'ทางเท้า' ในฝันสำหรับ 'คนเดินเท้า' ฝันลมๆ แล้งๆ ของคนกรุง?

 
“คนเดินถนนคือสิ่งที่มีคุณค่าน้อยที่สุดในระบบถนน” กรินทร์ กลิ่นขจร อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ทำงานศึกษาเรื่องความพึงพอใจของผู้ใช้ทางเท้าเขตชานเมืองกล่าวขึ้น ขณะนำคณะนักข่าวและผู้สนใจก้มลงสำรวจทางเท้าริมถนนพหลโยธินซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทางเท้าต้นแบบของ กทม.เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา
 
รอยแตกร้าวของพื้นปูคอนกรีต ร่องรอยต่อของอิฐตัวหนอนกับแผ่นคอนกรีตปูพื้นที่ผสาน-เหลือบซ้อนกันด้วยการเทปูน พื้นถนนที่ลาดชันต่างระดับ เหลื่อมมุมของฝาท่อที่ปิดไม่สนิท ร้านค้าแผงลอย พุ่มไม้ริมทาง รวมทั้งอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น เสาไฟฟ้า ทางระบายน้ำ ตู้โทรศัพท์ ป้ายบอกทาง และบันไดขึ้น-ลงรถไฟฟ้า ฯลฯ
 
สิ่งธรรมดาๆ ที่พบเห็นกันเป็นประจำเหล่านี้ถูกชี้ชวนให้ร่วมกันทัศนา ในฐานะอุปสรรคในการเดินบนทางเท้าที่เรามักไม่ให้ความสำคัญ
 
000

 
กรินทร์กล่าวในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง “ทางเท้าในฝันของเราทุกคน” ในงานเปิดตัวโครงการประกวดภาพถ่าย “ทางเท้า...เล่าเรื่อง” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.55 ว่า ปัญหาของทางเท้าใน กทม.นั้นสืบเนื่องมาจากนโยบายและมาตรฐานทางเท้าไม่มีจริง ซึ่งสอดคลองกับการให้ข้อมูลของสมคิด นิ่มเคี่ยม นายช่างโยธาชำนาญงาน หัวหน้ากลุ่มงานโครงการก่อสร้างและบูรณะ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพญาไท ซึ่งชี้แจงในเวทีเดียวกันว่า การจัดการทางเท้านั้นอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งบางแห่งศึกษาจากเมืองนอกแล้วนำมาเป็นต้นแบบ ทำให้แต่ละเขตพื้นที่ทางเท้าไม่เหมือนกัน
 
ผู้ทำการศึกษาเรื่องความพึงพอใจของผู้ใช้ทางเท้าเขตชานเมืองกล่าวด้วยว่า การออกแบบทางเท้าที่ไม่เกี่ยวของกับสถานที่และวิถีชีวิต ไม่เห็นความสำคัญของสังคม เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับสถาปนิกผู้ออกแบบที่ต้องทำความเข้าใจถึงความต้องการของคนใช้ทางเท้าด้วย ยกตัวอย่าง กรณีคนใช้ทางเท้าต้องการไฟส่องสว่างช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมมากกว่าการติดกล้อง CCTV ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภายหลังจากเกิดเหตุ ไม่ใช่การป้องกันปัญหา อีกทั้งกรณีทางเท้า-ทางข้าม และทางลาดสำหรับคนพิการที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
 
 
“ลงมาเดินจริงจะเห็นปัญหาจริง” กรินทร์กล่าวและว่าการแก้ปัญหาทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องไปแก้นโยบาย เพียงแต่มีความใส่ใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกัน แต่คำถามคือประเทศไทยมีทางเท้าสักกี่แห่งที่เห็นอกเห็นใจชีวิตผู้คนที่เดินถนน
 
นอกจากนั้น การดำเนินงานโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่คิดแต่ว่าโปรเจกต์ต้องทำให้สำเร็จในปีงบประมาณ หน่วยงานต่างๆต้องวิ่งไล่เก็บเงินตามสำนักงบประมาณ โดยไม่เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์จริง ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของหน่วยงานต่างๆ ที่มุ่งเอาเงินเป็นศูนย์กลางด้วย
 
000
 
 
กรณี “หาบเร่แผงลอย” ดูเหมือนจะเป็นปัญหาหนึ่งของการสัญจรบนทางเท้าที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ แม้ในมุมมองกรินทร์พวกเขาคือ “เหยื่อ” ที่ถูกกล่าวโทษ เพราะปัจจัยหลักที่กีดขวางการเดินทางมาจากการจัดการระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า การโทษเหยื่อเช่นนี้ไม่ต่างจากกรณีการแคมเปญ “จน เครียด กินเหล้า” ที่คนจนต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง แต่สำหรับใครหลายคนอาจไม่คิดเช่นนั้น 
 
ข้อมูลจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพฯ จำนวนผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขตมีจุดผ่อนผัน 646 จุด จำนวนผู้ลงทะเบียนร้านคา18,896 ราย และยังมีผู้ค้าที่อยู่นอกเขตผ่อนผันอีกนับหมื่นราย
 
สมคิด นิ่มเคี่ยม ในฐานะตัวแทนจากสำนักงานเขตพญาไท กล่าวว่า ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยบนทางเท้าถนนพหลโยธินอยู่ระหว่างการผ่อนผันให้มีการค้าขายได้ในบางจุด (เขตพญาไทมีจุดผ่อนผัน33 จุด) ระหว่างที่สาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ ซึ่งการดำเนินการมีผลทำให้ไม่สามารถจัดการทางเท้าตามที่ได้มีการออกแบบไว้แล้วได้
 
สมคิดกล่าวด้วยว่า หากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์จะไม่มีการผ่อนผันให้ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยอีกต่อไป เพราะถนนพหลโยธินเป็นเส้นทางหลักในการสัญจร และตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยไปจนถึงข้ามคลองบางซื่อเป็นเส้นทางเสด็จ ต้องบริหารเรื่องหน้าตา เพราะดูไม่สวยงาม ส่วนหาบเร่-แผงลอยอาจแก้ปัญหาให้ไปอยู่ในซอย
 
ด้านวรสิทธิ์ ตันตินิพันธ์กุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในคณะผู้ออกแบบทางเท้าย่านถนนพหลโยธิน ทางเท้าต้นแบบของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อปี 2538 เสนอแนวทางแก้ที่ไม่ทำลายหน่วยการผลิตหน่วยย่อยของสังคมอย่างพ่อค้าแม่ค้าริมทางเท้า คือเรื่องการควบคุมอาคารกับตัวทางเท้าวางผังชุมชนเมืองขนาดย่อม ควบคุมแลนด์ยูสหรือการใช้ที่ดินและระบบกิจกรรมในพื้นที่ โดยการจัดระเบียบควรให้ความสำคัญกับทุกชีวิตที่อยู่บนท้องถนน
 
ทั้งนี้ ตามรายงานการศึกษา “คุณลักษณะสำคัญของทางเท้าที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้าเพื่อส่งเสริมการเดินทางไป-กลับในพื้นที่กึ่งเมืองโดยไม่ใช้เชื้อเพลิง: การสำรวจความสามารถในการเดินเขตลาดกระบัง” เมื่อปี2553 คณะนักวิจัยมีข้อเสนอกรณีสิ่งกีดขวางชั่วคราว เช่น ผู้ค้าแผงลอยร้านกาแฟข้างทางเท้าร้านค้าริมทางไว้ว่า ควรจะได้รับการส่งเสริมและจัดวางตัวอยู่บนเนื้อที่ที่กำหนด เพื่อสร้างเสริมสภาพแวดล้อมคนเดินเท้า โดยไม่ละเมิดความกว้างที่มีประสิทธิผลของทางสัญจรด้วยเท้า
 
สิ่งกีดขวางชั่วคราวควรจะเป็นสิ่งกีดขวางที่ได้รับการต้อนรับจากคนเดินเท้า และเสริมสร้างกิจกรรมการเดินเท้า นั่นคือข้อเสนอหนึ่งเพื่อการอยู่ร่วมกัน
 
000
 
 
โครงการประกวดภาพถ่าย “ทางเท้า...เล่าเรื่อง” กิจกรรมภายใต้โครงการ “Community Desirable/ Undesirable Walkway” เพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาบอกบอกเล่าเรื่องราวและแนวคิดเกี่ยวกับทางเท้า ทั้งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนาของชุมชน
 
กวิน ชุติมา เลขาธิการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความคาดหวังว่า การเปิดรับภาพถ่ายจากทั่วประเทศเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นความสนใจให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอสิ่งดีๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐดำเนินการจนเกิดปัญหาภายหลัง แล้วค่อยมารวมตัวกันเรียกร้อง
 
กวินกล่าวด้วยว่า พื้นที่ถนน-ทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งทุกคนควรมีสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่อำนวยความสะดวกให้เฉพาะคนมีรถ โดยละเลยคนส่วนใหญ่ที่ต้องใช้ทางเท้าในการสัญจร
 
เรื่องทางเดินเท้า... สะท้อนให้เห็นถึงความจำนนต่อสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดมาให้ซึ่งมันมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน ตามทัศนะของ นพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการผลักดันการเดิน และการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย ในการร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ
 
 
นพ.อนุศักดิ์กล่าวด้วยว่าเรื่องทางเท้าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกทำให้เป็นเรื่องเล็กๆ น่าจะต้องเรียกร้องความสนใจจากทั้งชุมชน-คนทั่วไปในฐานะผู้ใช้ และผู้รับผิดชอบดูแลจัดสภาพแวดล้อมในฐานะผู้ใช้งบประมาณ
 
ส่วนสมคิดเสนอให้ส่งรูปที่พิจารณารางวัลแล้วเสนอต่อ กทม.ดูเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพื่อการนำไปใช้ให้เกิดเป็นผลดีต่อเนื่องต่อไป เพราะปัจจุบันแต่ละเขตพื้นที่ไม่มีรูปแบบไม่รู้จะจัดการอย่างไร
 
ตัวแทนจากสำนักงานเขตพญาไทกล่าวด้วยว่า กระบวนการหาก กทม.เห็นชอบก็จะมีการแจ้งให้ทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ มาประชุม เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการทางเท้าที่ดีให้เป็นรูปแบบเดียวกันต่อไป
 
000
 
 
ภาพชินตาของระบบถนนในเมืองใหญ่ คือการที่พื้นที่ทางเท้าถูกลดขนาดลงเรื่อยๆ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ถนนให้รถราได้สัญจรไปมา ขณะที่ใต้อาคารบางหลังทางเท้าถูกใช้เป็นที่จอดรถ เพราะอาคารที่สร้างมาเป็นเวลานานก่อนการขยายตัวของเมือง ไม่ได้คิดเรื่องที่จอดรถเตรียมไว้ ส่วนจักรยานยนต์ก็ใช้ทางเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่แออัด-ย่นระยะทาง
 
อีกทั้ง ทางเท้าบางแห่งพื้นที่ไม่มากนักแต่ก็ยังมีการแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกไม้ประดับ โดยอ้างความสวยงามและพื้นที่สีเขียวเพื่ออากาศที่ดี (?) ในขณะที่ปอดของเมืองตัวจริงอย่างต้นไม้ใหญ่กลับไม่ถูกดูแล เหล่านี้คือปัญหาจากความไม่ใส่ใจต่อคนเดินเท้าที่เราพบเห็น...
 
หากโครงการประกวดภาพถ่ายเล็กๆ สามารถจุดกระแสให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้จริง คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย
 
 
 ..........................................................................................................
 
หมายเหตุ: ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมโครงการประกวดภาพถ่าย “ทางเท้า... เล่าเรื่อง” กิจกรรมภายใต้โครงการ “Community Desirable/ Undesirable Walkway” บอกเล่าเรื่องราวและแนวคิดเกี่ยวกับทางเท้าที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนาของชุมชน ในโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทยได้ที่ http://www.thaihealth.or.th/about/announcement/29663 และwww.facebook.com/pages/โครงการประกวดภาพถ่าย-ทางเท้า-เล่าเรื่อง 
 
ลงทะเบียนรับหมายเลขภาพที่ www.thaicyclingclub.org
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท