Skip to main content
sharethis

14 ปี การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ที่ชาวบ้านยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอสั่งชดใช้ค่าเสียหายเพิ่ม ด้านทนาย-ชาวบ้าน หวังคำสั่งศาลฟื้นฟูลำห้วยเร่งด่วน

 
 
 วันนี้ (26 มิ.ย.55) เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.597/2551 ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ร้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 22 คน ชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปล่อยน้ำเสียซึ่งมีสารตะกั่วเจือปนเปื้อนลงในลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับความเสียหาย
 
 
คดีนี้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้มอบให้สภาทนายความและโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 ก.พ.47 จากนั้นศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.51 ให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายทดแทนชาวบ้านห้วยคลิตี้ล่าง จำนวน 22 ราย รายละ 33,783 บาท รวมเป็นเงิน 743,226 บาท และต่อมาได้มีการยื่นอุทธรณ์จากทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง
 
นายสมพงศ์ ทองผาไฉไล ผู้ฟ้องที่ 13 ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างแถลงด้วยวาจาต่อศาลปกครองสูงสุดถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ว่า มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2540 และยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านยังคงต้องเสี่ยงกับสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำและสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหาร แต่จะให้แก้ปัญหาโดยการโยกย้ายนั้นชาวบ้านคงไม่ยินยอม ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขปัญหา และให้ศาลเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐต้องรีบปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพราะชาวบ้านยังคงต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ไปอีกหลายชั่วอายุคน
 
 
ตุลาการผู้แถลงคดีชี้กรมควบคุมมลพิษมีความผิด แนะเพิ่มเงินชดเชย
 
ต่อมา นายภานุพันธ์ ชัยวัต ตุลาการผู้แถลงคดีได้ชี้แจงความเห็นในการวินิจฉัยคดีด้วยวาจาต่อตุลาการองค์คณะพิจารณาพิพากษา สรุปความได้ว่า โรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมลพิษนั้นได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อราษฎรและผู้ฟ้องคดีซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่อยู่ห่างจากโรงแต่งแร่ไปทางใต้ตามลำห้วยคลิตี้ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากโรงแต่งแร่ดังกล่าวได้รับอนุญาตโดยหน่วยงานรัฐให้ตั้งบริเวณต้นน้ำ จึงมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทนแทนจากรัฐและเจ้าของบริษัทฯ
 
ส่วนกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนแทนรัฐ โดยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในส่วนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารรายละ 700 บาทต่อเดือน ตามคำร้องขอ คือ ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.2545 ถึง 27 ส.ค.2547 และในระหว่าง 27 ส.ค.2547 ถึง 21 มิ.ย.2552 เนื่องจากอยู่ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ของการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามที่ได้วินิจฉัยแล้ว และกรณีค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในอนาคตจากการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน ในช่วง 10 ปี ของการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ คือตั้งแต่ 21 มิ.ย.2542 ถึง 21 มิ.ย.2552
 
โดยสรุป ตุลาการผู้แถลงคดี เสนอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยให้กรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าเสียหายหรือค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เต็มจำนวนตามที่ชาวบ้านคลิตี้เรียกร้อง หรือคนละ 176,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,872,000 บาท พร้อมให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดี และหลังจากนี้ศาลปกครองสูงสุดจะได้นัดวันฟังคำพิพากษาต่อไป
 
 
ทนาย-ชาวบ้านรอลุ้น หวังคำสั่งศาลฟื้นฟูลำห้วยเร่งด่วน
 
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้แทนในการดำเนินคดีต่อศาลปกครองกล่าวว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีเป็นความพยายามวางแนวทางคำพิพากษาคดี แต่ไม่ได้ผูกพันกับองค์คณะในการพิพากษา และในส่วนคณะทำงานและชาวบ้านมีความประสงค์ที่จะเห็นคำพิพากษาที่วางแนวทางการควบคุมมลพิษ โดยให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปลอดจากสารตะกั่วและมีการชดเชยค่าเสียหาย ทั้งนี้การชดเชยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่การฟื้นฟูลำห้วยให้กลับมามีสภาพดีโดยเร็วคือการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า คดีดังกล่าวจะกลายเป็นคดีบรรทัดฐานที่มีการฟ้องให้หน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมให้รวดเร็วและเป็นธรรม ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้าง และยังเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงถึงความล่าช้าและบกพร่องของหน่วยงานรัฐในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับกรณีมาบตาพุด กรณีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลำห้วยแม่ตาว จ.ตาก กรณีการปนเปื้อนโลหะหนักในลำน้ำและในเลือดของชาวบ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย และปัญหามลพิษอีกมากมาย
  
ส่วนนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ กล่าวว่า ระยะเวลากว่า 14 ปีที่ผ่านมา ตะกอนตะกั่วยังอยู่เหมือนเดิม และชาวบ้านยังคงประสบความเดือดร้อน ซึ่งในมุมมองส่วนตัวของเขาต้องการให้ดูดออกไปฝังกลบที่อื่น สำหรับหน้าที่ในการแก้ปัญหาเป็นของกรมควบคุมมลพิษ ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นั้นเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้อง การที่จะฟ้องร้องอาจต้องดูต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับชาวบ้านไม่ได้ต้องการฟ้องร้องเป็นคดีความ เพียงแต่ต้องการเรียกร้องการแก้ปัญหาให้ลำห้วยคลิตี้
 
                                                                 
แนะนอกจากกระบวนการศาล หากรัฐบาลเห็นความสำคัญสามารถยื่นมือช่วยเหลือได้
 
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมาร่วมฟังพิจารณาคดีในวันนี้ กล่าวว่า ความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีมีความน่าสนใจและถือเป็นความก้าวหน้าในประเด็นที่มีการเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ เรื่องความรับผิดชอบร่วม ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ แม้กรณีนี้จะมีข้อถกเถียงว่ากรมควบคุมมลพิษไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐเดียวกัน ซึ่งต้องทำการแทนรัฐในการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีได้ละเลยในประเด็นหลักที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้นล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เพราะได้ยอมรับวิธีการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วให้มีการชดใช้ค่าเสียหายและค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี แต่กรณีดังกล่าวผลกระทบได้เกิดต่อคนทั้งชุมชน ไม่ใช่เฉพาะกับ 22 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน อีกทั้งยังมีข้อสงสัยถึงการกล่าวอ้างผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมพิษที่ระบุความเห็นว่าการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ว่าใครคือผู้เชี่ยวชาญ เพราะการฟื้นฟูตามธรรมชาติตรงนี้เท่ากับว่าเป็นการปล่อยให้คนอยู่กับตะกั่วไปเรื่อยๆ
 
รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดยังมีเวลาย้อนคิดในประเด็นความล่าช้าในการฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่ว และพิจารณาความเสียหายให้ครอบคลุมทั้งชุมชน รวมทั้งการเปิดช่องให้ความคิดเห็นของผู้เชียวชาญท่านอื่นๆ ด้วย ซึ่งตรงนี้คงต้องฝากความหวังไว้กับศาลปกครองสูงสุด
 
ในส่วนข้อเสนอ นางสุนี กล่าวว่า นอกจากการพึ่งพากระบวนการศาลแล้ว หน่วยงานทางปกครองคือรัฐบาลสามารถเข้ามาดูแลเรื่องนี้หากเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาซึ่งสังคมเองก็ให้ความสนใจ โดยประเด็นหลักคือการทบทวนมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เดิมยอมรับวิธีการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ ตรงนี้ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานเชิงซ้อนเป็นมาตรฐานของรัฐ ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่ากรณีคลิตี้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจริงและมีมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่แตกต่างคือแนวคิดเรื่องวิธีการที่จะฟื้นฟู
 
 
กรีนพีซชี้คดีคลิตี้ บรรทัดฐานการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ
 
ขณะที่ นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรณีคลิตี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ กรณีที่แสดงให้เห็นถึงการเอาเปรียบของทุนอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษ ที่แสวงหาผลกำไรจากทรัพยากรส่วนรวมและผลักภาระให้แก่ชุมชนเป็นผู้รับผลกระทบ ขณะที่หน่วยงานรัฐเพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรและชุมชนเท่าที่ควร ทั้งนี้ นอกจากคดีดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานเรื่องการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ปฏิญญาคลิตี้ 14 ข้อเป็นจริงด้วย
 
อนึ่ง ปฏิญญาคลิตี้ เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กรณีปัญหาในพื้นที่ต่างๆ จนนำมาสู่การกำหนดปฏิญญาเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาร่วมกัน ณ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.55 แบ่งเป็น 14 ข้อ ดังนี้ 1.ชุมชนต้องได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เกี่ยวกับกิจกรรมเหมืองแร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ การสำรวจ การให้ประทานบัตร ระหว่างประกอบกิจการ และภายหลังการประกอบกิจการ อาทิ ขอบเขตพื้นที่ประทานบัตร ข้อมูลการใช้สารเคมีในการผลิต และมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการประกอบกิจการ การจัดการมลพิษต่างๆ และเอกสารอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ
 
 
2.ประชาชนและชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการอนุรักษ์จัดการ และการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ประกอบการพิจารณาและตรวจสอบการอนุญาต การดำเนินการและการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองแร่ของรัฐ 3.ประชาชนต้องตรวจสอบ และยกเลิกการประกาศแหล่งแร่ได้หากไม่เหมาะสม 4.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ เพื่อให้มีการตรวจสอบ และคุ้มครองดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพอนามัย
 
5.รัฐต้องดำเนินการแก้ไขและกำจัดมลพิษโดยทันที เมื่อตรวจสอบพบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน และหาผู้ก่อมลพิษเพื่อมารับผิดชอบต่อไป 6.รัฐต้องกำหนดค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อม เช่น ตะกอนดิน และสุขภาพอนามัย เช่น ปริมาณโลหะหนักในเลือด เพื่อเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน 7.รัฐต้องจัดให้มีกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ 8.กำหนดให้มีการวางเงินประกันความเสี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อเกิดผลกระทบให้นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเยียวยาสุขภาพโดยทันที
 
9.ต้องมีการตรวจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ และชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบการ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนมีการดำเนินการตามประทานบัตร และตรวจทุกปีเพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และก่อนการต่ออายุ การขยายพื้นที่ ประทานบัตร ต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อน หากพบว่ามีผลกระทบ ต้องไม่อนุญาตจนกว่าจะแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นก่อน 10.รัฐต้องคำนวณต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่อสุขภาพของชุมชน ในการตัดสินใจอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการเหมืองแร่
 
11.ควรกำหนดโทษอาญากับหน่วยงานรัฐและผู้ก่อมลพิษ ในกรณีมีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการอนุมัติอนุญาตเหมืองแร่ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างร้ายแรง12.ต้องเปิดให้มีสถาบันการแพทย์ด้านอาชีวอนามัย และสุขภาพ ให้เพียงพอต่อการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม 13.ลดอายุการให้ประทานบัตรจากเดิม 25 ปี เป็น 10 ปี และ 14.ให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างเร่งด่วน โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนคลิตี้ล่าง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แหล่งน้ำ ตะกอนดินและห่วงโซ่อาหารปลอดจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ดังเดิม
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net