Let them eat tablets ถ้าการศึกษาไทยไม่พัฒนาก็แจกแท็บเล็ตสิ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 ตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศในเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เต็มไปด้วยละครน้ำเน่าเกี่ยวกับนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่เด็กประถมปีที่ 1 ดูเหมือนว่านโยบาย “หนึ่งนักเรียน หนึ่งแท็บเล็ต”ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นจะเป็นนโยบายเดียวที่ดึงคะแนนเสียงให้แก่พรรคเป็นอย่างมาก แต่การที่จะทำให้ได้อย่างที่หาเสียงเอาไว้นั้นกลับกลายเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของประเทศ

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการบรรลุข้อตกลงเพื่อสรรหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตจำนวน 400,000 เครื่องจากบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคปไซ แอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ประเทศจีน  ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายนนางสาวยิ่งลักษณ์ได้มอบคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตชุดแรกให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนที่แต่งตัวเป็นระเบียบเรียบร้อย

บางคนแย้งว่าเป้าหมายของการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตนั้นเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจต่อระบบการศึกษาของไทยอันอ่อนแอ ถึงแม้ว่าจำนวนการรับเด็กเข้าเรียนหนังสือจะเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา แต่คุณภาพการศึกษาของไทยนั้นกลับย่ำแย่ลง

ปัญหาใหญ่คือความรอบรู้ของเด็กนักเรียนนั้นตกต่ำลงแม้ว่าจะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในโรงเรียนหลายโรงเรียนเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่า 20% ของงบประมาณของประเทศนั้นใช้เพื่อการศึกษาซึ่งมากกว่าด้านอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด งบประมาณเพื่อการศึกษานั้นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลาสิบปี แต่กระนั้นผลที่ได้ออกมากลับแย่ลงเรื่อย ๆ โดยเปรียบเทียบทั้งภายในประเทศ และกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของไทย(Thailand’s own ombudsman)ได้ชี้แจงว่าถึงแม้จะมีเงินอัดฉีดเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่คะแนนจากผลการสอบไล่ของทั้งประเทศแสดงให้เห็นว่าคะแนนสอบในวิชาหลักคือ ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้นตกต่ำลงอย่างมาก นอกจากนี้รายงานการแข่งขันระดับนานาชาติจากเวทีเศรษฐกิจโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 83 โดยใช้ “สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Health and Primary Education)” อันเป็นหนึ่งในสี่ตัวชี้วัด ประเทศไทยมีอันดับที่ต่ำกว่าเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมีกัมพูชาเท่านั้นที่แย่กว่าประเทศไทย

คะแนนจากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ(PISA) ของไทยนั้นเกือบจะคงที่มานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้ไต่อันดับขึ้น และยังจะมีรายงานการแข่งขันระดับโลกอีกอันที่จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 54 จาก 56 ประเทศทั่วโลกที่มีความชำนาญทางด้านภาษาอังกฤษ ไทยเป็นอันดับสองจากท้ายตารางในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับความเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่ต้องการหลุดพ้นจากการมีรายได้ระดับกลางอย่างประเทศไทยนั้น สถิติที่กล่าวมาข้างต้นนั้นน่าใจหายเป็นอย่างมาก บริษัทว่าจ้างต่าง ๆ นั้นโอดครวญว่าไม่สามารถจัดหาลูกจ้างที่มีความสามารถด้านการอ่าน และเขียนเบื้องต้นเป็นอย่างดีได้ ส่งผลให้ตำแหน่งงานต่าง ๆ นั้นว่างลง หรือไม่ก็ต้องให้คนที่มีความสามารถไม่ถึงมาทำงานเป็นเหตุให้มีผลงานที่ต่ำลง

ทำไมประเทศไทยถึงได้แสดงผลงานได้ย่ำแย่เพียงนี้? สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาที่ค้างคาใจ งบประมาณที่มากมายนั้นถูกใช้ผ่านการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครู (ซึ่งโดยปกติแล้วจะได้เงินเดือนมากกว่าเงินเดือนเริ่มต้นของผู้สอนในมหาวิทยาลัยเสียอีก) แต่ถึงแม้จะได้มากแต่ก็ยังไม่มีการปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน

สมเกียรติแย้งว่าต้องทำให้มีการตรวจสอบโรงเรียนได้โดยผู้เล่าเรียน และผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โรงเรียนนั้น ๆ  ข้อมูลเกี่ยวกับผลงานของโรงเรียนต่าง ๆ นั้นต้องมีให้แก่ผู้ปกครอง และเงินเดือนของครูที่เพิ่มขึ้นนั้นต้องสัมพันธ์กับผลคะแนนของนักเรียน ในขณะนี้แทบจะไม่มีการกล่าวถึงการประเมินผลของครูที่ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเลย “มันเป็นการประเมินผลที่เหมือนกับการให้จิตพิสัย” นายสมเกียรติกล่าว “อยู่ที่ว่าคุณจะเลียแข้งเลียขาเจ้านายได้มากแค่ไหน”

อีกหลายคนยังแนะว่าโรงเรียนที่มีผลงานย่ำแย่นั้นควรถูกปิด หรือไม่ก็ให้เอกชนเข้ามาบริหาร ความคิดเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าในประเทศอนุรักษ์นิยมอย่างประเทศไทย และนั่นก็อาจหมายรวมไปถึงการได้ผลประโยชน์จากจำนวนคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 400,000 เครื่อง หรือครูที่มีเงินเดือนค่อนข้างสูง การแจกจ่ายคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่เด็กประถมนั้นเป็นเครื่องมือที่ดี แต่มันไม่ใช่หัวใจของความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา

 

Source : Education in Thailand : Let them eat tablets Trying to stop the rot in Thailand’s schools by giving out tablet computers Jun 16th 2012  from the print edition http://www.economist.com/node/21556940

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท