Skip to main content
sharethis

หลังการประกาศเข้าไปลงทุนในพม่าของ "โคคาโคล่า" ทำให้เหลือเพียง "เกาหลีเหนือ" และ "คิวบา" เท่านั้นที่ยังไม่มีน้ำอัดลมยี่ห้อนี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นต่างกังวลถึงอนาคต หากต้องเข็นน้ำอัดลมยี่ห้อท้องถิ่นมาแข่งด้วย ในตลาดที่ผู้บริโภคชาวพม่าพร้อมเปลี่ยนมาดื่ม "โค้ก" แม้ราคาจะสูงเทียบค่าแรงขั้นต่ำ

แฟ้มภาพเมื่อปี 2551 เป็นภาพน้ำอัดลมที่ผลิตในพม่า ยี่ห้อ Fantasy รสส้ม และ Star น้ำอัดลมรสโคล่า ทั้งนี้ผู้ประกอบน้ำอัดลมพม่ากำลังเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่คือ "โคคาโคล่า" ที่ประกาศจะเข้าไปจำหน่ายน้ำอัดลมในเครือ และเข้าไปลงทุนในพม่า

 

โคคาโคล่าเตรียมกลับเข้าไปลงทุนในพม่า หลังถอนการลงทุนไป 60 ปี

ทั้งนี้บริษัทโคคาโคล่า ของสหรัฐอเมริกา หรือผู้ผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อโค้ก ระบุว่าจะเริ่มเข้าไปประกอบธุรกิจในพม่าโดยเร็วที่สุด หากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกใบอนุญาตให้เข้าไปประกอบธุรกิจในพม่า หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐอเมริกาได้เริ่มยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าชั่วคราว

ทั้งนี้พม่าเป็นหนึ่งในสามประเทศที่โคคาโคล่า ไม่เข้าไปดำเนินการทางธุรกิจมากว่า 60 ปีแล้ว โดยนอกจากพม่าแล้ว บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ได้ถอนตัวหลังจากคิวบาเกิดการปฏิวัติ และรัฐบาลของฟิเดล คาสโตรได้ยึดทรัพย์สินเอกชน นอกจากนี้โคคาโคล่าไม่เคยทำธุรกิจในเกาหลีเหนือ

แถลงการณ์ของโคคาโคล่าระบุว่า จะเริ่มต้นนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านก่อน ในระหว่างที่กำลังเริ่มสร้างฐานการผลิตในพม่า

ทั้งนี้ระหว่างปี 2503 ถึง 2554 ประเทศพม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารซึ่งทำให้ฝ่ายค้านถูกปราบ และขณะที่ครองอำนาจอยู่ก็เผชิญกับการประณามและมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้เยือนพม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบหลายๆ ทศวรรษ และได้ลดมาตรการคว่ำบาตรลงในขณะที่พม่าเองก็มุ่งปฏิรูปประชาธิปไตยในหลายๆ ด้าน

 

ความกังวลของผู้ประกอบการพม่า

ขณะเดียวกัน ข่าวการกลับเข้ามาลงทุนของพม่า หลังถอนตัวออกไปกว่า 60 ปี ได้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมน้ำอัดลมพม่าต่างกังวลถึงอนาคตของพวกเขา เนื่องจากจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการน้ำอัดลมยี่ห้อที่คนรู้จากมากที่สุด ในสมรภูมิการค้าที่ต้องเข้าถึงหัวจิตหัวใจผู้บริโภคชาวพม่า โดย สำนักข่าวอิระวดี ระบุว่า การที่สหรัฐอเมริกายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าชั่วคราว กำลังทำให้ประเทศพม่ากำลังค่อยๆ เลิกการทำตัวนอกคอก หลังถูกโดดเดี่ยวมาหลายทศวรรษ แต่สำหรับผู้ผลิตน้ำอัดลมในประเทศ นี่เป็นยิ่งกว่ายุคปิดฉาก และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอุตสาหกรรมท้องถิ่น

โดยความกังวลแรกคือ ผู้บริโภคชาวพม่าจะคำนึงเรื่องราคาสินค้ามากกว่าความจงรักภักดีต่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และจะย้ายข้างไปดื่มโค้กทันทีที่มันหาได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง เพราะตอนนี้เครื่องดื่มยี่ห้อนี้ถูกถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ระดับคุณภาพ โดยนายจาย จ๋าม ทุน ประธานบริษัทลอยแหง บริษัทผลิตน้ำอัดลมในพม่ากล่าวว่า "คนพม่าส่วนใหญ่จะเริ่มดื่มโค้ก เมื่อบริษัทนี้เข้ามาทำธุรกิจที่นี่"

ทั้งนี้ เครื่องดื่มโค้กสามารถพบเห็นอยู่แล้วตามเมืองใหญ่ของพม่า เนื่องจากการค้าระหว่างชายแดนไทย-พม่า โดยขายที่ราคากระป๋องละ 1,000 จ๊าต (36 บาท) ซึ่งเท่ากับค่าแรงทั้งวันของคนพม่าส่วนใหญ่ ในขณะที่ยี่ห้อที่ผลิตในพม่าขายกันที่ราคาขวดละ 100 จ๊าต (3.60 บาท) อย่างน้ำอัดลมยี่ห้อ Happy ยี่ห้อ Star และ ยี่ห้อ Sweety โดยที่ราคาส่วนต่างขนาดนี้ จะลดความถี่ห่างลงทันทีถ้าโค้กเข้ามาผลิตภายในประเทศ

หยี่ หยี่ ผู้จัดการด้านการตลาดของน้ำอัดลมยี่ห้อ Happy กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดีว่า "เมื่อพวกเขาตั้งโรงงานที่นี่ พวกเขาจะสามารถขายได้ในราคาเดียวกัน หรือราคาถูกกว่ายี่ห้อน้ำอัดลมในพม่า" นอกจากนี้หยี่ หยี่ ยังกล่าวด้วยว่ามีข่าวลือว่าบริษัทโคคาโคล่าจะลงทุนมากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐในพม่า

 

ทางเลือกให้รอด: ถ้าไม่ร่วมมือก็ต้องแข่งกัน

จาย จ๋าม ทุน กล่าวกับสำนักข่าวอิระวดี ว่ามีทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการในพม่าคือ "ขายกิจการให้โคคาโคล่า ร่วมมือกับเขา หรือพยายามแข่งด้วย"

"เมื่อพวกเขามาที่นี่ พวกเราคงต้องไปเจรจาด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าแผนของพวกเขาเป็นอย่างไร ในบางประเทศ พวกเขาจะร่วมทุนดำเนินกิจการกัน ในบางประเทศพวกเขาจะลงทุน 100% ดังนั้นพวกเราต้องรอดูว่าพวกเขาจะทำอะไรที่นี่"

สำนักข่าวอิระวดี ระบุว่า ในอดีต บริษัทน้ำอัดลมพม่าได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของบริษัทต่างชาติ ถึงแม้ว่าจะประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม ทั้งนี้ มีกรณีที่บริษัทเป็บซี่โค ออกจากพม่าในปี 2540 เพื่อตอบสนองต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอมริกา ทำให้เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และแรงงานทักษะจากโรงงานของเป็นซี่โคไปร่วมงานกับบริษัท MGS ผู้ผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อ Crusher และ Star Cola ซึ่งขายในราคาที่สูงกว่ายี่ห้ออื่นในตลาดพม่าคือขวดละ 300 จ๊าต (12 บาท)

ทั้งนี้ บริษัทจากต่างชาติ ถือเป็นภาวะคุกคามต่อบริษัทท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นบรรษัทข้ามชาติจากตะวันตก หรือผู้ผลิตน้ำอัดลมราคาถูก คุณภาพต่ำจากจีน ที่มาขายกดราคายี่ห้อท้องถิ่นและสำหรับผู้บริโภคชาวพม่า ผลิตภัณฑ์ต่างชาติถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาสามารถไว้ใจได้

นอกจากนี้ เพื่อลดกระแสวิจารณ์ ยังมีรายงานด้วยว่า บริษัทโคคาโคล่าวางแผนที่จะบริจาคเงินจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในสถานที่ทำงานด้วย

 
 
แปลและเรียบเรียงจาก
Burma’s Soft Drink Makers Brace for Big Changes, By MAY LAY / THE IRRAWADDY | June 28, 2012 | http://www.irrawaddy.org/archives/7975


Coca-Cola returns to Burma after a 60-year absence, BBC, 14 June 2012 
http://www.bbc.co.uk/news/business-18453401

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net