นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ชี้ข้อจำกัด "คณะราษฎร" ไม่กระจายอำนาจ-ฐานหนุนแคบ

นครินทร์ แจงความล้มเหลวคณะราษฎร ฐานสนับสนุนแคบ-ไม่กระจายอำนาจ อย่างไรก็ตาม ระบุว่าความล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตย 80 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ความผิดของคณะราษฎรทั้งหมด ชี้การขยายตัวของระบบราชการ ปัญหาใหญ่การเมืองไทย


ภาพโดย เสกสรร โรจนเมธากุล

 

(21 มิ.ย.55) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยาย "ว่าด้วยประวัติศาสตร์ 80 ปีประชาธิปไตย" ในการสัมมนาเรื่อง จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปีประชาธิปไตย จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและสถาบันนโยบายศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยกล่าวว่า 80 ปีของประชาธิปไตยมีทั้งด้านที่สำเร็จและล้มเหลว ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก แต่ก่อนกล่าวประเมินว่าอะไรคือความสำเร็จของ 24 มิ.ย.2475 ต้องเข้าใจแนวคิดสามเรื่องก่อน นั่นคือ 1.คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2.แนวคิดเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และ 3.ชาติในทางการเมือง

1.สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายถึงระบอบการปกครองที่พระเจ้าอยู่หัวดำรงสถานะประมุขของรัฐควบคู่กับการเป็นประมุขฝ่ายบริหาร คือนายกรัฐมนตรี ความจริงคำว่า นายกรัฐมนตรี ถูกบัญญัติขึ้นหลัง 10 ธ.ค.2475 รัชกาลที่5 เรียกตัวเองว่าเป็น Prime Minister

การเป็นประมุขฝ่ายบริหารสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นระบบการเมืองแบบใหม่ ก่อนสมัย ร.5 ขุนนางหรือเสนาบดีของไทยไม่เคยมีการประชุมกันเลย จนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยประชุมทุกวันอังคาร

เพราะฉะนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นการปกครองที่สำคัญ เพราะทำให้ระบบการเมืองเปลี่ยนไปจากเดิม อำนาจที่เคยกระจายอยู่ที่ขุนนาง รวมมาอยู่ที่ศูนย์กลาง คือพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทราบเรื่องราวของทุกกระทรวง ดังนั้น สิ่งที่พระองค์ตระหนักแต่เดิมคือ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีพระราชดำริชัดเจนตั้งแต่ถามไปที่พระยากัลยาณไมตรี ในปี 2469 และมอบหมายให้เรย์มอนต์ บี สตีเวนส์ กับพระยาศรีวิสารวาจา เขียนร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยขณะนั้นใช้คำว่าเป็นการเปลี่ยนเค้าโครงการปกครองในปี 2474

ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 คือการเคลื่อนย้ายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประมุขของรัฐเพียงอย่างเดียว นับจากปี 2475 จนวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยเสด็จประชุมในเสนาบดีสภาหรือในคณะรัฐมนตรีเลย นั่นแปลว่าอำนาจของการเป็นประมุขฝ่ายบริหารหรือบริหารราชการแผ่นดินได้ยกให้กับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ความจริงรัชกาลที่ 7 ทรงเคยดำริแล้วว่าจะตั้งอัครมหาเสนาบดีไปนั่งในที่ประชุมเสนาบดีสภาแทนพระองค์ แต่ไม่เคยสำเร็จเลยเพราะมีแรงต้าน กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถามว่าเมื่อท่านเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ หากตั้งนายกฯ แล้วใครจะปลด ก็ต้องพระองค์ปลดเอง จึงเป็นปัญหาวัวพันหลัก ดังนั้น ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการเคลื่อนย้ายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐเพียงอย่างเดียว แม้ว่าพระองค์จะมีพระบารมีมาก มีโครงการพระราชดำริ แต่พระองค์ไม่เคยเสด็จประทับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเลย

2.สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือระบบที่มหาอำนาจบีบบังคับให้สยามมีอำนาจเก็บภาษีศุลกากรจำกัดที่ร้อยละ 3 และมีอำนาจทางการศาลจำกัดเพราะไม่สามารถพิจารณาคดีคนในบังคับต่างชาติได้ ซึ่งกระทบกระเทือนโครงสร้างทางสังคมอย่างมาก โดยคนบังคับต่างชาติไม่ได้แปลว่าฝรั่งเท่านั้น แต่รวมถึงคนจีนด้วย โดยคนจีนที่มีการศึกษามีเงินจำนวนหนึ่ง ไปซื้อใบหรือบัตรประชาชนว่าตัวเองเป็นคนบังคับต่างชาติด้วย ปัญหาเรื่องคนจีนน่าปวดหัวมาก มีคดีความที่ซับซ้อน คนที่ประกอบอาชีพทางกฎหมายเท่านั้นที่จะรู้ว่า สยามไม่มีเอกราชสมบูรณ์ เพราะเราจัดการคนพวกนี้ไม่ได้ ยังไม่รวมถึงนักหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านาย ขุนนางอย่างเสียๆ หายๆ ที่อยู่ในร่มธงของบังคับต่างชาติ ร.6 ทำได้เพียงเขียนหนังสือตอบโต้

สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นเรื่องที่กัดกร่อนและกระทบกระเทือนคนที่ศึกษาด้านกฎหมาย การทหารและข้าราชการอย่างยิ่ง นี่คือสาเหตุที่ทำให้ความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศชาติเป็นเอกราชสมบูรณ์ คือเจตนารมณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลง 2475 โดยเอกราชในที่นี้คือเขตอำนาจของรัฐในการเก็บภาษีและควบคุมคนในบังคับต่างชาติ

3.ความเป็นชาติในทางการเมือง นั่นคือประชากรของรัฐต้องเป็นพวกเดียวกัน ไม่ว่าจะมีถิ่นกำเนิด ภาษา ชาติพันธุ์อย่างไรก็ตาม จินตนภาพของคณะราษฎรคือ ทำให้ประเทศเป็นประเทศใหม่ที่เรียกว่า ไทย และทุกคนมีความเป็นไทยเหมือนกัน นี่คือความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพราะเราเห็นร่องรอยของการปลี่ยนแปลงเป็นระบอบใหม่ในทันทีทันใด การแก้กฎหมาย และการทำให้ประเทศเป็นไทย

ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามเรื่อง คือเหตุผลที่ทำให้อยากเรียก 24 มิ.ย.ว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการรัฐประหาร แต่เป็น "การปฏิวัติสยาม" เพราะตอนนั้นชื่อสยาม เมื่อปฏิวัติแล้วจึงเป็นไทย

ในด้านของความล้มเหลว แม้มีคำวิจารณ์ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ประเด็นนั้น แต่เป็นข้อจำกัด ได้แก่

ข้อจำกัดข้อที่หนึ่ง คือ ฐานของคณะราษฎรเป็นฐานที่จำกัด มีฐานกำลังจำกัด ขอให้ดูสมาชิกสภาราษฎรแต่งตั้ง 70 คน ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการในระบอบเก่า ส่วนหนึ่งเป็นคณะราษฎร โดยมีผู้แทนที่ไม่ใช่ข้าราชการระบอบเก่าและคณะราษฎรอยู่เพียงสามคน นั่นคือ มังกร สามเสน มานิต วสุวัต และซุ่นใช้ ฮุนตระกูล ถามว่าทำไมคณะราษฎรไม่เชิญคนนอกมามากกว่านี้ หากคิดว่าตัวเองมีฐานสนับสนุน ทำไมไม่มีพ่อค้าคนกลาง ไม่มีเจ้านายจากเชียงใหม่ ปัตตานี หรืออีสาน แสดงว่าฐานของคณะราษฎรแคบมาก ซึ่งทำให้คณะราษฎรอยู่ด้วยความง่อนแง่น อยู่ด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และไม่ไว้ใจคนอื่นด้วย

หม่อมเจ้าวรรณไวทยกรตั้งคำถามว่าทำไมจึงตัดสิทธิ์เจ้านายตั้งแต่ต้นมีฐานทางความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่คนที่ห้ามเล่นการเมืองคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ทำไมเจ้านายเล่นการเมืองไม่ได้ นั่นเพราะคณะราษฎรอยู่ด้วยความไม่ปลอดภัย ปัญหานี้ปรากฏตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญโดยมีบทเฉพาะกาลที่ไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งนักรัฐศาสตร์วิจารณ์ว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีลักษณะจำกัด หวงอำนาจเพราะไม่ให้สิทธิพลเมืองตั้งพรรคการเมือง โดยระบบรัฐสภาไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีสมาชิกสองประเภท คือเลือกตั้งและแต่งตั้ง รวมทั้งให้ข้าราชการนายทหารสามารถควบตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เป็นประชาธิปไตยที่มีข้อสงวนไว้ในกลุ่มของตัวเอง ดังนั้น เรื่องใหญ่คือ ไม่มีการพัฒนาระบบเลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้งของไทยเป็นการเลือกตั้งอย่างง่ายบริหารโดยระบบราชการ

ข้อจำกัดต่อมา คือ การปกครองแบบประชาธิปไตยจะหยั่งลึกได้ ในต่างประเทศนั้นอยู่ที่ท้องถิ่น ประชาชนต้องรู้สึกเป็นพลเมือง ต้องประชุมเอง บริหารจัดการเอง ในฐานะนักรัฐศาสตร์แล้ว คำว่า "โดยประชาชน" สำคัญที่สุด เพราะหมายถึงประชาชนต้องทำเอง แต่การจัดตั้งเทศบาลหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 มีจำนวนจำกัดมาก หากได้เจออ.ปรีดี ก็อยากถาม อ.ปรีดี ว่า ทำไมจึงไม่ตั้งเทศบาลให้คลุมทั้งประเทศ คนที่ศึกษาการปฏิวัติฝรั่งเศสย่อมรู้ว่านักปฏิวัติฝรั่งเศสตั้ง commune ตั้งเทศบาลทั้งประเทศ แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็เป็นฐานของประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นมาจากระดับรากหญ้า แต่ประเทศไทย มีเทศบาลที่จำกัดมาก ในปี 2500 มีเทศบาลเพียง 120 แห่ง และเพิ่งมีการปกครองกระจายสู่พลเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ปัจจุบัน เรามีเทศบาล 7,500 แห่ง

นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า น่าฉงนที่ อ.ปรีดี ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับ2489) โดยให้เหตุผลว่าต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2475 ก็แก้ไขได้ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มายาวนานที่สุดในการเมืองไทย และน่าจะยาวนานกว่า 2550 ซึ่งตนเองเป็นกรรมการยกร่างด้วย

การเปลี่ยนแปลง 2475 ไม่ใช่ว่าเป็นการเปลี่ยนเป็นระบบเผด็จการอย่างที่มีการวิจารณ์ แน่นอนที่สุด เรามีความล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตย 80 ปี แต่จะดีหรือที่เราจะยกทั้งหมดเป็นความผิดพลาดของคณะราษฎร คณะราษฎรไม่มีความรับผิดชอบต่อการเกิดสงครามญี่ปุ่น สงครามเย็น สงครามเวียดนาม หรือการตัดสินใจใช้อาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นพ้นจากความรับผิดชอบของคณะราษฎรไปแล้ว

รวมทั้งการขยายตัวของระบบราชการซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยไทย จำนวนประชากรไทยหรือสยามเดิม จากปี 2475 ถึงปัจจุบัน ขยายตัว 10 เท่า ขณะที่ข้าราชการขยายตัว 30 เท่า ด้วยเหตุที่ราชการไทยขยายตัวไปมาก จึงเกิดการสร้างวัฒนธรรมแบบข้าราชการ ซึ่งไม่ส่งเสริมความเป็นพลเมือง รวมถึงอุดมการณ์หรือคุณค่าเชิงระบบของประชาธิปไตยด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่าการล้มลุกคลุกคลานแบบไม่ซ้ำรอยเดิม ไม่มีวัฏจักรในการเมืองไทย พัฒนาการและเปลี่ยนรูปร่างตามพลังเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงเวลา โดยพลังบางช่วงเป็นพลังของระบบข้าราชการ ซึ่งขยายตัวมากในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร จากแสนคนเพิ่มเป็นล้านเศษ ในช่วง 10 ปี ซึ่งทำให้เรากลายเป็นรัฐราชการ

สำหรับอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นไม่แน่ใจว่าเมืองไทยจะลงรากขนาดไหน ส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ที่จะสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้ต้องอยู่ในเชิงปฏิบัติ ยกตัวอย่างเทศบาลโคโลญ ที่คำขวัญของประธานาธิบดีคอนราด อาเดนาวร์กล่าวว่า ไม่มีรัฐ ถ้าไม่มีเมือง เพราะฉะนั้น ความเป็นเมืองคือการปฏิบัติของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยจะยั่งยืนยิ่งกว่าในนามธรรมหรืออุดมคติที่รังแต่จะสร้างปัญหา

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายว่า 80 ปีประชาธิปไตย อยากให้เข้าใจว่าถ้าจะสืบทอดเจตนารมณ์ของ 24 มิ.ย. ต้องมองให้รอบด้านประกอบกัน เพราะแต่ละคนมักจะเล่าเรื่องที่ตัวเองมองเห็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท