นักกิจกรรมปฏิญาณตนต้านอำนาจนอกระบบ ณ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

นักกิจกรรมเสื้อแดงประกาศต้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญยกตัวอย่างกบฏบวรเดช ขณะที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏกำลังปรับปรุงภูมิทัศน์ นักประวัติศาสตร์ชี้อาจทำลายสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร

 

 

13.40 น. วันนี้(23 มิ.ย.) ที่วงเวียนหลักสี่ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มประกายไฟการละครและกลุ่มสหายสีแดง ได้ร่วมแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ด้วยการปฏิญาณตนปราบกบฏที่ต้องการล้มระบอบประชาธิปไตยต่อหน้าอนุสาวรีย์ฯ ที่ทางกลุ่มเหล่านี้ เรียกว่า "อนุสรณ์สถานแห่งการปราบกบฏล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ รื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ ปฏิเสธหลักหลักเสรีภาพ เสมอภาคและภารดรภาพ” เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปี ของการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475
 
โดยคำปฏิญาณของทางกลุ่มดังกล่าวระบุว่าจะสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์สยามให้ถึงที่สุด ด้วยการสถาปนาประชาธิปไตยสมบูรณ์และจะขจัดอำนาจนอกและเหนือรัฐธรรมนูญ รวมถึงระบุว่าผู้ที่มุ่งหมายให้ราษฎรลืมธาตุเดิมแท้ของตนเองว่าเป็นเจ้าประเทศ คนเหล่านั่นย่อมเป็นกบฏมุ่งหมายรื้อฟื้นอำนาจอันเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญให้ และกลุ่มผู้ปฏิญาณตนยังย้ำอีกว่าตนเองเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตยข้าพเจ้าไม่ใช่ พลเมืองของระบอบการปกครองอื่นอันเติมแต่งคำขยายให้บิดพลิ้ว ไปจากเจตนารมณ์เดิมแท้แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475
 
นายสยาม ธีรวุฒิ สมาชิกกลุ่มประกายไฟการละคร หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรมกล่าว “วันนี้เป็นกิจกรรมรำลึกถึงการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ได้มีกลุ่มบุคคลหนึ่งที่ต้องการจะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมา ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ได้ทำการรวบรวมกำลังเพื่อที่จะยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
 
สำหรับความสำคัญของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ทางกลุ่มมาทำกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์นี้ นายสยาม ธีรวุฒิ มองว่าเป็นการรำลึกถึงนายทหารและนายตำรวจของคณะราษฎรที่ได้เสียชีวิตลงทั้ง 17 นาย ในเหตุการณ์การปราบปรามกบฎบวรเดช ซึ่งพวกเขาได้เสียชีวิตเพื่อที่จะปกป้องระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ไม่ให้ถูกแย้งไปโดยกลุ่มผู้นิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
 
นอกจากนี้นายสยาม ธีรวุฒิ ยังมองว่าสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ มีความเหมือนกันในเชิงเหตุการณ์กับการพยายามรื้อฟื้นระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ต่างกันในเชิงกระบวนการณ์ในการยึดกุมอำนาจ การแย่งชิงอำนาจจากราษฎร ถ้าเป็นในสมัยก่อนหรือในช่วงกบฏบวรเดช จะเป็นการแย่งชิงเอาอำนาจจากราษฎรโดยใช้กำลังทหาร ซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่เป็นการแย่งชิงอำนาจจากราษฎรโดยใช้ระบบตุลาการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตุลาการภิวัฒน์ สำหรับกิจกรรมต่อไปของทางกลุ่มนายสยาม ธีรวุฒิ บอกว่าจะมีกิจกรรมการแสดงละครที่สี่แยกคอกวัว ในวันพรุ่งนี้(24 มิ.ย.)เวลา 17.00 น. เพื่อรำลึกถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของคระราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
 
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว Voice TV ได้รายงานด้วยว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "อนุสาวรีย์ปราบกบฏ"หรือ"อนุสาวรีย์หลักสี่" ตั้งอยู่กลางวงเวียนหลักสี่ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่าง ถ.พหลโยธิน ถ.แจ้งวัฒนะ และ ถ.รามอินทรา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2479 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎบวรเดช ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียงปีเดียว ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มสนับสนุนอำนาจเก่า และอำนาจใหม่ โดยภายในอนุสาวรีย์มีการบรรจุอัฐิของทหารและตำรวจรวม 17 นาย ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น
 
ปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์แห่งนี้ ออกจากตำแหน่งเดิมประมาณ 50 เมตร เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามวงเวียนหลักสี่ และเตรียมก่อสร้างรางรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีชมพู ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความโดดเด่น และสวยงาม
 
โดยมีแผนยกพื้นอนุสาวรีย์ให้สูงขึ้นจากเดิม สร้างลานเอนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม และปลูกต้นไม้โดยรอบ แต่อีกด้านกลับถูกตั้งข้อสังเกตจากนักประวัติศาสตร์ว่า นี่เป็นการทำลายสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร เพราะการสร้างสะพานสูงทำให้บดบังความสง่างามของอนุสาวรีย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท