Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังจากได้ทำการรณรงค์ช่วยเหลือคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่เสียหายจากสวีเดนและฟินแลนด์นับตั้งแต่ปี 2552 และเดินทางศึกษาและพูดคุยกับคนงานและครอบครัวผู้เสียหายที่ 9 จังหวัดที่อีสานในปี 2552 เจรจากับรัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานไทย รวมทั้ง CEOs ของบริษัทเบอร์รี่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องที่สวีเดนและฟินแลนด์หลายครั้งนับตั้งแต่นั้นมา

อีกทั้งเดินทางพบกับคนท้องถิ่น สื่อมวลชน ที่ฟินแลนด์และสวีเดน และเยี่ยมคนงานตามแคมป์หลายแคมป์ที่ฟินแลนด์ใปี 2553 จนถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดี 3 เรื่อง และข้อเขียนทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวอีกหลายชิ้น

เมื่อถึงฤดูกาลเบอร์รี่ปี 2555 ผู้เขียนจึงคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเขียนรายงานฉบับยาวชิ้นนี้ออกมา เพื่อให้สังคมไทยและสังคมโลกตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรมพาคนไปเก็บเบอร์รี่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งนำสภาพงาน สภาพปัญหาและความเสี่ยงต่างๆ ที่คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย ซึ่งเป็นเกษตรกรจากที่ราบสูงจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่จะต้องเผชิญและแบกรับอย่างละเอียดมากขึ้น

รายงานชิ้นนี้มุ่งให้คนเก็บเบอร์รี่เตรียมรับสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริง ไม่ใช่อยู่กับความฝันถึงเงินแสน และเชื่อมั่นว่าความตั้งใจจะทำงานหนัก จะอดทน จะทำให้พวกเขาได้เงินกลับบ้าน

และเพื่อจะทำให้เรื่องราวความเสียหายจากคนไทยจากวิถีค้าแรงงานข้ามชาติไม่ถูกปล่อยให้เลือนหายไป กลายเป็นคนไม่มีตัวตน พร้อมกับการโหมประชาสัมพันธ์ขายฝันเบอร์รี่ในฤดูกาลใหม่ที่กำลังมาถึงเช่นนี้กันต่อไป … ปีแล้วปีเล่า…

และเพื่อบอกว่า จนถึงบัดนี้ความเสียหายของเกษตรกรไทยที่ต่อเนื่อมาหลายปีรวมกันหลายร้อยล้านบาท กับการค้าฝันเสี่ยงโชคเบอร์รี่ป่า ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ เช่นเดียวกับคนงานที่ถูกค้าไปทำงานยังประเทศอื่นๆ อีกมากมายหลายพันหลายหมื่นคน ที่ราคาความเสียหายของพวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยา หรือใส่ใจจากกลไกรัฐไทย

************


เกริ่นนำ

  • “ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วขยันเช่นไปที่สวีเดน เรารวยกันทุกคน”
  • “บอกเพื่อนๆ ให้ขยัน ให้อดทน แม้ลูกเดียวก็ต้องเก็บ เพราะมันคือเงิน”
  • “เราจ้างตัวเองมาลำบาก”
  • “ก็เครียดกันทุกคนละครับ กลัวไม่ลุหนี้”
  • ฯลฯ

ถ้อยคำจากผู้เสียหายหรือไม่ได้เงินตามที่คาดหวังไว้จากการเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์เหล่านี้สะท้อนออกจากจากคนงานหลายคนที่ได้พบเจอนับตั้งแต่ปี 2552

เมื่อใกล้เวลาฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ ผู้เขียนมักจะนึกถึงหน้าตาของอดีตคนงานเบอร์รี่หลายร้อยคนที่รวมประท้วงด้วยกันมา นึกถึงมิตรภาพและการต้อนรับอันอบอุ่นเมื่อไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้านในหลายจังหวัดที่อีสาน

นึกถึงดวงตาเศร้าเจ็บปวดและสูญเสียศักดิ์ศรีตัวตน แห่งความเป็นคนงานไทยที่ขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ที่พ่ายแพ้ต่อฤดูกาลที่เขตโลกเหนือ

ได้เห็นผลพวงจากน้ำพักน้ำแรงเบอร์รี่ ทั้งรถเกี่ยวข้าว ร้านขายของชำ และบ้านที่มีแต่โครงเพราะขาดทุนจากการไปครั้งที่ 3 จนไม่มีเงินสร้างต่อจนเสร็จ

ได้เห็นการหย่าร้าง การแยกทางกันทำมาหากิน การเจอแฟนใหม่เพราะเบอร์รี่

หลายคนที่เคยไปทำงานเมืองนอกบอกว่าการทำงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ เป็นงานที่โหดที่สุด

นึกถึงแก้วและครอบครัวที่นครพนม แก้วและพี่น้องทั้งสี่คน (ผู้ชายหมด) ดิ้นรนไปทำงานเมืองนอกในเกือบทุกประเทศตั้งแต่สิงคโปร์ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ตามมาด้วยมาเลเซีย ใต้หวัน เกาหลี และเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน

เงินส่วนใหญ่ที่ได้มาถูกใช้ไปกับการจ่ายคืนเงินกู้ค่านายหน้า และจ่ายค่าเดินทางของพี่น้องคนต่อไป และครั้งต่อไป จนบัดนี้ผ่านไปร่วมสองทศวรรษพวกเขาก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อไปเมืองนอกหรือเพื่อสร้างชีวิตในประเทศ

แก้วถึงกับใช้ เงินที่เหลือทั้งหมดจากใต้หวันที่เขาเพิ่งเดินทางกลับมาหลังครบสัญญาสองปี จำนวน 50,000 บาท เป็นทุนจ่ายค่านายหน้า 86,000 บาท เพื่อไปเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนในปี 2552

เมื่อเราไปเยี่ยมเขาและครอบครัว รวมทั้งเพื่อนที่เสียหายกลับมาที่นครพนม เราเห็นแก้วมีความสุขท่ามกลางชีวิตกลางทุ่งอันงดงาม บ่อปลา บ่อกบ แปลงพริกผักนิดหน่อย ที่สร้างรายได้ในช่วงฤดูกาลให้แก้วเป็นพันบาท บอกกับเราว่า “ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วขยันเช่นไปที่สวีเดน เรารวยกันทุกคน” แก้วบอกว่าไม่ไปอีกแล้วเมืองนอก

ที่อุบลฯ เราพบพี่ประมวลและภรรยา พร้อมครอบครัว ครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่น ที่หวังเพียงได้พากันไปเมืองนอก และมีเงินเหลือเก็บบ้าง พี่ประมวลไปกับภรรยา และต้องกู้หนี้ยืมสินร่วมสองแสนบาท ทำให้สองเดือนกับความหวังทำชีวิตผลิกผันและพังทลาย

ชีวิตผู้ที่เคยได้รับการยอมรับนับถือในชุมชน เมื่อล้มเหลวกลับมา และมีภาระหนี้ที่ต้องมาชดใช้ พวกเขาเสียศูนย์ ต้องเริ่มต้นสร้างทำกำลังใจให้ตัวเอง และกู้คืนชื่อเสียงและศักดิ์ศรี

ผู้เขียนไม่เคยลืมครอบครัวปรานีที่แก้งค้อ ในการอยู่ศูนย์กลางตัวแทนเก็บเบอร์รี่ ทุกปีครอบครัวของเธอจะถูกกระตุ้นว่าต้องเสี่ยง น้องชายไปก่อนกลับมาไม่ได้เงินและบอกทุกคนว่าสภาพงานเป็นอย่างไร แต่ก็ห้ามแรงกระตุ้นจากความอยากเสี่ยงไม่ได้ ปีต่อมาปรานีไปเก็บพร้อมกับสามี เผอิญเป็นปี 2552 ที่ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์คราคร่ำไปด้วยคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย “ไปที่ไหนก็ปะหน้ากันตลอด” ปรานีและสามีเสียหายกลับมาพร้อมหนี้กว่าแสน

สามีต้องหลีกเจ้าหนี้ไปทำงานก่อสร้าง ทิ้งปรานีดูแลพี่สาวที่ป่วย ลูกที่เล็ก และอยู่กับครอบครัวที่ทุกระทมข์จากความล้มเหลวแห่งการล่าฝัน ท่ามกลางเรื่องเล่ายั่วยุแห่งผู้ที่ประสบความสำเร็จไม่กี่คนแต่เรื่องราวกลับได้รับการจดจำและขยายกว้างขวางไปใหญ่โต เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนอื่นๆ บินเข้าสู่มือนักค้าแรงงาน

ความเป็นสวีเดน และฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าร่ำรวย และพัฒนา เป็นแรงจูงใจหนึ่ง เพราะถือได้ว่ามาเที่ยวเมืองนอก ประเทศโลกเหนือที่ร่ำรวย ค่าแรงสูง ธรรมชาติงาม และผู้คนจิตใจดี

สำหรับคนที่ศึกษาและติดตามการถูกหลอกและถูกค้าฝันไปทำงานเมืองนอกของคนไทยมากกว่า 2 ทศวรรษ  การนำอาหารที่พระเจ้ามอบให้ที่มีฤดูกาลอันจำกัด เพื่อสองเดือนนี้ เข้าข้นทุกรสชาติแห่งชีวิตคนทำงานเมืองนอกตามไปด้วยเช่นกันตามเงื่อนไขระยะเวลาที่จำกัด กับต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่ากับการทำสัญญาไปทำงานประเทศใต้หวัน 2 ปี

 

ทำความรู้จักกับเบอร์รี่ป่า

ในเขตภาคเหนือคาบเกี่ยวเขตอาร์คติดไล่ตั้งแต่แคนาดา มาสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์) ไปยังรัสเซีย และญี่ปุ่น จะเป็นแหล่งของเบอร์รี่ป่า หลากหลายชนิด แต่ชนิดที่คนนิยมทาน และต่อมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมคือ  cloud berry, lingon berry, blueberry และ crow berry เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยติดพื้น ที่จะพากันฟื้นตัวเมื่อน้ำแข็งละลาย และจะค่อยๆ ออกผลให้เก็บกินได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี

เบอร์รี่ป่าเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เรียกกันว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้าเพื่อชดเชยสภาพอากาศที่เลวร้ายให้คนและสัตว์ที่อยู่เขตอาร์คติก และนับตั้งแต่มีการพัฒนาการค้าเบอร์รี่ป่าเป็นลำเป็นสัน และมีโรงงานแปรรูปหลายโรงเปิดที่ภาคเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์ ความต้องการเบอร์รี่ป่าในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยประเทศนำเข้าสำคัญได้แก่ญี่ปุ่น จีน อิตาลี เป็นต้น เพื่อนำมาผลิตยาบำรุงสายตา วิตามิน เครื่องดื่ม อาหาร และอุปกรณ์เสริมความงามต่างๆ

เป็นประเพณีมาช้านานของคนในพื้นที่ที่นี่ คือ ทั้งครอบครัวจะพากันไปเก็บเบอร์รี่มาแช่แข็งไว้เพื่อบริโภคในครอบครัวทั้งปี ทั้งทานสดและทำแยมต่างๆ  นอกจากนี้มันก็เป็นอาหารของพวกหมี ลีห์ และกวางเรนเดียร์ และสัตว์ป่าต่างๆ ด้วย  หมีก็จะเก็บเบอร์รี่เหล่านี้กินเพื่อเป็นอาหารตุนในระหว่างฤดูจำศีลตลอดช่วงหิมะอันหนาวเย็นกว่า 5 เดือนของทุกปี

นอกจากการเก็บตามธรรมชาติแล้ว ในจีน โปร์แลนด์ และแคนาดา เป็นต้น ได้มีการพัฒนาฟาร์มบลูเบอร์รี่ เพื่อส่งออกกันอย่างเป็นลำเป็นสัน ซึ่งเบอร์รี่ฟาร์มจะลูกใหญ่กว่า แต่รสชาติไม่อร่อยเท่าเบอร์รี่ป่า

เพื่อนที่นี่บอกว่า “การเจอแหล่งเบอร์รี่ป่าและเห็ดดก ถือเป็นความลับที่เป็นมรดกตกทอดในครอบครัว” ก่อนออกจากบ้านไปดงเบอร์รี่ ถึงขนาดต้องแอบบออกจากบ้าน ไม่ให้เพื่อนบ้านรู้กันทีเดียว

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใดที่จะเกิดการไม่กินเส้นกัน กลั่นแกล้งกัน ระหว่างคนเก็บเบอร์รี่เจ้าถิ่นกับคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย เพราะการแย่งแหล่งเบอร์รี่ดก

และก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจที่คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยเจ้าเก่าจะขับรถกันวันละ 200-300 กม. เพื่อเดินทางจากแคมป์ ไปยังแหล่งเบอร์รี่ดกที่ตัวเองคุ้นเคย

ผลผลิตของเบอร์รี่จะขึ้นอยู่กับฤดูกาลและคาดการณ์ลำบากว่าจะมากน้อยขนาดไหน จนกว่าจะเห็นดอก ซึ่งก็เป็นช่วงกลางเดือนมิถุนายน และถ้าปีไหนเกิดอาการเปลี่ยนและหนาวจัดในช่วงดอกออก ก็จะส่งผลเสียหายต่อปริมาณของเบอร์รี่ด้วย (เช่นกรณีปีที่เสียหายมากๆ ในปี 2552 ที่คนไทยต้องกลับบ้านมือเปล่าหรือพร้อมหนี้สินกันหลายพันคน)

การพาคนงานจากต่างประเทศเข้าไปเก็บเบอร์รี่

จุดเริ่มต้นของการพาคนต่างชาติเข้ามาเก็บเบอร์รี่ที่สแกนดิเนเวียร์ โดยเฉพาะที่ตอนเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์  เริ่มจากการท่ีหญิงไทยที่มาแต่งงานกับคนสวีเดนหรือฟินแลนด์ เชิญชวนของญาติให้มาเที่ยวและมาเก็บเบอร์รี่ 2 เดือนในช่วงหลังปักดำและระหว่างรอฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2530

แต่ด้วยเห็นรายได้อยู่ข้างหน้า โดยไม่ได้คิดค่านายหน้าอะไร เพียงแค่ญาติจ่ายค่าตั๋วและค่าใช้จ่ายกันมาเอง พอเห็นได้เงินเยอะ คนมาเก็บก็เลยลุยเก็บเบอร์รี่กันมากกว่ามาเที่ยว และพอได้เงินกลับเมืองไทยกัน ข่าวก็แพร่สะพัด หญิงไทยที่แต่งต่างชาติในพื้นที่ก็คิดหาประโยชน์ด้วย โดยการทำตัวเป็นนายหน้าจัดการเส้นทางและเก็บค่าหัวคิว อีกทั้งให้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งเก็บค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน อาหาร และรถเช่าคนเก็บเบอร์รี่ด้วย

เมื่อความโลภคนไม่เท่ากัน  วิถีนี้ก็ถูกเปิดโปงและร้องเรียนจากคนงานที่เสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

บริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ที่เริ่มเคยชินกับวิถีการทำงานราวกับทาส ไม่หยุดพักทั้งวันทั้งคืนของคนไทย ก็เลยลุกขึ้นมาต่อรองและจัดการระบบเอง แต่ไม่ได้ทำเอง อาศัยความเป็นผู้ซื้อรับประกันตัวแทนนายหน้า และอาศัยเงินหนา จัดซื้อโรงเรียนและรีสอร์ทเก่า รวมทั้งรถเก่าไว้รองรับคนงาน หารายได้เพิ่มด้วย แต่ในราคาที่คุมระหว่างกัน

ด้วยวิถีนี้ อุตสาหกรรมเบอร์รี่ในฐานะสมาคมผู้ซื้อร่วมกับบรรษัทจัดเก็บและขายเบอร์รี่ที่ตั้งตามมา จึงสามารถต่อรองโควต้านำเข้าคนเก็บจากต่างประเทศโดยเฉพาะอาศัยตัวแทนชาวไทยที่ชำนาญการและมีความเชี่ยวชาญเรื่องการพาแรงงานไปต่างประเทศมาช่วยหาคนและจัดการเรื่องการเดินทาง

เกษตรกรในที่ราบสูงของไทยจึงพากันเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ในวีซ่า “นักท่องเที่ยวจ้างงานตัวเอง หรือนักท่องเทียวนายจ้างตัวเอง”

จากไม่ถึงร้อยคนในปีที่เริ่มเปิด (2548) ก็พุ่งสูงขึ้นเป็นร่วมหมื่นคนในปี 2552 จนตกลงมาอยู่ที่ระดับ 6-7,000 คนในปัจจุบัน (ไม่รวมตัวเลขที่เดินทางมากับระบบญาติเหมือนเดิม ที่มีการคุ้มเข้มเรื่องวีซ่ามากขึ้น และต้องพิสูจน์ว่าเป็นญาติกันจริงๆ อีกประมาณปีละ 3,000 คน)

ส่งผลให้จำนวนเบอร์รี่ในอุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ ที่เก็บโดยคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2546 เป็น 80% ในปี 2552  และการเติบโตของอุตสาหกรรมเบอร์รี่ของทั้งสองประเทศ

หลังจากปัญหาวิกฤติเบอร์รี่ปี 2552 เมื่อคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยขายทุนกันเป็นจำนวนมาก สภาแรงงานที่สวีเดน และสหภาพแรงงานคอมมูนอล และสาธารณชน ได้กดดันให้รัฐบาลสวีเดนใช้ระบบสัญญาจ้างงานที่มีฐานค่าจ้างขั้นต่ำ และเงื่อนไขการทำงานสับดาห์ละ 40 ชั่วโมง ระบบสัญญาจ้างงานนี้เปิดให้ทั้งนายจ้างที่เป็นบริษัทสวีเดน (คนเก็บต้องถูกหักภาษีเงินได้ 25%) และบริษัทที่ประเทศไทยพามา (ได้รับการยกเวันภาษี) และระบบการจ้างงานนี้ใช้ครั้งแรกในปี 2553 (ระบบสัญญานี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก กรุณาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “รายงานการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ยังไม่จบ”)

สำหรับฟินแลนด์ยังคงใช้ระบบ “วีซ่านักท่องเที่ยวนายจ้างงานตัวเอง” อยู่  แต่รัฐจะเข้ามาสอดส่องดูแลมากขึ้นเรื่องคุณภาพการกินอยู่ และการขาดทุนของคนงาน และมีการต่อรองกันเรื่องการสร้างหลักประกันไม่ให้คนงานรับภาระความเสี่ยงและความเสียหายฝ่ายเดียวมากขึ้น (ในปี 2555 กระทรวงต่างประเทศฟินแลนด์ คาดการณ์ว่าจะมีคนเก็บเบอร์รี่มาฟินแลนด์ รวมทั้งคนงานฟาร์มเกษตร 12,000 คน เป็นคนไทย 3,000 คน (ดู Wonders in Finnish Forests)

กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่วิกฤติเบอร์รี่ปี 2552 ผลเบอร์รี่ไม่แน่นอน และคนที่จะได้เงินแบบถูกหวยและแจ็คพ๊อตแบบเก่าเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

“ฤดูกาลเบอรี่ปี 2553 ที่สวีเดนเริ่มร้อนแรง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู เมื่อมีการนำเสนอข่าวการประท้วงนายหน้า ของคนงานจีน 120 คน ในวันที่ 6 สิงหาคม ตามมาติดๆ ด้วยข่าวการประท้วงของคนงานเวียดนาม 70 คน ที่แปร ความโกรธแค้นไปสู่หัวหน้าแคมป์ ด้วยการทุบตีและขังพวกหัวหน้าไว้ในห้อง เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันที่ไม่รู้ว่า จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ที่กู้มาจ่ายค่านายหน้าเพื่อเดินทางมาสวีเดน คนเวียดนาม 150 จากจำนวน 290 คน ตัดสินใจหนีวีซ่าอยู่ต่อในยุโรปในฐานะคนงานผิดกฎหมาย

หนี้สินจากค่านายหน้าที่กู้ยืมมาสวีเดนของพวกเขาสูงถึง 60-100,000 บาท ซึ่งต้องทำงานกันเป็นปีหรือสองปี กว่าจะใช้หนี้เหล่านี้ได้หมด

บริษัทจัดหางาน (ในนามบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม) เกือบทุกบริษัทต่างก็มีคดีฟ้องร้องข้อหาหลอกลวง และฉ้อโกงกันโดยถ้วนหน้า  ในโฉมหน้าของนักฉ้อโกงคนจนที่ไร้ซึ่งการคุ้มครองใดๆ  กลไกภาครัฐต่างๆ กลับยังคง ให้การสนับสนุนบริษัทเหล่านี้ในการนำพาหรือสั่งนำเข้าเกษตรกรที่ยากจนให้เดินทางมายังยุโรปกันต่อไป”

การต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ในสวีเดนยังไม่จบ, ธันวาคม 2553

ลำดับขั้นตอนการหาคนงาน

เมื่อหมดฤดูกาล บริษัทที่ฟินแลนด์จะต้องทำรายงานรายได้ของคนเก็บเบอร์รี่ให้กระทรวงต่างประเทศ และยื่นความจำนองของโควต้าคนเก็บเบอร์รี่ในฤดูกาลถัดไป โดยสถานทูตจะดูว่ามีคนขาดทุนกันมากน้อยแค่ไหน และบริษัทมีคำอธิบายว่าอย่างไรบ้าง ทุกบริษัทต้องพยายามทำให้ยอดการขาดทุนในรายงานน้อยที่สุด เพื่อจะได้รับโควต้าในปีต่อไป

ในระหว่างการตระเวณพูดคุยกับสาย หัวหน้าและคนงานเมื่อปี 2553 มีการพูดถึงกันว่าแต่ละบริษัทจะมีวิถีการทำบัญชีแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง และการจ่ายเงินสูงเกินจริง โดยรวมจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าบริการต่างๆ ให้กับตัวแทนในประเทศไทยและทีมงานที่ถูกนำมาดูแลคนงานเข้าไปด้วย จึงทำให้ยอดเฉลี่ยรายได้สูงขึ้น แต่การจ่ายจริงจะไปกระจายต่อจากบัญชีที่เมืองไทย ซึ่งไม่ได้มีการรายงานโดยละเอียด ซึ่งนี่เป็นเพียงคำกล่าวที่ยังไม่เห็นมีการทำรายละเอียดการตรวจสอบเรื่องนี้ที่ชัดเจน เพื่อมันยืนยันถึงคำกล่าวนี้ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องดูทั้งยอดเงินเข้าบัญชีจริง และเงินจ่ายให้คนงานจริงที่เมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการตรวจสอบ

ข้ันตอนการจัดหาคนเก็บเบอร์รี่ที่พอแบ่งได้อย่างสังเขปคือ


1.   ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ บริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ (5-6 บริษัท) และบริษัทเก็บและขายเบอร์รี่ (4-5 บริษัท) ยื่นความจำนงขอโควต้าใหม่ (สถานทูตจะอนุมัติประมาณเดือนมีนาคม)

2.   บริษัทจะแจ้งรายชื่อตัวแทนบริษัทไปยังสถานฑูตที่ประเทศเพื่อเป็นผู้ติดต่อเรื่องการยื่นขอวีซ่าให้คนงาน

3.   นับตั้งแต่ฤดูกาลเก็บยังไม่สิ้นสุด ตัวแทนบริษัทจะเชิญชวนคนเก็บให้มาใหม่ และในเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม จะเริ่มเปิดประชาสัมพันธ์อีกรอบ พร้อมทั้งให้สายเริ่มหาคนงาน

4.   กุมภาพันธ์ เริ่มประเมินในระดับหนึ่งถึงจำนวนคนเก็บ เริ่มระดมเงินค่าใช้จ่าย โดยในปัจจุบัน บริษัทผ่านทางตัวแทนนายหน้าจะอำนวยความสะดวกด้วยการหาเงินกู้หรือคำประกันเงินกู้ให้

5.   ขั้นตอนที่ 5-6 จะทำไปด้วยกันคือ หาคน และเจรจาเงินกู้และการเตรียมเงินต่างๆ

6.   มิถุนายน ฝึกอบรมโดยบริษัทและกระทรวงแรงงานครึ่งวัน

7.   ต้นเดือนกรกฎาคม คนงานที่มาเก็บสตอร์เบอร์รี่ตามฟาร์มระหว่างรอฤดูเก็บเบอร์รี่เริ่มออกเดินทาง

8.  ปลายเดือนกรกฎาคม คนงานทั้งหมดทยอยออกเดินทาง

9.  สิ้นเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคม คนงานทยอยเดินทางกลับ

 

ค่าใช้จ่าย

ตัวเลขค่าใช้จ่ายนี่เป็นปัญหามากพอสมควร  เพราะเงินร้อยหรือสองร้อยยูโร (ห้าพันหรือแปดพันบาท) มีความหมายต่อเส้นการขาดทุนและกำไร โดยเฉพาะเมื่อต้องทำตัวเลขเล่านี้ให้หน่วยงานรัฐรับทราบด้วย เพราะถ้าเวลาลงเป็นเอกสารถึงหน่วยงานรัฐระบุว่าต้นทุนคนงานคนละ  3,200 ยูโร จึงมีความหมายมาก เพราะเส้นแบ่งการขาดทุน จะถูกปรับลงมาจากตัวเลขจริงมาเป็นค่าเฉลี่ย 3,200 ยูโร

ฝ่ายตัวแทนและบริษัทเบอร์รี่ก็จะพยายามแทงตัวเลขค่าใช้จ่ายให้ต่ำ โดย(อาจจะ) ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ ไว้ในรายงานให้กับรัฐทั้งหลาย

จากการคุยกับคนงานจำนวนมาก และคำนวณจากค่าใช้จ่ายจริงที่รู้กันอยู่แล้ว (โดยเฉพาะที่แคมป์) มันชัดเจนว่าค่าใข้จ่ายจริงแต่ละคนจะไม่ต่ำกว่า 3,500 ยูโร  ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ 1) การเสียค่านายหน้าเยอะกว่าปกติ เพราะถูกสายกินหลายทอด 2) ค่าน้ำมันรถวิ่งหาป่าเบอร์รี่ที่ต้องจ่ายเอง 3) ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการมา ทั้งซื้ออุปกรณ์ ยา และอาหารแห้ง และ4) ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารเสริม เครื่องดื่ม และบัตรโทรศัพท์ที่ฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งแน่นอนว่าแพงกว่าค่าครองชีพที่เมืองไทยหลายเท่า

นอกจากนี้ก็ยังมีตัวแปรเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในระดับ 40 บาทต่อยูโร ไม่ใช่ 45-46 ยูโรเช่นเมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมา)

นั่นหมายความว่าตัวเลขคนที่กลับบ้านมือเปล่า อาจจะลดลงเป็นจำนวนสูงเป็นร้อยเป็นพันคนได้ทีเดียว .. นี่เป็นมายาภาพ เรื่องค่าใช้จ่าย รายได้ และการรายงานรัฐ อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐจำต้องรู้เท่าทัน

โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการวางเป้าหมายว่ายอดรับได้ว่าไม่เสียหายไม่ให้ควรเกิน 10-20% การปรับลดตัวเลขต่ำกว่าจริง 300 ยูโร ก็จะลดจำนวนผู้สูญเสียได้เยอะ (ในกรณีปีที่มีการเสียหายเยอะ และเก็บไม่ได้ตามเป้าคุ้มทุน)

ตารางค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการรวบรวมและพูดคุยกับบริษัท นายหน้าและคนงาน

รายการใช้จ่าย สวีเดน (บาท) ฟินแลนด์ (บาท)
การเตรียมการและการเดินทาง    
ค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

 

ค่าบริการให้กับบริษัทตัวแทนตามข้อกำหนดที่บอกกับรัฐ

75,000 59,000- 67,000
ลงรายละเอียดที่จ่ายให้ตัวแทนบริษัท    
- ค่าวีซ่า 12,500 3,000
-ค่าบริการให้กับบริษัทตัวแทน    
- ค่าตั๋ว (ต่ำสุด-สูงสุด) 39,000-48,000 39,000-48,000
- ค่ารถเดินทางที่ประเทศเบอร์รี่ 7,700 5,000
- ค่าประกันภัย 2,300 2,300
- ค่าบริการนายหน้า 4,500 – 13,500 8,700 – 17,000
ค่านายหน้าที่จ่ายเองเพิ่มเติม 3,000 – 25,000 3,000 – 12,000
ค่าดอกเบี้ย 3% ต่อ 70,000 บาท x 3 เดือน 6,500 6,500
ค่าฝึกอบรม 700 – 1,000 700 -1,000
ค่ารถจากหมู่บ้าน-กรุงเทพฯ ไปกลับ 2,000 2,000
ค่าเตรียมการเฉลี่ย (ยา อุปกรณ์ กระเป๋า อาหารแห้ง) 3,000 5,000
รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ 84,000 – 109,500 71,500 – 76,500
ค่าใช้จ่ายที่ต่างประเทศ    
ค่าที่พัก + ค่าอาหาร + ค่ารถ

 

- สวีเดน วันละ 800 บาท x 75 วัน

- ฟินแลนด์ วันละ 720 บาท x 75 วัน

60,000 54,000
ค่าน้ำมัน (ลิตรละ 60 บาท) ตามระยะทาง เฉลี่ยคนละ 6,500 – 12,500 6,500 – 12,500
ค่าขนม บัตรโทรศัพท์ (อาทิตย์ละ 20 ยูโร = 800 บาท/อาทิตย์ ส่วนใหญ่คนงานจะเบิก) 6,500 6,500
รวมค่าใช้จ่ายที่ต่างประเทศ 73,000 -79,000 67,000 -73,000
รวมค่าใช้จ่ายทั้งฤดู (บาท) 155,000 – 180,500 138,500 – 149,500
รวมค่าใช้จ่ายทั้งฤดู (ยูโร  – 40 บาท = 1 ยูโร) 3,850 – 4,500 3,462 – 3,730

 

ระบบฟินแลนด์

การเจรจาต่อรองเพื่อกดดันให้กลุ่มสมาคมและอุตสาหกรรมผู้ซื้อเบอร์รี่ ร่วมรับผิดชอบดูแลคนงานเก็บเบอร์รี่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เมื่อสวีเดนปรับสู่วิถีสัญญาการจ้างงาน มีเงินเดือนแน่ชัด

แต่ที่ฟินแลนด์ยัง ใช้ระบบ “วีซ่านักท่องเที่ยวนายจ้างตัวเอง” อยู่ ทั้งๆ ที่ความจริงทุกคนก็รู้ว่าคนงานเก็บเบอร์รี่เหล่านี้ ไม่มีใครเป็นนายจ้าง และก็ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวด้วย

ทั้งนี้สถานทูตฟินแลนด์จะกำหนดวีซ๋า ให้แต่ละบริษัทที่ฟินแลนด์ที่ขอมาและอนุมัติให้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดกรณีความเสียหาย ทางรัฐบาลฟินแลนด์ได้มีมาตราการและเงื่อนไขให้บริษัททำตาม อาทิ เรื่องการเตรียมการเรื่องที่พัก รถยนต์ และการจัดเก็บค่าบริการและค่าหัวคิว รวมทั้งระบบประกันสุขภาพและอุบัติเหตุต่างๆ

ระบบนี้ยอมรับว่าความเสี่ยงเป็นของคนเดินทางมาเก็บเอง เพราะถือว่ามาเก็บเบอร์รี่ป่า อาหารสาธารณะที่ใครๆ ก็เก็บได้  แม้ว่าจะตระหนักกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่ออาหารสาธารณะอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ก็นำมาซึ่งปัญหาการเก็บไม่ได้ และส่งผลถึงปัญหากับคนท้องถิ่น และการต่อต้านจากสมาคมคนเก็บเบอร์รี่ท้องถิ่นไปด้วย

จนมีการออกกฎระเบียบเข้มงวดกับคนเก็บเบอร์รี่ชาวต่างประเทสมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการไม่เก็บในพื้นที่ส่วนบุคคลใกล้บ้านเรือน การเปิดปิดประตูเมื่อเข้าไปยังเขตกวางเรนเดียร์ และในปี ปี 2555 คนงานเก็บเบอร์รี่ต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บ cloud berry (หมากเหลือง) เนื่องจากเป็นเบอร์รี่ป่าที่มีราคาแพงและคนท้องถิ่นเก็บกันมาก

ทั้งนี้หมากเหลืองถือเป็นรายได้ที่สำคัญสำหรับหลักประกันว่าจะไม่ขาดทุน และแม้ว่าการจัดเก็บจะยากลำบาก คนเก็บเบอร์รี่ต่างต้องการเก็บหมากเหลืองกันทั้งนั้น

สหภาพคนทำงานต่างประทศ และนักการเมืองที่ห่วงใยปัญหาค้าแรงงาน สหภาพแรงงาน นักกิจกรรมเยาวชน นักวิชาการ ศิลปินที่ฟินแลนด์ จึงได้ผลักดันมาต่อเนื่องให้ธุรกิจเบอร์รี่ร่วมรับผิดชอบความเสี่ยงด้วยการ โดยจ่ายค่าเดินทางให้คนเก็บเบอร์รี่ หรือจัดบริการที่พัก อาหารและรถยนต์ให้คนงานโดยไม่คิดมูลค่า

แต่การเจรจาก็ยังไม่มีข้อยุติ

กระนั้น ก็ตามสื่อและสาธารณชนที่ฟินแลนด์ติดตามปัญหาคนเก็บเบอร์รี่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนงานไทยเสียหายจากฟินแลนด์ จนต้องตัวกันประท้วงเรียกร้องความรับผิดชอบจากสมาคมผู้ค้าเบอร์รี่ในปีนี้ ก็แน่นอนว่าจะได้รับการสนับสนุนและหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานและสาธารณชนที่นี่ อย่างแน่นอน

บริษัทรับซื้อเบอร์รี่ 6 บริษัทได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ปีนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงให้คนเก็บเบอร์รี่ระมัดระวังไม่เข้าไปรบกวนการล่าและไล่ตอนฝูงกวางเรนเดียร์ บริษัทจะสั่งห้ามคนเก็บเบอร์รี่ไม่ให้เข้าไปอยู่ในเส้นทางเรนเดียร์ และสอนให้คนเก็บเบอร์รี่ให้ความเคารพต่ออุสาหกรรมเรนเดียร์ อาทิ ปิดประตูเข้าป่าเรนเดียร์ทุกครั้ง ให้เก็บเบอร์รี่ห่างใกล้จากบ้านประชาชน ตลอดจนห้ามเก็บ cloud berry (หมากเหลือง) และห้ามวิ่งบนถนนที่เป็นเส้นทางส่วนบุคคล

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคนงานเก็บเบอร์รี่และเจ้าถิ่น ซึ่งปีที่แล้วคนเก็บเบอร์รี่มาจากไทยและยูเครน (New rules for foreign berry-pickers in Lapland)

ระบบสวีเดน

ด้วยขนาดของคนเก็บเบอร์รี่สูงกว่าที่ฟินแลนด์ และมีคนงานประท้วงจนเป็นปัญหาทุกปี สหภาพ ภาคประชาชนและรัฐบาล จึงเจรจากับสมาคมพ่อค้าเบอร์รี่ได้สำเร็จให้หันมาใช้ระบบสัญญาจ้างงานแทนระบบการให้บริษัทไทยนำคนงานเข้ามาเก็บเบอร์รี่ตามข้อผ่อนปรนพิเศษเรื่องการจ้างงาน

ระบบสัญญาจ้างงานเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งสหภาพแรงงานคอมมูนอลของสวีเดนต้องร่วมแสตมป์รับรองสัญญาของแต่ละบริษัทด้วย  โดยสัญญาจะระบุระยะเวลา เงินเดือน และชั่วโมงการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องการจ่ายเงินล่วงเวลา โดยคนงานจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาและอยู่กินด้วยตัวเอง

ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาและเงินเดือน เดือนละ 80,000 บาท คนงานจะไม่เหลือเงินเก็บบ้านเกินสองหมื่นบาท

ถือว่าไปทำงานและไปเที่ยวสวีเดน

แต่ความเป็นจริง ไม่มีคนเก็บเบอร์รี่คนใดยอมไปทำงานด้วยสัญญานี้ เพราะพวกเขาก็รู้ว่าจะไม่มีเงินเหลือ บริษัทต่างๆ จึงทำสัญญาฉบับสองระหว่างกันเอง หรือทำสัญญาปากเปล่ากับคนเก็บเบอร์รี่ว่า ถ้าเก็บได้ตามเป้าแล้วจะคำนวณเงินให้ตามกิโลกรัมที่เก็บได้เกิน หรือไม่ก็บอกว่า จะรับซื้อเบอร์รี่ที่เก็บได้ในช่วงวันหยุดและคำนวณเป็นเงินเพิ่มเติมจากเงินเดือน

แต่กรณีของคนงานลอมโจ้แบร์ 156 คนในปี 2553 ได้แสดงให้เห็นว่า สัญญาปากเปล่าเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติตาม และเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น พวกคนงานก็ยังต้องรับภาระความเสียหายเอง

ในวิถีสัญญานี้ นายหน้าชาวไทยบอกว่า บริษัทที่พาคนงานไปทั้งไทยและสวีเดน ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะได้เบอร์รี่มากขึ้น และจ่ายน้อยลง และคนงานก็ยังเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่เหมือนเดิม

สัญญานี้จึงไม่สะท้อนความจริงของอุตสาหกรรมและกระบวนการทำงานของคนงาน และทำให้คนงานเก็บเบอร์รี่เก่าและเก่งที่คุ้นเคยกับสวีเดน จะเริ่มหันมาเดินทางไปกับเครือญาติมากขึ้น หรือหันเหทิศทางมายังฟินแลนด์

แต่ระบบสัญญาแบบสวีเดนจะมีประโยชน์กับคนที่ไม่เคยเก็บเบอร์รี่มาก่อนเช่นกัน เพราะถ้าเก็บไม่ได้ เก็บไม่เก่ง ก็จะไม่ขาดทุนเป็นแสนเหมือนอดีตที่ผ่านมา อาจจะขาดทุนหมื่นสองหมื่นบาท หรือเสมอตัว

คนงาน 156 คนที่ถูกนายจ้างเชิดเงินหนีไปหมด จนต้องประท้วงเพื่อค่าจ้างค้างจ่าย, ตุลาคม – ธันวาคม 2553

สภาพการทำงานเก็บเบอร์รี่ป่า (กลางเดือนกรกฎาคม – สิ้นเดือนกันยายน)

เดือนกรกฎาคม – คนงานที่มาเก็บสตอเบอร์รี่จะถูกส่งไปยังฟาร์มต่างๆ โดยทำอาหารกินเอง และได้ค่าแรงตามจำนวนกิโลกรัมที่เก็บได้ หรือรับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน   แต่รายได้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดฟาร์ม ไม่แน่นอน และด้วยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ทำให้งานนี้เป็นงานเสริมรายได้จากเบอร์รี่ป่า

กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือน เป็นช่วงเก็บลักกะ หรือที่คนงานไทยเรียกหมากเหลือง และภาษาอังกฤษ เรียกว่า cloud berry  ซึ่งเป็นการเก็บที่ยากลำบากมากที่สุด ต้องเก็บด้วยมมือ ต้องใส่บู๊ต และมุ้งคลุมหัวกันยุงเดินลุยหนองเก็บตลอดวัน (ยุงเขตเหนือของฟินแลนด์ขึ้นชื่อมากในความชุมและร้าย และจะจู่โจมแบบฝูงผึ้ง – คนที่แพ้มากๆ ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลกันทุกปี) 

ด้วยความยากลำบากในการหาแหล่งและเดินเก็บ ทำให้่จะได้จำนวนกันไม่มากนักต่อวัน ราคาซื้อต่อ กก. จึงสุงที่สุด จะตกอยู่ที่ 8-10 ยูโร/กก. วันหนึ่งเก็บกันได้ไม่กี่กิโล) 
ช่วงนี้คนงานจะออกจากแคมป์ตั้งแต่ตีสองและกลับเข้าแคมป์ห้าทุ่มเที่ยงคืน (จะเป็นช่วงที่พวกเขาพักผ่อนน้อยมาก)

อาทิตย์สุดท้ายของเดือนกรกฎา จนถึงกลางเดือนกันยายน จะเป็นช่วงฤดูการเก็บบลูเบอร์รี่ที่เป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งที่ฟินแลนด์เรียกว่า มูสติกา และคนงานไทยเรียกหมากดำ นับตั้งแต่คนงานไทยมาเก็บเบอร์รี่ป่าเป็นลำเป็นสัน ราคาบลูเบอร์รี่จะอยู่ระหว่าง 1.5 -2.3 ยูโร/กก.

ช่วงนี้คนงานจะออกจากแคมป์ประมาณตีสามตีสี่ และกลับเข้าแคมป์สี่ห้าทุ่ม คันล่าสุดที่กลับเข้าแคมป์ที่ผู้เขียนประสบด้วยตัวเองคือห้าทุ่มครึ่ง (และได้เห็นพวกเขาออกจากแคมป์ตอนตีสี่)

พอต้นเดือนกันยายนจนถึงสิ้นสุดฤดู ก็จะเริ่มเก็บ Lingon berry ฟินแลนด์เรียกปุลักกะ และคนงานไทยเรียกหมากแดง ราคาซื้อจะอยู่ระหว่าง 80 เซ็นต์ – 1.3 ยูโร/กก. เป็นเบอร์รี่ที่มีเยอะที่สุด และเก็บจำนวนกิโลต่อวันได้สุงสุด

ช่วงนี้อากาศจะหนาวเย็นและเริ่มสว่างช้า คนงานจะออกจากแคมป์ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า สายสุด 7 โมงเช้า และช่วงทุ่มหรือสองทุ่มก็ทยอยกลับแคมป์

พอปลายเดือนกันยายน ก็เริ่มหนาวมาก บางปีหิมะตก ก็จะไม่ค่อยมีให้เก็บแล้ว นอกจากคนทรหดจริงๆ

คนงานจะทยอยเดินทางกลับบ้านในช่วงปลายเดือนกันยาและตลอดสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม

คนงานกลุ่มนี้นำโดยคนเก็บเก่าคนที่เคยได้เงินกลับบ้านปีละหลายหมื่น แต่ในปี 2553 ทั้งทีมขาดทุนทุกคนและยังต้องกลับไปใช้หนี้ค่านายหน้าอีกคนละหมื่นหรือสองหมื่นบาท

 

 

สภาพปัญหา

เรื่องการไม่ได้ผักผ่อน ทำงานหนัก และอุบัติเหตุ

เนื่องจากการนอนรวมกันบนเตียงสองชั้น ในห้องที่แน่นและอับเพราะไม่มีการเปิดหน้าต่างกันเลย เนื่องด้วยอากาศหนาวเย็น ในขณะที่เวลานอนกันวันละไม่กี่ชั่วโมง และมักจะต้องออกจากแคมป์กับเพื่อนๆ เนื่องจากคนงาน 4-8 คน จะต้องแขร์รถยนต์คันเดียวกัน

คนที่นอนหลับยากจึงจะมีปัญหาเรื่องเสียงและไฟรบกวนจากเพื่อนๆ ร่วมห้องได้

คนงานทุกคนอยู่ในสภาพอิดโรย ส่วนใหญ่ก็อาศัยหลับไปในระหว่างอยู่บนรถ แต่คนขับรถหลับไม่ได้ และก็เก็บเบอร์รี่เหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน (คนขับรถจะได้รับสิทธิไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน)

การหาแหล่งเบอร์รี่ป่า คนขับทั้งหลายและลูกทีมจะต้องช่วยกันอ่านแผนที่และขับรถตามแผนที่ตระเวณทั่วเขตป่าเขา ในรัศมีหลายร้อยตารางกิโลเมตร เพื่อหาแหล่งเบอร์รี่ที่อยู่กระจายทั่วพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นทุกปี จนพิการ แขน ขาหัก ทั้งเนื่องจากการทำงานหนัก พักผ่อนน้อย จนคนขับหลับใน เผลอ หรือขับรถชนกวางและลีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่จะวิ่งข้ามถนนบ่อยๆ ในพื้นที่ป่าเหล่านั้น

ครอบครัวเกษตรกรฟินแลนด์ที่ภาคเหนือที่อยู่ใกล้แคมป์คนงาน ที่เราไปพักค้างคืนด้วย เล่าว่า รถคนงานขับชนรั้วบ้านเขาพัง แต่พอสอบถามคนงานก็ทราบว่าคนขับหลับในเพราะนอนเพียงสองชั่วโมงเมื่อคืน เขาไม่เอาเรื่องคนงาน และก็เล่าให้ผู้เขียนฟังด้วยความสะท้อนใจว่า “พอหัวหน้าคนไทยเดินทางมาถึง แทนที่จะถามห่วงใยอาการของคนงาน กลับสนใจแต่รถว่าเสียหายแค่ไหน

เกษตรกรฟินน์ครอบครัวนี้บอกว่า ดีใจที่มีคนงานมาเก็บเบอร์รี่ ทำให้เมืองไม่เงียบเหงา และพวกเขายังไม่ช่วยบริษัทที่มาเช่าโรงเรียนในชุมชนเป็นที่พักคนงานยกลังเบอร์รี่ลงจากรถเก็บไว้ที่แคมป์เพื่อรอรับคนงานเลย

พร้อมทั้งบอกว่าสงสารคนงาน เพราะสภาพการดูแลและใส่ใจคนงานของบริษัทเหล่านี้ไม่ดีเท่าไร และบางคนในชุมชนที่เข้าใจ ก็พยายามไปเยี่ยมและพูดคุยกับคนงานแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง และก็หาโอกาสเจอคนงานยากมากเนื่องจากคนงานจะออกจากแคมป์แต่มืดและกลับถึงแคมป์ดึก  ไปหาตอนกลางวันก็ไม่เจอใคร

อาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเฉพาะไอ ไข้ และปวดเมื่อยตามเนื้อตัว

การทำงานที่ต้องเดินลุยหนอง ขึ้นเขา ข้ามเขา แบกถังเบอร์รี่ลงจากเขาบางครั้งก็หลายกิโลเมตร และในระหว่างเก็บต้องก้มๆ เงยๆ ตลอดทั้งวัน รวมทั้งอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น และฝนตกบ่อยๆ (โดยในเดือนแรกคนงานบอกว่า “ตกเกือบทุกวัน”) แต่พวกเขากลับสวมใส่เสื้อผ้าบาง ทั้งนี้คนงานบอกว่า “พอเริ่มเก็บเบอร์รี่มันก็จะร้อนแล้ว”  ทำให้สภาพร่างกายต้องปรับเปลี่ยนอุณหภูมิตลอดเวลา คนงานจึงจะมีปัญหาปวดเมื่อยเนื้อตัวกันทุกคน และเป็นหวัด เป็นไข้ต่ำ ไอและจามกันมาก  และถ้าคนหนึ่งเป็นก็จะลามติดคนงานคนอื่นๆ ได้ด้วยเพราะนอนห้องเดียวกัน

ทุกแคมป์ที่ไปเยี่ยม ไม่มีห้องปฐมพยาบาลหรือห้องพักคนงานที่ป่วยให้แยกไปนอน แม้จะมีคนงานเป็นร้อยคนก็ตาม ทำให้ไม่สามารถแยกคนป่วยออกจากคนงานทั่วไปได้ – นอกจากส่งไปโรงพยาบาลซึ่งก็มักจะไม่ใช่การนอนรักษายาว และไม่มีใครอยากนอนโรงพยาบาลเกิน 1 หรือ 2 วัน

นอกจากนี้คนงานที่ลุยเก็บหมากเหลืองก็จะเจอยุง โดนต่อยกันทุกคน ถ้าคนแพ้ก็จะหน้าบวมเป่ง หรือขนาดต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

เรื่องการลื่นล้มเป็นเรื่องปกติของสภาพการทำงานที่เกือบทุกคนอาจจะต้องพบพาน

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องบู๊ทกัดเท้า เพราะพวกเขาต้องสวมใส่รองเท้าบู๊ทเดินทั้งวัน ผ่านไปเดือนหนึ่งก็เท้าก็จะเริ่มระบมและเล็บขบ หรือเล็กหายเพราะการถูไถกับบู๊ทตลอดเวลา คนงานจำนวนไม่น้อย  กลับบ้านด้วยสภาพเล็กเท้ากุด และใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการคืนสภาพเดิม

การกินยาปฏิชีวนะมากเกินไป

เนื่องจากการเจ็บป่วยถึงขนาดนอนพักเป็นเรื่องที่ไม่มีคนงานคนใดปรารถนา เพราะนอกจากไม่ได้เงินแล้ว ยังต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายประจำวันที่แคมป์ด้วย ทำให้คนงานทุกคนจะกินยากันมาก ทั้งยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ แก้ปวดท้อง  และยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อแก้ปวดเมื่อย ที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองไทยกัน กินเกือบทุกวันราวกับกินลูกอมตลอดฤดูกาล

ไม่สบายก็จะเร่งกินยาหรือให้หมอฉีดยา เพื่อจะกลับไปเก็บเบอร์รี่ต่อ

ความเครียด

 

ไม่เก็บเบอร์รี่ 1 วันติดลบ 2-3,000 บาท

ความเครียดจึงเป็นเรื่องที่คนงานต้องอยู่กับมันตลอดเวลา บางแคมป์เข้มงวดมากขนาดไม่ส่งเสริมให้คนงานคุยกัน หรือไปเยี่ยมเยียนหากัน ส่วนใหญ่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ คนงานบางคนจะแอบซื้อเบียร์และเหล้าว๊อดก้ามาแอบดื่มกัน

ยิ่งถ้ายังเก็บไม่ได้มาก ทุกคนก็จะเครียดกันมาก คนงานบอกว่า “ไม่มีเวลาดูความสวยงามอะไรเลย นอกจากเห็นลูกเบอร์รี่เป็นเงินเท่านั้น”

มันเป็นสภาพการทำงาน 2 เดือนที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเห็นมา พวกเขาต้องทำงานตั้งแต่ตีสามตีสี่ จนถึงสี่ห้าทุ่มเกือบทุกวัน งานที่คนเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์บอกว่า “โหดแต่มันเป็นงานของเราเอง”

นี่คือสภาพของ “นักท่องเที่ยวนายจ้างงานตัวเอง” ที่ระบุในคำนิยามของคนเก็บเบอร์รี่ชาวต่างชาติ ที่มาฟินแลนด์ แต่พวกเขาที่ไม่สามารถเป็นนายจ้างตัวเอง หรือเป็นนักท่องเที่ยวได้เลยแม้แต่วันเดียว (ยกเว้นก่อนกลับ จะมีการพาคนงานแวะดูเสื้อผ้ามือสองและซื้อมือถือโนเกีย (ซึ่งคนงานบอกว่าเป็นของแท้คุณภาพดีกว่าโนเกียที่ประเทศไทย)

คนงานส่วนใหญ่จะถูกพาจากสนามบิน ไปยังเขตเบอร์รี่ที่อยู่ทางตอนเหนือจากเมืองหลวงของสองประเทศหลายร้อยกิโลเมตร และถูกนำส่งสนามบิน โดยที่ไม่มีโอกาสได้เห็นโฉมหน้า สต๊อกโฮม เมืองหลวงของสวีเดน และเฮลซิงกิเมืองหลวงของฟินแลนด์ แม้แต่น้อย นอกจากเห็นผ่านทางกระจกรถยนต์

อาหารการกิน

การยืนกิน นั่งยองๆ กิน กินกันอย่างเร่งรีบ กินอาหารมือละอย่างหรืออย่างมาก 2 อย่าง อาศัยเหยาะพริกน้ำปลาไปเยอะๆ ก็กินกันได้แล้ว หรือกระทั่งเดินกินไปด้วย พร้อมเก็บเบอร์รี่ไปด้วย เป็นสภาพที่พวกเขาบอกว่าเรามาทำงาน ไม่ได้มากิน ต้องอดทนเอา

เรื่องอาหารก็เป็นปัญหามากเช่นกัน ทั้งเรื่องกินไม่เป็นเวลา กินอาหารซ้ำไปซ้ำมาไม่กี่ชนิดตลอดฤดูกาลส่วนมากทำจากไก่ ขาหมู แฮม ไข่ และผักไม่กี่ชนิด หลักๆ คือ กระหล่ำปลี แครอท แตงกวา และมันฝรั่ง และเนื่องจากคนงานต้องพกอาหารไปทานในป่าถึง 2 ม้ือคือมื้อเช้ากับมื้อเที่ยง กว่าจะได้ทานกัน อาหารก็เย็นจัดแล้ว คนงานที่รู้จักสภาพป่า จึงหาอาหารเสริมจากเห็ดป่าและพุงสัตว์ที่ทิ้งไว้โดยคนล่าสัตว์ และก่อกองไฟต้มทำกันในป่า แต่การก่อกองไฟในป่าก็เป็นกฎข้อห้าม คนงานจึงต้องลักลอบทำกัน ถ้าแคมป์รู้ก็จะถูกตักเตือน

หรืออีกวิธีการหนึ่งที่พอช่วยได้ คือ การเอาน้ำร้อนจากแคมป์ใส่กระติกน้ำร้อนเอาไปชงมาม่ากินในป่า

คนงานส่วนใหญ่จึงจะมีน้ำหนักลดมาก ตั้งแต่ 2-3 กก. ถึงขนาด 10-20 กก. ทีเดียว สามีที่มากับภรรยา พูดแซวว่า พาเมียมาลดน้ำหนัก  – ใครอยากให้ภรรยาลดน้ำหนักต้องพามาเก็บเบอร์รี่”

ความขัดแย้งกับคนท้องถิ่น

ที่ฟินแลนด์เนื่องจากอาหารป่าอันได้แก่ เบอร์รี่ป่า และเห็ดต่างๆ ถึือเป็นทรัพย์สินสาธารณะ ที่ใครจะเก็บก็ได้ แต่เมื่อมีการจัดทำธุรกิจเพื่อเก็บอาหารป่าเหล่านี้ ความตึงเครียดและคำถามจึงเกิดขึ้นจากสาธารณชนต่อบริษัท และท่าที่ที่ไม่เป็นมิตรของคนฟินน์บางคนก็เลยมายังคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยด้วย ที่ต้องเข้าพื้นที่ป่า และพื้นที่กวางเรนเดียร์ที่ทำคอกล้อมไว้หลวมๆ ทั่วพื้นที่

คนเก็บเบอร์รี่จึงต้องระวังท่าทีไม่เป็นมิตรทั้งหลาย และต้องอดทนและหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนท้องถิ่น ความรุนแรงยังอยู่ในระดับ ถูกไล่ออกจากพื้นที่ ปล่อยยางรถยนต์ ให้หมาไล่ หรือยิงปืนขู่ แต่ไม่ใช่คนท้องถิ่นจะโหดร้ายกันทุกคน คนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยก็รู้ว่าคนเก็บเบอร์รี่มาทำงานที่พวกเขาไม่ทำแล้ว และรู้สภาพความยากลำบากในงานนี้เป็นอย่างดี จึงส่งผ่านความห่วงใยและมิตรภาพมาให้กับคนงานไทย อีกทั้งยังทักทายและยิ้มให้ รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องเบอร์รี่บ้างก็มี

ในปี 2555 (ตามที่อ้างแล้วข้างบน) จึงมีการออกกฎที่คุมเข้มมากขึ้นเรื่องพื้นที่ที่ให้คนเก็บเบอร์รี่จากต่างชาติเข้าไปเก็บได้ ทั้งต้องอยู่ห่างจากบ้านเรือนชาวบ้าน ชุมชน ดูแลปิดรั้วเมื่อเข้าไปในพื้นที่ป่ากวางเรนเดียร์ และห้ามเก็บ cloud berry ซึ่งเป็นเบอร์รี่ที่คนท้องถิ่นเก็บกันมาก และราคาแพงที่สุด เป็นต้น

มายาภาพ

มีคนว่างงานที่สวีเดนและฟินแลนด์ประเทศละกว่าสามแสนคน ที่อยู่กินด้วยเงินว่างงานจากภาษี และที่ภาคเหนือของฟินแลนด์มีคนว่างงานถึง 25% แต่ไม่มีใครยอมทำงานเก็บเบอร์ รี่ ต้องนำเข้าจากประเทศไทย ที่ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายแสนแพงเพื่อเงินไม่กี่หมื่นบาท หรือกว่าครึ่งบางปีต้องกลับบ้านมือเปล่า และต้องไปใช้หนี้นาย หน้าที่กู้เงินต่ออีก

ไม่ใช่คนท้องถิ่นไม่ต้องการเก็บเบอร์รี่ แต่เมื่ออุตสาหกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมข้ามชาติ ผูกโยงกับกลไกตลาดโลก และพึ่งพิงคนงานต่างชาติในการเก็บ ราคาเบอร์รี่ถูกลงมาก จนคนท้องถิ่นบอกว่าไม่คุ้มค่าเหนื่อย และกอรปกับร้านค้ารับซื้อรายย่อยก็ปิดกิจการไปหมด เพราะสู้กับพ่อค้าเบอร์รี่ยักษ์ใหญ่ไม่ได้ สัดส่วนของเบอร์รี่ที่เก็บโดยคนท้องถ่ินในตลาดจึงลดลงเรื่อยๆ และสัดส่วนของเบอร์รี่ในอุตสากรรมที่เก็บโดยคนไทยจึงสูงขึ้นจนถึงระดับ 80% นับตั้งแต่ปี 2552

พวกตัวแทนที่ต้องพึงสายและคนเก็บเบอร์รี่เก่าในการช่วยหาคน จะดูแลเอาใจพวกสายและคนเก็บคนเก่ามากพอสมควร และจะให้ให้พวกขาเก่าเดินทางก่อน 2 อาทิตย์ เพื่อเก็บหมากเหลือง (cloud berry) ซึ่งเป็นตัวที่ทำกำไร (และมีอายุเก็บแค่ 2 อาทิตย์) แต่ปีนี้ที่ฟินแลนด์ ห้ามคนไทยเก็บตัวนี้แล้ว (ผู้เชียนเจอกับแชมป์เก็บ cloud berry เจ้าถิ่นเมื่อปีที่แล้ว (2554)  บอกว่าถ้าเจอคนไทยมาเก็บหมากเหลืองในบริเวณใกล้เคียง ใครจะประกันว่าจะไม่มีอุบัติเหตุปืนลั่น)

เทคนิค กลไกง การปิดบังความจริง หรือพูดความจริงไม่หมดคือความเชี่ยวชาญของขบวนการค้าแรงงานไปทำงานต่างประเทศของไทย

ต้องเป็นประเทศที่โหดร้ายและไม่รักประชาชนจริงๆ ถึงยอมปล่อยให้คนของตัวเองมาถูกเอาเปรียบที่ต่างแดนมากมายเช่นนี้ . .

คนงานเวียดนาม และคนงานจีน มาปีเดียวก็เข็ดประท้วงกันทั้งสองประเทศ เพราะคิดว่ามาเก็บเบอร์รี่ฟาร์ม แต่พอต้องมาเดินเก็บตามป่าและงานยากลำบากเช่นนั้น ก็ประท้วงกันทันทีถึงขนาดจับหัวหน้าแคมป์ขังและทุบตีทำร้าย

นอกจากนี้พวกเขายังมีคดีหนีวีซ่าอยู่ยุโรปต่อด้วย ทำให้การขอวีซ่าจากจีนและเวียดนามเข้มงวดกว่าไทย และรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ไม่ส่งเสริมเพราะมีข่าวคนถูกหลอกจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูงเกินไปกับการทำงานระยะสั้น

แต่นายหน้าและสายคนไทยเชี่ยวชาญกว่ามากเรื่องการทำ “ตลาดค้าฝัน” แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันหลายทอดจากสมาคมผู้ซื้อเบอร์รี่ มาสู่บริษัทเก็บเบอร์รี่ สู่ตัวแทนชาวไทย สู่สายและคนงานเก่า จนมาสู่เกษตรกรที่ราบสูง ที่ได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนและการโฆษณาเกินจริง จนยอมเดินทางมาเก็บเบอร์รี่

มายาภาพที่ไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจัง มีแต่เพียงคำพูดลมปากว่า “คนโน้นได้แสน คนนี้ได้หลายหมื่น” โดยไม่รู้ว่า “คนโน้น” “คนนี้” คือใคร และมีกี่คนกันแน่

ตามที่ประเมินจากการคุยกับผู้เสียหายหลายร้อยคน นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ต่างก็ประเมินว่าคนเสียหายมีมากกว่าครึ่ง

มายาภาพเรื่องมาทำงานประเทศที่ให้การคุ้มครองแรงงานสูง

กฎหมายแรงงาน กฎหมายการดูแลผู้ว่างาน และและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์นั้นคุ้มครองประชากรของตัวเองสูงมากที่สุดในโลก และคนงานเกือบทั้งประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานต่างๆ สหภาแรงงานจะมีทนายของตัวเองช่วยเหลือสมาชิกฟ้องร้องนายจ้างกรณีถูกละเมิดสิทธิ ทำให้การคิดจะเอาเปรียบคนงานในประเทศตัวเองเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะถ้าคนงานนั้นเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

ธุรกิจเบอร์รี่ระยะสั้น ถ้าต้องการได้เบอร์รี่มาก และกำไรงาม จึงทำตามประเทศทั่วไป คือการพาคนงานต่างชาติเข้ามาเก็บ ซึ่งเป็นคนงานต่างชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิพวกเขาจึงถูกทำให้ยืดหยุ่นไปกับผลประโยชน์ของประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ที่ได้กำไรจากอุตสาหกรรมกรรมที่กำลังเติบโตนี้ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่จ่ายภาษีให้รัฐบาลที่นี่

สส. ท่านหนึ่งที่เราไปพบที่ภาคเหนือของฟินแลนด์บอกว่า บริษัทเบอร์รี่คือผู้บริโภคไฟฟ้าสูงที่สุดในเมือง และจ่ายภาษีคิดเป็น 37% ของภาษีที่จัดเก็บได้ในเมืองนั้นที่ดูแลคนว่างงานถึง 25% (เราทราบกันแล้วว่า 80% ของเบอร์รี่จัดเก็บโดยคนงานไทยที่ไม่ได้ประโยชน์จากภาษีเหล่านี้เลย)

ด้วยความซับซ้อนแห่งผลประโยชน์ที่ประเทศเบอร์รี่ได้รับ ทำให้ความคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานในประเทศเหล่านี้จำต้องยืดหยุ่นตามผลประโยชน์ไปด้วย

ในช่วงการไปพบปะกับเกษตรกรและเยาวชนที่ภาคเหนือของฟินแลนด์ หลายคนสงสารคนงานและอยากช่วยเหลือคนงานไทย

 

ชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายที่สวีเดนและฟินแลนด์

ทำงานวันละ 12-20 ชั่วโมง ห้ามป่วย ป่วยห้ามพัก ถ้าต้องพักห้ามเกิน 1 วัน. นี่คือวิถีการทำงานตลอดฤดูกาลเก็บเบอร์รี่

อาจจะเปรียบเทียบได้ว่าคนงานเหล่านี้ทำงานวันละ 2 กะ 3 กะ ตามชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ชั่วโมงต่อกะ อย่างต่อเนื่องและยาวนานติดต่อกัน 2 เดือน

ลองนึกสภาพดูก็แล้วกันว่า พวกเขาจะมีสภาพเช่นไรในการทำงานที่ไม่ได้พักผ่อนเลยต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้!

ผู้เขียนได้พยายามนำเสนอเรื่องสภาพการทำงานตามจริงของคนงานเบอร์รี่ที่รับฟังจากคนงานหลายร้อยคน  และทำข้อมูลชั่วโมงการทำงานจริงของคนงานลอมโจ้แบร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเงื่อนไขนี้ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน

มายาภาพเรื่องหอบเงินกลับบ้านกันไม่ไหว

ผู้ซื้อเบอร์รี่บอกว่า คนงานได้เงินเยอะมาก จนเกรงว่าจะหอบเงินกลับบ้านไม่ไหว

ฤดูกาลเบอร์รี่นั้นสั้นและต้องเก็บให้ได้มากที่สุด แน่นอนธุรกิจเบอร์รี่อยากได้เบอร์รี่มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ และไม่มีปัญหาในการซื้อเลย แต่นี่ไม่ใช่การเก็บเบอร์รี่ในฟาร์ม มันเป็นการเก็บในป่าที่เบอร์รี่อยู่กระจาย และจะมีดกเป็นจุดๆ แล้วแต่จะหาเจอกัน ดังนั้นรายได้จึงขึ้นอยู่กับโชค ฤดูกาลของปีนั้น และความพยายามทำงานต่อเนื่องได้ยาวนานของคนเก็บ

เมื่อประเมินจากข้อมูลได้รับจากคนงานที่พบทั้งจากการลงไปเยี่ยมที่ทั้งแคมป์ และที่บ้านในอีสาน (มีบันทึกไว้ในสารคดีที่เกี่ยวข้องถึง 3 เรื่อง) พอจะสรุปกลุ่มคนที่ “ได้หรือเสีย” จากงานเก็บเบอร์รี่ดังนี้

  1. กลุ่มที่ 1 ตัวแทนนายหน้าที่ได้รับใบรับรองจากบริษัทเบอร์รี่ให้ติดต่อกับสถานฑูตเพื่อการทำเรื่องขอวีซ่าต่างๆ (ประมาณ 20-30 คน) จะได้ค่าบริการ ค่าเงินพิเศษต่างๆ และผลตอบแทนจากบริษัทเบอร์รี่ (ซึ่งไม่แน่ชัดว่ามีอะไรบ้าง เพราะทั้งบริษัทและตัวแทนต่างก็บอกว่าไม่ได้ประโยชน์อันใดเลยระหว่างกัน – ราวกับเป็นการทำกิจกรรมการกุศลกันเลยทีเดียว)
  2. กลุ่มที่ 2 ลูกทีมที่มาดูแลคนงานกับตัวแทนนายหน้า (แคมป์ละ 3-4 คน (หัวหน้าแคมป์ พ่อครัว/แม่ครัว ช่างยนต์ และคนชั่งเบอร์รี่หรือล่าม) มีรวมกันสองประเทศ น่าจะไม่ต่ำกว่า 100 คน จะได้เงินเหมาทั้งฤดูประมาณ 60-000 – 80,000 บาท ยกเว้นช่างที่อาจจะได้เยอะกว่านั้น)
  3. กลุ่มที่ 3 สายและคนเก็บเก่า ถ้าหาคนงานมาได้เยอะ สายพวกนี้ก็จะลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวไปได้มาก ทำให้กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มากกว่าคนงานใหม่ หรือถ้าขาดทุนก็จะไม่ขาดมากนัก กลุ่มนี้น่าจะมีประมาณ 40% ่ของคนงานเก็บเบอร์รี่ทั้งหมด (ประมาณ 2,000 คน)
  4. กลุ่มที่ 4 คนเก็บใหม่ จะเปลี่ยนหน้ามาเรื่อยๆ ปีละประมาณ 60% หรือปีละไม่ต่ำกว่า  4,000 – 5,000 คน เป็นกลุ่มเสี่ยง และส่วนใหญ่ก็จะมาครั้งเดียว ปีต่อมาก็จะหาเหยื่อจากชาวบ้านหมู่บ้านใหม่ไปเรื่อยๆ  (เมื่อรวมตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มคนงานใหม่เหล่านี้น่าจะเป็นเกษตรกรที่อาจจะสูงถึงสองหมื่นคนทีเดียว … ที่มาครั้งเดียวก็ตัดสินใจไม่มาอีกแล้ว)
  5. กลุ่มคนเก็บที่มาด้วยตัวเอง ประมาณการไม่ได้ว่ามีเท่าไร แต่ไม่น่าจะต่ำกว่าฤดูกาลละ 2,000 – 3,000 คน ทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทเบอร์รี่ทั้งสองประเทศจะมีตัวแทนในประเทศไทย โดยตัวแทนเหล่านี้จะทำเรื่องเจรจาโควต้า เจรจาเงินกู้จากผู้ปล่อยเงินกู้ในท้องถ่ิน (ทั้งจากตำรวจ พ่อค้ารายใหญ่ ทำให้คนงานเบี้ยวยากมาก)

แก้งค้อจุดใหญ่สุด (ตัวแทนอยู่ที่นี่กันหมด) จะเป็นจุดระดมเงินกู้ท้องถิ่นให้คนมาเก็บเบอร์รี่ปีละหลายร้อยล้านบาท 

สายและคนเก่าเป็นคนที่ไปหาคนเป็นส่วนใหญ่และมักไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะหวังหลอกให้คนมาเก็บเบอร์รี่กับตน – ระบบการจัดการเมืองไทยจึงเป็นแบบนี้ ที่ทำให้หาคนป้อนอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รี่ได้ตลอด

ระบบนี้โยงใยมาเฟียท้องถิ่น และสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทรวงแรงงาน สถานฑุตสวีเดนและฟินแลนด์และบริษัทเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งมีประมาณ 10 บริษัท

คนงานที่เสียหายจากเบอร์รี่ปี 2552 บอกว่าได้กลับมาสามแสน คือ “แสนสาหัส แสนทุกข์ยาก และแสนลำบาก”

สรุป

จนบัดนี้คดีฟ้องร้องค่าเสียหายจากฤดูกาลปี 2552 ก็ยังไม่จบ คดีฟ้องร้องยังอยู่ในศาล และความเสียหายครั้งนั้นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่ต้องแบกรับกันเองในหมู่นักแสวงโชคเกษตรกรไทย (ดูสารดคดี วิกฤติบลูเบอร์รี่ 2552)

ผลจากการร่วมต่อสู้กับคนทำงานต่างประเทศมายาวนาน การร่วมต่อสู้กับคนงานคนงานเก็บเบอร์รี่ร่วม 500 คน ในปี 2552 ได้นำมาสู่การจัดตั้ง “สหภาพคนทำงานต่างประเทศ” เมื่อปี 2552 โดยที่จรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพฯ แต่การประชุมใหญ่สหภาพคนทำงานต่างประเทศ ยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศไทย

เมื่อเห็นความละโมภของคนมากมายกับอาหารสวรรค์ที่ธรรมชาติให้มากับฤดูกาลอันแสนสั้นเพียงช่วงเวลา แค่2 เดือน และเห็นเกษตรกรไทยที่ไร้สวัสดิการสังคมใดๆ ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ราวกับแมงเม่าบินเข้ากองไฟ  แล้วมันเศร้าสะเทือนใจยิ่งนัก

ภาพที่เห็นจากของอุตสาหกรรมเบอร์รี่ คือมันได้เปิดเผยตัวตนแห่งความละโมภ เห็นแก่ตัว อย่างเข้มข้นที่สุดของคนจำนวนไม่น้อย ในระยะเวลาอันแสนสั้น และภายใต้ข้อจำกัดของธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด

จากการตระเวณเยี่ยมคนงานที่กลับบ้านใน 9 จังหวัดที่ภาคอีสานในปี 2552  และตระเวณไปเยี่ยมคนงานที่ประเทศฟินแลนด์ใน 9 แคมป์ เมื่อปี 2553 ผู้เขียนมีข้อสรุปแบบไม่เกรงใจกระทรวงแรงงานและรัฐบาไทยว่า “ต้องเป็นประเทศที่ไม่รักคนของตัวเองแม้แต่น้อย ถึงยอมให้เกษตรกร และคนยากคนจนในประเทศตัวเอง ระดมเงินออกจากอีสาน และประเทศไทยปีละหลายร้อยล้าน เพื่อมาสร้างกำไร และพัฒนาธุรกิจเบอร์รี่ในประเทศร่ำรวยเช่นสวีเดน และฟินแลนด์ โดยที่รัฐไทยแทบจะไม่มีมาตรการดูแลและต่อรองผลประโยชน์ให้คนของตัวเองเลย”

การต่อรองเพื่อคุ้มครองคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยกลับกระทำจากนักสหภาพ นักกิจกรรมฟินแลนด์ สวีเดน และไทย ที่ทนเห็นคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยถูกเอาเปรียบ ได้รับการปฏิบัติแย่กว่านักโทษ และทำงานราวกับทาสตลอดฤดูกาลนี้

การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เป็นเรื่องยอมรับได้ และหลายประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ ใต้หวัน โปร์แลนด์ ตุรกี ก็เป็นประเทศส่งออกแรงงานพร้อมๆ กับไทยในยุคปี 70′s แต่ทำไมประเทศเหล่านั้นสามารถพัฒนาและสร้างชาติได้  หลังจากต้องพึงพิงเงินจากแรงงานเพียงไม่นาน และก็หยุดการส่งออกแรงงาน หันกลับมาพัฒนาคุณภาพคนและคุณภาพแรงงานในประเทศ กลายเป็นประเทศส่งออกกนักธุรกิจแทน

แต่ไทยกว่า 40 ปีแล้วก็ยังไม่ยุติ ยิ่งเลวร้ายจนกลายเป็นประเทศต้นแบบของการพัฒนาธุรกิจค้าแรงงานข้ามชาติที่ “ผิดกฎหมาย” ให้ “ถูกกฎหมาย ” อย่างเป็นล้ำเป็นสัน

เป็นธุรกิจกินเปล่า บนการขูดรีดค่าบริการจากหยาดเหงื่อแรงงานคนงาน อย่างน้อย 40-50% ของเงินเดือนที่ประมาณการว่าจะได้ตามสัญญาจ้างงาน

ต้นตอที่แก้ไม่ได้เพราะมาเฟีย ข้าราชการจัดหางาน และนักการเมือง (โดยเฉพาะภาคอีสาน) ที่ร่ำรวยจากการหากินแบบนี้มามากกกว่า 40 ปี ยังไม่ยอมหยุดสร้างความมั่งคั่งบนความเจ็บปวดของคนอีสาน

 มีนักการเมืองอีสานคนใดบ้าง ที่ไม่โยงใยขบวนการค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศ?

จะตรวจสอบกันอย่างไรถึงความสัมพันธ์ของข้าราชการเก่าหรือระดับสูงของกระทรวงแรงงานกับสายสัมพันธ์บริษัทจัดหางาน 2-300 บริษัทที่ให้อนุญาตจัดหางาน พร้อมข้ออ้างเสมอต้นเสมอปลายว่า “กระทรวงไม่มีกำลังและศักยภาพในการจัดส่งแรงงานเอง” 

กระทรวงแรงงานในส่วนกรมการจัดหางานมีเจ้าหน้าที่เยอะที่สุดหลายพันคน กลับไม่มีศักยภาพ …!?

จะแก้ปัญหาการถูกหลอกแรงงาน ต้องยุติการให้อนุญาตบริษัทจัดส่ง และใช้รูปแบบเจรจาแบบ “รัฐต่อรัฐ” ในทุกงานที่ต้องผ่านกระทรวงแรงงาน

วิธีการจัดการแรงงานแบบนักค้าแรงงานข้ามชาติของไทยเป็นเครื่องมือสำคัญ

เกือบทุกบริษัทรับซื้อเบอร์รี่ ไม่ได้จ้างคนฟินแลนด์แม้แต้คนเดียวในการดูแลและอำนวยความสะดวกคนไทยตลอดฤดูกาล  (ยกเว้นบริษัทหนึ่งทีี่บอกว่าจ้างคนฟินแลนด์หนึ่งคนให้ทำงานควบคู่กับตัวแทน ประเทศไทย) นอกนั้นถ้าไม่ใช่สามีชาวฟินน์หรือชาวสวีเดน กับภรรรยาคนไทยดูแลจัดการแคมป์ตามมีตามชอบ ก็จะวางภาระการจัดการแคมป์ให้กับตัวแทนและลูกทีมที่ขนมาจากเมืองไทยทั้งสิ้น

แต่ตัวแทนเหล่านี้ก็คือนายหน้า ลูกทีมเกือบทุกคนก็คือคนตระเวณเชิญชวนคนมาเก็บเอร์รี่และเก็บค่าหัวคิว หลายคนเป็นคนต้องปล่อยเงินกู้ให้คนเก็บเบอร์รี่ด้วย  อำนาจการจัดการแคมป์หลังรอยยิ้มแบบไทย จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยไม่กล้าแหกคอกเหมือนคนชาติอื่น และระดับการคุมคนงานจากตัวแทน สู่หัวหน้าแคมป์ สู่หัวหน้าคันรถ สู่คนเก็บเบอร์รี่   จึงมีพลังสูงมาก เป็นอำนาจที่กดทับอย่างเงียบงัน และไม่มีคนงานคนใดกล้ามีปากเสียง

อาหารจากสวรรค์ ที่ถูกกลไกทุนเสรีนิยมเห็นเป็นช่องทางค้ากำไรอย่างงาม เมื่อคนในประเทศแพงเกินไปกับการจ้างงานที่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการรับซื้อจากคนในท้องถิ่นในราคาที่ไม่สร้างแรงจูงใจมากพอให้คนท้องถิ่นเก็บเบอร์รี่มาขาย ก็เปรียบไม่ได้กับการทำตลาดค้าฝันกับคนจนในประเทศโลกใต้ ที่เถ้าแก่เบอร์รี่บอกว่า “หอบเงินหมื่นเงินแสนกลับบ้านไม่ไหวแน่”

แน่นอนมีคนไทยได้ประโยชน์และไม่เสี่ยง โดยเฉพาะตัวแทนนายหน้า พนักงานดูแลคนงานตามแคมป์ต่างๆ สายที่หาคนมาได้เกินค่าเดินทาง คนงานเก่า และคนงานใหม่ที่เกาะกลุ่มอยู่กับคนงานเก่าที่เก่งๆ ประมาณการณ์ว่าคนกลุ่มนี้ ที่มากันต่อเนื่องเกือบทุกปีหรือปีเว้นปี น่าจะประมาณ 2-3,000 คน แต่ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร …และกำไรของพวกเขาอยู่บนความเสี่ยงและความเสียหายของเพื่อนร่วมชาติคนเก็บเบอร์รี่ที่มาใหม่ และคนเก่าที่ตัดสินใจเลิกลาหลังจากมาครั้งสองครั้งแล้วได้ไม่คุ้มเหนื่อย  – ซึ่งเมื่อรวมกันตลอดหลายปีก็เป็นจำนวนหลาพันคนหรือกว่าหมื่นคนทีเดียว

อุตสาหกรรมเบอร์รี่ทำตลาดกับคนไทยในทุกระดับ โดย CEO ของทุกบริษัทเดินสายมาเมืองไทยเกือบทุกปี เพื่อมาขายฝันด้วยตัวเอง ทั้งตัวแทนนายหน้าส่งสายหลายสิบคน ไปตระเวณขายฝันยังทุกหมู่บ้านที่ชาวบ้านอยู่กันแบบเซ็งกะตายในทุกฤดูร้อน ไร้น้ำทำการเกษตร

หมู่บ้านหนึ่งมีบทเรียนความล้มเหลว และไม่ไปอีกแล้ว ก็ตระเวณหาหมู่บ้านใหม่ต่อไป เมื่อคนในหลายพื้นที่ภาคอีสานไม่ค่อยสนใจขึ้นเรื่อยๆ ก็ขึ้นไปค้าฝันคนที่ภาคเหนือ และตอนนี้เริ่มลงไปเชิญชวนคนที่ประจวบ ชุมพร และภาคใต้

เมื่อเรื่องราวความสูญเสียหลายร้อยหลายพันแพร่กระจาย นักค้าฝันก็อัดฉีดมากขึ้นกับเรื่องราวหลอกลวง รวมทั้งระดมเงินกู้กันขนานใหญ่ เพื่อใช้ลงทุนค่าใช้จ่ายล่วงหน้าให้คนงาน

ในทุกฤดูเบอร์รี่ตัวแทนนายหน้าต้องระดมเงินกู้จากตำรวจ พ่อค้า และคนปล่อยเงินกู้ท้องถิ่น (รวมทั้งเงินส่งไปปล่อยกู้จากน้องสาวพี่สาวจากสวีเดนและฟินแลนด์) เพื่อนำพาคน 6-,000 – 8,000 คน  ไปสวีเดนและฟินแลนด์ เมื่อเฉลี่ยต่อหัว 70,000 บาท ก็เท่ากับขนเงิน 420-560 ล้านบาทออกจากอีสานทุกฤดู เพื่อไปเสี่ยงโชคที่สวีเดนและฟินแลนด์  โดยเฉพาะ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา หลายร้อยล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยเงินกู้อย่างน้อยร้อยละ 3  ทำกำไรกันอย่างเห็นๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 เดือน

พวกนายทุนเงินกู้ได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบก่อนคนงาน …

จากบทเรียนตลอดสองสามปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 2552 ยอดเฉลี่ยเมื่อหักออกจากผู้เสียหาย คงเหลือเพียงนำเงินกลับเข้าประเทศคนละไม่ถึง 20,000 บาท เมื่อลองคำนวณคร่าวๆ คือ  120 – 160 กว่าล้านบาท โดยที่ 3% จะถูกหักเป็นค่าดอกเบี้ย 13-17 ล้านบาท ทำให้นำเงินกลับสู่ครอบครัวอีสานต่อฤดูกาลโดยรวมแล้วอาจจะแค่ 120-150 ล้านบาท

แต่เกษตรกรที่รักของไทยเหล่านี้หลายพันคน ทำงานกันอย่างหนักจริง ทุกวัน เดินป่าเดินเขาวันละหลายสิบกิโลเมตร เก็บเบอร์รี่ป้อนอุตสาหกรรมเบอร์รี่เฉลี่ยคนละกว่า 2,000 – 3,000  กิโลกรัม

ทำงานกันจนไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และชื่นชมความเจริญและความสวยงามของประเทศเจ้าบ้าน ไม่รู้สักนิดว่าระบบดูแลประชาชนของประเทศนี้เป็นอย่างไรบ้าง ไม่เคยมีการบอกเล่าให้คนงานฟังว่าคนของประเทศนี้ได้รับการดูแลจากรัฐบาลดี เยี่ยมเช่นไร ทำให้แม้จะมีคนว่างงานประเทศละกว่า 300,000 คน แต่ก็ไม่มีใครสักคนยอมทำงานเก็บเบอร์รี่ ต้องมาระดมคนไทยไม่กี่พันคนไปเก็บ พร้อมค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายกันเองในอัตราสูงลิบลิ่ว

ทุกคนบอกเพียงอดทน ขยัน ห้ามขี้เกียจ ไม่มืดไม่กลับแคมป์

ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของเกษตรกรไทยจำนวนไม่น้อยถูกทำลายไปด้วยระยะเวลาอันนั้นนี้

ความเจ็บป่วยทางร่างกายจากการหักโหมที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนับเดือน (แต่เขาก็ไม่มีเวลา เพราะเมื่อมาถึงไทยก็ลงเกี่ยวข้าวกันทันที)

และทุกปีจะมีทั้งอุบัติเหตุและบางปีมีการเสียชีวิต

อาหารจากพระเจ้า ที่มาพร้อมกับฤดูกาลอันแสนสั้นและหฤโหด บีบเร่งให้ทุกผู้คนที่อยากได้ประโยชน์จากมัน อัดฉีดความละโมภไปกับฤดูกาล จนยอมทำงานหนักเจียนตายเช่นนี้

นายทุนและธุรกิจเบอร์รี่จะอยู่ได้ทั้งปีจากงานหนักเพียงสองสามเดือน และมีเบอร์รี่ในสต๊อกให้แปรรูปได้ปีหรือสองปีข้างหน้า

แต่คนงานเก็บเบอร์รี่ที่ยอมทำงานหนักสองเดือน กลับไม่ได้มีหลักประกันว่าเงินที่ได้จะทำให้พวกเขาอยู่ได้ทั้งปีจากรายได้ มิหนำซ้ำต้องแบกรับความเสี่ยงและความเสียหายมากที่สุด และอาจจะต้องกลับมาใช้หนี้เป็นปีหรือหลายปี

ด้วยสภาพการทำงานที่หฤโหด อยู่ด้วยความตึงเครียด และกดดันสูง รวมทั้งเรื่องราวความสูญเสียที่แพร่ะสะพัดไปทั่ว ณ ขณะนี้นอกจากคนไทยแล้ว ไม่มีใครยอมเก็บเบอร์รี่แบบถวายชีวิตเช่นคนไทย

คนฟินแลนด์พูดกับผู้เขียนบ่อยๆ ว่า “นักโทษในเรือนจำที่นี่ได้รับการปฏิบัติและดูแลยิ่งกว่าคนงานไทยเสียอีก”

ธุรกิจเบอร์รี่ เป็นที่รับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าอยู่ในสภาพความกดดันสูง แต่มักจะมองมันในแง่ที่ว่า ความกดดันเป็นแรงชับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนงานเก็บเบอร์รี่ได้มากกกว่าคนชาติอื่นๆ ที่ไม่ต้องเจอกับแรงกดดันเรื่องค่าใช้จ่ายสูง เงินกู้และดอกเบี้ยมากเท่ากับคนงานไทยหรือคนที่เดินทางไปเก็บจากเอเชีย ดังนั้นธุรกิจนี้ มองความกดดันเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ของอุตสาหกรรมเก็บเบอร์รี่ป่า (มองว่าฤดูกาลแค่สองเดือนกว่า ถ้าไม่เร่งเก็บก็เก็บไม่ได้มาก)

สุดท้ายความโลภ ก็เอาชนะความรู้สึกผิดชอบเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางมาเก็บเบอร์รี่ปี 2555

เพื่อทำให้เรื่องเบอร์รี่มีตัวแปรแห่งความ “เฮง หรือ ซวย” ที่เกิดได้จากหลายด้าน ทั้งจากฤดูกาล โชคเจอดงเบอร์รี่ดก  และความเพียรและอดทน และทำให้วิถึการพนันเสี่ยงมาเก็บเบอร์รี่โดยเฉพาะที่ฟินแลนด์ ที่ยังเป็นระบบการเล่มไฮโล “แทงได้-แทงเสีย”  อาจจะ “แทงแสนได้แสน” หรือ “แทงแสนเสียหายแสน” ไม่กลายเป็นทุกข์อันใหญ่หลวงของคนงานและครอบครัวที่เมืองไทย

เราไม่แนะนำให้ท่านเอาชีวิตมาเสี่ยงกับอุบัติเหตุ เสียสุขภาพจิต หรือเจ็บไข้ได้ป่วย จึงแนะนำว่าอย่าหักโหม ทำงานวันละไม่ต้องเกิน 12 ชั่วโมง นอนพักผ่อนเอาแรงให้เต็มที่ทุกวัน หยุดวันอาทิตย์เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติและวิถีชีวิตของเจ้าบ้านคนท้องถ่ินบ้าง

สำหรับสวีเดน ท่านก็ไม่ต้องทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เพราะเงินเดือนที่ท่านได้รับคำนวณตามฐานการทำงานแค่สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเท่านั้น ใช้ช่วงวันหยุดเที่ยวดูเมือง พักผ่อน และนอนหลับให้เต็มที่

การกินยาปฏิชีวนะติดต่อยาวนานมีผลเสียเยอะกับตับไต ขอให้ปรึกษาแพทย์เรื่องปริมาณการใช้ยาต่างๆ ก่อนซื้อยามาทานเอง

หญิงที่หวังมาหาแฟนคนต่างชาติ โอกาสเจอหนุ่มต่างชาติน้อยมากกว่าเจอหนุ่มชาวไทยในแคมป์เบอร์รี่ แทนที่จะได้หนุ่มต่างชาติ ท่านอาจจะโชคดีได้หนุ่มไทยกลับบ้านไปฝากครอบครัว

ขอให้ทำใจไว้ตั้งแต่ก่อนมาเลยว่า ถือว่าได้มาเมืองนอก ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เสียหายสักสามสี่หมื่นก็ถือว่ายังจ่ายเงินเที่ยวเมืองนอกถูกอยู่ เพื่อจะได้ไม่กดดันและเครียดและบีบให้ตัวเองทำงานราวกับทาส

ขอให้ทุกคนอย่าซวย และประสบแต่ความเฮงในปี 2555!

ถ้าเจอปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อสหภาพคนทำงานต่างประเทศ โดยอีเมลมาที่ ACT4DEM@gmai.com หรือโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย + 66 (0)2 933 9492

**********

ข้อมูลเพิ่มเติม

ลิงค์สารคดี

วิกฤติบลูเบอรรี่สวีเดน 2552

ภาษาไทย http://vimeo.com/15454115 and https://www.youtube.com/watch?v=0MZG0fdQzv8&feature=channel&list=UL
English  http://vimeo.com/12489782

เรื่องเล่าจากคนอีสาน 39 คนที่สวีเดน

https://www.youtube.com/watch?v=T5POTxIhNpo

คนเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์

ภาษาไทย http://vimeo.com/26918621 and https://www.youtube.com/watch?v=nBTXblZz2K0&feature=channel&list=UL

English http://vimeo.com/27191024

**********

รายงาน

รูปภาพและคำบรรยายเกี่ยวกับคนงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์และสวีเดน

รายงาน “เจาะลึกและตีแผ่-ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์”

เจาะลึกและตีแผ่ ขบวนการพาคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์” –

รายงานการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ยังไม่จบ 

รายงาน การต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ในสวีเดนยังไม่จบ –

*************

งานศึกษาภาคภาษาอังกฤษที่ค้นเจอ

Swedish Works Environment Authority, An information leaflet from the Swedish Work Environment, Authority for anyone who wishes to work as a berry picker in Sweden, 2011

Charles Woolfson1, Christer Thörnqvist2, Petra Herzfeld Olsson3, Forced Labour in Sweden? The Case of Migrant Berry Pickers , A Report to the Council of Baltic Sea States Task Force on Trafficking in Human Beings: Forced Labour Exploitation and Counter Trafficking in the Baltic Sea Region.

SwedWatch, Sweden mistreats illegal berry pickers, Sweden, 2011

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net