Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
“เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2012 สำนักข่าว AFP รายงานจากกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ว่าทางการเกาหลีเหนือได้ประหารชีวิตประชาชน 4 คนในที่สาธารณะ หลังจากลักลอบออกนอกประเทศ แต่ถูกทางการจีนส่งตัวกลับเกาหลีเหนือ ส่วนอีก 40 คนถูกส่งตัวไปยังค่ายการเมือง”
 
ไม่ว่าข่าวนี้จะมีความชัดเจนมากน้อยหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีมานี้ การหลบหนีออกนอกประเทศของชาวเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งในกรณีถูกจับและส่งตัวกลับหรือการหลบหนีไปยังประเทศอื่น ในขณะที่ทั่วโลกต่างจับตามองไปยังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำคนใหม่อย่างนาย คิม จอง อึน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในเกาหลีเหนือยังคงมีความตึงเครียดอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก็ตาม
 
เกาหลีเหนือเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศเผด็จการ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับพลเมือง ทำให้ชาติตะวันตกต่างใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ขณะที่องค์การสหประชาชาติพยายามจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ทางการเกาหลีเหนือมักจะเพิกเฉยและกล่าวว่าชาติตะวันตกพยายามจะแทรกแซงกิจการภายในของเกาหลีเหนือ 
 
เกาหลีเหนือใช้ระบบเชิดชูครอบครัว (ของผู้นำ) หรือลัทธิจูเช่ (Juche) ตั้งแต่นาย คิม อิล ซุง ผู้นำตลอดกาล นายคิม จอง อิล ผู้ลูก และผู้นำคนปัจจุบัน นายคิม จอง อึน ลัทธินี้เน้นการพึ่งตนเองเพื่อให้เกาหลีเหนือเป็นอิสระ ตลอดจนหลอมรวมคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งคนเกาหลีเหนือทุกคนยึดลัทธิจูเช่เป็นอุดมการณ์ของชาติ ในขณะที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณให้กับกองทัพและอาวุธนิวเคลียร์เป็นลำดับแรก ทำให้การแจกจ่ายอาหารแก่ประชาชนไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนเกาหลีเหนือ 6-10 ล้านคนขาดแคลนอาหาร ซึ่งสถานการณ์ขาดแคลนอาหารยังเป็นผลมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 
 
การเผชิญกับความหิวโหยอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเกาหลีเหนือตัดสินใจอพยพออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลบหนีเข้ามายังประเทศจีน ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับเกาหลีเหนือ ผ่านทางแม่น้ำยาลู (Yalu) ในช่วงฤดูหนาวที่แม่น้ำกลายเป็นน้ำแข็งเพราะง่ายต่อการเดินเท้า ในขณะที่ทางการจีนมีนโยบายส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเกาหลีเหนือ และในช่วง 2-3 ปีผ่านมานี้ทางการจีนเริ่มเข้มงวดในการตรวจตราผู้ลี้ภัยซึ่งอาศัยเป็นแรงงานอยู่ในจีน ผู้ลี้ภัยอีกส่วนยังเดินทางผ่านมองโกเลียไปยังรัสเซียในฐานะแรงงานเช่นกัน 
 
แรงงานเกาหลีเหนือในจีนหากรอดพ้นจากการจับกุมสำเร็จ จะใช้เวลาสักระยะเพื่อทำงานเพื่อนำมาใช้เป็นค่าจ้างนายหน้าพาหลบหนีในประเทศลาว และไทย โดยจะใช้เส้นทางจากจีนเข้าสู่พม่าและข้ามฝั่งมายังลาว เดินเท้าผ่านหุบเขาในลาวและขึ้นเรือจากแม่น้ำโขงฝั่งลาวมายังไทย โดยเฉพาะพื้นที่ อ. เชียงของ อ.เชียงแสน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือเพื่อให้ทางการไทยส่งตัวไปยังเกาหลีใต้ต่อไป ในขณะที่ทางการเกาหลีใต้เคยเจรจาขอใช้พื้นที่ของ จ.เชียงราย เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ แต่ทางการไทยยังปฏิเสธแม้ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี
 
อย่างไรก็ตาม หากจะมองในประเด็นความสัมพันธ์ทางการทูตของบรรดาประเทศที่เป็นเส้นทางผู้ลี้ภัยแล้วพบว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งตัวไปยังประเทศเกาหลีใต้ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตกับเกาหลีเหนือ ตัวอย่างเช่น ทางการจีนมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเกาหลีเหนือเพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ ในฐานะมหามิตรและการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา (ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเกาหลีเหนือ) ยังมีความลักหลั่นอยู่ อาจเป็นผลมาจากการรุกคืบของทุนเกาหลีใต้ในการสัมปทานโครงการต่างๆ แต่ในกรณีของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของเกาหลีเหนือ และแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเป้าหมายหลักของผู้ลี้ภัย รัฐบาลเกาหลีเหนือยังเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่นทางการทูตสูง สามารถเจรจากันได้ [1]
 
….....
 
[1] นิธิ เนื่องจำนงค์, “พฤติกรรมของเกาหลีเหนือด้านการต่างประเทศ: ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับไทย,” วารสารสังคมศาสตร์ 41,1(2553): 143-153.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net