่มจากปีก่อนหน้านั้น ซึ่งเท่าที่ทราบมีอยู่แปดคดี จากข้อมูลที่ได้รับภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในจำนวน 18 คดีที่ถูกพิพากษาลงโทษ มีเพียงห้าคดีเท่านั้นที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นคดีค้ามนุษย์ รัฐบาลยังรายงานด้วยว่าเริ่มการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ 79 คดีในปี พ.ศ. 2553 เพิ่มขึ้นจาก 17 คดีในปีก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าได้สอบสวนคดีค้ามนุษย์ 70 คดีในปี พ.ศ. 2553  ในจำนวนนี้เป็นคดีบังคับค้าประเวณี 49 คดีและคดีบังคับใช้แรงงาน 11 คดีเป็นอย่างน้อย ตัวเลขดังกล่าวเปรียบเทียบกับตัวเลขในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมีการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทั้งหมด 95 คดี ในการสอบสวนคดีบังคับใช้แรงงานต่างด้าว มีไม่กี่คดีที่มีการจับกุมนักค้ามนุษย์ และผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก็ไม่ค่อยถูกดำเนินคดีในชั้นศาล ผลการสำรวจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานบนเรือประมงในไทยที่นำออกเผยแพร่ในช่วงปีที่ทำรายงานนี้ ระบุว่าไม่เคยมีการสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์บนเรือประมงไทย และไม่เคยมีการตรวจสอบเรือประมง โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการสอบถามแรงงานบนเรือประมง องค์กรพัฒนาเอกชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยระบบยุติธรรมยังคงมีความล่าช้าในการจัดการกับคดีอาญา รวมทั้งคดีค้ามนุษย์ นอกจากนี้  การเปลี่ยนบุคลากรบ่อยครั้งเป็นอุปสรรคขัดขวางความคืบหน้าของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ได้บุกเข้าค้นอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวอุซเบกิสถานจำนวน 12 คนออกมา โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าบางคนเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ส่วนคนที่เหลือซึ่งน่าจะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ด้วยนั้น เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้กลับไปทำงานค้าบริการทางเพศ หรือไม่ก็ส่งตัวกลับไปให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองส่งตัวกลับประเทศ ตามสถานภาพวีซ่าของคนเหล่านี้ ในเบื้องต้น หญิงชาวอุซเบกิสถานที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักค้ามนุษย์ถูกจำคุกระหว่างการสอบสวนของตำรวจ แต่ได้รับการประกันตัวอออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ และกลับไปทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าประเวณีในกรุงเทพฯ อีกครั้ง ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่ปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับสูงคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์ชาวอุซเบกิสถาน พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาสองนาย ถูกสั่งพักราชการชั่วคราวในข้อหาทุจริต

 ศาลยุติธรรมรายงานว่าคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่ศาลพิพากษาตัดสินค่อยๆ มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้  บทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในคดีที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นคดีค้ามนุษย์มีตั้งแต่สี่ถึง 20 ปี ในเดือนธันวาคม ศาลไทยตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปีผู้ต้องหาสามรายในคดีบังคับใช้แรงงานพม่าที่โรงงานแปรรูปกุ้งรัญญาแพ้ว ซึ่งโทษดังกล่าวเป็นโทษสูงสุดภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหายังไม่ถูกคุมขังเนื่องจากอยู่ระหว่างการรอผลการอุทธรณ์ ในเดือนตุลาคม ศาลตัดสินจำคุกสี่ปีหญิงไทยรายหนึ่งในข้อหาดำเนินกิจการบริษัทจัดหางานปลอมที่เกี่ยวข้องกับการค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศ สื่อมวลชนประโคมข่าวการจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีหลายคดี เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของไทยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจากทั่วโลก และนำไปสู่การจับกุมและพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด ผู้สังเกตการณ์บางคนเห็นว่าควรมีความร่วมมือสอบสวนระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อจับกุมนักค้ามนุษย์ที่อยู่ในไทย

 การทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงมีอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้ามนุษย์ ในช่วงปีที่จัดทำรายงานนี้ มีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมทั้งคดีบังคับค้าประเวณีและคดีบังคับใช้แรงงานคนต่างด้าว มีรายงานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครองซ่องโสเภณี สถานบริการทางเพศอื่นๆ ตลอดจนโรงงานอาหารทะเลและโรงงานเถื่อนจากการบุกเข้าค้นหรือการตรวจของเจ้าหน้าที่ นอกเหนือจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการให้ความคุ้มครองระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับกลางที่ทำงานด้านนี้กับพื้นที่ที่มีการค้ามนุษย์ที่ตนถูกส่งไปประจำการด้วย ไม่มีข้อมูลที่ชี้ว่ามีการยอมให้มีการค้ามนุษย์ในระดับสถาบัน อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษรายงานว่าในช่วงปีที่จัดทำรายงานได้สอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นาย และดำเนินการลงโทษทางวินัย กับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์  โดยคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการสอบสวนต่อไป รัฐบาลไม่ได้ตอบโต้รายงานที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไทยเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าชายหญิงและเด็กชาวพม่า ซึ่งถูกผลักดันกลับพม่าแต่ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) นอกจากนี้ รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ตอบโต้รายงานที่ระบุว่าตำรวจไทยและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขู่กรรโชกเงินหรือมีเพศสัมพันธ์กับชาวพม่าที่ถูกกักกันตัวอยู่ในไทยในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งการขายชาวพม่าที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าหัวคิวให้แก่นายหน้าจัดหาแรงงานและนักค้ามนุษย์เพื่อค้าประเวณี รัฐบาลยังคงให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ แรงงาน พนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในเรื่องการคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง  

 

การคุ้มครอง

 ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยแสดงความพยายามอย่างจำกัดในการคัดแยกและให้ความคุ้มครองแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งสัญชาติไทยและต่างด้าว  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า มีเหยื่อชาวต่างชาติ 381 คนถูกระบุว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยและได้รับความช่วยเหลือจากสถานพักพิงของทางรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากปี พ.ศ. 2552 ที่มีเหยื่อชาวต่างชาติ 530 คนที่ได้รับความช่วยเหลือ  กว่ากึ่งหนึ่งของเหยื่อที่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงปีที่ผ่านมานั้นมาจากประเทศลาวและหนึ่งในสี่มาจากพม่า  รัฐบาลยังคงส่งเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติกลับประเทศต้นทาง โดยผ่านการประสานงานตามสายงานปกติกับรัฐบาลลาวและพม่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า ในปีพ.ศ. 2553 มีคนสัญชาติไทย 88 คนถูกระบุว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บาห์เรน จีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ เยเมน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและสิงคโปร์ และเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยเหล่านี้ได้ถูกส่งกลับเมืองไทยโดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย   ทั้งนี้  จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากจำนวนผู้ที่ถูกส่งกลับเมืองไทยในปีพ.ศ. 2552 ซึ่งมีถึง 309 คน  รัฐบาลรายงานว่า ได้เพิ่มความพยายามในการชี้ตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงโดยทำการคัดกรองที่จุดตรวจที่สนามบินและชายแดน  อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาว่าจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทยในรายงานมีจำนวนสูงแต่มีเพียง 52 รายเท่านั้นที่มีรัฐรายงานว่าได้คัดแยกในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รัฐบาลจึงควรเพิ่มความพยายามในด้านนี้ต่อไป

 รัฐบาลให้สิ่งจูงใจที่จำกัดในการสนับสนุนให้เหยื่อการค้ามนุษย์มีส่วนร่วมในการสอบสวนและดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์  รัฐบาลไทยส่งตัวเหยื่อไปยังหนึ่งในเก้าสถานพักพิงที่ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรับบริการการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำกัด และการดูแลทางการแพทย์  เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติที่ทางการระบุตัวยังคงถูกกักกันในสถานพักพิงของรัฐบาล  และโดยปกติแล้วยังไม่สามารถเลือกที่จะไปพักข้างนอกได้หรือออกจากสถานพักพิงได้ก่อนที่ทางการไทยจะเตรียมส่งตัวกลับประเทศต้นทาง  กฎหมายปี พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติในการทำงานในขณะที่รอการดำเนินการคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายให้แล้วเสร็จและรัฐบาลไทยได้ออกกฏกระทรวงใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ให้มีการบังคับใช้บทบัญญัตินี้  รัฐบาลไทยได้ออกกฏกระทรวงใหม่ที่อนุญาตให้เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติอาศัยและทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว  ผลจากการดำเนินการกักกันในลักษณะนี้คือ เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติไม่มีโอกาสเหมือนคนต่างด้าวอื่นๆ ที่สามารถหางานและได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยได้    ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า มีรายงานอยู่เสมอว่ามีเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติที่หลบหนีออกจากสถานพักพิง  โดยน่าจะมีสาเหตุมาจากกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการส่งตัวกลับประเทศที่ล่าช้า ตลอดจนการที่ไม่สามารถหารายได้ในช่วงการพิจารณาคดี อุปสรรคทางภาษาและความไม่วางใจในเจ้าหน้าที่ของรัฐ  มีรายงานเหตุการณ์ที่เหยื่อเลือกที่จะไม่ถูกคัดแยกว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เนื่องจากขาดความแรงจูงใจจากระบบเช่น การอาศัยในสถานพักพิงเป็นระยะเวลายาวนานในช่วงกระบวนการส่งตัวกลับประเทศและกระบวนการศาลที่ยาวนาน  องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานว่า เหยื่อค้ามนุษย์บางคนได้รับการอบรมจากนายหน้าให้โกหกเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระบุตัวว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์  กฎหมายไทยคุ้มครองเหยื่อจากการดำเนินคดีในการกระทำความผิดที่เป็นผลมาจากการถูกค้ามนุษย์  อย่างไรก็ตาม เหยื่อค้ามนุษย์บางรายอาจยังต้องได้รับโทษจากความผิดดังกล่าวเนื่องจากกระบวนการคัดแยกเหยื่อที่ไม่มีประสิทธิภาพและความพยายามของทางการในการจับกุมและผลักดันผู้ละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองกลับประเทศ

 โดยทั่วไป รัฐบาลให้การสนับสนุนเหยื่อการค้ามนุษย์ให้มีส่วนร่วมในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดข้อหาค้ามนุษย์ แม้เหยื่อบางรายเลือกที่จะไม่ร่วมมือในการสอบสวน  ไม่มีหลักฐานในช่วงเวลาที่ทำรายงานฉบับนี้ว่ารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้คนงานเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยจากนายจ้างในกรณีที่ถูกบังคับใช้แรงงาน  อุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายที่สูงในการดำเนินการทางกฎหมาย ภาษา ระบบราชการและการเข้าเมือง รวมถึงความกลัวที่จะถูกนักค้ามนุษย์แก้แค้น ความไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ไทย กระบวนการทางกฎหมายที่ล่าช้า และความจำเป็นทางด้านการเงินของเหยื่อ กีดกันไม่ให้เหยื่อเข้าร่วมกระบวนการทางกฎหมาย  โดยในอดีตทางการได้ช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ให้ได้รับเงินชดเชยจากผู้ค้ามนุษย์ในบางคดี แต่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่มีรายงานความช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว  การที่แรงงานประมงขาดการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ถูกแสวงประโยชน์ได้ง่าย  แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปีพ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติในประเทศไทยที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติได้รับสถานะผู้พักอาศัยถาวรเป็นกรณีๆ ไป แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้รายงานว่าได้ให้สถานะผู้พักอาศัยถาวรแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ชาวต่างชาติคนใดๆ

การป้องกัน

 

 รัฐบาลไทยแสดงความพยายามอย่างชัดเจนในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชน  นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีบางท่านได้มีส่วนร่วมในความพยายามป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์  ในขณะที่บางกิจกรรมมุ่งส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านการค้ามนุษย์ให้กับสังคมไทยโดยรวม บางกิจกรรมก็มุ่งเน้นส่งเสริมความตระหนักรู้ให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง  รัฐบาลรายงานว่า ตลอดปี พ.ศ. 2553 และต้นปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้เข้าถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า 3,000 คน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการค้ามนุษย์ นอกจากนั้น รัฐยังสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์กับนายจ้างประมาณ 2,000 คน  องค์กรพัฒนาเอกชนตั้งข้อสังเกตว่ามีความตระหนักรู้ด้านการค้ามนุษย์และสิทธิแรงงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงและในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ  รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการให้ความรู้แก่แรงงานอพยพเกี่ยวกับสิทธิของตนและหน้าที่ของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง  โครงการการพิสูจน์สัญชาติและให้อภัยโทษแก่แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักร ของรัฐบาลนั้นยังไม่เพียงพอในการให้สิทธิทางกฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวชาวพม่าและชาติอื่นๆ ซึ่งทำให้ให้พวกเขามีสถานะการเข้าเมืองที่ผูกพันกับนายจ้าง ทำให้แรงงานไม่มีที่พึ่งพิงทางกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองจากการบังคับใช้แรงงาน  ผู้สังเกตการณ์ยังคงกังวลอยู่ว่า กระบวนการที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้ามาเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บจากนายหน้าจัดหางานที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่มีการควบคุมกำกับดูแลจากทางการนั้นจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวมีความอ่อนไหวที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และติดอยู่ในพันธนาการหนี้  ในบางกรณี คนงานรายงานว่ามีหนี้สินที่ต้องจ่ายให้กับนายจ้างในการดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งสูงเทียบเท่ากับค่าแรงทั้งปีที่คนงานจะได้รับ ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลพม่าเพื่อเปิดสำนักงานของรัฐบาลพม่าในประเทศไทย เพื่อลดความจำเป็นของแรงงานพม่าที่ไม่มีเอกสารให้ไม่ต้องกลับไปพม่าเพื่อทำเอกสารและช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกแสวงหาประโยชน์  ในปีพ.ศ. 2553 รัฐบาลประกาศแผนเก็บเงินกองทุนเพิ่มสำหรับแรงงานต่างด้าวที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเป็นประกันค่าใช้จ่ายในการส่งแรงงานที่ไม่มีเอกสารกลับประเทศต้นทาง ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้แก่แรงงาน  ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 นายกรัฐมนตรีประกาศก่อตั้ง “ศูนย์ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์”  มีรายงานว่า ทางการร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศในการให้เงินสนับสนุนรัฐบาลว่าจ้างล่ามตอบข้อซักถามที่เป็นภาษาต่างประเทศจากโทรศัพท์สายด่วนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  อย่างไรก็ตาม ระบบโทรศัพท์สายด่วนแบบกระจายศูนย์ของรัฐบาลทำให้เป็นการยากที่จะประกันได้ว่าหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ที่ส่งต่อไปนั้นจะตอบข้อซักถามได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผลเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์ที่มาจากบุคคลที่ไม่ใช่คนไทย  มีรายงานว่า รัฐบาลใช้เงิน 200,000 เหรียญสหรัฐจากกองทุนรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์และสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งในจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์เพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น  ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 รัฐบาลตีพิมพ์รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงาน  รัฐบาลรายงานว่าการสุ่มสัมภาษณ์ผู้อพยพชาวไทยที่จุดตรวจชายแดนทางบกช่วยป้องกันผู้เดินทาง 171 คนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ  นอกจากนี้ ทางการได้รายงานว่า “จุดตรวจแรงงาน” ที่สนามบินระหว่างประเทศที่กระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้สุ่มสัมภาษณ์ผู้เดินทางที่อาจจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  แม้รัฐบาลจะไม่ได้รายงานว่าได้พบหรือยืนยันผู้ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากความพยายามนี้ก็ตาม  รัฐบาลสร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการซื้อบริการทางเพศกับเด็ก แต่ไม่ได้มีความพยายามอื่นในการลดความต้องการบริการทางเพศเพื่อการพาณิชย์หรือการใช้แรงงานบังคับ  ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2543

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท