เปิดแฟ้ม 3 คดี ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และอื่นๆ

 

เรื่องราวของการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ไม่ได้มีเฉพาะกรณีล่าสุดอย่าง กรณีของโชติศักดิ์และเพื่อน ซึ่งอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 เคยมีคดีที่ไม่เป็นข่าวของ รัชพิณ (สงวนนามสกุล) และย้อนไปอีกจนถึงปี 2521 เคยมีกรณีของ อนุชิต (สงวนนามสกุล) ซึ่งในสองคดีหลังที่ว่านี้ศาลพิพากษาลงโทษด้วย

กรณีของ อนุชิต นั้นปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2521  ซึ่งคัดลอกมาจากเอกสารประกอบงานสัมมนาวิชาการเนื่องในวันรำลึกศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555

อนุชิตถูกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ต้องกล่าวถึงบริบทด้วยว่า คดีนี้โจทก์ (อัยการ) ฟ้องว่ามีผู้อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์แลเรื่องการต่อต้านราคาสินค้าที่บริเวณสนามหลวง เมื่อผู้อภิปรายยุติการอภิปรายและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนยืนตรงแสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ จำเลยได้บังอาจกล่าวถ้อยคำดังกล่าวและไม่ยืนตรง เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และเป็นการแสดงอาการไม่เคารพนบนอมต่อพระมหากษัตริย์ต่อหน้าประชุมชน ฯลฯ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ม.112 ให้จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่างๆ เพื่อถวายพระเกียรติและถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะคดีนี้ประชาชนที่ไปฟังการอภิปรายย่อมเข้าใจว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดขึ้นเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน จึงได้ยืนตรงทุกคน จำเลยเป็นนักเรียนครูวิทยาลัยครูสวนสุนันทา ย่อมต้องรู้และเข้าใจดีกว่าประชาชนธรรมดาสามัญ การที่จำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่นในขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเปิดขึ้น ทั้งยังบังอาจกล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

พิพากษายืน

ส่วนกรณีของรัชพิณ นั้น เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพระบุว่า กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.51 เวลากลางวัน ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ฯ รัชโยธิน ขณะเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ จำเลยไม่ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ และได้ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอพอภาพยนตร์ พอเพลงจบก็ยังมีการตะโกนถ้อยคำหยาบคายออกมา (เมื่อถ้อยคำเข้าข่ายหยาบคาย มันก็กลายเป็นปริศนาเสมอ หากคดียังไม่มีคำพิพากษาชั้นฎีกาออกมา -ผู้เขียน)

ปีถัดมา วันที่ 19 ต.ค. ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดลงกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการรอลงอาญาไว้ 2 ปีเนื่องจากมีเหตุว่า จำเลยมีประวัติมีอาการทางจิตและเคยผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวช

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า “พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว เห็นว่ามีแพทย์จากโรงพยาบาลศรีธัญญา และโรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตของจำเลยมาให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานคุม ประพฤติสอดคล้องกันว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเภทมีอาการวิตกกังวล หวาดระแวงกลัว ว่าจะมีคนมาทำร้าย เป็นโรคจิตอารมณ์แปรปรวนโดยมีอาการมาตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายน 2547 ประกอบกับแพทย์หญิงดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้ให้ความเห็นไว้ส่วนหนึ่งว่า สาเหตุของอาการกำเริบทางจิตสภาพแวดล้อมไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่จะทำให้จำเลยเกิด อาการทางจิต แต่กลับเป็นตัวของจำเลยที่จะเป็นตัวกระตุ้นอาการกำเริบทางจริง โดยจำเลยคิดเอง โรงภาพยนตร์หรือการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ใช่สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการทางจิต แต่เกิดจากอาการป่วยของจำเลยซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรงภาพยนตร์และเพลง สรรเสริญพระบารมี โดยจะเป็นสถานที่ใดก็ได้ ซึ่งเกิดจากจำเลยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสถานที่ใด เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่อาจยืนยันได้ว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีอาการป่วย ทางจิตแต่ก็ชี้ให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีอาการบกพร่องทางจิตอยู่บ้าง ซึ่งศาลสามารถนำมาประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษได้และจากคำให้การของจำเลย ต่อพนักงานคุมประพฤติก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะมีพฤติกรรมใดที่จะแสดงความไม่จงรักภักดีอีก

ดังนั้นเมื่อศาลได้คำนึงถึงประวัติ สติปัญญา สุขภาพ ภาวะแห่งจิต ของจำเลยแล้ว เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้เจ้าพนักงานได้สอบถามแนะนำช่วยเหลือตามที่เห็นควร และให้จำเลยไปรีบการบำบัดรักษาความบกพร่องทางจิตใจ ณ สถานพยาบาลของรัฐ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามระยะเวลาที่แพทย์ผู้ทำการรักษาเห็นสมควร โดยกำหนดให้จำเลยนำผลการรักษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติเป็นระยะ”

การต่อสู้ว่าจำเลยมีอาการทางจิตนั้น ทำให้นึกถึงอีกคดีหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และเกี่ยวพันกับเรื่องทางสัญลักษณ์ด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือ กรณีของ สมอลล์ บัณฑิต อานียา

เขาเป็นนักเขียนอิสระสูงวัย ซึ่งได้กล่าวถ้อยคำทำนองว่าไม่ควรมีพระบรมฉายาลักษณ์ในห้องพิจารณาคดี มีเพียงตราชั่งก็เพียงพอ ฯลฯ ในงานเสวนาเมื่อปี 2546 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาโทษจำคุก 4 ปี (จากความผิด 2 กระทง) แต่เนื่องจากเห็นว่าจำเลยอายุ 64 ปี (ขณะนั้น) และมีประวัติป่วยมีอาการทางจิตเคยบำบัดรักษา ประกอบกับไม่เคยทำผิดมาก่อนจึงรอลงอาญาไว้ 3 ปี

ต่อมาปี 2550 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำการโดยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตัวเองได้ ไม่สมควรให้รอการลงโทษ แต่เนื่องจากแม้จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่าได้เขียนและกล่าวข้อความตามฟ้อง จึงเห็นควรให้ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน

ปัจจุบันคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างฎีกา ยังไม่รู้ว่าหมู่หรือจ่า

ส่วนคดีของโชติศักดิ์นั้น แตกต่างจากสองคดี “ไม่ยืน” ที่กล่าวไปแล้ว ทั้งการยกฟ้องในชั้นอัยการในขณะที่คดีอื่นถูกพิพากษาลงโทษ และพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับโชติศักดิ์เขาเพียงแต่ “ไม่ยืน” โดยไม่ได้กล่าวถ้อยคำใดออกมา

อัยการให้เหตุผลในการไม่สั่งฟ้องไว้ว่า  “เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิดในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์”

และว่าหากจะผิดก็เป็นความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485 และมีบทลงโทษให้จำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท

อันที่จริง เราก็ไม่ทราบว่าทั้งกรณีของอนุชิตและรัชพิณ ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร มีพลเมืองดีริเริ่มหรือเข้าร่วมในกระบวนการด้วยหรือไม่ แต่กรณีของโชติศักดิ์ เขาเพียงไม่ยืนขณะมีเพลงบรรเลง หลังจากนั้นคนที่นั่งข้างๆ จึงเริ่มทักถามและถึงขั้นด่าทอ ขว้างปาข้าวของใส่โชติศักดิ์และเพื่อน

แล้วคดีก็เริ่มจากตรงนั้น เมื่อโชติศักดิ์แจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายกับชายคนดังกล่าว เขาก็แจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับเช่นกัน

“แม้ว่าผมจะไม่ยืนแต่ผมก็เคารพสิทธิ์ของคนที่อยากจะยืนเหมือนกัน ผมให้เกียรติพิธีกรรมของเขาด้วยการเลือกที่จะนั่งอย่างสงบ” โชติศักดิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้

แม้เขาจะไม่ผิด แต่ด้วยข้อหาเช่นนี้ก็ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง

ว่ากันถึงที่สุด คดีนี้ยังพ่วงเอา “จิตรา คชเดช” ผู้นำแรงงานหญิงคนสำคัญ ร่วมขบวน “หมิ่น” ไปกับเขาด้วยจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลและตกงาน เพียงเพราะใส่เสื้อรณรงค์ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ซึ่งทำขึ้นเพื่อระดมทุนสู้คดีให้กับโชติศักดิ์ ไปออกรายการของช่อง 11 เรื่อง “ทำท้อง..ทำแท้ง” จากนั้นก็ถูกสื่อค่ายผู้จัดการและเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำไปขยายผล  จากเสื้อรณรงค์ผูกโยงเป็นแนวร่วม นปก. โค่นล้มสถาบัน มีผู้อ่านด่าทอและประกาศบอยคอตผลิตภัณฑ์ไทรอัมพ์ กระทั่งบริษัทขออำนาจศาลเลิกจ้างจิตรา โดยให้เหตุผลว่าสร้างหรือร่วมสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคี จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย สุดท้ายศาลแรงงานพิพากษาอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้างได้ เชื่อว่าได้รับความเสียหายจริง พร้อมระบุถึงบางอย่างที่เป็นที่ฮือฮายิ่ง นั่นคือ “การไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติ”

เพลงสรรเสริญพระบารมี เริ่มเกิดขึ้นราวสมัย ร.5 เพื่อให้ทัดเทียมกษัตริย์อารยประเทศ แต่เริ่มเอามาใช้กันเป็นล่ำเป็นสันในสมัย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงนั้นมีประกาศออกมาหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยมีฉบับหนึ่งระบุว่า

“เมื่อได้เห็นผู้ใด ไม่แสดงความเคารพ....พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี.”

ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒   

พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

 

 

ที่มาภาพ: เว็บไซต์เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท