Skip to main content
sharethis

 

ปี 1994 เควนติน ตารันติโน ผู้กำกับอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนทำให้โลกภาพยนตร์ต้องตื่นตะลึงกับ Pulp Fiction หนังแก๊งสเตอร์ที่เต็มไปด้วยตัวละครสุดป่วง การล้อเลียนและบูชาวัฒนธรรมพ็อพ ไดอะล็อกยาวเหยียดเวิ่นเว้อแบบที่ไม่มีสอนในตำราเขียนบทเล่มไหนในโลก และโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ non-linear ซึ่งทำลายขนบการเล่าเรื่องแบบสามองก์ลงอย่างย่อยยับ ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ Pulp Fiction และเควนติน ตารันติโนได้รับเสียงแซ่ซ้องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นหลักไมล์แรกของโพสต์โมเดิร์นบนแผ่นฟิล์ม

ปี 2012 The Cabin in the Woods (ชื่อภาษาไทย 'แย่งตายทะลุตาย') ทำให้นักวิจารณ์และคนดูหนังทั่วโลกได้ตื่น
เต้นกันอีกครั้งกับการรื้อโครงสร้างของหนังสยองขวัญประเภทหวีดสยอง ด้วยบทภาพยนตร์เกินคาดเดาและสไตล์การเล่าเรื่องที่นำส่วนผสมของหนังสยองขวัญเกรดบีทุกชนิดและทุกประเภทมาเขย่ารวมกันจนนำไปสู่บทสรุปที่กระทุ้งตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับนโยบาย แม้ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จะปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่ได้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์ระบบหรือรสนิยมสาธารณะใดๆ แต่สารที่ปรากฏในตอนจบของเรื่องก็ชัดเจนเกินกว่าที่จะเชื่อปากคำของผู้กำกับดริว ก็อดดาร์ดและโปรดิวเซอร์จอส วีดันได้ว่าพวกเขาไม่คิดอะไรจริงๆ

(จากบรรทัดนี้เป็นต้นไป จะมีการเปิดเผยเนื้อหาและตอนจบของภาพยนตร์)

The Cabin in the Woods เปิดเรื่องตามขนบหนังสยองขวัญยุค 90's เมื่อกลุ่มวัยรุ่น 5 คนซึ่งประกอบด้วยสาวร่านสวาท หนุ่มนักกีฬา หนุ่มเนิร์ด ตัวตลก และสาวพรหมจรรย์ตัดสินใจที่จะไปใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ในบ้านพักกลางหุบเขาห่างไกล ในขณะที่หนังเล่าเรื่องของกลุ่มวัยรุ่น หนังก็เล่าเรื่องของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งไปพร้อมๆ กัน และเมื่อผ่านไปไม่กี่นาทีคนดูก็จับใจความได้ทันที ว่าเรื่องราวทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับห้าหนุ่มสาวหลังจากนี้คือการจัดฉากของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ให้หนุ่มสาวต้องเผชิญกับเรื่องราวสยองขวัญตามขนบหนังสยองขวัญ เริ่มจากการแวะเติมน้ำมันในปั๊มร้าง เจอชายแก่พูดจาแปลกๆ แต่กลุ่มวัยรุ่นก็ยังเดินหน้าต่อตามแผนเดิม การค้นพบห้องใต้ดินในบ้าน การเจอคัมภีร์เก่าเรียกซอมบี้ขึ้นมาจากหลุม ในฝั่งนักวิทยาศาสตร์ก็มีการพนันกันว่าปีศาจตัวไหนจะได้ออกมาไล่ฆ่ากลุ่มวัยรุ่น มีการพนันกันว่าใครจะตายเป็นคนแรก

เพราะว่าผู้กำกับไม่ได้ปิดบังเลยว่าชะตากรรมของตัวละครใน “The Cabin in the Woods” นั้นเกิดจากการจัดฉากของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ (และเวลาเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจัดฉากกับกลุ่มหนุ่มสาว นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นก็จัดฉากให้ผีซาดาโกะออกมาไล่หลอกหลอนเด็กประถม) เราผู้ชมก็ได้แต่ติดตามไปเรื่อยๆ ว่าการเล่าเรื่องแบบทุบโครงสร้างทิ้งแล้วเอาตีนขยี้ซ้ำของผู้กำกับจะนำไปสู่บทสรุปอย่างไร ในขณะเดียวกัน ผู้กำกับก็ไม่ลืมที่จะเอ็นเตอร์เทนคนดูที่หวังจะเข้ามาดูฉากหวีดสยองแบบที่หน้าหนังปูทางมา ด้วยฉากตัวละครถูกซอมบี้ฆ่าอย่างวิจิตรพิสดารสะใจคอหนังสยองขวัญ แต่เมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักว่ามีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้นในการจัดฉาก (และความผิดพลาดในการจัดฉากแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เด็กนักเรียนประถมสามารถปราบซาดาโกะด้วยการสวดมนต์บ้าบออะไรซักอย่าง – คัลต์มาก) เพราะตามคิวแล้วคนที่ต้องตายเป็นคนสุดท้ายคือสาวพรหมจรรย์ แต่เมื่อตัวละครที่ควรจะตายก่อนอย่างหนุ่มนักปุ๊นตัวตลกประจำกลุ่มกลับไม่ยอมตาย และเป็นคนแรกที่จับได้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นการจัดฉาก ความพินาศระดับมหากาพย์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็เกิดขึ้นในห้องแล็บของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง (ฉากความพินาศระดับมหากาพย์นี้เป็นฉากที่ผู้เขียนบันเทิงมาก เพราะผู้กำกับจัดเต็มจนผู้เขียนไม่อาจจะจินตนาการไปถึงว่าจะมีภาพยนตร์เรื่องไหน – ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง The Cabin in the Woodsที่จะมีฉาก 'รวมดาว' ได้ขนาดนี้)

และเมื่อสองหนุ่มสาว (ตัวตลกกับสาวพรหมจรรย์) ผู้รอดชีวิตตะเกียกตะกายหนีตายลงไปถึงห้องใต้ดินของห้องแล็บ ความเหวอก็ได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดเมื่อมีป้าหนึ่งคนที่หน้าเหมือนฮิลลารี คลินตันออกมาบอกกับสองหนุ่มสาวว่าพวกเธอต้องเสียสละเพราะพวกเธอถูกเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมบูชายัญเทพเจ้าเก่าแก่ใต้ดิน ถ้าหากสาวพรหมจรรย์ตายก่อนหนุ่มปุ๊น เมื่อนั้นโลกจะถึงกาลวิบัติ ซึ่งสุดท้ายโลกก็ได้วิบัติจริงๆ และฉากสุดท้ายของเรื่องคือหนุ่มปุ๊นกับสาวพรหมจรรย์นั่งพิงไหล่กัน ดูดปุ๊นเป็นเฮือกสุดท้ายและพูดว่า “อาจจะถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องปล่อยให้คนอื่นครองโลกบ้าง”

The Cabin in the Woods ได้รับคำชื่นชมจากเว็บไซต์วิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง rottentomato.com ถึง 90% นักวิจารณ์ทั่วโลกพากันยกย่องสรรเสริญความฉลาดของผู้กำกับที่ถอดรื้อโครงสร้างคลาสสิคของหนังสยองขวัญวัยรุ่นยุค 90's ออกเป็นชิ้นๆ นำชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันอีกครั้ง และสร้างความหมายใหม่ ทำให้ภาพยนตร์สยองต้องหวีดเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์สังคมอย่างแยบคาย

ฉากนักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บเฝ้ามองฝูงซอมบี้ออกมาไล่ฆ่าห้าหนุ่มสาวด้วยความบันเทิงสะท้อนวัฒนธรรมการรับสื่อของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการเห็นความรุนแรงอย่างไม่มีขีดจำกัดในสื่อ ซึ่งเป็นการยั่วล้อรสนิยมของผู้ชมและตอบคำถามไปในตัวว่าทำไมหนังแนวไล่สับสยองต้องหวีดจึงได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 90 ประหนึ่งผู้กำกับชี้นิ้วกลับมายังผู้ชมว่า “เพราะพวกมึงชอบดูฉากโหดๆ พวกกูถึงทำให้พวกมึงดูเว้ย”

ส่วนฉากจบของภาพยนตร์นั้นชัดเจนเสียยิ่งกว่า ว่าผู้กำกับจงใจวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่พยายามจะทำตนเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของโลก โดยไม่สนใจว่าภารกิจสร้างสันติภาพของตนทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้าย อย่างเช่นการก่อสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานเพื่อ กำจัดรัฐบาลตาลีบันและซัดดัม ฮุสเซน แต่ประชาชนคนธรรมดาจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย เปรียบเทียบกับพิธีกรรมบูชายัญเทพเจ้าใต้ดินที่ทุกปีจะต้องมีหนุ่มสาวผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ห้าคนสังเวยชีวิตเพื่อทำให้เทพเจ้ายอมสงบอยู่ใต้ดิน ส่วนทางออกของปัญหาในสายตาผู้กำกับก็คงอยู่ในประโยคสุดท้ายที่หนุ่มนักปุ๊นรำพึงรำพัน “อาจจะถึงเวลาแล้วที่อเมริกาต้องปล่อยให้คนอื่นครองโลกบ้าง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net