ททท. จัดทริปคนไทยเยือน "เทือกเขาอัลไต"

ททท. จัดคาราวานรถยนต์จากอำเภออัลไต ที่ซินเจียงอุยกูร์ของจีน พร้อมภารกิจนำกุหลาบ 80 ต้นมาปลูกที่ "หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ" ที่อยุธยา ขณะที่ระหว่างทริป จนท.จีน ตอบคำถาม จนท.ไทย ด้วยว่า "อัลไต" ไม่เกี่ยวอะไรกับ "ไทย" และ "สุโขทัย" และไม่มีร่องรอยว่าคนไทยอพยพมาจากที่นี่

โปสเตอร์คาราวาน "15,000 ไมล์ จาก อัลไต(จีน) สู่ สุวรรณภูมิ(ไทย)" (ที่มา: เว็บไซต์เที่ยวภาคกลาง)

 

ททท.จัดทริปคาราวานรถยนต์เยือน "เทือกเขาอัลไต"

"เว็บไซต์เที่ยวภาคกลาง" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รายงานกิจกรรม "ปฎิบัติการภารกิจพิเศษ มหัศจรรย์เมืองไทย-ใต้ฟ้าพระบารมี คาราวานท่องเที่ยวกับวัฒนธรรม 15,000 ไมล์ จาก อัลไต(จีน) สู่ สุวรรณภูมิ(ไทย)" ซึ่งเป็นคาราวานรถยนต์เริ่มต้นจากเทือกเขาอัลไต

โดยกิจกรรมดังกล่าว ททท. ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจีนและสถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทยจัดคาราวานรถยนต์ระหว่างวันที่ 18 ก.ค. - ร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสพิเศษ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยการนำ “ดินและดอกกุหลาบ” จาก 8 เมืองใหญ่ของจีน และดอกกุหลาบจำนวน 80 ต้น มาร่วมปลูกที่สวนกุหลาบ “หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ” ณ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ในเว็บไซต์เที่ยวภาคกลาง ของ ททท. ดังกล่าวให้ข้อมูลกิจกรรมเพิ่มเติมด้วยว่าเป็นการ

"จัดกิจกรรมคาราวานขับรถท่องเที่ยวจากภูเขาอัลไตของจีน (ซึ่งคนไทยในอดีตบอกไว้ว่าได้อพยพจากอัลไตมาอยู่ที่สุโขทัย?จริงหรือไม่)"

 

โดยการเดินทางดังกล่าว นำโดยนายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการ ททท. ได้นำคณะเดินทางประมาณ 12 คน เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ไปสนามบินกวางโจว ไปยังเมืองอุรุมฉี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ จากนั้นในวันที่ 19 ก.ค. ได้เปลี่ยนเครื่องบินไปยังอำเภออัลไต (Ālètài Dìqū) เพื่อไปสมทบกับคณะของเจ้าหน้าที่จีน ซึ่งรออยู่ที่อำเภออัลไต

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

แผนที่อำเภออัลไต ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (ที่มา: maps.google.com)

พิธีปล่อยคาราวานรถยนต์ "15,000 ไมล์ จาก อัลไต(จีน) สู่ สุวรรณภูมิ(ไทย)" จากศาลาว่าการเมืองอัลไต เมื่อ 20 ก.ค. (ที่มา: TATClub/youtube.com)

กิจกรรมของคณะเดินทาง "15,000 ไมล์ จาก อัลไต(จีน) สู่ สุวรรณภูมิ(ไทย)" ระหว่างเดินทางอยู่ในมณฑลกานซู เมื่อ 26 ก.ค. 55 (ที่มา: เว็บไซต์เที่ยวภาคกลาง)

 

จนท.ไทยถาม จนท.จีน "อัลไต" เกี่ยวกับ "ไทย/สุโขทัย" หรือไม่

และเมื่อ 20 ก.ค. ได้มีพิธีปล่อยคาราวานรถยนต์จากหน้าศาลาว่าการอำเภออัลไต ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ร่วมกับเจ้าหน้าที่จีน ในพิธีปล่อยคาราวานมีการรับมอบดินจาก 8 เมืองใหญ่ของจีน และดอกกุหลาบจำนวน 80 ต้น เพื่อนำมาปลูกที่สวนกุหลาบ "หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ" ที่อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี หรือ ทุ่งหันตรา จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย

ในเว็บไซต์ "เที่ยวภาคกลาง" บรรยายว่าสภาพเมืองอัลไตด้วยว่า

"มีประชากร 600,000 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอิสลาม ชาวคาซัคสถาน ไม่มีชาวไต หรือชาวไทยเลย"

และตอนหนึ่งเจ้าหน้าที่ ททท. ได้ถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรม ของเมืองอัลไตว่า

"อัลไต มีอะไรที่แสดงออกหรือคล้ายกับชาวสุโขทัย หรือ ไทยบ้างไหม ?" .....มีเสียงหัวเราะ...และได้คำตอบว่า "ไม่มี...คงเป็นการออกเสียงคล้ายกันมั่ง "อัลไต" กับ "สุโข-ทัย หรือ ไทย หรือ ไต" เมืองแหลมทองแห่งสุวรรณภูมิ.......อื่นๆ ยังไม่มีร่องรอยว่าคนไทยอพยพมาจากที่นี่เลย....."

 

ล่าสุด กิจกรรม "15,000 ไมล์ จาก อัลไต(จีน) สู่ สุวรรณภูมิ(ไทย)" เข้าสู่การเดินทางเป็นวันที่สิบแล้ว โดยคณะของ ททท. ได้ออกจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เข้าสู่มณฑลกานซูแล้ว 

 

ภาพปกหนังสือ "หลักไทย" โดยขุนวิจิตรมาตรา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2518 ทั้งนี้ขุนวิจิตรมาตราเสนอไว้ในหนังสือหลักไท เมื่อปี พ.ศ. 2471 ว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลาง ต่อมาข้อเสนอนี้ถูกตีตกไป (ที่มาของภาพปก: ร้านตุ้มหนังสือเก่า)

การบรรเลงดนตรีของชาวอัลไต ในสาธารณรัฐอัลไต ในสหพันธรัฐรัสเซีย ติดกับพื้นที่อำเภออัลไต เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน และประเทศมองโกเลีย ทั้งนี้ภาษาอัลไต ซึ่งเป็นภาษาทางการของสาธารณรัฐอัลไต อยู่ในตระกูลภาษาอัลตาติก (Altatic Languages) ซึ่งมีผู้ใช้จำนวนมากอยู่ในแถบเอเชียกลาง (ที่มา: TheMynog/youtube.com)

 

ที่มาของเรื่อง "คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต"

สำหรับแนวคิดเรืองถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้น ผู้เสนอคือขุนวิจิตรมาตรา หรือสง่า กาญจนาคพันธุ์ เสนอไว้ในหนังสือหลักไท เมื่อปี พ.ศ. 2471 ว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกมองโกลด้วยกัน ภายหลังอพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซี เมื่อถูกจีนรุกรานจึงค่อยๆ อพยพลงมาสู่สุวรรณภูมิ 

โดยขุนวิจิตรมาตราเสนอแนวคิดดังกล่าวเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งทำการสำรวจจากภาคเหนือของไทย รัฐฉาน สิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน จนถึงมณฑลกวางสีราวทศวรรษที่ 2450 และได้เขียนหนังสือเรื่อง The Tai Race : The Elder Brother of the Chinese ระบุในหนังสือว่า "ไทยเป็นเชื้อสายมองโกล" และเป็นชาติเก่าแก่กว่าฮีบรูและจีน บ้านเกิดเมืองนอนอยู่แถบเทือกเขาอัลไต และได้อพยพเข้ามายังจีน และเข้าสู่อินโดจีนตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตต่อมาได้ถูกโต้แย้ง เพราะบริเวณเทือกเขาอัลไตเป็นเขตทุรกันดารไม่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัย โดยเว็บไซต์ของศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา อ้างอิงความเห็นของ ศ.เฉินหลี่ฟาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเอเชียอาคเนย์ของจีน ซึ่งระบุว่า "อัลไต" เป็นภาษาของชาวทูเจ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายตุรกีในจีน แปลคำนี้ว่า "ทองคำ" การที่เทือกเขาอัลไตมีชื่อเช่นนี้เพราะว่าเป็นแหล่งแร่ทองคำ มิได้เกี่ยวข้องกับคำว่า "ไท"

จากข้อมูลในสารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย ระบุว่า ปัจจุบันบริเวณที่เป็นเทือกเขาอัลไต อยู่ในอำเภออัลไต เขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ทางตะวันตกของประเทศมองโกเลีย ประเทศคาซัคสถาน และสาธารณรัฐอัลไต ซึ่งอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท