Skip to main content
sharethis

 

 

11 ก.ค.55 ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีการจัดงานประกาศรางวัล “สมชาย นีละไพจิตร 2555” จัดโดยกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร โดยมีชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัล 5 คน โดยผู้ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร  คือ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ ผู้ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องได้แก่  นางสาวจิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน, นายสมยศ พฤษกษาเกษมสุข นักสิทธิมนุษยชน (อยู่ในเรือนจำ ภรรยามารับแทน-ประชาไท) , นางมณี บุญรอด และสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต่อสู้ในกรณีเหมืองโปแตช , นายอดิศร เกิดมงคล นักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติ

(อ่านรายประวัติ กองทุนและผู้ได้รับรางวัล ที่ไฟล์แนบด้านล่าง)

 

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชายได้กล่าวเปิดงานว่า อยากให้รางวัลนี้เป็นกำลังใจและแรงบัลดาลใจให้กับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่พยายามทำให้ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีไม่ว่าตัวเขาจะเล็กน้อยเพียงใด เราอยากให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ซึ่งแม้เป็นสังคมแห่งรอยยิ้มแต่ซ่อนความเจ็บปวดไว้เบื้องหลัง

ภายหลังการมอบรางวัลมีการเสวนาเรื่อง “บนเส้นทางการต่อสู้...ประสบการณ์นักสิทธิมนุษยชนไทย” โดยผู้รับรางวัลทั้ง 5 รายเป็นวิทยากร และรุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในกรรมการกองทุนสมชายฯ  เป็นผู้ดำเนินรายการ

จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ว่า เข้มแข็งมากและแม้จิตราถูกเลิกจ้างแล้วสหภาพก็ยังจ้างเธอเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพ ทั้งนี้ จิตรา ถูกเลิกจ้างจากกรณีที่ใส่เสื้อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก (เสื้อสกรีนไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม – ประชาไท) ซึ่งเว็บไซต์ผู้จัดการเป็นผู้จุดประเด็น ท้ายที่สุดศาลเองก็ตัดสินให้เธอมีความผิดโดยระบุเหตุผลว่าไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติ และศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องด้วย เธอระบุอีกว่า หลังถูกเลิกจ้างยังมีนักวิชาการชื่อดังเขียนจดหมายไปขอบคุณสถานประกอบการด้วย

จิตรายังกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่าง “แรงงาน” กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม “เสื้อแดง” ด้วยว่า เป็นเพราะคนงานเห็นความสำคัญของสิทธิในการรวมตัว และมีจุดร่วมสำคัญในช่วงเวลานั้นโดยเชื่อว่าหากมีการยุบสภาน่าจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งแรงงานยังปฏิเสธรัฐประหารเพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งปวง จนเมื่อร่วมชุมนุมก็พบว่ามีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมจนมีคนบาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก

“การแก้ปัญหาแรงงานเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะมันเกี่ยวกับกฎหมายทุกระดับ แต่คนงานไม่มีสิทธิร่วมออกความเห็น ดังนั้น การเมืองจึงช่วยได้ เราจึงเกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติจริงคนงานไม่มีสิทธิทางการเมือง ไม่มีแม้แต่สิทธิในการเลือกตั้งในสถานประกอบการ เราอพยพมาจากต่างจังหวัดแล้วกลายเป็นพลเมืองแฝง ไร้ตัวตนทางการเมือง ที่จะเสนอนโยบายต่อรัฐหรือพรรคการเมือง” จิตรากล่าวและว่าเป้าหมายที่สำคัญของขบวนการแรงงานคือการมีรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เพียงเรียกร้องเรื่องค่าจ้างเฉพาะหน้า

มณี บุญรอด จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เล่าถึงการต่อสู้ในพื้นที่อุดรเพื่อคัดค้านเหมืองโปแตชมาถึง 12 ปี  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อันดับหนึ่งในประเทศ และเป็นอันดับ 3 ของโลก  โดยเล่าถึงกระบวนการต่างๆ ที่ไม่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม และอ้างแต่ให้คนส่วนน้อยเป็นผู้เสียสละ โดยไม่มีการเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่ ทางกลุ่มจึงมีการเคลื่อนไหวคัดค้านและรณรงค์กับสังคมเรื่อยมากระทั่งถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมหลายคดี 

“การต่อสู้ บ่ตายก็คือติดคุก เป็นเรื่องธรรมดา” มณีกล่าวและว่าปัจจุบันได้เคลื่อนไหวจนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความกล่าวถึงปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  โดยเฉพาะกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตรนั้น ถือเป็นทนายที่เป็นแบบอย่างในการทำงานของตนเสมอมา อย่างไรก็ตามการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักเผชิญอุปสรรคและหวังพึ่งกับกระบวนการยุติธรรม แต่ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมก็มีคำถาม เช่น  กรณีการเสียชีวิตของ “อากง” (นายอำพล) ที่ประชาชนแสดงออกด้วยการสวดอภิธรรมศพหน้าศาลอาญา ก็เป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นในชั้นสอบสวน ซึ่งกรณีการหายตัวไปของทนายสมชายก็เกี่ยวข้องโดยตรงเพราะเข้าไปรู้เห็นเกี่ยวกับการทำร้ายผู้ต้องหาให้รับสารภาพในจังหวัดชายแดนใต้

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นตัวแทนในการรับรางวัลและดำเนินการเสวนา โดยกล่าวว่า นายสมยศได้มีบทบาทในขบวนการแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เช่น การรณรงค์ให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ไม่ว่าผลักดันเรื่องสิทธิลาคลอด หรือการจ่ายค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง แต่ความสำเร็จทั้งปวงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของสมยศคนเดียวแต่เป็นของแรงงานทั้งหมดที่ช่วยกันผลักดัน  กระทั่งมีระยะหลังมีความขัดแย้งทางการเมือง สมยศก็ได้รณรงค์เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกจนกระทั่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของเขาก็ว่าได้เนื่องจากถูกขังมาปีกว่าแล้ว แต่อย่างน้อยก็ทำให้คดีนี้ได้รับการจับจ้องและเป็นที่รับรู้ของสังคมมากยิ่งขึ้น

อดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า  คู่ต่อสู้ที่สำคัญของนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย คือการสู้กับทัศนคติ วิธีคิดของคนที่ว่า “คนที่ไม่ใช่พวกเราเป็นคนอื่น” ซึ่งเกิดในทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเขายังคงมีความหวังต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยเสมอ เพียงแต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่นักสิทธิฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และต้องทบทวนตัวเองมากที่สุด อยากให้กำลังใจทุกคน สิ่งที่ยากก็คือ เรื่องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวประเด็นปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย แต่อยู่ที่การตั้งคำถามต่อจุดยืนของนักสิทธิปัจจุบันว่า ต่อให้คนที่เห็นต่างกับเราถูกละเมิด เราจะยังอยู่ข้างเขาไหม เขาถูกคุมขัง เราจะลุกมาบอกว่าสิ่งที่รัฐทำมันผิดและต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาหรือเปล่า

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานของงานกล่าวปิดท้ายว่า เราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่งทั้งระดับสากลและในประเทศ การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงต้องการคนที่เป็นผู้นำหรือผู้ก่อการจำนวนไม่มากนัก จำนวนสิบ ร้อย ก็สามารถผลักดันความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เชื่อว่าอยู่ในห้องนี้ด้วย อยู่นี่ไม่เหมือนในจุฬา ธรรมศาสตร์ บรรยากาศที่นี่เป็นบรรยากาศของตัวจริง ของจริง สังคมไทยมีตัวจริงของจริง ประชาชนที่หลากหลายทั้งในเมืองในชนบท อย่างไม่เคยมีมาก่อน คนเหล่านี้พร้อมจะเปลี่ยนแปลง พร้อมแก้ไข รธน. พร้อมปรองดอง พร้อมปฏิรูปกฎหมาย 112 ทำให้สถาบันประชาชนและสถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ในกรอบของสันติภาพ ภราดรภาพ เสมอภาค ตามเจตนารมณ์ของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

ชาญวิทย์ยังกล่าวกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีด้วยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มรักษ์เชียงใหม่กำลังเสนอร่างเชียงใหม่มหานคร เพื่อให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่น ปกครองตนเอง เลือกผู้นำของตนเอง ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เขาเสนอว่าจะดูแลตัวเองทั้งหมด ยกเว้นการทหาร ต่างประเทศ ศาล เงินตรา ตนฝันอยากจะเห็นอุดรมหานครด้วยเช่นกัน เพื่อกำหนดสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ด้วยตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net