อัลจาซีร่าตีแผ่ชีวิตแรงงานพม่าตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่โรงงานในกาญจนบุรี

"อัลจาซีร่า" เผยชะตากรรมแรงงานพม่าหลบหนีออกมาจากแรงงานโรงงานแปรรูปผลไม้ใน จ.กาญจนบุรี ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ขณะที่ในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยรายงานการค้ามนุษย์ล่าสุดไทยถูกจัดไว้ในบัญชีที่ 2 หรือกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง

รายงาน "Migrant workers exploited in Thailand" ของอัลจาซีร่า ล่าสุดตีแผ่ชีวิตแรงงานชาวพม่าคนหนึ่งที่หนีออกมาจากโรงงานใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเขาร้องเรียนว่าตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ (ที่มา: Aljazeera/youtube.com)

 

สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานเมื่อ 23 มิ.ย. ว่า รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปราบการค้ามนุษย์ หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเผยแพร่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ฉบับล่าสุดโดยวิจารณ์ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีการปฏิบัติเพียงเล็กน้อยเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า มักเข้ามาทำงานในโรงงานไทยซึ่งพวกเขาจะถูกบังคับให้ทำงานภายใต้เงื่อนไขที่น่าตกใจ และได้รับผลกระทบจากการละเมิดอย่างร้ายแรง พวกเขาจำนวนมากตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

บางส่วนของพวกเขาตกเป็นเหยื่อของภาวะผูกมัดด้วยหนี้ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาถูกนำพามา ถูกขาย และถูกบังคับให้ทำงานเพื่อนำเงินไปจ่ายส่วยให้ตำรวจและจ่ายหนี้ให้กับบริษัทที่พาพวกเขามาทำงาน

โดยผู้สื่อข่าวของอัลจาซีร่า เวน เฮย์ เดินทางไป จ.กาญจนบุรี ทางตะวันตกของไทย เขาได้พูดกับแรงงานคนหนึ่งที่หนีออกมาจากโรงงานแปรรูปผลไม้แห่งหนึ่ง 

อัลจาซีร่า ยังรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาว่าโรงงานวีต้าที่ มีการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าให้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อวอลมาร์ท

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดไว้ในบัญชีที่ 2 ที่ต้องจับตามองในรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในปีนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และหากถูกจัดไปอยู่ในบัญชีที่ 3 ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงเรื่องการค้ามนุษย์ ก็จะต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรหลายด้านจากสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ประเทศที่มีชื่อในบัญชีลำดับที่ 2 หมายถึงประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในความพยายามที่จะกำจัดการค้ามนุษย์ แต่ได้แสดงหลักฐานให้เห็นว่ากำลังดำเนินความพยายามที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อปีก่อน

ในรายงานของสหรัฐอเมริกา บันทึกไว้ว่าประเทศไทยจะรอดจากการถูกลดอันดับไปอยู่ในบัญชีลำดับที่ 3 ก็ด้วยการที่รัฐบาลมีการเขียนแผนในการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ที่จะสามารถช่วยให้ประเทศเข้าสู่มาตรฐานขั้นต่ำในกำจัดการค้ามนุษย์เหล่านี้

ในรายงานของสหรัฐอเมริกา ยังแนะนำประเทศไทยให้แก้ปัญหาแรงงานที่ถูกบังคับ แรงงานขัดหนี้ การที่แรงงานถูกยึดเอกสารทำงาน และการรีดไถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังแนะนำด้วยว่า จำนวนผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์จะต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษ รวมทั้งใช้มาตรการเดียวกันนี้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งคอรัปชั่นด้วย

ทั้งนี้ตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยในปี 2551 ผู้ที่ละเมิดจะต้องระวางโทษจำคุก 4 ถึง 10 ปี แต่ในทางปฏิบัติมีจำนวนน้อยมากที่จะถูกจับกุมและดำเนินคดี

อัลจาซีร่า ทิ้งท้ายในรายงานว่า รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะมีแผนการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หลายคนก็พิจาณาว่าทางการไทยไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองพอที่จะจัดการการคอรัปชั่นที่แพร่ขยายในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่นๆ

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Thailand vows to tackle human trafficking, Aljazeera, Last Modified: 23 Jun 2012 19:53

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท