Skip to main content
sharethis

 

 

ในโอกาสที่คณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กำลังจะสิ้นสุดวาระในเดือนกรกฎาคมนี้ และสังคมกำลังตั้งตารอ ‘รายงานฉบับเต็ม’ (ซึ่งน่าจะออกไล่เลี่ยกับรายงานฉบับเต็มของภาคประชาชน คือ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. และหากโชคดีอาจได้อ่านรายงานฉบับเต็มของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เกือบได้ออกมาแล้วเงียบหายไปด้วย) ‘ประชาไท’ ถือโอกาสสอบถามถึงความคิดเห็นของ‘สุณัย ผาสุข’ ผู้ประสานงานฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย ต่อการทำงานที่ผ่านมาของ คอป. และเส้นทางการปรองดองในสังคมไทย ในฐานะที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งซึ่งติดตามการเมืองไทยและมีรายงานออกมาเป็นระยะเช่นกัน

 

0000

 


 

ที่ผ่านมา บทบาทของ คอป. มีอะไรที่เป็นรูปธรรม และอะไรเป็นข้อบกพร่อง
การเกิดของ คอป. เป็นก้าวที่สำคัญอันหนึ่งในสังคมไทยคือ เป็นฉันทามติร่วมกันทุกฝ่ายตอนที่ คอป.ถูกต้องขึ้นมาว่า มันต้องมีกลไกอะไรสักอย่างที่ต้องมีอิสระในการทำงาน มีคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ความรุนแรงเป็นยังไง  แล้วความรุนแรงนี้มีรากเหง้าจากอะไร สังคมไทยขณะนั้นต้องการ และเมื่อ ปชป.ตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมาก็ได้รับการขานรับจากฝ่ายตรงข้ามด้วย  แม้แต่ นปช.เองด้วย

ปัญหาคือ พอ คอป.เกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีความคาดหวังเยอะว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ คอป.ทำ กลายเป็นว่า ไปทำงานในส่วนของการวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหา แต่สถานการณ์เฉพาะ หรือ“อาการ” ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันคืออะไร ใครเป็นคู่ขัดแย้ง ทำอะไรไปบ้าง เป็นจุดที่นับแต่ก่อตัวถึงวันที่จะหมดวาระ เราไม่เห็นเนื้องานเท่าไร เราเห็นแต่กระบวนการว่ามีการเรียกคนมาตอบ เรียกหลักฐานข้อมูลมา ซึ่งช่วงหนึ่งก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายคือ พรก.ฉุกเฉินในขณะนั้น หลังจากหมด พรก.ฉุกเฉินก็ทำงานได้ดีขึ้น  แต่ไม่มีรายงานออกมาชัดๆ ว่าเอาข้อมูลมาได้เท่าไร ทำอะไรได้บ้าง 

ส่วนที่เป็นความคาดหวังที่สุดจากสังคมว่า จะเกิดชุดความจริงที่น่าจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่พอจะทำได้ มันไม่เกิด พอไม่เกิดข้อเสนอแนะของ คอป.อื่นๆ ที่ออกมา ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่ดี เช่น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง การเคารพเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งรวมไปถึงประเด็น มาตรา 112 ด้วย มันกลายเป็นตอบไม่ตรงโจทย์ 

เรื่องเหล่านั้นก็สำคัญ แต่โจทย์ที่เป็นโจทย์หลัก ซึ่งเป็นชื่อต้นของ คอป.ก็คือ truth and reconciliation ส่วนของ truth ไม่ออก แต่ไปพูดเรื่อง reconciliation เป็นหลัก โดยไม่ได้พูดถึงตัวรากคือ truth เสียก่อน

ขณะที่สังคมมันก็เดินของมันไปเรื่อยๆ ฝ่ายการเมืองก็มีธงของตัวเองเรื่อยๆ พูดกันถึงเรื่อง ปรองดองในมิติการเมือง พูดถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ด้วย แต่พอออกมา เมื่อมันไม่มีชุด “ความจริง” ซึ่งอย่างน้อยยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บรรยากาศของการเป็นฝักฝ่ายก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่กิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายการเมืองก็เดินหน้าต่อไป ไม่ว่า นปช. ปชป. พันธมิตร หลากสี มันจึงเป็นการตอกย้ำชุดความจริงของฝ่ายตัวเอง ซึ่งเป็นการมองแบบให้ตัวเองเป็นเหยื่อ คือ victimize ฝ่ายตัวเอง ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำจะต้องได้รับความเป็นธรรม ได้รับการเยียวยา ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้กระทำ เป็นความชั่วร้ายที่ต้องถูกลงโทษหรือเอาคืนกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บรรยากาศของการยอมรับว่าเป็นเรื่องความรับผิดชอบร่วม ทำผิดแล้วยอมรับผิดเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้จึงไม่เกิด

ฉะนั้น การพูดอะไรที่เป็นเรื่องปลายเหตุไกลๆ มันจึงมีผลเท่าไร กลายเป็นว่ายิ่งพูดอะไรที่เป็นปลายเหตุ ในชื่อว่า “ความปรองดอง”  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ. เรื่องการเยียวยาเป็นตัวเงินก็ดี ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเกลียดชังระหว่างกันมากขึ้น มันจึงเป็นปัญหาที่ส่วนหนึ่งมาจากการที่ คอป.ไม่สามารถทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่  

เราก็ต้องดูต่อไปว่าทำไมเขาจึงทำไม่ได้ หลักๆ อันหนึ่งมาจากอาณัติของเขาเองซึ่งจำกัดอย่างมาก ทรัพยากรก็จำกัด องคาพยพต่างๆ ของคอป. ซึ่งมีหลายส่วน ส่วนในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทรัพยากรจะน้อยกว่าเพื่อน มันมีข้อจำกัดก็ต้องยอมรับ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของวิธีการทำงานด้วย คอป.ก็ต้องชี้แจงด้วยว่าในเมื่อทรัพยากรจำกัด ทำไมไม่ทำงานแบบค่อยๆ ทยอยทำ อาจจะเลือกเคสที่เป็นเคสหลักก่อน ค่อยๆ ทยอยเปิดออกมา


วิธีคิดแบบนี้อยู่บนฐานที่ว่า “ความจริง” เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การปรองดองใช่ไหม

ใช่

ถ้าอยากได้“ความจริง” พื้นฐาน เราควรจะคาดหวังกับองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาอย่าง คอป. ที่มักอ้างข้อจำกัดต่างๆ หรือเราควรคาดหวังจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งก็มีการดำเนินคดีอาญากันอยู่มากกว่าหรือเปล่า
จริงๆ ทุกอย่างมันมีความสำคัญกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรมในเชิงอาญา คือกระบวนการของ ดีเอสไอ ของศาล และกระบวนการยุติธรรมขององค์กรอิสระ ซึ่งเขาตั้งธงไว้ชัดเจนว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นั่นคือ ทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ทุกฝ่ายยอมรับสิ่งที่ตนกระทำไป ขอโทษขอโพย หลังจากนั้นค่อยมาวินิจฉัยร่วมกันว่าจะเอาผิด จะโยนลูกให้กระบวนการทางอาญารับลูกต่อ หรือจะนิรโทษกรรม

มันไม่ซ้ำซ้อนกันใช่ไหม
มันไม่ซ้ำซ้อนกัน สามารถโยนลูกกันไปกันมาได้ หลักฐานที่ คอป.ได้ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ ทางคอป.ไม่ได้เป็นคนริเริ่มดำเนินคดี เขาไม่มีอำนาจไปสั่งฟ้องใครหรือลงโทษใคร แต่อัยการ หรือผู้เสียหาย สามารถนำข้อมูลจากงานของคอป. หรือองค์กรต่างๆ เช่น Human Right Watch ไปใช้ในชั้นศาลได้

โดยคอมมอนเซนส์มันก็ดูลักลั่น ขัดแย้งกันเอง ใครจะยอมบอกข้อมูล ข้อเท็จจริง ในเมื่อมันนำไปสู่การถูกดำเนินคดีทางอาญาได้
มันถึงต้องตอบกันให้ได้  ทุกอย่างมันล้อกันหมดเหมือนงูกินหาง  กระบวนการที่ตั้ง คอป.มาตั้งแต่ต้นมันจึงต้องมีเงื่อนไขที่จะเป็นแรงจูงใจว่า ส่วนหนึ่งของการให้ข้อมูลและการยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นพื้นฐานในการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมด้วย แต่ไม่ใช่เป็นหลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องดูฐานความผิดด้วย ไม่ใช่ฆ่าคนแล้วจะได้นิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติด้วยการมาเล่าความจริง มันคงต้องมีที่มาที่ไปให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจ แต่จะนำมาพิจารณาในส่วนนั้นด้วยว่า หากคุณให้ความร่วมมือ เหมือนเราให้ความร่วมมือในระหว่างการสืบสวนสอบสวนด้วยดี สำนึกผิดแล้วก็มาว่ากัน แต่เมื่อมันไม่มีแรงจูงใจ ไม่มาก็ได้ มาแล้วให้ข้อมูลไม่เต็มร้อยก็ได้


แปลว่าต้องมีการออกแบบเชิงโครงสร้างทั้งหมด จะนิรโทษกรรมแค่ไหนยังไงไปพร้อมๆ กันด้วย

ใช่ แต่ของเรามันมองแยกส่วนหมด ไม่ใช่เจตนาไม่ดี เจตนาดีตอนตั้งคอป.ขึ้นมา แต่มองแบบแยกส่วนโดยไม่โยงกับกระบวนการยุติธรรมในเชิงอาญาที่มีอยู่ว่าจะเอื้อกันได้ไหม แต่เรากลับไปมองว่า ไม่อยากมีปัญหา อย่าเอามาโยงกันเสียดีกว่า มันก็เลยกลายเป็นกระบวนการที่ไม่มีน้ำหนักอย่างแท้จริงในการขับเคลื่อน ถ้าเราเอามาโยงกันอย่างเป็นเป็นเหตุเป็นผลมันสามารถเกื้อกันได้ในการจูงใจให้คนมาให้ข้อมูลด้วยซ้ำ

ย้อนกลับมา แล้วกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาล่ะเป็นที่พึ่งได้ไหม  ตอบว่าได้ แต่ปัญหาคือ เท่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของไทย คดีอาญามักถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ทั้งการแทรกแซงโดยตรง คือ เป็นธงเลยว่าดำเนินคดีกับฝ่ายนี้ ไม่ดำเนินคดีกับฝ่ายนี้ สมัย ปชป. กับ ศอฉ.ยังอยู่ ก็ชัดเจนว่าธงคือบี้เสื้อแดง โดยที่ไม่มีความคืบหน้ากับการสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทหารว่าเขาทำอะไร ยังไง ไม่ตามเลย แล้วพอปรับรัฐบาลมา คดีทางฝั่งทหาร ซึ่งเป็นคดีที่มีตัวตนอยู่จริงก็มีความคืบหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่คดีที่เกี่ยวกับคนชุดดำ มีตัวตนไหม ทำอะไรไหมมันดร็อปไป มันก็มีความกระตือรือร้นในระดับที่ต่างกัน ในประเด็นที่ต่างกันในแต่ละยุคสมัย  มันก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ฉะนั้น ทั้งสองส่วนมันควรจะเอื้อกัน คือ ยุติธรรมอาญาด้านหนึ่ง กับยุติธรรมขององค์กรอิสระที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง มันต้องเอื้อกัน

ตอนนี้สิ่งที่เราตั้งความหวังได้คือ เราอาจเห็นความคืบหน้าในการไต่สวนการตายของกระบวนการในทางอาญา ซึ่งจะบอกได้ว่าเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 16 รายหรือ 18 ราย จะอธิบายได้ว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของคนเหล่านั้นอย่างไร เป็นการกระทำที่มีการสั่งการโดยใคร แต่นั่นก็แค่ส่วนเดียว ยังเหลืออีกเยอะที่ต้องให้คำตอบ

ฉะนั้น การสืบสวนข้อเท็จจริงจึงต้องดึงจากหลายทาง แต่ยังไงก็มองว่าไม่ลักลั่น มันต้องเอื้อกัน แต่ของเราดันไปตัดทอน แยกส่วนจากกัน มันเลยไปไหนไม่ได้เลย

โดยสรุป คอป.ยังควรจะมีต่อไป หรือไม่ต้องมีแล้ว
มองว่ายังต้องมี มันต้องกลายสภาพ ไม่ใช่มีลักษณะการทำงานที่แยกตัวเองออกมาจากองคาพยพอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ทัศนคติแบบนี้ทำให้งานเดินไปไม่ได้ เราต้องมี คอป.ที่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่ คอป.ที่คิดว่าความเป็นอิสระคือการแยกตัวออกไป  ความเป็นอิสระคือ คุณต้องทำตัวให้พิสูจน์ได้ว่าคุณทำอะไร มีความชัดเจนโดยตลอด รายงานความคืบหน้าโดยตลอด

ฉะนั้น สิ่งที่ควรจะเกิดหลังจาก คอป.ชุดนี้หมดวาระไปแล้ว  ในบริบทที่มองว่า ยังไงในประเทศไทยมันต้องมีกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งว่าด้วยการนิรโทษกรรมออกมาแน่ๆ  แล้วตอนนี้เรามีช่วงเวลาพักถอนหายใจ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่มีอยู่ 4 ร่างควรถอนออกมา แล้วเขียนเสียใหม่ ให้รวมถึงมิติที่ว่าด้วยความปรองดองด้วย ไม่ใช่ว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรมอย่างเดียว ตอนนี้เราไปเน้นเรื่องนิรโทษอย่างเดียว

มิติของการปรองดองควรใส่ไว้ในกฎหมายด้วยอย่างรอบด้านที่สุด ซึ่งมีตั้งแต่ กลไกในการสร้างความปรองดองเป็นยังไง ต้องมีคณะกรรมการไหม กรรมการนั้นควรมีองค์ประกอบอย่างไร ไปแปะอยู่ที่ไหน สังกัดอะไร เหมือนกฎหมาย ศอ.บต.ภาคใต้ ก็ได้ลองเทียบดู

มันต้องมีทั้งส่วนเนื้อหาและกลไกประกอบกัน เรื่องของกระบวนการ เวทีสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่อาจารย์โคทม (อารียา) ใช้คำว่า Nation Dialogue Forum มันก็ต้องอยู่ในนี้ด้วยว่า องค์กรใดจะทำหน้าที่ในการจัดเวทีลักษณะนี้ หลังจากนั้นประเด็นเรื่องเกณฑ์ในการนิรโทษก็จะต้องตามมา ไม่ใช่บอกว่านิรโทษเหตุการณ์อะไร แค่นั้น อันนั้นต้องพูดแน่นอน แต่ต้องพูดถึงคนประเภทใดในเหตุการณ์นั้นด้วยที่จะได้รับการนิรโทษกรรม  และเงื่อนไขใดจะได้นิรโทษ เงื่อนไขใดจะไม่ได้นิรโทษ

ฉะนั้น เรามีเวลาหายใจหายคอ  แต่ไม่ใช่ว่า กฎหมายปรองดองมันเลว ต้องล้มมันไป ไม่ใช่ กฎหมายปรองดองเราสามารถทำมันให้เป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ด้วยการเอามาปรับปรุงใหม่

และแน่นอน การปฏิรูปทางการเมืองก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองด้วย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นตัวหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญคือการจัดสรรอำนาจของรัฐ การบังคับใช้อำนาจต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมันเห็นชัดเจนว่ามีความไม่เป็นธรรม ทำให้คนส่วนมากไม่พอใจ เป็นเงื่อนไขของการออกมาประท้วงและเป็นเงื่อนไขของการนำไปปราบปรามผู้ประท้วงด้วย หรือแม้แต่กรณีการแสดงความคิดเห็น ก็ต้องมีการปรับปรุง ต้องมีการมองในกรอบใหญ่ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นเรื่องการปรองดอง

แค่แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็ดูว่าไม่สามารถหาทางออกได้
แค่แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็อ้วกแล้ว คือ รัฐธรรมนูญนั้นมองว่าเป็นตัวชิ่งมากกว่า เจตนาน่าจะต้องการล้ม พ.ร.บ.ปรองดองในขณะนั้น เพราะอายุของการประชุมสภามันถูกขยายไปอย่างไม่มีกำหนด บนเงื่อนไขว่า ยังพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ตราบใดที่ร่างรัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่เสร็จ สภาก็ยังมีอายุต่อไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าเขาจะเบรก พ.ร.บ.ปรองดอง มันต้องเบรกสมัยประชุมสภา ถ้าเบรกสมัยประชุมสภาก็ต้องฆ่าตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสีย แต่พอเอาเข้ามาปุ๊บมันเห็นผลมากกว่า เพราะเพื่อไทยเกิดความอ่อนไหว กลัวการถูกยุบพรรค ก็เลยถอยให้ เขาก็เลยได้คืบเอาศอก แทนที่จะเบรก พ.ร.บ.ปรองดอง ก็มาเล่นอะไรวุ่นวายไปหมด  แต่เกมจริงๆ ยังมองว่าต้องการเบรก พ.ร.บ.ปรองดองด้วยการเบรกสมัยประชุมสภามากกว่า  วันนั้นก็คือก่อความวุ่นวายในสภา มีม็อบล้อม  แต่การประชุมถ้าสมัยประชุมไม่จบ จะประชุมที่ไหนก็ได้ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ ฉะนั้น ต้องเบรกสมัยประชุมสภาไปเลย

ปัญหาก็การใช้แทกติกแบบนี้ คือ กลไกต่างๆ ที่เป็นกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นกลไกที่เลือกข้าง และไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม ไม่ว่ากลไกเหล่านี้จะถูกเอามาใช้ทำอะไรก็ตาม คนกลางในสังคมมันไม่มี กลไกกลางมันไม่มี


หลังจากอ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ร่างแล้วเห็นจุดร่วมของปัญหาอย่างไร  

ทั้ง 4 ร่างเน้นนิรโทษกรรมอย่างเดียว ต่างกันแค่เงื่อนเวลาของเหตุการณ์  แต่ไม่พูดถึงกลไกว่านับแต่นี้ต่อไปจะทำยังไง หรือการจะวินิจฉัยว่าใครจะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ใครจะวินิจฉัย ซึ่งในความเห็นส่วนตัว เห็นว่า การที่จะบอกว่าใครควรได้รับการปรองดองอย่างน้อยต้องปรึกษาคนที่เป็นเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ ก็คือ สังคมโดยรวม ในทัศนะของ Human Right Watch สังคมไทยเป็นผู้ถูกกระทำ กรณีมีคนต่างชาติมาด้วยก็ต้องถามเขา กระบวนการที่ถามเขาได้ก็คือทำประชามติ

ถ้าถามคนที่สูญเสีย คงแทบไม่มีใครที่จะสามารถยอมรับการปรองดองหรือนิรโทษกรรมได้
รับไม่ได้ที่จะให้คนที่ฆ่าลูกเขาลอยนวล ไม่ต้องถึงตาย แค่บาดเจ็บก็คงรับไม่ได้แล้ว เพราะอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ยอมรับ กรณีสไนเปอร์ก็ยังไม่มีการยอมรับว่ามีการใช้สไนเปอร์ยิงพลเรือน มันต้องผิดแล้วยอมรับ  ทำตามคำสั่ง มีความเข้าใจผิด หรืออะไรก็ตามแต่ ต้องมีการอธิบายออกมา  ตอนนี้เลยมีปัญหาอย่างที่ถามว่า แม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกัน หรือที่เป็นฐานเสียงเพื่อไทยส่วนหนึ่งก็อาจไม่รับเรื่องการนิรโทษกรรมเลยก็ได้

แปลว่าน่าจะมี คอป.สอง มาช่วยเป็นคนกลาง
อาจจะมี คอป.สอง แต่ชื่ออาจต้องเปลี่ยน อย่างที่ว่า Truth คงไม่ใช่อาณัติเขาอีกต่อไปแล้ว ด้วยความที่ตั้งความหวังว่า คอป.ชุดปัจจุบันจะทำรายงานในส่วนตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาได้ดีและจะเป็นฐานของ คอป.สองเดินหน้าต่อไปได้  อาจเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เหมือนสมัยคุณอานันท์ ที่ทำงานภาคใต้ นั่นทำงานได้ดีนะ ใช้เป็นตุ๊กตาได้ แต่ปัญหาคือเสนอมาแล้วฝ่ายการเมืองไม่รับเองต่างหาก เพราะมีปัญหาว่า คอส.ในยุคนั้น ค่อนข้างเหลืองแล้วก็มีธงต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลก็คงไม่สบายใจ มันเป็นบทเรียน คงต้องยอมรับว่าสังคมมันแบ่งขั้วอย่างชัดเจน คงไม่สามารถมีกรรมการออกมาเป็นสีขาวได้ แต่ถ้าเขามีความโปร่งใส ชัดเจน มีการรายงานตลอด สังคมก็จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาว่าเขาทำงานโดยบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าตัวบุคคลที่มาประกอบเป็นกรรมการอาจมีธงในใจ มีแนวคิดอุดมการณ์อะไรอยู่ แต่เนื้องานจะเป็นตัวพิสูจน์ในท้ายที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net