Skip to main content
sharethis
สัมมนาไฟใต้ผลักการพูดคุย กระจายอำนาจ ปฏิรูปการศึกษา กระบวนการยุติธรรม เพื่อดับไฟใต้ ย้ำรัฐต้องมีเอกภาพในการดำเนินนโยบาย ดึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
 
เวลา 14.00 น. วันที่ 29 มิถุนายน  2555 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “9 ปีความรุนแรงภาคใต้ : อัศจรรย์ความรู้ในแดนเนรมิต?” 
 
ในการอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “ทางเลือกสำหรับทางรอดของภาคใต้”  นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา 101 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ถึง พ.ค. 2555 มีเหตุการณ์กว่า 11,700 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 1.4 หมื่นคน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 5 พันคน บาดเจ็บอีก 9 พันคน โดยช่วงแรกมีเหตุการณ์เกิดขึ้นสูงมาก แต่หลังจากปี 2550 เหมือนเหตุการณ์จะลดลง แต่ยังคงที่เดือนละ 60 - 100 ครั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แต่ละเดือน พบว่าความสูญเสียไม่เด่นชัดเท่ากับจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ความตาย ความบาดเจ็บยังคงที่ ซึ่งเรามองว่าเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งคลายกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปมปัญหาภายในที่แก้ไม่ตก คล้ายกับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งขึ้นไปสู่ที่ราบสูงที่ยาวมาก แต่กลับไม่มีทางลง
 
ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ 9 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่งบประมาณที่ลงไปต่อปีถือว่าช่วยพยุงให้ภาวะเศรษฐกิจอยู่ได้ แต่การกระจายรายได้ยังไม่ตกไปถึงคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมีปัญหาความไม่โปร่งใส และนโยบายมีการใช้เรื่องการทหารมาก มีกำลัง 1.5 แสนคน ทั้งทหาร ตำรวจอาชีพ อาสาสมัคร เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีไม่สูง จึงต้องดูว่าทางรอดจะมีอย่างไรบ้าง โดยมีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจแบบพิเศษ 6 โมเดล อาทิ มีศอ.บต. มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง หรือมหานครปัตตานี ซึ่งโมเดลทั้งหมดก็ยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอพูดคุยกับผู้ใช้ความรุนแรงในการเจรจาฝ่ายตรงข้ามกับรัฐเพื่อหาทางออกด้วย
 
นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่าการร่าง “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ซึ่งตนได้มีส่วนร่วมนั้นใช้เวลาดำเนินการกว่าหนึ่งปีและได้ไปพูดคุยกับคนหลากหลายภาคส่วน ซึ่งหลายฝ่ายก็มองปัญหาไม่ตรงกันเลย  นอกจากนี้ ปัญหาที่ท้าทายอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่นั้นไม่ได้นำนโยบายไปปฏิบัติ โดยมี 3 ประเภท คือ หนึ่ง ไม่เข้าใจจึงไม่นำไปปฏิบัติ สอง เข้าใจแต่ไม่เห็นด้วยจึงไม่ปฏิบัติ และสาม  เข้าใจ ไม่เห็นด้วยและปฏิบัติสวนทาง 
 
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำภายใน 3 ปี  เพื่อเป็นทางออกของปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมี 5 ข้อ คือ 1.ต้องใช้พื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา  2.ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงได้ ควรใช้แนวทางสันติวิธี 3.ความสมดุลในเรื่องการปกครองหรือการกระจายอำนาจในพื้นที่  4. การเคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน มีนิติธรรมและนิติรัฐ และ 5.การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐต้องมีเอกภาพ  ทั้งนี้หัวใจของทางรอดในระยะเฉพาะหน้า คือ ต้องสร้างความปลอดภัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต  และในระยะยาวจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา  รัฐจะต้องมีความเข้าใจตรงกันในเชิงนโยบาย  และจะต้องเอาภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมกับรัฐ  และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าต้องการที่จะเดินในแนวทางนี้  
 
นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่าสังคมไทยมี “ความไม่รู้” และ “อคติ” เกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้มาก  การเอาไม้บรรทัดเดียวกันที่ใช้ที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ไปวัดภาคใต้นั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ระบบการจัดการศึกษาของรัฐไทยที่ผ่านมาเต็มไปด้วยบาดแผลและความขัดแย้ง  จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนปัญหาหลักของการศึกษา คือ เด็กในพื้นที่นั้นต้องเรียนทั้งศาสนาและสามัญซึ่งทำให้เด็กต้องเรียนหนังสือหนักมาก  ครูมีเวลาสอนไม่ครบ เพราะปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย นอกจากนี้ยังขาดทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา  จริงๆ แล้วเด็กในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนั้นมีศักยภาพเพราะเขาพูดได้อย่างน้อยสองภาษาอยู่แล้ว คือ ไทยและมลายูถิ่น ซึ่งสามารถจะพัฒนาไปเป็นการพูดมลายูกลางซึ่งใช้อยู่ในประเทศมาเลเซียได้ง่าย 
 
นายปิยะกล่าวว่าตนเชื่อว่าการศึกษาและศาสนาเป็นหัวใจในการเปลี่ยนให้ความขัดแย้งกลายเป็นสันติสุข   รัฐไทยจะต้องเปลี่ยน ไม่รวมศูนย์หรือปิดกั้นความเห็นต่าง   หากว่าเราสนับสนุนให้คนมีสิทธิ์มีเสียง ก็จะแก้ไขปัญหาได้ นายปิยะกล่าว
 
นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน สื่อมวลชนอาวุโส  ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่าการมีทางเลือกนั้นสะท้อนว่าเรายังคงมีความหวัง ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่กลางและพื้นที่ปลอดภัยให้คนในพื้นที่ได้เสนอทางเลือก  การพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐและขบวนการที่ต่อต้านรัฐอย่างเดียวนั้นไม่อาจจะทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนได้   จำเป็นที่เสียงของภาคประชาสังคมและรากหญ้าจะต้องถูกรวมเข้าไปด้วย
 
การแก้ไขปัญหาภาคใต้ต้องทำ 3 ส่วน คือ หนึ่ง ต้องปรับบริบทการเมืองการปกครองให้เหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในเชิงอัตลักษณ์  ถ้าไม่มีทางออกทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืนได้  สอง ต้องมีการปรับปรุงเรื่องกระบวนการยุติธรรม  และสาม  ตนเห็นด้วยกับกรอบนโยบายของสมช. ที่ส่งเสริมเรื่องของการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง  แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า สมช.จะสามารถทำให้นโยบายแปรไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่  นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นควรจะเดินด้วยความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึกและต้องมีการสื่อสารกับสาธารณะให้มาก
 
พ.อ.ชินวัฒน์  แม้นเดช ตัวแทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวว่าปัญหาภาคใต้นั้นกระทบกับรากฐานของประเทศ  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “movement” ไม่ได้เป็น “event”  มีกระบวนการดำเนินการที่ต่อเนื่อง  แต่ว่าที่ผ่านมายังคงไม่มีใครมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผย  ในขณะเดียวกันมีการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่อย่างกว้างขวางและบางครั้งมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ผ่านการออกใบปลิว  หรือการปลอมตัวโดยสวมใส่ชุดทหารเข้าไปก่อเหตุ   ทำให้เกิดความสับสนในพื้นที่   
 
การแก้ไขปัญหา จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงแก่นของปัญหาให้ถ่องแท้  สิ่งที่ตนมองก็คือภาคใต้มีสิ่งที่เรียกว่า “อิสลามเชิงจารีตนิยม” และมีความโดดเด่นในเชิงอัตลักษณ์  นโยบายรัฐที่ผ่านมาได้ทำลายความแตกต่างเพื่อสร้างความเหมือน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาและเกิดการต่อต้านรัฐขึ้น    แต่ที่จริงแล้วความแตกต่างเหล่านี้เป็นต้นทุนทางสังคมที่สามารถนำมาสร้างศักยภาพของประเทศได้    นโยบายการสร้างความเหมือนเหล่านี้ไม่ควรมีอีกต่อไป  
 
ตัวแสดงหลักในภาคใต้ในทัศนะของตนมี 3 ส่วน คือ หนึ่ง state actor คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  สอง คือ sub-state actor คือ กลุ่มหัวรุนแรงที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์และแบ่งแยกดินแดน จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐ  สาม คือ ประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่  ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแสดงทั้งสองข้างตน  sub-state actor ไม่เคยแสดงตนและแอบอยู่หลังประชาชนอย่างลับๆ  การศึกษาเกี่ยวกับ sub-state actor นั้นมีค่อนข้างน้อย  เขามีกระบวนการคัดเลือกคนเข้าขบวนการและบ่มเพาะความเป็นชาตินิยมมลายู  โดย  บอกว่าปัตตานีนั้นเป็น Dar al-Harb (แผ่นดินที่ปกครองโดยผู้นำที่ไม่ใช่มุสลิมและเข้าเงื่อนไขในการทำสงคราม)
 
พ.อ.ชินวัตรกล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐไทยจะต้องสร้างเอกภาพทางความคิดและ “ยิงปืนให้ตรงเป้า” รัฐจะต้องกุมสภาพสามอย่างให้ได้ คือ  หนึ่ง กุมสภาพประชาชนในพื้นที่  รัฐจะต้องได้ใจประชาชน เพื่อให้ sub state actor ถูกโดดเดี่ยว สอง ศอ. บต. กอ. รมน. จะต้องมีนโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ  และ สาม คือการสร้างความยอมรับและความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศ  หากเราคุมสามอย่างนี้ได้ การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ยาก
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในปัจฉิมกถาว่าสันติสนทนากับการเจรจาสันติภาพนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะว่าการเจรจาสันติภาพนั้นเน้นในการได้ข้อยุติ แต่ว่าสันติสนทนานั้นมุ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่น  นอกจากนี้การตั้งเขตปกครองพิเศษนั้นอาจจะไม่จำเป็นที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเสมอไป กรณีแบบนี้มีอยู่แต่ว่าเป็นส่วนน้อย   แต่ว่ามีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเขตปกครองพิเศษนั้นกลับสามารถเป็นตัวหยุดการแบ่งแยกดินแดนได้  
 
ศ.ดร. ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้นยากเพราะปัจจัย 3 เรื่อง หนึ่ง เกิดสภาวะ “อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง” ในพื้นที่ หลายฝ่ายได้ประโยชน์จากการที่สถานการณ์ความรุนแรงดำรงอยู่ สอง ทางเลือกที่จะเกิดนั้นยากเพราะ “วาทกรรมความมั่นคง” ที่ครอบอยู่ และสาม สังคมไทยเข้าใจว่าตนเองนั้นเป็นสังคมที่ดี โอบอ้อมอารีและอดทนต่อความแตกต่าง แต่ว่าปัญหาภาคใต้นั้นเหมือนเป็นหนามที่ทิ่มแทงความสำเร็จนี้อยู่ เหมือนเป็นก้อนกรวดในรองเท้า   ด้วยเหตุที่มองว่าสังคมไทยมองตนเองว่าเป็นสังคมที่ดีจึงปฏิเสธที่จะมองความเป็นจริงนี้อย่างซึ่งหน้า 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net