Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: ปัญหาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอล (Broadcasting Rights) กับสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ (Right of Communication to the Public) ในงานดนตรี [1]

 

อ้างถึงบทความของคุณอธิป จิตตฤกษ์ เรื่อง “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะจากดนตรีในคาเฟ่ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงบอลยูโร 2012” [3] ผู้เขียนเห็นว่าบทความดังกล่าวมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวยังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดที่สำคัญในบางส่วน ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์ การนำเอางานดนตรีและกีฬามาเผยแพร่ต่อสาธารณชน และองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ดังนี้

1. งานอันมีลิขสิทธิ์

ก่อนจะข้ามไปกล่าวถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ประเภทของสิทธิ การคุ้มครอง การละเมิดลิขสิทธิ์ และเรื่องอื่นๆ สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาก่อนคือ งานนั้นๆ จัดว่าได้รับการคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย งานใดจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่นั้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายประการ ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ประเทศ

หากกล่าวอย่างกว้างๆ โดยหลักแล้ว งานที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญดังต่อไปนี้
1) Originality and Creativity
[4] โดยทั่วไปหมายถึง ต้องเป็นงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์เอง ไม่ได้ลอกงานที่มีอยู่ก่อน รวมถึงต้องแสดงให้เห็นถึงการอุทิศแรงกายแรงใจ สติปัญญา ความรู้ความสามารถของผู้สร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในงาน บางกรณีอาจหมายถึงการแสดงออกให้ปรากฏซึ่งบุคลิก ลักษณะเฉพาะ หรือตัวตนของผู้สร้างสรรค์

2) Fixation (Idea/Expression Dichotomy)
[5] ลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองความคิด เว้นแต่ความคิดนั้นจะมีการแสดงออกให้ปรากฏในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

หากกล่าวถึงงานกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลหรือกีฬาชนิดอื่นๆ งานประเภทดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาขององค์คณะใหญ่ (Grand Chamber) แห่งศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice - ECJ) ซึ่งได้มีคำตัดสินร่วมกันในคดี Football Ass’n Premier League Ltd. v. QC Leisure และคดี Murphy v. Media Protection Serv. Ltd เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 [6]

ข้อเท็จจริงคร่าวๆ ในคดีนี้มีอยู่ว่า Football Association Premier League Ltd (FAPL) ในฐานะบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนของสโมสรฟุตบอลอังกฤษได้ทำสัญญาอนุญาตให้มีการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast) การแข่งขันกีฬาดังกล่าวกับ Sky และ ESPN โดยให้บริษัทดังกล่าวได้รับสิทธิในการแพร่ภาพและเสียงในประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ในต่างประเทศ FAPL ยังได้ทำสัญญาอนุญาตให้มีการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast) กับ NOVA ซึ่งเป็นองค์กรแพร่ภาพและเสียงที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดสัญญาณในประเทศกรีซ

นาง Karen Murphy จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของผับชื่อ Red White and Blue ในเมืองพอร์ตสมัธของอังกฤษ ไม่ได้สมัครใช้บริการของ Sky แต่กลับซื้ออุปกรณ์แปลงสัญญาณของ NOVA และสมัครรับสัญญาณของ NOVA ซึ่งถูกส่งมาจากประเทศกรีซในราคาที่ต่ำกว่าของ Sky โดยนอกจากจะรับสัญญาณมาเพื่อรับชมเป็นการส่วนตัวแล้ว นาง Murphy ยังแพร่ภาพและเสียงรายการฟุตบอลให้แก่ลูกค้าในผับของตนได้รับชมด้วย

คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปโดยสรุปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลก็คือ กีฬาไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ เพราะปราศจากสิ่งที่เรียกว่า Original and Creativity ตามที่กล่าวมาข้างต้น
[7] และนาง Murphy แม้จะอยู่ในอังกฤษก็สามารถรับสัญญาณการถ่ายทอดที่ส่งมาจากองค์กรแพร่ภาพและเสียงในต่างประเทศได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อการรับชมเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ในขณะที่งานดนตรี โดยเนื้องานเองกลับเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซ้อนทับกันอยู่หลายส่วน นับตั้งแต่สิทธิของผู้ประพันธ์ดนตรี (Composer) ผู้แต่งคำร้อง (Lyricist) สิทธิของนักแสดง (Performers’ Rights) หรือแม้แต่สิทธิของผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง (Phonogram Producers’ Rights) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

โดยสรุป สิ่งนี้คือส่วนที่แตกต่างกันอย่างสำคัญระหว่างงานทั้งสองชนิด


2. การนำเอางานดนตรีและกีฬามาเผยแพร่ต่อสาธารณชน

เมื่อพิจารณาว่างานใดได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่แล้ว ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือส่วนที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้สร้างสรรค์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ ว่าขอบข่ายของสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองนั้นเป็นประการใดบ้าง

โดยหลักขอบข่ายของลิขสิทธิ์สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ว่าด้วยสิทธิของผู้สร้างสรรค์ (Author’s Rights) และส่วนที่ว่าด้วยสิทธิข้างเคียง (Related Rights)

ความแตกต่างอย่างสำคัญของสิทธิทั้งสองประเภท อาจกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า สิทธิของผู้สร้างสรรค์ได้แก่สิทธิอันตกได้แก่ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นเอง ส่วนสิทธิข้างเคียง ได้แก่สิทธิอันตกได้แก่บุคคลผู้ซึ่งกระทำการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นสู่สาธารณชน แต่อาจไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน [8]

1) สิทธิของผู้สร้างสรรค์ (Author’s Rights)

ในส่วนนี้ยังสามารถแยกออกเป็นสิทธิในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Rights) และสิทธิในเชิงศีลธรรม (Moral rights)
สิทธิในเชิงเศรษฐกิจของผู้สร้างสรรค์นั้น นอกจากสิทธิในการทำซ้ำ (Reproduction) ดัดแปลง (Adaptation) แจกจ่าย (Distribution) แล้ว ผู้สร้างสรรค์ยังมีสิทธิอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้ ตัวอย่างสิทธิประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับบทความนี้ นั่นคือ สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public)


สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public)

ผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิในการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้มีการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน การเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นหมายความรวมถึง

(1) กรณีที่บุคคลอื่นนำเอางานดนตรีอันมีลิขสิทธิ์นั้นมาเล่นสด (Live Performance) หรือ
(2) กรณีที่บุคคลอื่นนำงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นไปเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ (Wireless Broadcasting, Cabling) (ยกเว้นช่องทางอินเทอร์เน็ต อันจัดเป็นสิทธิพิเศษอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะยังไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้)

ทั้งนี้ อ้างอิงตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมแห่งยุโรปในคดีเดียวกัน ซึ่งมีคำตัดสินว่า สิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public) สมควรมีการตีความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการนำงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ไม่ว่าจะผ่านทางสื่อโดยใช้เทคนิคหรือวิธีการใดๆ ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ‘เผยแพร่ต่อสาธารณะ’ ว่าหมายถึง การเผยแพร่ ‘ต่อสาธารณชนซึ่งไม่ได้อยู่ในสถานที่ต้นทางที่งานนั้นถูกเผยแพร่’ [9]

ผู้เขียนเข้าใจว่าสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือ Right of Communication to the Public ประการนี้เอง คือสิทธิที่คุณอธิปกำลังกล่าวถึงในบทความว่า “สิทธิในการแพร่ภาพและเสียงรู้จักกันในภาษาระบบลิขสิทธิ์ในคำที่ความหมายมากกว่าว่า Performance Right หรือที่ผู้เขียนจะแปลในที่นี้ว่า “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” [10]

2) สิทธิข้างเคียง (Related Rights)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สิทธิข้างเคียง ได้แก่สิทธิอันตกได้แก่บุคคลผู้ซึ่งกระทำการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นสู่สาธารณชน แต่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน ผู้เป็นเจ้าของสิทธิข้างเคียงมีหลายประเภท เช่น สิทธิของนักแสดง (Performers’ Rights) สิทธิของผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง (Phonogram Producers’ Rights) สิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasters’ Rights) เป็นต้น โดยแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดของสิทธิในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Rights) ที่แตกต่างกันไป


สิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasters’ Rights)

องค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasting Organization) ได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม Rome Convention for the Protection of Performers, Producers of Phonograms and Broadcasting Organizations (1961) โดย Article 3(f) ของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวให้ความหมายของการแพร่ภาพและเสียงไว้ว่า หมายถึง ‘การส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์ไร้สายไปยังสาธารณชนที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณเสียง หรือรับสัญญาณภาพและเสียง’ ด้วยเหตุนี้ การส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์เคเบิลจึงไม่เข้าข่ายเป็นการแพร่ภาพและเสียงตามนิยามดังกล่าว [11]

นอกจากนี้ ในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreements on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPS) ก็ยังได้กำหนดความคุ้มครองแก่ Broadcasting Organizations โดยอ้างอิงบทบัญญัติใน Rome Convention เช่นเดียวกัน โดยกำหนดสิทธิในเชิงเศรษฐกิจแก่องค์กรแพร่ภาพและเสียงไว้หลายประการ [12]

สิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasting Organization) ในกรณีนี้แตกต่างและแยกต่างหากจากกรณีที่ ‘บุคคลอื่นนำงานที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นไปเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ’ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือ กรณีนี้ไม่ใช่กรณีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ ‘ผู้สร้างสรรค์’ ในการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ หรืออนุญาตให้มีการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชนแต่ประการใด

ตรงกันข้าม กลับเป็นกรณีที่กฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของ ‘สื่อผู้เป็นตัวกลาง’ ในการเผยแพร่งานนั้นสู่สาธารณชนต่างหาก โดยไม่จำเป็นว่างานที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อนั้นจะเป็นงานอันได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังให้ความคุ้มครองแก่งานที่ถูกแพร่ภาพผ่านองค์กรแพร่ภาพและเสียงโดยไม่จำกัดเงื่อนไขว่างานนั้นจะต้องเป็น Originality เท่านั้นจึงจะได้รับการคุ้มครองด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหาลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอล (Broadcasting Rights) กับสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ (Right of Communication to the Public) ในงานดนตรี ได้ดังนี้

กรณีที่หนึ่ง งานดนตรี
สามารถแยกสิทธิออกได้เป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรก สิทธิในการเผยแพร่งานดนตรีต่อสาธารณะถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ในการที่จะอนุญาต (Authorise) หรือกระทำการเผยแพร่ ดังนั้น เมื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีจะนำงานดนตรีนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสด (Live Performance) หรือการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ (Wireless Broadcasting, Cabling) จะต้องได้รับอนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์ของงานให้กับผู้สร้างสรรค์และบรรดาผู้อื่นซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ตัวอย่างเช่น ผู้ประพันธ์ดนตรี (Composer) ผู้แต่งคำร้อง (Lyricist) และบริษัทผู้ผลิตสื่อบันทึกภาพและเสียง (Publisher)

ส่วนที่สอง ในการเผยแพร่ภาพและเสียงงานดนตรี (Broadcast) เมื่องานดนตรีถูกเผยแพร่ผ่านอุปกรณ์ส่งสัญญาณ จะก่อให้เกิด ‘สิทธิในการแพร่ภาพและเสียง’ (Broadcasting Rights) อันตกได้แก่องค์กรแพร่ภาพและเสียงนั้นๆ ที่ได้ทำการเผยแพร่ภาพและเสียงงานดนตรีดังกล่าว ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

กรณีที่สอง งานกีฬา
เมื่อโดยสภาพของกีฬาไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังที่กล่าวมาแล้ว การเผยแพร่งานกีฬาต่อสาธารณชนจึงปราศจากเงื่อนไขที่จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่อผู้สร้างสรรค์หรือบรรดาผู้อื่นซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ภาพและเสียงงานกีฬา (Broadcast) นั้นเข้าข่ายเป็นสิทธิข้างเคียงของลิขสิทธิ์อันตกได้แก่องค์กรแพร่ภาพและเสียงผู้ได้รับสิทธิให้กระทำการถ่ายทอดสัญญาณครั้งแรก [13] ดังนั้น เมื่อสิทธิในการถ่ายทอดสดกีฬาตกเป็นขององค์กรแพร่ภาพและเสียงดังกล่าว ผู้อื่นจึงไม่สามารถนำสัญญาณภาพและเสียงนั้นที่ถูกเผยแพร่แล้วนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต (re-broadcast) มิฉะนั้นถือเป็นละเมิด เช่นกรณีของนาง Murphy ที่กระทำต่อบริษัท NOVA เป็นต้น

3. องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Collecting Society)

องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เช่น SACEM (France), SIAE (Italy), GEMA (Germany), PRS (UK), ASCAP (US) ในยุคแรกถือกำเนิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์เป็นหลัก แต่ต่อมาก็ได้รับการพัฒนาจนถึงยุคที่องค์กรเหล่านี้สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิข้างเคียงด้วย องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แต่ละองค์กรอาจเป็นตัวแทนของผู้สร้างสรรค์และเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานต่างประเภทไป เช่น SPADEM ซึ่งเป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับศิลปินและตากล้องสำหรับการทำซ้ำงานสร้างสรรค์ในหนังสือหรือโปสการ์ด บางประเทศอาจมีองค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์องค์กรเดียวเพื่อบริหารจัดการค่าลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกือบ - หรืออาจจะทุกประเภท บางประเทศมีองค์กรแห่งเดียวสำหรับบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Right of Communication to the Public) และสิทธิขององค์กรแพร่ภาพและเสียง (Broadcasters’ Rights) ไปพร้อมๆ กัน [14]

ตามข้อเสนอของคุณอธิปที่ว่า ‘องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ทางดนตรีเท่านั้นทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือกระทั่งกีฬาก็สามารถจะมีองค์กรแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมได้’ [15]

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอนี้อาจมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง อย่างไรก็ดียังมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในแง่ที่ว่างานสร้างสรรค์อื่นๆ ที่คุณอธิปกล่าวถึงนั้น ล้วนเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ในตัวเองทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ถือสิทธิทับซ้อนกันอยู่หลายราย ด้วยเหตุนี้องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จึงเข้ามาบริหารจัดการค่าลิขสิทธิ์ที่อาจทับซ้อนเพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นธรรมแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ทุกฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากงานฟุตบอลซึ่งไม่ได้มีลิขสิทธิ์ในตัวเอง แต่ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลกลับไปตกอยู่กับองค์กรผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ภาพและเสียงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจมีอยู่เพียงหนึ่งหรือไม่กี่องค์กรที่ได้รับสิทธิในแต่ละประเทศเท่านั้น และแม้ว่าองค์ประกอบย่อยอื่นๆ ในการแข่งขัน เช่น ดนตรี โลโก้ ถ้วย เหรียญตรา ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่โดยมากก็มักเป็นลิขสิทธิ์ของทางสมาคมแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น การนำองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์มาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมกีฬาจึงอาจยังไม่แน่ว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

 

 

อ้างอิง

[1] อนึ่ง คำว่างานดนตรีในที่นี้ ผู้เขียนขอให้คำนิยามในความหมายอย่างกว้างรวมถึงทั้งงานที่มีและไม่มีเนื้อร้อง
[2] ผู้เขียนขอขอบคุณ วรงค์ หลูไพบูลย์ ผู้ให้ความช่วยเหลือและมีส่วนสำคัญในการซักถาม ถกเถียง และเสนอข้อคิดเห็น กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นบทความฉบับนี้
[3] อธิป จิตตฤกษ์: สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะจากดนตรีในคาเฟ่ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงบอลยูโร 2012 http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41319
[4] มาจากคำว่า ‘intellectual creation’ ใน Article 9(1) of TRIPS ประกอบกับ Article 2(5) of The Berne Convention
[5] Article 9(2) of TRIPS
[6] ผู้สนใจสามารถศึกษาคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ http://curia.europa.eu/juris/celex.jsf?celex=62008CJ0403&lang1=en&type=NOT&ancre= ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์แล้วในคดีนี้ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า
[7] “FAPL cannot claim copyright in the Premier League matches themselves, as they cannot be classified as works. To be so classified, the subject-matter concerned would have to be original in the sense that it is its author’s own intellectual creation. ...sporting events cannot be regarded as intellectual creations classifiable as works within the meaning of the Copyright Directive. That applies in particular to football matches, which are subject to rules of the game, leaving no room for creative freedom for the purposes of copyright.” ; Joined Cases C-403/08 & C-429/08, Football Ass’n Premier League Ltd. v. QC Leisure &Murphy v. Media Protection Serv. Ltd., 1 C.M.L.R. 29 (2011) 96-98.
[8] ผู้สนใจโปรดดู J.A.L Sterling, World Copyright Law (Sweet & Maxwell 2008) 77
[9] Joined Cases C-403/08 & C-429/08, (2011), อ้างแล้ว
[10] อธิป จิตตฤกษ์, อ้างแล้ว
[11] ในบางประเทศเช่นฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษให้การคุ้มครององค์กรแพร่ภาพและเสียงไม่ว่าจะแพร่ภาพและเสียงผ่านทางอุปกรณ์ไร้สายหรือเคเบิล ทั้งนี้ตาม Article 6-9 of EC Rental/Lending and Related Rights Directive ส่วนสหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มครองแบบ sui generis ตาม Communication Act 1934; see above J.A.L Sterling (2008) p 78
[12] Article 2 และ Article 14 (3) of TRIPS ประกอบ Article 13 และ Article 3(f) of Rome Convention
[13] ในกรณีของยูฟ่า ผู้เขียนในฐานะที่ไม่ใช่แฟนกีฬาฟุตบอล เข้าใจว่ายูฟ่าในฐานะสมาคมฟุตบอลยุโรป ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ต้น ให้ตนเองและสมาชิกในสมาคมเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) ในการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast) หรืออนุญาตให้มีการแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลยุโรป ดังนั้น องค์กรแพร่ภาพและเสียงในแต่ละประเทศที่ต้องการเผยแพร่ภาพและเสียงของกีฬาฟุตบอลยุโรปในประเทศของตน จึงต้องเข้าไปเจรจาทำสัญญากับยูฟ่าโดยตรง; Article 48 Statutes of UEFA, 2012 edition, 01 June 2012 http://www.uefa.com/MultimediaFiles/Download/EuroExperience/uefaorg/WhatUEFAis/01/80/54/03/1805403_DOWNLOAD.pdf
[14] J.A.L Sterling, pp. 600-602
[15] อธิป จิตตฤกษ์, อ้างแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net