Skip to main content
sharethis

เครือปฏิรูปที่ดินฯ ตรัง พบปลัดจังหวัดตรัง พร้อมยื่นหนังสือจี้พ่อเมืองสั่งหยุดฟันต้นยางชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชน เผยป่าไม้เตรียมฟันอีก 5 แปลง ปลัดจังหวัดยันส่งหนังสือสั่งป่าไม้ให้หยุดแล้ว

 
 
วันที่ 17 ก.ค.55 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กว่า 40 คน ได้เข้าพบ นายอมรเศรษฐ์ สุวรรณมาศ ปลัดจังหวัดตรัง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายฯ กรณีความขัดแย้งที่ดินในเขตป่า โดยมี นายเปลื้อง รัตนฉวี ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง นายชวกิจจ์ สุวรรณคีรี ป้องกันจังหวัดตรัง และนายอิศราพันธ์ บุญมาศ หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เข้าร่วมประชุมด้วย
 
พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายได้ยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ต่อ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และอธิบดีอัยการเขต 9 โดยยื่นผ่านปลัดจังหวัดตรัง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ปลัดจังหวัดตรัง ป้องกันจังหวัดตรัง และหัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ประมาณ 1-3 เดือน
 
ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายเสนีย์ จิตตเกษม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 และ 11 เม.ย.55
 
 
“ปลัดจังหวัดตรัง” ยันให้อุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ชะลอการรื้อถอนแล้ว
 
นายอมรเศรษฐ์ กล่าวว่า ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังมีมุมมองคนละทิศทาง จึงน่าจะมีการพูดคุยกันบ่อยๆ เพื่อให้เข้าใจ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการประสานงานจากนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้มีมาตรการชั่วคราวเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งให้ชะลอการรื้อถอนผลอาสินแก่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ทางจังหวัดตรังได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง นายอำเภอทุกอำเภอ หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ให้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว
 
ส่วนประเด็นการเข้าพบของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้จะนำเรียน ผวจ.ตรัง ต่อไป โดยมอบหมายให้ ป้องกันจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ในวันที่ 18 ก.ค.55
 
 
ชาวบ้านเผยป่าไม้เตรียมฟันอีก 5 แปลง
 
ด้านนายสมนึก พุฒนวล คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า วันนี้มาติดตามการแก้ไขปัญหาของทางจังหวัดตรัง ซึ่งยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ และเกิดปัญหาใหม่ๆ ตามมา โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด มีการเตรียมการรื้อถอนต้นยางพาราในพื้นที่สมาชิกเครือข่าย อย่างน้อย 5 ราย
 
“ปลัดจังหวัดตรังยืนยันในที่ประชุมว่า ทางจังหวัดตรังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยส่งหนังสือถึงส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานป่าไม้ ตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาบอกกับผมหลังการประชุมว่า เพิ่งได้รับหนังสือวันนี้เอง จึงสงสัยว่ามีคนไม่พูดความจริง” คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าว
 
นายสมนึกกล่าวกล่าวด้วยว่า หัวหน้าเขตอุทยานฯ ได้ยืนยันในที่ประชุมว่าจะตัดฟันต้นยางพาราในพื้นที่โฉนดชุมชนของสมาชิกเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 5 แปลง โดยไม่ต้องมีการฉีดสีต้นยางพาราก่อนการรื้อถอน ทางเครือข่ายจึงขอให้ทางจังหวัดแจ้งผลการดำเนินการต่อเครือข่ายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะติดตามผลการแก้ไขปัญหาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำไมจึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรองนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
 
 
ร้องอัยการชะลอการดำเนินคดี สมาชิกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน
 
นายสมนึก ให้ข้อมูลด้วยว่า ในวันนี้ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีอัยการเขต 9 ผ่านปลัดจังหวัดด้วย โดยขอให้ทางอัยการเขต 9 พิจารณาชะลอการดำเนินคดี และมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายอัมมร บรรถะ สมาชิกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ทั้งนี้ เนื่องจากทางอัยการสูงสุดได้มีหนังสือชะลอการดำเนินคดีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ในระหว่างที่กำลังดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนายอัมมรจะได้รับการชะลอการดำเนินคดีจากอัยการจังหวัดตรัง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นายอัมมรได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการจังหวัดตรัง ให้มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดตรัง ภายในวันที่ 20 ก.ค.55 โดยระบุว่าไม่ปรากฏผลคืบหน้าในการดำเนินการโฉนดชุมชน จึงยื่นหนังสือเพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการโฉนดชุมชน
 
 
จี้พ่อเมืองสั่งหยุดฟันต้นยางชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนื้อหาในหนังสือฉบับที่เครือข่ายยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังระบุว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่าย 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสูง และพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้รื้อถอนสวนยางพารา และสะพาน รวมทั้งจับกุมชาวบ้านขณะนำหมากแห้งจากสวนออกไปขาย
 
พร้อมทั้งขอให้ ผวจ.ตรัง ประสานงานหน่วยงานป่าไม้ และหน่วยงานอื่นภายใต้การบริหารงานของจังหวัดตรัง ให้มีการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคาม ทำลายอาสิน ดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่าย ตลอดจนแจ้งผลการดำเนินการให้เครือข่ายทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังคงข่มขู่ คุกคามสมาชิกเครือข่าย โดยการพ่นสีต้นยางพารา เพื่อเตรียมการรื้อถอน จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.นายคล้าว-นางเดียม อยู่ทอง 2.นายประพันธ์ จันทร์ขาว อยู่ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านไร่เหนือ ต.ในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) เห็นชอบให้ดำเนินการโฉนดชุมชน 3.นายสุทัศน์ ศรีดี อยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านเขาโหรง ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง 4.นางอุทัย ชูทิ่ง อยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านยูงงาม-ลำพิกุล ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง และ 5.นายชิต มีสุข อยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านยูงงาม-ลำพิกุล ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรั'
 
เนื้อหาในหนังสือระบุอีกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายจังหวัดตรัง เมืองแห่งความสุข เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จึงขอให้ ผวจ.ตรัง โปรดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 
 
1. ขอให้มีคำสั่งชะลอการรื้อถอนอาสิน นายคล้าว-นางเดียม อยู่ทอง นายประพันธ์ จันทร์ขาว นายสุทัศน์ ศรีดี นางอุทัย ชูทิ่ง และนายชิต มีสุข 
 
2. ขอให้เร่งดำเนินการประสานงานให้มีมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ราษฎร และชะลอการดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรสามารถดำเนินวิถีชีวิตตามปกติสุข
 
3. ขอให้แจ้งผลการดำเนินการให้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งการเจรจากับจังหวัดตรังและรัฐบาล การร้องเรียนองค์กรอิสระ องค์กรสิทธิมนุษยชนของรัฐ และการรณรงค์สื่อสารกับสังคม สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้หันกลับมาใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชน ทั้งนี้ แม้รัฐบาลดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน โดยมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ฉบับที่ 2 แต่ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และไม่มีการมอบนโยบายต่อส่วนราชการให้ชัดเจน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net