ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน : ภูมิศาสตร์การเมืองและ เกมแห่งอำนาจใหม่ในพื้นที่ประเทศไทย*

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตลาดของ “ฟุตบอลไทย” ที่ไม่ใช่ยี่ห้อผลิตภัณฑ์กีฬา ขยายตัวอย่างมากทั้งในนามของทุนนิยม และในฐานะเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่ในเทอมของกีฬาอาชีพแรกๆที่ประสบความสำเร็จหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลาอันยาวนาน ระบบฟุตบอลอาชีพเริ่มขยับขยายจากศูนย์กลางประเทศไปสู่ ฟุตบอลอาชีพในระดับต่างจังหวัด และนับวันจะยึดหัวหาดพื้นที่ในไทยพรีเมียร์ลีกไปทีละน้อย

นั่นหมายถึงว่า พื้นที่การขับเคี่ยวกันของ อำนาจทุน อำนาจการเมืองท้องถิ่น รวมไปถึงพลังอุปถัมภ์ในนามหน่วยราชการทหารและพลเรือนได้แย่งชิงทรัพยากรและความสำเร็จผ่านสนามรบทางการเมืองสำคัญชุดหนึ่งในนามของฟุตบอลลีกไปแล้วแทบจะทั่วประเทศ บทความนี้พยายามสร้างคำอธิบายผ่านการวิเคราะห์ผ่านการเมืองของพื้นที่ และความเป็นพื้นที่สาธารณะของมวลชนที่ถูกสร้างขึ้นโดยฟุตบอลอาชีพ อันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยในบริบทที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองในระดับฐานราก

1. พื้นที่ของอำนาจ : เกมฟุตบอลเป็นของใคร อำนาจอยู่ที่ใครกันแน่

ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว นับจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ปัจจุบันสมัย วงการฟุตบอลรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ผ่านทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (2449), ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ (2477), ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี (2507) ทุกวันนี้ยังพบว่ามีบางกลุ่มเรียกร้องตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มาแทนสัญลักษณ์ “ช้างยิ้ม” บนชุดแข่งทีมชาติ

แม้ฟุตบอลสมัครเล่นในนามทีมชาติจะดึงดูดคนดูได้เสมอ แต่นั่นก็พบว่ามันเป็นการรวมศูนย์ความนิยมของเกมกีฬาที่ไปผูกอยู่กับชาติเป็นหลัก เราพบว่า ฟุตบอลลีกต่างหาก ที่กำลังสร้างความผูกพันอยู่กับระบบแฟนและอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมที่นักการเมืองทั้งระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นพยายามเข้ามาสร้างฐาน เร็วๆนี้มีผู้เขียนบทความถามถึงการละเลยถึงฟุตบอลถ้วยอันศักดิ์สิทธิ์อย่างฟุตบอลถ้วยพระราชทาน และควีนส์คัพโดยหาว่าฟุตบอลอาชีพได้แต่เอาเงินมาล่อคน [2]

ในด้านหนึ่งฟุตบอลอาชีพโดยเฉพาะสโมสรที่ผูกกับจังหวัด ต้องการพลังการเมืองในการหนุนให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยม รวมไปถึงการใช้อำนาจในการต่อรองเพื่อการใช้พื้นที่สนาม รวมไปถึงการต่อรองผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ นั่นคือ การหาทุนสนับสนุน นักการเมืองผู้มีคอนเนกชั่นกว้างขวาง และผู้มีประสบการณ์ต่อรองที่ชาญฉลาดจึงเป็น “เครื่องมือ” สำคัญหนึ่งในสโมสรฟุตบอลระดับจังหวัด

ขณะที่อีกด้านก็พบว่า การสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่เป็นระบบและยังมีช่องโหว่ เช่น การอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐสู่สโมสรที่อิงอยู่กับความเป็นท้องถิ่น ปัจจุบันรัฐสนับสนุนผ่านช่องทางของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และไม่อนุญาตให้สนับสนุนผ่านหน่วยงานท้องถิ่น ด้วย phobia กลัวนักการเมืองและการคอรัปชั่นที่พ่วงมาด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีที่สตง.เรียกเก็บเงินคืนจาก อบจ.ชัยนาท 50 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าอาศัยช่องทางนำเงินหลวงไปใช้กับสโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นบริษัทเอกชน คือ ชัยนาท เอฟซี อย่างไรก็ตามก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของ อนุชา นาคาศัย ที่เป็นทั้ง นายกอบจ.ชัยนาท, นายกสมาคมกีฬาจังหวัดชัยนาท บทวิเคราะห์ต่างๆ พุ่งเป้าไปที่ “ผลประโยชน์ของนักการเมือง” โดยไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมันตกอยู่กับท้องถิ่นด้วย [3] ขณะที่ท่าทีและน้ำเสียงที่มีต่อทีมเอกชนที่มีภาพลักษณ์ไม่ได้โยงกับนักการเมืองอย่างเช่น เมืองทองฯยูไนเต็ด (ที่เป็นข่าวว่ามีความไม่ชอบมาพากลระหว่าง เมืองทองฯ กับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย), บางกอกกล๊าส (เจ้าของคือ นามสกุลภิรมย์ภักดี) กลับแตกต่างกันไป และทำราวกับว่าทำทีมฟุตบอลไม่ได้หวังผลอะไร โดยเฉพาะผลทางการเมือง

อาการกลัวนักการเมืองแสดงออกได้ชัดจากชื่อกระทู้ “ระวิ โหลทอง เจอ เนวิน ชิดชอบ คุณคิดว่าใครจะต้องยกมือไหว้ใครก่อน !!!!!!‎” [4] หรือบทความจากสื่อมวลชนต้านนักการเมืองอย่างผู้จัดการ "แฉนักการเมืองใช้ฟุตบอลบังหน้า ฟอกเงินผ่านสปอนเซอร์!" [5] อย่างไรก็ตามแนวโน้มการพึ่งพิงนักการเมืองก็ดูจะมีมากขึ้น ทำให้ความสำเร็จที่รวดเร็วเกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ของนักการเมือง แทนที่จะสร้างระบบทีมอาชีพที่แข็งแกร่งโดยตัวของมันเองในกระแสธุรกิจและชีวิตสาธารณะแบบใหม่


ภาพแสดง โฉมหน้าปฐมบทนักเลงฟุตบอลทีมชาติสยาม
[6]


งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

2. ฟุตบอลสมัครเล่น กับ ฟุตบอลอาชีพ พื้นที่แห่งรอยต่อที่ขาดวิ่น?

ฟุตบอลสมัครเล่นนั้นสถิตนิ่งอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เราพบการแข่งขันในรายการต่างๆ ตั้งแต่ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข., ค., ง., ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์, ไทคัพ, ในระดับเยาวชนก็มีฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี, ฟุตบอลกรมพลศึกษา ฯลฯ ปลายทางและสุดยอดของพวกเขาก็คือ การได้ติดทีมชาติ และหากมีโชคก็จะได้รับบรรจุเข้าสู่สังกัดของหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ทหาร ตำรวจ กระทั่งหน่วยงานพลเรือน

ตั้งแต่การรวมลีกในปี 2550 อาจเรียกได้ว่าโครงสร้างระบบฟุตบอลอาชีพได้สร้างเสถียรภาพมาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจกีฬาที่กำลังขยายตัวและมีความเป็นไปได้ทางการทำกำไรมากขึ้น ก็ทำให้เกิดความพยายามจะตั้งทีมใหม่ๆขึ้น

ที่ผ่านมา เราไม่ได้มองเห็นฟุตบอลอาชีพในเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์การเมืองของฟุตบอลอาชีพที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของลีกทุกระดับ มันได้กระจายไปตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล เราสามารถจำแนกลำดับชั้นของลีกฟุตบอลแบ่งเป็น ไทยพรีเมียร์ลีก, ดิวิชั่น 1 และลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 สำหรับระดับไทยพรีเมียร์ลีกและดิวิชั่น 1 นั้น ระบบการเลื่อนชั้น และตกชั้นที่ค่อนข้างชัดเจนและอยู่ตัวแล้ว แต่ในระดับดิวิชั่น 2 นั้น ยังพบว่ายังไม่นิ่ง และมีการดำเนินการที่ลักลั่นอยู่ เนื่องจากว่าส่วนหนึ่งเป็นร่องรอยจากอำนาจของ 2 องค์กรใหญ่ที่มาอยู่ในร่มใหญ่เดียวกัน ตั้งแต่การรวมลีกในปี 2550 ในที่นี้ขอขยายความเพิ่มเติม

ลีกภูมิภาค การเลื่อนชั้น ตกชั้น และการก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ

1) การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร พบว่า การเข้าไปสู่พื้นที่ของเกมฟุตบอลอาชีพนั่นคือ ระดับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามโควตาของ 2 หน่วยงาน ได้แก่

1.1) โควตาของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ นั่นก็คือ ผ่านการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ตั้งแต่ถ้วย ง., ถ้วย ค. และถ้วย ข. สองทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศจากถ้วย ข.จะได้รับสิทธิ์ให้ไปเตะในดิวิชั่น 2 ของกรุงเทพฯ ล่าสุดก็คือ สมาคมบางกอกกล๊าส (ต่อมาเป็น รังสิต เอฟซี) และ สมาคมกีฬาคริสเตียนไทย (ต่อมาเป็น ธนบุรี เอฟซี) [7] การเลื่อนชั้นด้วยวิธีนี้ ทำให้มีการป้อนสโมสรใหม่ๆ เรื่อยๆเข้าไป ดังนั้นจึงต้องมีการใช้ระบบตกชั้นเข้ามาหมุนเวียน อย่างช้าก็คือใน ฤดูกาล 2012 [8]

ความลักลั่นก็คือ ทีมฟุตบอลที่มาทำการแข่งขันนั้น แม้จะได้สิทธิในนามของกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่พบว่าทีมจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น สโมสรมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้สิทธินี้และในเวลาต่อมาได้ถูกโยกให้มาอยู่กับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น2 ภาคเหนือ และทำให้ทีมดังกล่าวขยับตูดหนีระบบการตกชั้นในภูมิภาคกรุงเทฯไปเสีย แต่นั่นทำให้กลายเป็นว่า เป็นปฏิบัติการ “แย่งพื้นที่” ของทีมจังหวัดในลีกภูมิภาคโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างทีมอื่นๆที่ยังอยู่ในฟุตบอลพระราชทานถ้วย ข., ค. ง. มีดังนี้

ถ้วย ข. ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (ลพบุรี), เทศบาลตำบลกุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์), สมาคมสโมสรถาวรฟาร์ม (นครสวรรค์), สโมสรฟุตบอลโคราช (นครราชสีมา), สมาคมกีฬากรุงเก่า (อยุธยา), โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (ชลบุรี) ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ ทัวร์นาเมนท์นี้แข่งขันที่ จ.ระยอง ทั้งหมด 3 สนาม ได้แก่ สนามกีฬามาบตาพุด, สนามกีฬากลางอำเภอแกลง และ สนามกีฬากลาง จ.ระยอง [9]

ถ้วย ค. ได้แก่ โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา, เทศบาลเมืองหัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์), สมาคมกีฬาบางปะกง (ฉะเชิงเทรา?), เทศบาลตำบลบ้านแหลม (เพชรบุรี), เทศบาลตำบลบางเมือง (สมุทรปราการ), เทศบาลตำบลบางขะแยง (ปทุมธานี), มูลนิธินวมราชานุสรณ์, องค์การบริหารส่วนตำบลลุมพลี (อยุธยา) รอบคัดเลือกแข่งที่ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก กรุงเทพฯ รอบรองแข่งที่หมู่บ้านธารารมย์ และนัดชิงแข่งที่ลีโอ สเตเดียมของบางกอกกล๊าส [10]

ถ้วย ง. คู่ชิงชนะเลิศในปี 2555 ได้แก่ ทีมเกาะขวาง (จันทบุรี) และศิษย์เก่าปากช่อง (นครราชสีมา) รอบคัดเลือกแข่งที่ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก กรุงเทพฯ [11] และนัดชิงแข่งที่ลีโอ สเตเดียมของบางกอกกล๊าส

ข้อสังเกตก็คือ นอกจากทีมองค์กรที่หากินอยู่กับพื้นที่นี้แต่เดิมแล้ว การส่งทีมในนามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ และ 2 ทีมล่าสุดที่เลื่อนชั้นมาเล่น D2 ก็ต้องเปลี่ยนจากความเป็นหน่วยงานองค์กรไปสู่ชื่อทีมที่อิงกับพื้นที่ท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือ รังสิต เอฟซี (สมาคมบางกอกกล๊าส) และธนบุรี เอฟซี (สมาคมกีฬาคริสเตียนไทย)

1.2) โควตาของการกีฬาแห่งประเทศไทย ผูกติดอยู่กับ สมาคมกีฬาจังหวัดต่างๆ และนายกสมาคมฯ แต่ละแห่งก็คือ นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองในจังหวัดนั้นๆ ดังนั้นเป็นไปได้สูงว่าการที่ไม่มีระบบ “ตกชั้น” อย่างน้อยก็ตอนนี้ ทำให้การันตีความอยู่รอดของสโมสรต่างๆ ในทางกลับกันมันก็ไม่ได้ทำให้เกิดปรับตัวหรือเกิดสโมสรใหม่ๆที่จะแทรกตัวขึ้นมาได้ภายใต้ระบบโควต้าของสมาคมกีฬาแบบนี้ แม้จะมีข้อยกเว้น เช่น ทีมเชียงรายเอฟซี ที่ได้รับโควตาจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หลังจากที่เชียงรายยูไนเต็ดสามารถเลื่อนชั้นไปยังดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในเกณฑ์เดียวกัน ไม่สามารถใช้ได้กับ จังหวัดเชียงใหม่ และชัยนาท ที่ได้สิทธิเลื่อนชั้นไปใน D1 นี่คือ ความลักลั่นที่ไม่ยึดในหลักการ และระบบมาตรฐานเดียวกัน

มีข้อเสนอหลายท่านที่เห็นว่าควรจะมี ระดับ D3 เพิ่มขึ้นมา หรือระบบที่หมุนเวียนเพื่อสร้างแรงกระตุ้นของสโมสรต่างๆ สำหรับผู้เขียนเสนอว่า น่าจะเป็นการเปิดระบบทัวร์นาเมนท์ของแต่ละภูมิภาคเพื่อหาตัวแทน 3 ทีม เพื่อสับเปลี่ยนกับ 3 สโมสรที่ตกชั้นมาจาก D2 ในแต่ละภูมิภาค หรือมิเช่นนั้นก็ให้จังหวัดที่ตกชั้นนั้น ทำการแข่งขันทัวร์นาเมนท์โอเพ่นในจังหวัด แล้วทีมที่ชนะเลิศ จะได้สิทธิมาแข่งขันแทนทีมเดิม อย่างไรก็ตาม การจัดการเช่นนี้ได้ ก็ต้องผ่านด่านสำคัญก็คือ สมาคมกีฬาจังหวัดต่างๆนั่นเอง นอกเสียจากว่า กกท.จะเปลี่ยนแปลงกติกาไม่ให้สิทธิไปขึ้นอยู่กับสมาคมกีฬาจังหวัด

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การพยายามสลายความเป็นลีกกรุงเทพฯ และปริมณฑลออกไป จากข้อเสนอการปรับโซนอีกครั้งในฤดูกาล 2556 [12] โดยการยุบรวม ภาคกลางและตะวันออก กับ ภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล แล้วแบ่งเป็น ภาคกลางและตะวันออก กับ ภาคกลางและตะวันตก แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่ากรุงเทพฯจะสังกัดฝั่งไหน

2) การเทิร์นโปรสู่ความเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ทุกวันนี้ทรัพยากรนักฟุตบอลในแต่ละสโมสรส่วนมาก

ได้มาจากการซื้อขายระหว่างสโมสร บางคนผันตัวเองมาจากนักเตะเดินสาย ขณะที่นักเตะเยาวชน ก็จะเป็นนักเตะตัวปั้นของโรงเรียนที่มีชื่อเรื่องฟุตบอลอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ, เทพศิรินทร์, อัสสัมชัญ, กรุงเทพคริสเตียน, อัสสัมชัญศรีราชา อีกส่วนหนึ่งก็คือ ระบบอคาเดมี่ที่แต่ละสโมสรเริ่มก่อตั้งอย่างจริงๆจังๆ เช่น บุรีรัมย์ยูไนเต็ด และชลบุรีเอฟซี อีกกรณีหนึ่งก็คือ บุคลากรกีฬาจากสถาบันการศึกษาด้านกีฬาที่มีอยู่ไม่มากนักเช่น สถาบันการพลศึกษา (เดิมคือวิทยาลัยพลศึกษา) เช่น ภาคเหนือ เชียงใหม่, ลำปาง, สุโขทัย ภาคกลาง กรุงเทพ, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, อ่างทอง ภาคตะวันออก ชลบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชัยภูมิ, เพชรบูรณ์, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, อุดรธานี ภาคใต้ กระบี่, ชุมพร, ตรัง, ยะลา

สำหรับโรงเรียนกีฬา ก็กระจายไปตามภูมิภาคดังนี้ ภาคเหนือ ลำปางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี ภาคกลาง นครสวรรค์, สุพรรณบุรี, อ่างทอง ภาคตะวันออก ชลบุรี ภาคใต้ ตรัง, นครศรีธรรมราช, ยะลา

ขณะที่การล่าตัวนักเตะจากทัวร์นาเมนท์การแข่งขันระดับเยาวชนก็ถือว่ายังไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะรายการการแข่งขันดังกล่าวไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไปมากพอ เช่น ไพรมินิสเตอร์คัพ, ฟุตบอลกรมพลศึกษา ฯลฯ ผู้เขียนนึกถึงการแข่งขันเบสบอลของนักเรียนระดับมัธยมปลายที่เรียกกันว่า “โคชิเอ็ง” อันเป็นสนามเบสบอลที่นักกีฬาเบสบอลสมัครเล่นทุกคนใฝ่ฝันว่าจะต้องไปเหยียบสักครั้งหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่งทัวร์นาเมนท์ดังกล่าวนั่นก็เป็นโอกาสที่จะถูกจับตาโดยทีมอาชีพ นำไปสู่การเทิร์นโปรไปสู่นักเบสบอลอาชีพต่อไป อีกมิติหนึ่งที่แฝงอยู่ก็คือ กระแสท้องถิ่นนิยมที่ผูกโยงกับกีฬา การแข่งขันเช่นนี้จึงเป็นการปรากฏกตัวของทีมจากท้องถิ่นต่างๆ ในสนามกลางระดับชาติ

เมืองไทย ยังไม่มีการสร้าง “สตอรี่” ลักษณะดังกล่าวผูกเข้ากับทัวร์นาเมนท์ระดับชาติอย่างจริงจัง

3. สนามกีฬาเพื่อพิธีกรรม ไม่ได้ไว้สำหรับกิจกรรมกีฬามวลชน

ในระดับชาติและระดับนานาชาติ พิธีกรรมที่เรียกว่ากีฬา เกิดขึ้นเพื่อสนองอุดมการณ์ชาตินิยม เช่น กีฬาแหลมทอง (ในเวลาต่อมาคือ ซีเกมส์) 2502, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ 2509 โดยเฉพาะในช่วงแรกถือว่าเป็นเกมการเมืองระหว่างช่วงสงครามเย็นด้วย ไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์การเมืองสงครามเย็นในภูมิภาค หลังปี 2509 แล้ว ไทยยังเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อีกในปี 2513 (แทนเกาหลีที่กำลังคุกรุ่นเรื่องความขัดแย้ง จีนพึ่งเข้ามาในปี 2517 หลังจากที่นิกสันเยือนจีนในปี 2518) และ 2521 ล่าสุดคือปี 2541 ขณะที่ซีเกมส์จัดในเมืองไทยมาแล้ว 6 ครั้ง ได้แก่ 2502, 2510, 2518, 2528, 2538 (เชียงใหม่) และปี2550 (นครราชสีมา)

ในระดับชาติ เราก็พบว่า สนามกีฬาสำคัญที่สุดล้วนถูกใช้เป็นฉากของพิธีกรรมของชาติเสียมากกว่า เช่น การ

สวนสนามคณะลูกเสือแห่งประเทศไทย,พิธีสวนสนามวันคล้ายวันสถาปนายุวกาชาดแห่งประเทศไทย ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น การแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น การแข่งขันกีฬาแห่งประเทศไทย) ที่เริ่มต้น ในปี 2510 ก็ทำให้การแข่งขันกีฬาแบบสากล ขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัด อย่างไรก็ตามเนื้อหาแก่นสาระสำคัญที่สุดก็คือ การสร้างฐานอุดมการณ์ “ท้องถิ่นนิยม-จังหวัดนิยม” ที่ผูกเข้ากับศูนย์กลางความเป็นชาติไทย

การเป็นเจ้าภาพของกีฬาต่างๆ ในด้านหนึ่งก็คือ จังหวัดนั้นๆ จะได้รับงบประมาณในการก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาของตนขึ้นใหม่เช่นที่ กาญจนบุรี ได้ปรับปรุงก่อสร้างสนามหลักขึ้นในนาม สนามกลีบบัว กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กาญจนบุรีเกมส์ ปี 2552 ในปี 2553 ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 10 “สนามกีฬาคุณภาพในเมืองไทย” จากเว็บ Mthai เมื่อปี 2553 [13]

สิ่งที่ตอกย้ำถึงการละเลยความสำคัญของสนามกีฬาในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับเมืองก็คือ พบว่า สนามกีฬากลางจังหวัดในหลายแห่ง พบว่าสร้างขึ้นในตำแหน่งที่ไกลจากตัวเมือง ถึงขนาดสร้างอยู่ใกล้กับสุสานเช่น สนามกีฬากลางจังหวัดลำพูน, ลำปาง และน่าน สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นความไม่สำคัญของพื้นที่ พอๆกับโครงสร้างการวางผังเมืองและขนส่งสาธารณะในเมืองไทยที่ยังล้าหลังอยู่มาก


สนามรัชมังคลากีฬาสถานที่แล้วเสร็จเพื่อใช้เอเชี่ยนเกมส์ กรุงเทพฯ ปี 2541


สนามกลีบบัว ที่นั่งกว่า 20,000 มีอัฒจันทร์เกือบรอบด้าน
ที่ได้อานิสงส์จาก กาญจนบุรีเกมส์ ปี 2552 ที่มาภาพจาก mthai

4. อาการโหยหาพื้นที่สาธารณะ Demand ของพื้นที่

ที่ผ่านมาการใช้พื้นที่นอกบ้านในสังคมไทยนั้น เป็นพื้นที่สาธารณะเชิง passive เช่น พื้นที่ของมวลชนในพระราชพิธีฯ พื้นที่เกี่ยวกับพิธีกรรมของชาติ และพุทธศาสนา แม้แต่การแข่งขันกีฬาระดับประเทศไปจนถึงกีฬาเยาวชนในแต่ละจังหวัดนั้น พบว่า ความสำคัญสูงสุดไปอยู่ที่พิธีกรรม พิธีเปิด ปิดและองค์ประธานมากกว่าจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพกีฬาและวัฒนธรรมการชมกีฬา จึงไม่น่าแปลกใจที่พิธีเปิด ปิด หรือห้วงเวลาสำคัญ คนดูที่เต็มสนามจึงเต็มไปด้วยนักเรียน นักศึกษาที่ถูกเกณฑ์ให้มาเข้าร่วม มิได้มาจากการใช้พื้นที่สาธารณะในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่

ระยะหลัง การใช้พื้นที่สาธารณะได้ปรับเปลี่ยนมาสู่พื้นที่การบริโภค เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ร้านกาแฟ ลานเบียร์ การใช้พื้นที่เพื่อการบริโภคเริ่มปรับมาเป็น พื้นที่ active มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปลายทศวรรษ 2540 ต่อทศวรรษ 2550 ที่พื้นที่สาธารณะทางการเมืองกลายเป็นพื้นที่ของมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล ราชประสงค์ ซึ่งผนวกเอาอัตลักษณ์ทางการเมืองเข้ากับการใช้พื้นที่นั้นๆด้วย

นอกจากนั้น พื้นที่สนามกีฬาเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆดูจากการขยายตัวของ สนามฟุตบอลให้เช่าทั้งกลางแจ้งและในร่ม เนื่องมาจากพื้นที่เดิมที่มี่อยู่ไม่เพียงพอ สนามฟุตบอลโรงเรียนคับแคบและส่วนใหญ่ก็ถูกห้ามใช้ สวนทางกับปริมาณการใช้พื้นที่ที่มากขึ้นเรื่อยๆ

5. Home Stadium : การเมืองเหนือสนามฟุตบอลเหย้า

สิ่งหนึ่งที่หลายๆ สโมสรในระดับจังหวัดมักจะตกม้าตายก็คือ อำนาจการเมืองในการควบคุมพื้นที่ เราพบว่าในสังคมไทยนั้น พื้นที่ของสนามกีฬาถูกผูกมัดกับหน่วยงานราชการเป็นหลัก แม้จะมีการถ่ายโอนอำนาจให้เป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ภาพลักษณ์และการจัดการแบบราชการก็ยังคงเป็นมรดกอันไม่พึงประสงค์

วัฒนธรรมแบบราชการไทยนั้น จะยิ่งยุ่งยากมากขึ้นไปอีก หากมีหน่วยราชการคนละสังกัดมีอำนาจในพื้นที่เดียวกัน บางจังหวัดที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาค้ำกันอยู่ เช่น ที่ลำปาง พบว่า เป็นสนามกีฬากลางจังหวัดที่ตั้งอยู่ในสถาบันการพลศึกษา ขณะที่มีการกีฬาแห่งประเทศไทยอยู่ในบริเวณนั้น และดูแลพื้นที่ในบางครั้ง ขณะที่ต้องการงบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการสนับสนุนด้วย กรณีนี้นับว่าโชคดีที่ สโมสรลำปางเอฟซี สามารถใช้สนามได้ไม่มีปัญหาเนื่องจากมีนักการเมืองรุ่นใหญ่เปิดไฟเขียวให้

แต่ปัญหาเรื่องการอนุมัติใช้สนามเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อการเมืองท้องถิ่นภายในจังหวัดขัดแย้งกันระหว่างผู้ที่เป็นเจ้าของทีมกับเจ้าของสนามกีฬา เช่น เชียงรายยูไนเต็ด ที่ไม่สามารถใช้สนามกีฬากลางจังหวัดในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย ซึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าของได้ (ปัจจุบันการเมืองเปลี่ยนขั้ว ตระกูลติยะไพรัชกลับมาครองตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายได้แล้ว) เนื่องจากเป็นกลุ่มการเมืองคนละขั้ว ปัจจุบันเชียงรายยูไนเต็ด หาทางออกด้วยการลงทุนสร้างสนามเอกชนขึ้นมาใช้เอง

สำหรับทีมท้องถิ่น หากไม่มีปัญหาเรื่องการเมืองท้องถิ่นแล้ว ก็จะสามารถใช้สนามกีฬากลางจังหวัดได้ทั้งหมด ที่น่าสังเกตก็คือ ในจังหวัดที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาระดับนานาชาติก็สามารถใช้สนามใหญ่โตได้อย่างเช่น เชียงใหม่ เอฟซี ใช้สนามกีฬาสมโภช 700 ปี ที่ใช้ในซีเกมส์ปี 2538 ขณะที่ โคราช เอฟซี ก็ใช้สนามซีเกมส์ที่สร้างขึ้นในปี 2550 อย่างไรก็ตาม แม้สนามจะมาตรฐานแต่ปัญหาก็คือ ผู้ชมในสนามที่ยังไม่แน่นสนามเท่าที่ควร

สนามเหย้าใน เอไอเอส ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น2

การประเมินเบื้องต้นพบว่า สโมสรที่มีผู้เข้าชมจำนวนมากในระดับลีกภูมิภาค ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ลำพูนวอร์ริเออร์ (สนามอบจ.ลำพูน), พิษณุโลก เอฟซี (สนามอบจ.พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย ซิตี้ (สนามอบจ.เลย ย้ายไปสนามกีฬาเทศบาลตำบลเชียงคาน ชั่วคราว), ภาคกลางและตะวันออก ตราด เอฟซี (สนามอบจ.ตราด), ระยอง ยูไนเต็ด (สนามอบจ.ระยอง), อยุธยา เอฟซี (สนามอบจ.อยุธยา)ภาคกรุงเทพฯและปริมณฑล สมุทรปราการ ยูไนเต็ด (สนามเอกชน?) ภาคใต้ พัทลุง เอฟซี(สนามอบจ.พัทลุง), นราธิวาส ยูไนเต็ด (สนามอบจ.นราธิวาส) สังเกตได้ว่าแทบทั้งหมดเป็นสนามภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นหน่วยงานส่วนกลางในจังหวัดนั้นๆ ตามนโยบายการกระจายอำนาจ ในด้านรูปแบบแล้วสนามกีฬาดังกล่าวก็ไม่ได้มีลักษณะเดียวกันหมด จริงอยู่ว่าสนามดังกล่าวไม่พ้นว่าจะเป็นแบบมาตรฐานจากส่วนกลาง แต่หากมองในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว แบบมาตรฐานก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ด้วย เท่าที่สังเกตเบื้องต้นจะพบว่า สนามมาตรฐานในยุคแรก ด้านอัฒจันทร์ประธานจะไม่ได้ยกสูงมากพอ ทำให้มีปัญหาก็คือ ซุ้มม้านั่งสำรองและสต๊าฟโค้ช บดบังทัศนียภาพการชม ขณะที่แบบมาตรฐานในยุคต่อมาได้แก้ปัญหานี้ด้วยการยกพื้นสูงขึ้นมาประมาณความสูงอาคาร 1 ชั้น เพื่อทัศนียภาพการชมที่ดีขึ้น


ผู้ชมให้ความสนใจมากในนัดที่ตราดเอฟซี ลงแข่ง

สนามเหย้าใน ยามาฮ่า ลีกวัน

ในระดับดิวิชั่น1 ที่เดิมเป็นลีกที่มีคนดูน้อย เนื่องจากว่าเต็มไปด้วยทีมองค์กรต่างๆ ปัจจุบันถือว่ามีสัดส่วนทีมท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพสนามโดยทั่วไปแล้วก็จะคล้ายคลึงกับระดับดิวิชั่น 2 แต่ที่น่าสนใจว่า ระดับดิวิชั่น 1 เป็นระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกระดับ ทำให้เกิดทีมท้องถิ่นที่มีศักยภาพมากทั้งในด้านสนามและผู้เข้า ดังที่พบสถิติของปี 2011 ยอดผู้ชมมากที่สุด 3 อันดับแรก [14] ได้แก่

สนามติณสูลานนท์ : สงขลา เอฟซี ฤดูกาล จบฤดูกาล 2011/2554 ในอันดับที่ 5 [15] ยอดผู้เข้าชมอยู่ที่ 199,138 คน เฉลี่ยแมทช์ละ 11,714 คน และนัดที่เป็นสถิติสูงสุดก็คือ นัดที่เปิดบ้านพบกับบุรีรัมย์ เอฟซี จำนวนคนอยู่ที่ 36,715 คน สนามดังกล่าวมีขนาดใหญ่มากและเคยใช้ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2541

สนามเชียงใหม่สมโภช 700 ปี : เชียงใหม่ เอฟซี จบฤดูกาล 2011/2554 ในอันดับที่16 [16] ทำให้ฤดูกาล 2012/2555 ต้องตกชั้นไปสู่ D2 ยอดผู้เข้าชมในฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 147,637 คน เฉลี่ยแมทช์ละ 8,685 คน สนามกีฬาดังกล่าวเคยเป็นสนามหลักในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในปี 2538

สนามไอโมบาย สเตเดียม (อบจ.บุรีรัมย์) : บุรีรัมย์ เอฟซี จบฤดูกาล 2011/2554 ในอันดับที่ 1 ทำให้ฤดูกาล 2012 ขึ้นชั้นไปสู่ไทยพรีเมียร์ลีก ต่อมาได้ควบรวมกับบุรีรัมย์ยูไนเต็ด และโอนกรรมสิทธิ์ในระดับไทยพรีเมียร์ลีกให้กับทีมใหม่ที่ชื่อว่า วัวชนยูไนเต็ด ที่มีสนามเหย้าอยู่ที่ สนามติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ยอดผู้เข้าชม D1 ฤดูกาล 2011 อยู่ที่ 128,222 คน เฉลี่ยแมทช์ละ 7,542 คน สนามดังกล่าวเป็นสนามของ อบจ.บุรีรัมย์ เป็นสนามคนละแห่งกับสนามเอกชนในนาม นิว ไอโมบาย สเตเดี้ยม ของ บุรีรัมย์ยูไนเต็ด

ในฤดูกาล 2012/2555 ทีมนครราชสีมา เอฟซี ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ระดับดิวิชั่น 1 ทำให้มีสนามระดับมาตรฐานนานาชาติเพิ่มขึ้นอีกแห่ง นั่นคือ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับกับการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในปี 2550 ในเบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลมากนักว่ามีผู้ชมมากน้อยเพียงใด


นัดที่สงขลา เอฟซีเปิดบ้านพบกับบุรีรัมย์ เอฟซี จำนวนคนอยู่ที่ 36,715 คน เป็นสถิติสูงสุด

สปอนเซอร์ ไทยพรีเมียร์ลีก

ระดับไทยพรีเมียร์ลีก พบว่าทีมองค์กรส่วนใหญ่จะเช่าสนามเหย้า บีอีซี เทโรฯ เช่า สนามเทพหัสดินของการกีฬาแห่งประเทศไทย, อินทรีเพื่อนตำรวจ เช่า สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฯลฯ สถิติผู้ชมที่มากที่สุดจนถึงขณะนี้ ก็คือ สนามเหย้าของวัวชน ยูไนเต็ดที่สงขลา ณ สนามติณสูลานนท์ นัดที่วัวชน ยูไนเต็ดเปิดบ้านรับทีมเมืองทองฯ ยูไนเต็ด ยอดผู้ชมอยู่ที่ 30,102 คน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ฤดูกาล 2012/2555 [17]

สู่สนามฟุตบอล Stand alone

ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ การสร้างสนามฟุตบอลของตนเองขึ้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นพัฒนาการสูงสุดสำหรับ การสร้างพื้นที่สมัยใหม่ของสโมสร ที่เต็มไปด้วยการสร้างอัตลักษณ์ของทีม โครงการเช่นนี้ถือว่าเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อตอบสนองการใช้สอยสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ในที่นี้ได้แก่ สโมสรเอสซีจีเมืองทองฯ ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าซ เอฟซี และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แต่ละสนามนั้นแสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เป็นข้อผูกมัดกับหน่วยงานและความอิสระเมื่อเปรียบเทียบในแต่ละสนาม สโมสรใหญ่อย่างชลบุรีเอฟซี กลับพบว่าเป็นทีมใหญ่ที่มีการย้ายสนามเหย้าบ่อยที่สุด ทั้งยังเป็นสนามที่จุคนได้ไม่มากสมกับทีมที่มีแฟนบอลติดตามจำนวนมากด้วย ขณะที่เชียงราย ยูไนเต็ดที่อยู่ในระดับเดียวกันก็พยายามเร่งสร้างสนามเหย้าของตนเองอย่างมุ่งมั่น

เอสซีจี สเตเดียม : เอสซีจีเมืองทองฯ ยูไนเต็ด

สถานที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้อิมแพคเมืองทอง แม้จะเป็นสโมสรเอกชนที่อาจนับได้ว่าเป็นสนามฟุตบอลมาตรฐานเต็มรูปแบบที่ครบเครื่องทั้งสนาม หญ้า ไฟส่องสว่างที่ได้มาตรฐานของ AFC แสตนด์เชียร์ 4 ด้านรองรับผู้ชมได้กว่า 17,500 คน [18] นอกจากนั้นยังมีการสร้างห้องผู้ชม VIP แยกต่างหากออกจากพื้นที่ผู้ชมทั่วไปเพื่อเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการดีลทางธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น สโมสรยังตระหนักดีถึงรายได้ จึงมีการจัดวางพื้นที่ขายของที่ระลึกรองรับการขายสินค้าอย่างเต็มที่

ความพิเศษอีกประการของสโมสรฯนี้ก็คือ มีฐานของธุรกิจเอกชนในเครือสยามกีฬาที่เครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวางและการจัดการธุรกิจเกี่ยวข้องกับกีฬา ไม่ว่าจะเป็นร้านสตาร์ซ็อคเกอร์ที่เป็นร้านตามห้างสรรพสินค้าขายสินค้าเกี่ยวกับกีฬาและฟุตบอลยุโรปที่กระจายอยู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ยังไม่นับว่าอิทธิพลสื่อที่อยู่ทั้งหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน หรือรายการโทรทัศน์ในมืออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวมาจากการเช่าที่ดินในกรรมสิทธิ์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เดิมเป็นสนามธันเดอร์โดมสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ยามาฮ่า สเตเดี้ยม และเอสซีจี สเตเดียมในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการต้องมีสปอนเซอร์สนับสนุนและปรากฏชื่ออยู่ในสนาม ข่าวระบุว่า สโมสรกำลังจะทุ่มงบ 4 ล้าน ติดเก้าอี้รอบสนาม ตามมาตรฐานของ AFC และคงเป็นผลมาจากการพัฒนาสนามมาตรฐานสูงของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างกลายๆไปด้วย [19]

ยอดผู้เข้าชม ฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 182,610 คน [20] เฉลี่ยแมทช์ละ 10,742 คน


ผังสนามของ เอสซีจี เมืองทองฯยูไนเต็ด (ฤดูกาลที่แล้วทีโอทีแคทเอฟซี เช่าใช้เป็นสนามเหย้า)


บรรยากาศภายในสนามเอสซีจี สเตเดียม

ลีโอ สเตเดียม : บางกอกกล๊าซ เอฟซี

ที่ตั้งของสนามอยู่บริเวณ คลอง 3 ปทุมธานี ซึ่งอยู่ในย่านของหนุ่มสาวโรงงานและบ้านจัดสรรแถบคลองรังสิต สนามแห่งนี้น่าจะเป็นสิทธิขาดของ สโมสรแทนที่จะเป็นการเช่าที่ดินแบบเมืองทองฯ บางกอกกล๊าซเป็นทีมในกรรมสิทธิ์ของบริษัทน้ำเมายักษ์ใหญ่ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์จากสโมสรเดิมอย่าง สโมสรธนาคารกรุงไทย อย่างไรก็ตามบางกอกกล๊าซมีข้อจำกัดของแปลงที่ดิน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างได้ครบทั้ง 4 ด้าน ตัวเลขความจุจึงมีไม่มากนักก็คือ 6,000 ที่นั่ง [21]

ที่น่าสนใจก็คือ การที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เลือกใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ถ้วย ค. และ ง. ในนัดชิงชนะเลิศในปี 2555 ดูเผินๆ จะเห็นว่าสโมสรนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่หนุนหลังอยู่ อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสปอนเซอร์มากนัก แต่ปรากฏว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือการตั้งชื่อโซนต่างๆในสนามทำให้เห็นชัดถึงการวางสิทธิประโยชน์ร่วมกับสปอนเซอร์ต่างๆ ได้แก่ ลีโอ โฮม แสตนด์, ซูซิกิ อเวย์ แสตนด์, รีเจนซี แสตนด์

ยอดผู้เข้าชม ฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 97,059 คน [22] เฉลี่ยแมทช์ละ 5,709 คน ในระดับไทยพรีเมียร์ลีกถือว่าเป็นสถิติระดับบนอีกทีมหนึ่ง


ผังสนามของ บางกอกกล๊าส เอฟซี


บรรยากาศภายในสนามลีโอ สเตเดียม

นิว ไอโมบาย สเตเดียม : บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ถือว่า เป็นสนามที่ได้ชื่อว่าสมบูรณ์แบบและเพียบพร้อมที่สุดใน

ไทยลีก การนำทีมชาติไทยมาเตะในสนามนี้ได้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของสนามแห่งนี้ ความจุอย่างเป็นทางการก็คือ 24,000 ที่นั่ง ด้วยอัฒจันทร์ล้อม 4 ด้าน สนามแห่งนี้ถือว่าได้ฮาวทูจากต่างชาติ นั่นคือ พื้นสนามฟุตบอล ได้แบบมาจากพื้นสนามแสตมฟอร์ด บริดจ์ของสโมสรเชลซี อังกฤษ โดยใช้หญ้าแพทพารัมย์ จากปออสเตรเลีย ซึ่งมีคุณสมบัติในเรื่องของความนุ่ม ทนทานต่อการใช้งานที่รุนแรงและสามารถรับน้ำหนักได้มาก นอกจากนั้น สิ่งที่ยังไม่ปรากฏในการออกแบบสนามฟุตบอลในเมืองไทยก็คือ มีการออกแบบรองรับการเข้าชมของผู้พิการอีกด้วย [23] นอกจากนั้นเทคโนโลยีในสนามก็ยังถือว่า ล้ำสมัยกว่าแห่งอื่นๆ ที่นั่งต่างๆ มีเก้าอี้ระบุเบอร์แน่นอนเหมือนกับที่นั่งในโรงภาพยนตร์ [24]

สิ่งที่สำคัญอีกประการก็คือ การสร้างความหมายกับสนามแห่งนี้ว่าเป็น “ลมหายใจของบุรีรัมย์” ที่ผูกอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ากับความเป็นสโมสรอย่างแน่นแฟ้น สนามกีฬาแห่งนี้จึงเหมือนเป็นที่สาธารณะอันเป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมทางกีฬาและการใช้เวลาว่างแบบหนึ่งเพราะนอกจากความเป็นสนามกีฬาแล้ว ยังประกอบด้วยร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก สนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล สนามฟุตซอล สนามโรลเลอร์เบลด สเก็ตบอร์ด สนามเด็กเล่น [25]

สิ่งหนึ่งทำให้สนามแห่งนี้เป็นที่รู้จักและกลายเป็นจุดหมายการเดินทางนั่นก็คือ การประโคมข่าวที่จะนำเอาวงดนตรี Ebisu Muscats ที่เป็นวงดนตรีของสาวๆ AV จากแดนปลาดิบ มาร่วมในงานเทศกาลสงกรานต์ในปี 2555

ยอดผู้เข้าชม ฤดูกาล 2011/2554 อยู่ที่ 259,629 คน [26] เฉลี่ยแมทช์ละ 15,272 คน


ภาพกราฟิกมุมสูงของสนาม นิว ไอ โมบาย สเตเดียม


บรรยากาศภายในสนามนิว ไอ โมบาย สเตเดียม

6. Away Grounds : การเดินทางของนักบอลและแฟนบอลนัดเยือน

ยิ่งลีกในระดับสูง ค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดของการเดินทางก็ยิ่งสูงมากขึ้นไปด้วย ในทางเดียวกันการเดินทาง

ของแฟนบอลในนัดเยือนก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ หากสโมสรไหนสนับสนุนการเดินทางก็ถือว่าทุ่นค่าแรงและไม่จำเป็นต้องขวนขวายมากในการเดินทาง เพราะรถบัสหรือรถตู้ของสโมสรก็จะนำส่งถึงที่ แต่หากเป็นแฟนบอลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนพวกเขาจำต้องหาทางเดินทางไปเอง ด้วยการขับรถส่วนตัวหรือเหมารถตู้ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนในเมืองไทยยังย่ำแย่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระหว่างจังหวัด และการเดินทางระหว่างสถานีขนส่งเข้าสู่ตัวเมืองต่างๆ ด้วยระบบขนส่งในประเทศที่ย่ำแย่ เราจึงพบโศกนาฏกรรม อุบัติเหตุหลายครั้งจากการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น กองเชียร์เชียงรายยูไนเต็ด ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ณ จังหวัดลพบุรี ขณะที่เดินทางไปแข่งกับ บุรีรัมย์พีอีเอ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2554 [27]

ในสนามที่มีการจัดการอย่างจริงจัง ก็จะมีการแยกโซนของแฟนบอลทีมเยือนอย่างชัดเจนป้องกันการกระทบกระทั่งของแฟนบอล อย่างไรก็ตามเราก็พบว่าในบางนัด ทีมเยือนก็มากกว่าเจ้าบ้านโดยเฉพาะกองเชียร์ของบุรีรัมย์ยูไนเต็ด


อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแฟนบอลเชียงรายยูไนเต็ด 11 มิถุนายน 2554 ภาพจาก มติชนออนไลน์

7. เรื่องพื้นที่สาธารณะมหาศาลที่ ทีวีสาธารณะ กองทุนเพื่อสาธารณะมองไม่เห็น

ภูมิศาสตร์การเมืองของเกมฟุตบอล ที่ได้รับความสนใจจากมวลชนอย่างแพร่หลาย กลับสวนทางกับนโยบาย

ขององค์กรที่มีชื่อและอ้างความเกี่ยวข้องสาธารณะมากที่สุดอย่างน้อย 2 องค์กร นั่นคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาเหล้า เบียร์ บุหรี่

จึงเป็นที่เข้าใจได้ถึงการจัดวางระยะห่างของตนที่เล่นบทบาทองค์กรศีลธรรมสาธารณะ เมื่อพื้นที่ในสนามฟุตบอลทั่วโลก เบียร์ บุหรี่แทบจะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับคนดูบอล ไม่นับว่าสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้อนักฟุตบอล บูธขายเบียร์ริมสนามที่วางขายกันอย่างคึกคัก สิ่งเหล่านี้ท้าทายอำนาจสสส.อย่างยิ่ง และยิ่งอิลักอิเหลื่อเข้าไปอีกเมื่อมีกฎหมายห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะอย่างสนามกีฬา ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ความปัญญาอ่อนของกฎหมายนี้ มีรากฐานอยู่บนความเข้าใจว่า พื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ราคีคาว และเห็นมวลชนเป็นผู้มีอวิชชาโง่เขลา งมงาย จมจ่อมอยู่กับอบายมุขชั่วกัปชั่วกัลป์จนต้องมีองค์กรเผด็จการทางศีลธรรมมาโปรดสัตว์

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ที่อ้างตัวว่าเป็นทีวีสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอส แม้จะไม่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แต่พบว่า ความตื่นตัวในการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ กลับถูกเฉยเมยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการเอาจริงเอาจังกับการถ่ายทอดสด การแข่งขันเรือยาว, การแข่งขันเครื่องบินเล็ก แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะสโลแกนของทีวีสาธารณะแบบนี้ที่ตั้งว่า “ทีวีที่คุณวางใจ” คงขาวสะอาดเกินไปกว่าที่จะเปรอะเปื้อนด้วย สื่อสัญลักษณ์ของเหล้า เบียร์อันน่าขยะแขยงในสายตาพวกเขา ยังไม่นับว่า ไทยพีบีเอสได้รับงบประมาณจากภาษีเก็บจากสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 1.5 [28] และที่มาขององค์กรดังกล่าวคือการรวมตัวของคนหน้าเดิมๆ ที่อยู่ในค่ายสสส. ยังไม่นับว่า องค์กรนี้ใช้รถถังและท็อปบูธในการทำคลอดหลังรัฐประหาร 2549

ผู้เขียนให้ความหวังกับการตื่นตัวในวงการกีฬาอาชีพ ที่จะเป็นฐานและเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับวงการ

กีฬาไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่นหรืออาชีพ ในขณะเดียวกันเกมกีฬาที่เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ก็ยังมีอานิสงส์ต่อการสร้างความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นต่างๆ อันจะมีต่อการสร้างพื้นที่สาธารณะไม่ว่าโดยตัวสโมสรเอง หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กระทั่งเหล่ากองเชียร์หรือแฟนบอล พื้นที่เหล่านี้น่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะใหม่แบบหนึ่งที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่นอกบ้านแบบ passive มาสู่พื้นที่แบบ active มากขึ้น พื้นที่แบบใหม่เป็นพื้นที่แห่งอำนาจของประชาชน อันจะมาแทนที่พื้นที่แบบเดิมที่ทุกตารางนิ้วเป็นของชาติอันแสนจะนามธรรม หรือไม่ก็ตกอยู่ในกรงขังอำนาจแบบสถานที่ราชการ ที่มองประชาชนเป็นผู้มาขอรับการสงเคราะห์ และไม่ได้มีธรรมชาติที่เปิดกว้างตอบรับมวลชนเท่าที่ควร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าแม้โดยหลักการของฟุตบอลอาชีพแล้ว ในทางอุดมคตินั้นควรอาศัยทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมิต้องพึ่งพิง “นักการเมือง” แต่ ขณะที่สังคมไทยในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ยังไม่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคสำหรับการกีฬาและพื้นที่สาธารณะมากพอ และยังขาดศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุน ขณะที่อำนาจการจัดการทรัพยากรสาธารณะทั้งหลายยังกระจุกตัวกับหน่วยงานราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณะที่สุดก็ยังมีท่าทีที่เฉยชาต่อวงการกีฬาอาชีพ จึงไม่แปลกที่นักการเมืองจึงเป็นตัวเล่นสำคัญยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

การเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ในสังคมไทยที่เกิดการต่อรองอำนาจด้วยกลุ่มบุคคล องค์กรและพลังทางการเมืองอันหลากหลาย จะทำให้เรามองเห็นพลังแฝงของพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และไม่แน่ว่าพลังนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประชาธิปไตยไทยในอีกระนาบหนึ่งก็เป็นได้

 

หมายเหตุ:

  • * บทความประกอบการเสวนา เสวนา ฟุตบอลไทย การเมืองของเกมใต้ตีน พลังใหม่/ศาสนาใหม่/พื้นที่ใหม่? วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15.00-17.00 น. ณ ร้าน Book Re : public เชียงใหม่

อ้างอิง:

  1. ไทยโพสต์. "บอลถ้วยพระราชทาน มนต์ขลัง-ความศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังโดนลืม". http://www.thaipost.net/x-cite-kidz/300612/58932 (30 มิถุนายน 2555)
  2. ลมตะวันตก (นามแฝง). "ผลประโยชน์ นักการเมือง-ฟุตบอล". ใน ไทยรัฐออนไลน์. http://www.thairath.co.th/column/pol/thai_remark/270288 (7 กรกฎาคม 2555)
  3. japan_xi (นามแฝง)."ระวิ โหลทอง เจอ เนวิน ชิดชอบ คุณคิดว่าใครจะต้องยกมือไหว้ใครก่อน !!!!!!‎" ใน เว็บบอร์ด ไทยแลนด์สู้ๆ .http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=225037.0 (24 กุมภาพันธ์ 2555)
  4. ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์. "แฉนักการเมืองใช้ฟุตบอลบังหน้า ฟอกเงินผ่านสปอนเซอร์!". http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9550000011542 (26 มกราคม 2555)
  5. สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย. "โฉมหน้าปฐมบทนักเลงฟุตบอลทีมชาติสยาม". http://www.siamfootball.com/ (9 กรกฎาคม 2555)
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข 2554” . http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99_%E0%B8%82_2554 (25 มีนาคม 2555)
  7. NFC (นามแฝงในเว็บบอร์ด). "การตกชั้นของ D2 โซนกรุงเทพและปริมณฑล". http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=223983.0 (18 กุมภาพันธ์ 2555)
  8. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ข 2554” . http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99_%E0%B8%82_2554 (25 มีนาคม 2555)
  9. สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. "การแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ค. ประจำปี 2554". http://www.fat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=14 (7 กรกฎาคม 2555)
  10. สยามกีฬา. "เด็กรามฯ เจ๋งจริงขย้ำโหด 5-1 บอล ถ้วย ง". http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/120608_342.html (8 มิถุนายน 2555) และ สยามกีฬา. "เกาะขวางถล่มปากช่อง 3-0 ซิวแชมป์บอลถ้วย ง.". http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/120621_268.html (21 มิถุนายน 2555)
  11. มติชนออนไลน์. "′วิมล′ ไอเดียกระฉูด!! เตรียมปรับโซน ′เอไอเอสลีก′ ใหม่ แก้ปัญหาเดินทางลำบาก". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340621953&grpid=03&catid=03 (25 มิถุนายน 2555)
  12. Mthai. "สปอร์ต ท็อปเทน : 10 สนามกีฬาคุณภาพในเมืองไทย" .http://sport.mthai.com/uncategorized/2526.html (29 กันยายน 2553)
  13. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก League Division1 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/userfiles/ld1_att_2011.pdf (6 กรกฎาคม 2555)
  14. ไทยลีกออนไลน์. "ตารางคะแนน Division1 ปี 2011". http://v2.thaileagueonline.com/main.live#table_point (8 กรกฎาคม 2555)
  15. ไทยลีกออนไลน์. "ตารางคะแนน Division1 ปี 2011". http://v2.thaileagueonline.com/main.live#table_point (8 กรกฎาคม 2555)
  16. มติชนออนไลน์. ""กิเลน"เข่น"วัวชน" แฟนบอลทุบสถิติไทยลีก-"นกใหญ่"หักเขี้ยว"มังกรไฟ" ที่โหม่งบอลตุงตาข่ายแต่ไม่ได้ประตู".http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1337519347&grpid=01&catid=&subcatid= (20 พฤษภาคม 2555) และ "วัวชน Vs เมืองทองฯ ทำลายสถิติผู้ชมสูงสุดไทยลีก!". http://www.newsrama2.com/news/topic-20597.html (8 กรกฎาคม 2555)
  17. สโมสรเมืองทองฯยูไนเต็ด. "ผู้เล่่นและทีมงาน". http://www.mtutd.tv/team.asp (10 กรกฎาคม 2555)
  18. Football Siam TV. "เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ทุ่มงบ 4 ล้าน ติดตั้งเก้าอี้รอบสนาม เอสซีจี สเตเดี้ยม". http://www.footballsiamtv.com/news/archive/5039-%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%B5_%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AF_%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%9A_4_%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99_%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html (5 กรกฎาคม 2555)
  19. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก Sponsor Thai Premier League 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/stats2011.php (6 กรกฎาคม 2555)
  20. สโมสรบางกอกกล๊าซเอฟซี. "สิ่งอำนวยความสะดวก". http://www.bangkokglassfc.com/club-info-04.html (10 กรกฎาคม 2555)
  21. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก Sponsor Thai Premier League 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/stats2011.php (6 กรกฎาคม 2555)
  22. สารคดี, 27 : 321 (พฤศจิกายน 2554) : 82
  23. สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด. "I-MOBLIE STADIUM, ข้อมูลสนาม". http://www.burirampea.com/th/stadium.php (6 กรกฎาคม 2555)
  24. “เนวิน ชิดชอบ Created in Buriram” ใน คิด, 3 (มิถุนายน 2555) : 30
  25. บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด. "สรุปยอดผู้ชม, ยอดขายบัตรผ่านประตูและยอดขายของที่ระลึก Sponsor Thai Premier League 2011". http://www.thaipremierleague.co.th/stats2011.php (6 กรกฎาคม 2555)
  26. มติชนออนไลน์ ."สลด กองเชียร์"เชียงรายฯ" รถคว่ำ ดับ 7 ราย เผยปลัดอ.แม่ฟ้าหลวงเสียชีวิต". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307777791&grpid=&catid=07&subcatid=0702 (11 มิถุนายน 2554)
  27. “พระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551”. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 15 ตอนที่ 8 ก, วันที่ 14 มกราคม 2551, น.5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท