Skip to main content
sharethis

เครือปฏิรูปที่ดินฯ พัทลุง-ตรัง จี้ผู้ว่าฯ แก้ปมขัดแย้ง “เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ” กรณีประกาศเขตที่ดินสาธารณะฯ ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม-มหาวิทยาลัยไล่ฟ้อง ด้าน “องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์” ร้องปัญหาประกาศเขตป่าทับซ้อน

 
 
เวลาประมาณ 12.30 น. วันนี้ (19 ก.ค.55) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กว่า 150 คน ได้เดินทางมาที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง เพื่อขอพบ นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินของสมาชิก 2 พื้นที่ คือ เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ และองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์ แต่จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น.ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงยังไม่มาพบชาวบ้าน
 
อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฯ ยืนยันที่จะปักหลักชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.พัทลุง จนกว่าจะได้รับคำตอบในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
 
ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือที่เตรียมยื่นต่อนายวิญญู ระบุว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง โปรดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
 
1.กรณีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ
 
1.1) ขอให้ชะลอการก่อสร้าง หรือการดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือกับราษฎรทั้ง 8 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล และขอให้ประสานงานไปยังพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง เพื่อชะลอการสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องคดีกับราษฎร ทั้ง 14 ราย ต่อไป
 
1.2) ขอให้ยุติการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางสายัญ ดำมุสิก และ นายโสภณ ดำมุสิก
 
1.3) ขอให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุง ในปี 2551 ในเรื่องการให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนในพื้นที่ 635 ไร่ และให้มีมติใหม่จากคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุง ให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่ที่ก่อสร้างอาคารแล้วเท่านั้น
 
2. กรณีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนขององค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์
 
2.1) ขอให้เร่งดำเนินการประสานงานให้มีมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ราษฎร และชะลอการดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรสามารถดำเนินวิถีชีวิตตามปกติสุข
 

3. ขอให้แจ้งผลการดำเนินการให้เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ในวันที่ 19 ก.ค.55

 


ผู้ว่าฯ พัทลุง มาตามนัด รับหนังสือ-เปิดห้องเจรจาร่วมเครือข่ายฯ
 
เวลาประมาณ 20.00 น. วันเดียวกัน นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้เดิมทางมารับหนังสือเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง ตามที่ได้มีการนัดหมายไว้ จากที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้รับแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงติดปฏิบัติราชการที่กรุงเทพฯ โดยชาวบ้านยืนกรานที่จะยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น จากนั้นมีการเปิดห้องประชุมเพื่อเจรจาร่วมกันทางเครือข่ายฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม นายวิญญูกล่าวให้ยึดกฎหมายเป็นหลัก พร้อมระบุว่าที่ผ่านมามีการพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณหลายครั้ง แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยินยอมในข้อเสนอของชาวบ้าน ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านต้องไปต่อสู้คดีในชั้นศาลเรื่อง มหาวิทยาลัยขอใช้พื้นที่เกินความจำเป็น และศาลควรต้องเห็นใจชาวบ้าน ทั้งนี้ก่อนปิดการประชุม ได้มีการนัดหมายการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 8 ส.ค.55
 
 
“เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ” ปมขัดแย้งที่ดินสาธารณะ-มหาวิทยาลัยไล่ฟ้อง
 
เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านท่าช้าง ม.5 และบ้านใสกลิ้ง ม.6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ประสบปัญหาการประกาศเขตที่ดินสาธารณะประโยชน์ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และการก่อสร้างมหาวิทยาลัยทักษิณทับซ้อนพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม ทั้งที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำโฉนดชุมชนทุ่งสระ เนื้อที่ 1,022 ไร่ มีประชากรใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 123 ครัวเรือน ชุมชนบ้านท่าช้าง และบ้านใสกลิ้ง ก่อตั้งมาประมาณ 100 ปี
 
เมื่อ พ.ศ.2528 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเขตสาธารณะประโยชน์ทับซ้อนพื้นที่ชาวบ้าน หลังจากนั้น พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ขอใช้พื้นที่สร้างคณะของมหาวิทยาลัย ชาวบ้านเข้าใจว่าความเจริญจะเข้าชุมชน ลูกหลานจะได้เรียนใกล้บ้าน จึงยกที่นาส่วนหนึ่งให้
 
ต่อมา มหาวิทยาลัยได้สร้างอาคาร โดยไม่รอให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามกฎหมาย ทั้งยังทำลายระบบน้ำชลประทาน เพื่อกันแนวเขตมหาวิทยาลัย ทำให้น้ำท่วมในปี พ.ศ.2539 ซ้ำยังขาดน้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการก่อสร้างของมหาวิทยาลัย อีกทั้งมหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของชาวบ้านที่ได้เสียสละที่ดินเพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยตั้งแต่แรกเริ่ม โดยลดฐานะจากวิทยาเขต และคณะ เป็นเพียงวิทยาลัยภูมิปัญญา เท่านั้น
 
ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคัดค้านและร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับอำเภอ จังหวัด รวมทั้งรัฐบาล และองค์กรอิสระ มาอย่างต่อเนื่อง
 
ในช่วงปี พ.ศ.2551-2552 ชาวบ้านได้ร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผลคือกรรมการสิทธิฯ มีมติเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2552 ให้มหาวิทยาลัยยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อไป
 
มหาวิทยาลัยไม่ฟังเสียง ชาวบ้าน-กสม.-ท้องถิ่น แถมปักป้ายห้ามชาวบ้านเข้าทำกิน
 
หลังจากนั้น วันที่ 11 มี.ค.2552 เทศบาลพนางตุงได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ขอให้หยุดทำการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจนกว่าจะมีข้อยุติอย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของกรรมการสิทธิฯ และข้อเรียกร้องของเทศบาลพนางตุง แต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม
 
พร้อมทั้งยังปักป้ายประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว และฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย จำนวน 2 คดี 22 ราย โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล จำนวน 8 ราย และอยู่ในชั้นอัยการ จำนวน 14 ราย
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2555 ได้มีหมายเรียกจากตำรวจแจ้งความจับชาวบ้านเพิ่มเติมอีก 2 ราย ได้แก่ นางสายัญ ดำมุสิก และ นายโสภณ ดำมุสิก
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านได้รวมกลุ่มก่อตั้งเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ตั้งแต่ พ.ศ.2539 ต่อมาได้เป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และได้ยื่นข้อเสนอขอจัดโฉนดชุมชนต่อสำนักงานโฉนดชุมชน โดย นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน ได้ลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2555
 
 
“องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์” กับปัญหาประกาศเขตป่าทับซ้อน
 
องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์ ม.6 ต.หนองธง ม.7 ต.ทุ่งนารี อ.ป่าบอน จ.พัทลุง โดยชุมชนบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์ ก่อตั้งก่อน พ.ศ.2454 ต่อมามีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทับซ้อนพื้นที่ในปี พ.ศ.2510 และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดในปี พ.ศ.2518
 
หลังจากนั้น ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ข่มขู่คุกคาม โดยมีการเผาขนำของชาวบ้าน รื้อถอนอาสิน และดำเนินคดีชาวบ้าน ต่อมา มีการก่อตั้งองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านโหล๊ะหาร-เขาจันทร์
 
ในปี พ.ศ.2553 และได้ยื่นข้อเสนอขอจัดโฉนดชุมชนต่อสำนักงานโฉนดชุมชน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net