ชาวบ้านพนางตุง แจงข้อมูล “ผอ.โฉนดชุมชน” ร้องมหา’ลัยฟ้องไล่ที่

ผอ.โฉนดชุมชน ลงพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง ชาวบ้านแจงปัญหา “มหาวิทยาลัยทักษิณ” ไล่ที่ ทั้งที่เป็นที่ดินชาวบ้านแต่ถูกประกาศเขตสาธารณะประโยชน์ทับซ้อน ซ้ำมีคดีฟ้องชาวบ้านอีก 3 คดี

 

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.55 สำนักงานโฉนดชุมชน นำโดย นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน ลงพื้นที่บ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อสำรวจและตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง เนื้อที่ 1,022 ไร่ มีประชากรอยู่ในพื้นที่ 123 ครัวเรือน ซึ่งทางเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ยื่นขอให้สำนักงานโฉนดชุมชนพิจารณาจัดโฉนดชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นางเนิม หนูบูรณ์ กรรมการโฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง กล่าวว่า ชาวบ้านทำนาในพื้นที่ดังกล่าวมานานนับร้อยปีแล้ว ต่อมา พ.ศ.2528 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเขตสาธารณะประโยชน์ทับซ้อนพื้นที่ชาวบ้าน หลังจากนั้น พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ขอใช้พื้นที่สร้างคณะของมหาวิทยาลัย ชาวบ้านเข้าใจว่าความเจริญจะเข้าชุมชน ลูกหลานจะได้เรียนใกล้บ้าน จึงยกที่นาส่วนหนึ่งให้ มหาวิทยาลัยได้สร้างอาคาร โดยไม่รอให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ผลคือ การก่อสร้างได้ทำลายระบบน้ำชลประทาน เพื่อกันแนวเขตมหาวิทยาลัย ทำให้น้ำท่วมในปี พ.ศ.2539 ซ้ำยังขาดน้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวัง และเจ็บแค้น

นางเนิม ให้ข้อมูลต่อมาว่า ในช่วงปี พ.ศ.2551-2552 ชาวบ้านได้ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผลคือ กสม. มีมติเมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 ให้มหาวิทยาลัยยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ กสม. แต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม พร้อมทั้งปักป้ายประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว และฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จำนวน 3 คดี 20 กว่าราย

นางสายัญ ดำมุสิก สมาชิกพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้าง กล่าวว่า ตนเองถูกมหาวิทยาลัยทักษิณ แจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหารบกวนทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วตนได้รับที่ดินผืนนี้มาจากพ่อ มหาวิทยาลัยต่างหากที่มาบุกรุกที่ดินของชาวบ้าน มหาวิทยาลัยมาแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านได้อย่างไรในเมื่อเขาไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมาย

“ในวันนี้รู้สึกยินดีที่สำนักงานโฉนดชุมชนลงพื้นที่รับฟังความเป็นจริง ทำให้มีความหวังว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง” นางสายัญกล่าวแสดงความเห็นต่อการลงพื้นที่ของผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน 

ด้านนายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน กล่าวว่า สำนักงานโฉนดชุมชนลงพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านใสกลิ้งและบ้านท่าช้างเพื่อสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ ตามที่เครือข่ายได้ยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงขอจัดทำโฉนดชุมชน วันนี้ได้จัดเก็บข้อมูลสมบูรณ์แล้ว หลังจากนี้จะตรวจเช็คข้อมูล และรวบรวมข้อมูลให้คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายที่ภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เสนอต่อรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในที่ดินของรัฐ และได้รับการบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชน รวมทั้ง มีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 55 พื้นที่ โดยหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานโฉนดชุมชนบริหารจัดการร่วมกับชุมชน 2 พื้นที่ ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีนโยบายสานต่อโฉนดชุมชน โดยแต่งตั้ง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท