'สมมติเสวนา'กับ 'ไพโรจน์ ชัยนาม' ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แด่ศิษย์มีครู สมชาย ปรีชาศิลปกุล เสวนาข้ามสมัยกับ ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ผู้เป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

เนื่องจากในปัจจุบันได้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ปรากฏความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย บางส่วนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้เนื่องจากเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้รองรับไว้ ขณะที่บางส่วนกลับมีความเห็นว่ากำลังเป็นการกระทำในลักษณะของการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีโอกาส "สมมติเสวนา" กับ ศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ผู้เป็นปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยท่านเป็นผู้บรรยายลักษณะวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท) ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และสืบเนื่องต่อมากระทั่งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมากจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

โดยความเห็นของ ศ.ไพโรจน์ที่นำมาอ้างอิง ณ ที่นี้จะมาจาก ไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม 1 ข้อความเบื้องต้นและหลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2497 โดยการอ้างอิงในแต่ละแห่งจะระบุหน้าที่ นำมาเอาไว้อย่างชัดเจน

นักเรียนกฎหมาย : อ.ไพโรจน์มีความ เห็นอย่างไรเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิ่งที่จะสามารถกระทำได้หรือไม่

ไพโรจน์ ชัยนาม : การที่จะถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เราจะแตะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสียใหม่ไม่ได้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นจริง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง

ในทางกฎหมายก็คือว่า รัฐธรรมนูญเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติซึ่งบางทีก็เกิดขึ้นโดยเจตนาของฝ่ายเดียว เช่น รัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่ราษฎร หรือเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยการตกลงด้วยเจตนาร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะให้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นของที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมฟังไม่ขึ้น 

รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งย่อมเหมาะสมแก่สภาพของประเทศในสมัยนั้น เพราะผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญย่อมพิจารณาวางบทบัญญัติลงไปตามที่ตนเห็นสมควรในขณะนั้น แต่ภายหลังเมื่อเวลาได้ล่วงเลยมาช้านาน สภาพความเป็นอยู่ของประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงไป

ฉะนั้น จะให้ฐานะในทางการเมืองและทางสังคมของประเทศต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้บทกฎหมายฉบับหนึ่ง (คือรัฐธรรมนูญ) จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล

ในทางการเมืองนั้น การที่ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งตายตัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ย่อมฟังไม่ขึ้น ถ้าหากว่าสภาพความเป็นอยู่ของประเทศได้เปลี่ยนแปลงผิดไปจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งล่วงพ้นสมัยแล้ว รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นแต่เพียงตัวหนังสือไม่มีการปฏิบัติตาม และในไม่ช้าก็จะเกิดมีการปฏิวัติขึ้น

ฉะนั้น ในทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ราษฎรก่อการปฏิวัติจึงจำเป็นที่จะต้องไม่ประกาศออกมาว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ตายตัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และจะต้องมีบทบัญญัติบอกวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไว้ เพื่อสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมัยอยู่เสมอ (หน้า 423-424)

นักเรียนกฎหมาย : หากในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบอันใดอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่ บทบัญญัติเช่นนี้จะมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ เช่นการกำหนดว่าห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลานั้น

ไพโรจน์ ชัยนาม : ในบางครั้งผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญต้องการที่จะให้รูปการปกครองที่ตนสร้างขึ้นมั่นคงถาวรอยู่ชั่วกาลนาน แม้จะยอมให้แก้ไขในเรื่องอื่นๆ ได้ก็ดี โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในทางที่เกี่ยวกับรูปการปกครองของประเทศ เช่น ตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญบราซิล ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981 หลังจากที่ได้กล่าวถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วได้ห้ามไว้ว่า ไม่ให้แก้รูปการปกครองแบบสาธารณรัฐและแบบสหพันธ์ของประเทศ

รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ลงวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1911 ได้กล่าวไว้ในมาตรา 82 ว่า ห้ามมิให้เสนอแก้ไขรูปการปกครองแบบสาธารณรัฐของประเทศ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสฉบับก่อน ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายลงวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1884 มาตรา 2 มีว่า "รูปการปกครองแบบสาธารณรัฐของฝรั่งเศสนั้น ไม่อาจจะเป็นวัตถุประสงค์แห่งการเสนอขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้"

ทั้งนี้ก็เพราะในเวลานั้นพวกนิยมสาธารณรัฐเป็นฝ่ายมีเสียงข้างมากในสภามากขึ้น และเพื่อที่จะป้องกันมิให้กลับไปมีพระมหากษัตริย์ปกครองอีกก็เลยรีบฉวยโอกาสขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติถ้อยคำเหล่านี้ลงไปทันที (หน้า 427)

นักเรียนกฎหมาย : แล้วบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้มีผลผูกพันในทางรัฐธรรมนูญโดยห้ามเป็นการแก้ไขในส่วนเหล่านี้อย่างเด็ดขาดเลยใช่หรือไม่

ไพโรจน์ ชัยนาม : ทั้งนี้เป็นความจริงว่าบทบัญญัติเหล่านี้เพียงแต่เป็นสิ่งแสดงความปรารถนาของผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญให้บุคคลรุ่นหลังๆ ทราบเท่านั้น แต่หาได้มีค่าในทางกฎหมายเป็นการบังคับให้พวกเหล่านี้พึงปฏิบัติตามไม่ (หน้า 427)

นักเรียนกฎหมาย : เนื่องจากในปัจจุบันได้เกิดข้อถกเถียงว่าในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอันจะมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ อาจารย์มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร

ไพโรจน์ ชัยนาม : การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกใช้แทนฉบับเก่านั้นย่อมจะทำได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม แต่บางทีรัฐธรรมนูญหนึ่งก็มีบทบัญญัติกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ทั้งฉบับไว้ (การยกเลิก) โดยเรียบร้อย นอกจากนี้อาจมีการตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรได้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ใหม่ (หน้า 438)

นักเรียนกฎหมาย : แต่ได้มีข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นแต่เพียงอนุญาตให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางมาตรา ไม่ได้หมายความให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด

ไพโรจน์ ชัยนาม : อย่างไรก็ดี การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งนั้นอาจทำได้เสมอ แม้เมื่อไม่มีบทบัญญัติกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเรา คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 แม้จะไม่มีบทบัญญัติบอกวิธีแก้ไขเพิ่มเติม หรือวิธียกเลิกตัวเองไว้ก็ดี ก็ได้ถูกยกเลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เพราะเมื่อได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งไปร่างรัฐธรรมนูญมาเสนอ เมื่อสภาได้ลงมติให้ใช้แล้ว ก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก็เช่นกัน ได้ถูกยกเลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 (ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492) (หน้า 438-439)

นักเรียนกฎหมาย : อาจารย์มีสิ่งใดจะฝากไว้ให้พิจารณาสำหรับกรณีความขัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ไพโรจน์ ชัยนาม : ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ อาจสรุปลงได้ว่า

1.รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมได้

2.การแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะทำได้ทุกๆ ส่วนของรัฐธรรมนูญตามความจำเป็น

3.การแก้ไขเพิ่มเติมจะทำได้ทุกขณะไม่ว่าเวลาใด

4.การแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติไว้ (หากมี) (หน้า 429)

โปรดพึงตระหนักว่าท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ พ.ศ.2537 ก่อนหน้าที่จะปรากฏความขัดแย้งระหว่างไพร่/อำมาตย์ หรือเสื้อเหลือง/เสื้อแดง จึงหวังว่าจะไม่มีบุคคลใดกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่า ศ.ไพโรจน์ให้ความเห็นเข้าข้างทางฝ่ายเสื้อแดง หรือกล่าวหาว่าท่านเป็น "ปัญญาชนเสื้่อแดง" ดังที่มักชอบกระทำกับบุคคลที่ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของทางฝ่ายเสื้อแดงอยู่เนืองๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท