Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความว่าด้วยเกร็ดความรู้เกี่ยวกับตุลาการภิวัฒน์ จากนักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต

 

[1] เกริ่นนำ

จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Activism) และผลกระทบของแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ที่ส่งเสริมให้อำนาจตุลาการในการตีความกฎหมายกว้างขวางจนมากเกินขอบเขตและไม่มีอำนาจใดมาถ่วงดุลได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปัญหาตุลาการภิวัฒน์มิใช่เพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ประสบพบปัญหาเช่นนี้ แต่มีอีกหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบสกุลกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) ต่างก็เคยเผชิญกับปัญหาเช่นนี้มาแล้วทั้งสิ้น เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และสาธารณรัฐอินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ แม้กระทั้งสหภาพยุโรปเป็นองค์การระหว่างประเทศลักษณะเหนือชาติ ที่มีศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปทำหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายสหภาพยุโรปในบริบทต่างๆ ก็ประสบกับปัญหาจากแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในบางกรณีเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ตุลาการภิวัฒน์จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายประเทศและในบางคดีศาลต่างประเทศก็พยายามอาศัยแนวคิดหรือความเชื่อบางประการของศาลเอง นำมาพิจารณาหรือพิพากษาคดี (Conceiving Activism) จนทำให้ประชาชนหรือผู้คนส่วนในสังคมบางส่วนคิดว่า ตุลาการภิวัฒน์เป็นพฤติกรรมแบบเผด็จการ (Despotic Behavior) อันนำไปสู่รูปแบบเผด็จการทางศาล (Autocratic Judiciary) ที่ไม่มีอำนาจใดมาทำการตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้

ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นสถาบันทางการเมืองฝ่ายตุลาการที่สัมพันธ์กับการปกครองของรัฐโดยตรง โดยศาลรัฐธรรมนูญเองมีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมโดยการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญและตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในระบอบประชาธิปไตยเพื่ออำนวยความยุติธรรม เช่น การวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายฉบับต่างๆ ไม่ให้มีลักษณะอันเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและการวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง เป็นต้น แม้ว่าสถาบันตุลาการมิใช่สถาบันทางการเมืองเดียวที่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทคดี แต่สถาบันทางการเมืองที่มิใช่สถาบันตุลาการ อาจใช้อำนาจตุลาการได้ในบางกรณี เช่น สถาบันฝ่ายบริหารมีอำนาจในการลดโทษ อภัยโทษหรือนิรโทษกรรมต่อผู้ต้องโทษคดีต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการที่สถาบันทางการเมืองอื่นๆ จะใช้อำนาจตุลาการได้นั้นต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรมารองรับอย่างชัดเจน เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการใช้อำนาจตุลาการได้ ในทางกลับกัน ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นสถาบันทางการเมืองฝ่ายตุลาการตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่กำหนดองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิของศาลรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในส่วนของ วิธิพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กลับไม่ได้ตราเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเฉพาะแต่ประการใด โดยปัจจุบันคงมีเพียงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 เท่านั้น ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดทำการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลระบบไต่ส่วนได้แล้ว ย่อมทำให้คดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีทางมหาชนที่แยกออกจากคดีเอกชนและคดีทางมหาชนอื่นๆ อย่างชัดเจน เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาคดีเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรได้บัญญัติประเภทหรือชนิดคดีที่สามารถนำขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญไว้ จึงควรกำหนดวิธีสบัญญัติหรือกฎหมายวิธิพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษขึ้น เพื่อกำหนดอำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ระบบไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและระบุคุณสมบัติที่บ่งถึงความเชี่ยวชาญของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญในการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การใช้อำนาจตุลาการไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยสถาบันตุลาการเองก็ดี หรือสถาบันทางการเมืองอื่น ตัวอย่างเช่น ฝ่ายบริหารในการลดโทษ อภัยโทษหรือนิรโทษกรรม จำต้องมีบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อกำหนดกรอบอำนาจของสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการให้ใช้อำนาจอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายวางไว้และถือเป็นการควบคุมการพิจารณาพิพากษาคดีให้ชอบด้วยกฎหมายและปราศจากอคติส่วนตนหรือความเห็นส่วนตนมาใช้ในการพิพากษาคดี ด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาทั้งผลดีและผลเสียของแนวคิดตุลาการภิวัฒน์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำการวิเคราะห์มาสู่การให้เหตุผลว่า ควรหรือไม่ที่จะมีการใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์มาทำคำวินิจฉัยในศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆ และผลของคำพิพากษาที่มาจากแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ของศาลยุติธรรมในประเทศต่างๆ หรือศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยจะส่งผลอย่างไรต่อการอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนหรือสังคมโดยรวม

[2] ตุลาการภิวัฒน์และแนวคิดที่โต้แย้ง

ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Activism) แท้ที่จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ศาลหลายประเทศในเครือจักรภพอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงศาลยุติธรรมของบางประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ก็ใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการวินิจฉัยคดีด้วย ทั้งนี้ นักกฎหมายฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการสนับสนุนให้มีการใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ถือว่าเป็นการเปิดกว้างให้ศาลสามารถพัฒนากฎหมายและตีความกฎหมายเพื่อความยุติธรรมได้อย่างกว้างขว้าง นอกจากนี้ ศาลยังอาจอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการสร้างหลักกฎหมายใหม่ๆ ตามแนวคิดของระบบกฎหมายจารีตประเพณีที่ถือว่า “Judge made law” หรือผู้พิพากษาย่อมสร้างหลักกฎหมายได้ผ่านคำพิพากษาของตนในแต่ละคดี แต่อย่างไรก็ดี นักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็นว่าแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ถือเป็นแนวคิดที่ต่อต้าน (Treason) การพิจารณาคดีโดยอาศัยการตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Written Constitution) สำหรับประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่นๆ ที่ออกโดยรัฐสภา (Parliamentary Legislation) เพราะเท่ากับว่าหากให้อำนาจศาลในการตีความหรือพิจารณาคดีอย่างกว้างขวางโดยที่ไม่มีกรอบการวิธีพิจารณาความอย่างชัดเจน ศาลอาจอาศัยทัศนะหรือความเห็นส่วนตนผสมไปกับการทำคำวินิจฉัยโดยไม่คำนึงถึงหลักการและเหตุผลของกฎหมายที่เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรได้

[2.1] ศาลมีหน้าที่เป็นผู้ตีความกฎหมาย แต่มิใช่ผู้บัญญัติกฎหมาย

ศาลมีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีแต่มิใช่ผู้บัญญัติกฎหมายหรือ “Judicis est jus dicere, non dare” เป็นสุภาษิตกฎหมายที่ประสงค์จะกล่าวในเชิงโต้แย้งแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ภายใต้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ที่เห็นว่าศาลอาจสร้างหลักกฎหมายใหม่ได้หรือ “A judge made law.” อันเป็นข้อกล่าวอ้าง (Pretensions) ของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ในการให้อำนาจศาลในการตีความหรือใช้ดุลพินิจในการทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งแม้ว่าจารีตประเพณีของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์หรือระบบกฎหมายจารีตประเพณีได้วางหลักเกณฑ์เอาไว้ แต่ในทางตรงกันข้าม ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะถือว่าการตีความที่ให้อำนาจศาลในการตีความหรือใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางอาจก่อให้เกิดการแทรกแซง (Interventions) ต่อกระบวนการยุติธรรมโดยตัวของผู้พิพากษาผ่านแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ อันอาจทำให้คู่ความไม่ได้รับความยุติธรรมที่เหมาะสมในแต่ละคดีได้

[2.2] ศาลต้องตีความเคร่งครัด

ศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือ “Strict and Complete Legalism” เป็นแนวคิดสนับสนุนการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ แนวคิดดังกล่าวยึดถือการตีความตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยวิธิการตีความดังกล่าวถือเป็นแนวคิดที่โต้แย้งแนวคิดของตุลาการภิวัฒน์ เพราะแนวคิดศาลต้องตีความเคร่งครัดถือเป็นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้พิพากษาในระบบคอมมอนลอว์ สละการใช้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ (Abdication of Judicial Activism) และไม่ให้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการทำคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายอีกฝ่ายมองว่าศาลอาจตีความเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรหรือ “Excessive Legalism” ย่อมถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจและวินิจฉัยของตนในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในประเทศบางประการภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถหาทางออกได้ (Resolution of National Conflict) ด้วยเหตุนี้ แนวคิดที่ศาลอาจตีความเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรและแนวคิดตุลาการภิวัฒน์จึงอาจถือเป็นเรื่องเดียวกันที่เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการตีความในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือในประเด็นที่เกิดความคลุมเครือ

[3] พัฒนาการของตุลาภิวัฒน์ภายใต้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์

แม้ว่าแนวคิดตุลาการภิวัฒน์กับแนวคิดศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดโดยพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรของกฏหมายจะแตกต่างกันสักเพียงใดก็ตาม แต่ระบบคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษในปัจจุบันก็ได้มีการพยายามพัฒนากฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาหลายฉบับ (Statute Law) เพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะประเทศอังกฤษเองไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุนี้ ประเทศอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร จึงอาศัยกลไกของสถาบันทางการเมืองต่างๆประกอบกับพระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรในการกำหนดกลไกทางปกครองเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

พระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างบริบทของกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional texts) และเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Human Rights Instruments) ดังนี้แล้ว การตีความของศาลยุติธรรมในระดับต่างๆ ในระบบคอมมอนลอว์ ควรตีความอันก่อให้เกิดความยุติธรรมและเหมาะสมเพื่อให้ได้คำวินิจฉัยที่ยุติธรรมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ศาลจำต้องไม่ตีความในลักษณะที่ผิดไปกว่าเจตนารมณ์หรือลายลักษณ์อักษรที่ได้บัญญัติไว้ (Extraordinary Creation) แต่อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายหลายท่านมองในมุมกลับกันว่า ในประเทศคอมมอนลอว์บางประเทศที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น และรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศนั้นๆ ไม่ได้กำหนดหรือบัญญัติหลักการต่างๆ ไว้ครอบคลุมทุกบริบทหรือไม่ได้บัญญัติหลักการหลายประการให้เหมาะสมกับความเป็นจริงทางการเมือง (Political Reality) ศาลอาจใช้การตีความโดยอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองหรือปัญหาของสถาบันทางการเมืองก็ได้ อันถือเป็นลักษณะเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ในการเปิดโอกาศให้ศาลได้สร้างสรรค์คำพิพากษาได้เอง (Judicial Creativity) อนึ่ง แม้การตีความตามแนวคิดตุลาการภิวัฒน์อาจแก้ปัญหาข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและสภาพปัญหาที่แท้จริงทางการเมืองที่เกิดขึ้น รวมไปถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ดี การตีความดังกล่าวอาจอาศัยความคลุมเครือ (Ambiguity) และความไม่แน่นอน (Uncertainty) ของของกฎหมายลายลักษณ์อักษรจนนำไปสู่การตีความเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรหรือ “Excessive Legalism” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นได้

[4] การตีความรัฐธรรมนูญภายใต้แนวคิดตุลาการภิวัฒน์

จากที่กล่าวมาในข้างต้น การตีความของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรโดยมากจะตีความโดยอาศัยแนวคิดที่ศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือ “Strict Legalism” กล่าวคือ ศาลต้องอาศัยการตีความตามลายลักษณ์อักษรหรือตามตัวอักษรมาแปลหลักการและเนื้อความในลายลักษณ์อักษร แต่อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นสิ่งที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมได้ยากและต้องมีกระบวนการทางนิติบัญญัติหลายชั้นกว่าจะเพิ่มเติมหรือแก้ไขเนื้อความในรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การที่แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากและมีกระบวนการแก้ไขที่ซับซ้อน ซึ่งถือเป็นหลักการอย่างหนึ่งในการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเปิดช่องประการหนึ่งให้ศาลของประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์และมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร อาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ในการตีความประเด็นที่ไม่ชัดเจนและมีความกำกวม  (Ambiguous Constitutional Implication) ข้อสังเกตุประการหนึ่งจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษของตุลาการภิวัฒน์หรือ “Judicial Activist” คำว่า “Activist” นั้นหมายถึง “ศาล” ต้องเป็นผู้มีบทบาทในการพิจารณาวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองและอาจอาศัยทัศนคติของตนหรือความเชื่อของตนที่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมมาตัดสินคดี โดยศาลหวังจะเติมเต็ม (Fulfill) รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดศาลต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือ “Strict and Complete Legalism” กับแนวคิดตุลาการภิวัฒน์หรือ “Judicial Activist” อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี ทั้งการตีความสองประการต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการตีความโดยอาศัยแนวทางตุลาการภิวัฒน์หรือ “Judicial Activist” ก็มีข้อจำกัดอย่างมากในด้านของความโปร่งใส่ (Judicial Transparency) เพราะการอาศัยแนวคิดดังกล่าวมาตีความย่อมทำให้เปิดโอกาศให้ศาลหรือตุลาการที่มีอคติส่วนตน นำความเชื่อเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการเมืองบางประการ มาทำคำพิจารณาพิพากษาของตน

[5] บทสรุป

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรหรือระบบคอมมอนลอว์ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อาศัยระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรในกระบวนการยุติธรรม ในทางตรงกันข้าม ต้องยอมรับว่าอิทธิผลในการตีความรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรส่วนหนึ่งได้รับมาจากผู้ที่ร่ำเรียนและสำเร็จการศึกษาจากประเทศระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งการตีความของศาลโดยอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อดีอยู่บางประการดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่จำต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าวิกฤติการทางการเมืองที่ประชาชนแบ่งออกเป็นหลายขั้วหลายฝักหลายฝ่ายในปัจจุบัน ศาลหรือตุลาการจำต้องตีความเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเคารพในความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ศาลไม่ควรอาศัยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ไปสร้างบรรทัดฐานหรือพยายามทำตนเป็นสถาบันนิติบัญญัติเสียเอง ด้วยเหตุนี้ การตีความหรือพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องมี วิธีสบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายวิธิพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะขึ้น เพื่อกำหนดกลไกในการควบคุมศาลไม่ให้ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางเกินไปกว่าลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสในการพิจารณาวินิจฉัยคดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net