Skip to main content
sharethis

 

เจ็ดโมงเช้า วันที่ 24 มิถุนายน 2555 จักรยานกว่า 50 คันนัดเจอกันที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งในงานประกาศเจตนารมณ์ “เชียงใหม่พร้อมแล้วที่จะจัดการตนเอง และขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่มหานคร” และเป็นจุดเริ่มของการรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ภายใน 120 วัน ตามเจตนารมณ์ “120 วัน ก้าวผ่าน 120 ปีของการรวมศูนย์อำนาจ”

ขบวนการขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง อาศัยความร่วมมือจากกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ ประชาสังคม นักธุรกิจ และองค์กรชุมชน ที่มองเห็นปัญหาร่วมกันของการนำนโยบายจากส่วนกลางมาบังคับใช้กับจังหวัดเชียงใหม่ โดยในกิจกรรมการประกาศเจตนารมณ์ มีนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ อดีตรองผู้ว่าเชียงใหม่ ตัวแทนจากวิทยุออนไลน์คนเมืองเรดิโอ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ตัวแทนจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตัวแทนจากเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น สถาบันการจัดการทางสังคม เข้าร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายประชาชนฉบับนี้

ข้อเสนอหลักของร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร คือการผลักดันให้เชียงใหม่ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยคงส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไว้ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สภาเชียงใหม่ และสภาพลเมือง มีการจัดเก็บภาษีเอง และส่งให้รัฐบาลกลางร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือใช้บริหารจังหวัดในด้านต่างๆ โดยยกเว้นด้านการทหาร การศาล ระบบเงินตรา และการต่างประเทศ (ดูข้อเสนอเกี่ยวกับระเบียบการบริหารราชการเชียงใหม่)


อะไรคือ “เชียงใหม่มหานคร”
“ดูอย่างอเมริกาสิ มีทั้งวอชิงตันดีซี และนิวยอร์ค ทำไมเมืองไทยจะมีทั้งกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่มหานครไม่ได้”

“เชียงใหม่จัดการตัวเองมาหลายร้อยปีแล้ว พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครก็แค่คืนอำนาจกลับมาให้คนเชียงใหม่”

“คนกรุงเทพฯ ชอบพูดว่ากลับบ้านนอกกลับต่างจังหวัด ต่อไปเราไปกรุงเทพฯ เราก็จะบอกว่าไปต่างจังหวัดเหมือนกัน”
                                                                                               - ความคิดเห็นจากคนเมืองเชียงใหม่

การผลักดันเรื่องเชียงใหม่มหานคร เริ่มจากการมองเห็นปัญหาการใช้นโยบายจากส่วนกลางในท้องถิ่นของคนกลุ่มต่างๆ นำมาสู่การสร้างเครือข่ายเพื่อผลักดันเชียงใหม่มหานครร่วมกัน

ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสถาบันการจัดการทางสังคม กล่าวว่า เชียงใหม่เติบโตเร็วรองจากกรุงเทพฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สลับซับซ้อน นโยบายจากส่วนกลางไม่สามารถตอบโจทก์ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้เชียงใหม่มีวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตนเอง การกำหนดการพัฒนาจากส่วนกลางทำให้ชุมชนอ่อนแอลง เช่น โรงเรียนพูดภาษาไทย ไม่สอนภาษาท้องถิ่น เอาระบบชลประทานมาแทนฝาย กฎหมายการจัดการป่าของกรมป่าไม้ที่ขัดกับวิถีชาวบ้าน เกิดผลกระทบเป็นปัญหาให้ท้องถิ่น เห็นได้จากในอดีตการพัฒนาที่คิดมาจากส่วนกลาง ถูกคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ สถานเริงรมย์ ฯลฯ และเชียงใหม่ยังมีสถานศึกษา และองค์ความรู้ที่พร้อม เป็นเหตุผลที่ถึงเวลาที่คนเชียงใหม่จะจัดการดูแลท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง

ดร.นิรันดร์ โพธิการ ประธานชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เล่าปัญหาโดยยกตัวอย่างการรณรงค์เรื่องการขี่จักรยาน ก็พบว่าท้องถิ่นไม่ค่อยมีอำนาจที่จะต่อรองกับตำรวจซึ่งเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคและกลายเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ทั้งๆ ที่การตัดสินใจต่างๆ ควรเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของท้องถิ่น

 

 

หลากคำถามเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร

เหมือนกรุงเทพมหานครไหม :
ในวงเสวนามีการตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร จะทำให้เชียงใหม่เป็นเหมือนกรุงเทพมหานครหรือไม่ ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครนี้ มีการจัดการปกครองที่แตกต่างจากกรุงเทพฯ กล่าวคือ กรุงเทพฯ มีลักษณะรวมศูนย์และจัดการปกครองเป็นระดับเดียว ไม่มีเทศบาล ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมาก ขณะที่เชียงใหม่มหานครจะมีรูปแบบการปกครอง 2 ระดับ คือระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) นอกจากนี้ความต่างหลักอีกอย่างคือมีองค์กรที่ทำการตรวจสอบถอดถอน คือสภาพลเมือง การใช้คำว่ามหานครเป็นเพียงการแสดงความยิ่งใหญ่ และความพร้อมในการปกครองตนเองเท่านั้น


การมีส่วนร่วมของคนเมืองเป็นอย่างไร :

เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่และมีคนพื้นเมืองกระจายในพื้นที่กว้าง ผู้สนับสนุน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครคาดหวังว่า หากกำหนดให้เชียงใหม่จัดการตนเอง จะทำให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดวิถีที่สอดคล้องกับตนเองจริงๆ เช่น การจัดการศึกษานั้น หากเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น จะเห็นบทบาทของคนพื้นเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดความหลากหลาย เช่น การเรียนในภาษาคำเมือง ภาษาตามกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ

แบ่งแยกดินแดน ? :
คำถามยอดนิยมที่มักเกิดขึ้นต่อการเสนอให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งคือ สิ่งนี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายยืนยันว่า สิ่งนี้ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างแน่นอน ประเทศยังเป็นรัฐเหมือนเดิม ทว่า พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครเพียงเรียกร้องการดูแลประเด็นในท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยทำหน้าที่บริหารงาน การเงิน และนโยบายสำหรับจังหวัด ดูแลความเป็นอยู่ ความปลอดภัย น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง การศึกษา การรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการจัดการของส่วนกลางในด้านอื่นๆ ส่วนกลางยังคงมีหน้าที่ในการบริหาร 4 ด้าน อันได้แก่ด้านกองกำลังทหาร การจัดการระบบเงินตรา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การศาล และเรื่องสำคัญอื่นๆ ในระดับชาติ

การเลือกตั้งจะมีประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสในการบริหารได้จริงหรือ? :
ร่างกฎหมายนี้มีเงื่อนไขให้สมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ได้คราวละสองวาระ วาระละสี่ปี ดังนั้น หากชาวบ้านเห็นว่าผู้แทนทำงานไม่ดีก็ตัดสินใจใหม่ได้ในครั้งต่อไป นอกจากนี้เรื่องการครองอำนาจระยะยาวก็จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะมีข้อกำหนดว่าอยู่ได้ไม่เกินสองวาระ ทำให้นักการเมืองยึดอำนาจไว้ในมือได้ยาก นอกจากนี้แล้วกลไกการตรวจสอบที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นสภาพลเมือง จะทำให้เกิดการตั้งคำถาม และความตื่นตัวในการเมืองท้องถิ่น ทำให้ประชาชนตระหนักในผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น

 

การจัดการตนเอง รอให้พร้อมโดยไม่เริ่มไม่ได้
“เปลี่ยนแล้วมันย้อนกลับยาก ควรจะศึกษาผลกระทบให้รอบคอบไม่ผลีผลาม”
“ทำไมต้องมาพัฒนาที่เชียงใหม่ เชียงใหม่มีเสน่ห์ของมันเองอยู่แล้ว เป็นเมืองที่คนอยากมาโดยไม่ต้องเป็นมหานคร”
“ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าภาษีจะมาลงที่เชียงใหม่เพิ่มขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ มันอยู่ที่ว่าจะบริหารเงินส่วนนั้น ให้มีประสิทธิภาพได้รึเปล่า”

การจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับเชียงใหม่มหานคร มีทั้งเสียงตอบรับและคำถามจำนวนมาก คำถามที่พบบ่อยก็เช่น เป็นการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ เหมือนกรุงเทพมหานครหรือไม่ อีกคำถามที่พบบ่อยคือเรื่องความพร้อม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนเห็นด้วยเชิงหลักการ แต่ยังมีข้อกังวลอยู่ในใจ

บุษยา คุณากรสวัสดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง กล่าวว่าเรื่องนี้คงรอความพร้อมทั้งหมดจากทุกฝ่ายไม่ได้ หากไม่ทดลองทำก็คงไม่เห็นปัญหาที่จะเกิด และข้อกังวลก็จะเป็นเพียงข้อกังวลต่อไป เห็นได้จากเรื่องเทศบาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2538 ก็มีวิวัฒนาการ ปรับปรุงมาเรื่อยๆ เชียงใหม่มหานครก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ

บุษยา เล่าว่า อุปสรรคแรกที่พบในการดำเนินงานคือ การจินตนาการว่าท้องถิ่นจัดการตนเองต้องเป็นอย่างไร ควรมีโครงสร้างอย่างไร ซึ่งเป็นการออกแบบความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อตอบโจทก์ให้ครบถ้วน ส่งผลให้ต้องมีการวางโมเดล หลักการ การจัดการระบบการเงิน ระบบภาษี รูปแบบการมีส่วนร่วม และต้องให้การถกเถียงก้าวข้ามจากการเรื่องนโยบายสาธารณะมาคุยเรื่องกลไกให้ได้

มีหลายกระแสกล่าวว่า เชียงใหม่มหานครอาจเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นได้ แต่บุษยามองว่า แต่ละจังหวัดก็ต้องตัดสินใจเลือกโมเดลที่เหมาะสมกับตนเอง และจะต้องมาแลกเปลี่ยนกันว่าโมเดลควรจะเป็นอย่างไร ทำมาแล้วได้อย่างไร เพราะแต่ละจังหวัดมีการผลักดันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอเป็นสามจังหวัดสี่อำเภอ โดยมีรูปแบบการปกครองคล้ายกรุงเทพฯ ไม่มีเทศบาลเช่นเชียงใหม่ สำหรับแม่ฮ่องสอนและอำนาจเจริญ ก็จะไม่ได้พูดถึงเรื่องการจัดการอำนาจในการปกครองแต่จะพูดถึงนโยบายสาธารณะมากกว่า

นอกจากนี้ การดำเนินการเรื่องเชียงใหม่จัดการตนเองยังสามารถสะท้อนปัญหาทางการเมืองด้วย บุษยากล่าวว่า ความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ความเป็นสีหายไปกับเรื่องเชียงใหม่จัดการตนเอง เนื่องจากเป็นประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดจากการดึงอำนาจไปอยู่ที่ส่วนกลาง ความขัดแย้งเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแต่ละครั้งมีผลกระทบอย่างไรคนท้องถิ่นก็ต้องรับสภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนผู้นำไม่ได้แก้ปัญหาให้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง การลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชนด้วยการใช้กลไกการจัดการตนเองจะเป็นโครงสร้างที่แก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยดึงอำนาจกลับมาให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ตัดสินใจนโยบายที่มีผลกระทบต่อตนเองได้ง่ายขึ้นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น คือ สามชั้นอำนาจในระเบียบบริหารราชการไทย แต่ที่ผ่านมาพบว่า อำนาจากส่วนภูมิภาคคืออุปสรรคใหญ่ต่อการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ภาคประชาชนเชียงใหม่จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ใน “ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร”

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.ilaw.or.th/node/1618

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net