Skip to main content
sharethis

สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ตเตรียมยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ภูเก็ต ร้องตั้งกรรมการสอบกรณีเลิกจ้างพนักงานโรงแรม ขาดทุนจริง หรือทำลายสหภาพฯ

จากกรณีการเลิกจ้างพนักงานโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท และโรงแรมดิเอวาซอนภูเก็ต โดยต่อมา ศาลแรงงาน จ.ภูเก็ต อนุญาตให้โรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

(2 ส.ค.55) วิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต ให้สัมภาษณ์ว่า สหพันธ์ฯ เตรียมยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเลิกจ้าง ว่าเหตุผลที่เลิกจ้างเนื่องจากการขายกิจการ และการขาดทุน เป็นความจริงหรือไม่ หรือมีความต้องการล้มสหภาพแรงงาน โดยจะเสนอให้คณะกรรมการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดหางาน ประกันสังคม อัยการจังหวัด อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง และไม่ให้ลูกจ้างรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง โดยเชื่อว่าหากผลสอบออกมาว่านายจ้างขาดทุนจริง ก็เชื่อว่าลูกจ้างจะเข้าใจได้อยู่แล้ว แต่หากเป็นการกลั่นแกล้งสหภาพฯ ก็ต้องว่ากันต่อไป ว่าจะจัดการอย่างไรกับนายจ้าง

ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ โรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท ภูเก็ต ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 350 คน โดยมีการแจ้งล่วงหน้า 30 กว่าวัน และให้เหตุผลว่า เนื่องจากขายโอนกิจการให้ผู้ซื้อรายใหม่จึงต้องปิดกิจการ ขณะที่โรงแรมดิเอวาซอน ภูเก็ต มีการประกาศเลิกจ้างพนักงาน 400 คนโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและไม่เคยมีการพูดคุยกับกรรมการลูกจ้างมาก่อน แม้จะมีการติดต่อขอประชุมกับฝ่ายบริหารเพื่อขอคำยืนยันเนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการเลิกจ้าง โดยมีการเลื่อนนัดกรรมการลูกจ้างถึงสองครั้ง โดยในการเลิกจ้างนี้ โรงแรมให้เหตุผลว่าขายกิจการและที่ผ่านมาขาดทุน 4 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ พนักงาน 60-70% ของทั้งสองโรงแรมล้วนแต่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

วิจิตร กล่าวว่า กรณีโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท นั้น นายจ้างได้ขออำนาจศาลในการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ซึ่งศาลได้อนุญาตเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการลูกจ้างจะอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าว ขณะที่โรงแรมดิเอวาซอนนั้น ติดประกาศว่าไม่ได้เลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง แต่กลับมีการโอนเงินค่าชดเชยเข้าบัญชีของทุกคนแล้ว เป็นการสื่อว่าเลิกจ้างแน่ๆ โดยกรณีของพนักงานทั้งสองโรงแรมนี้ สภาทนายความได้เข้ามาช่วยเหลือด้านคดีความ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเลิกจ้างในลักษณะนี้ โดยเมื่อเปลี่ยนเจ้าของก็มักมีการโอนทั้งสภาพหนี้และลูกจ้าง และว่าแทนการใช้มาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายเงินให้ลูกจ้างในช่วงที่หยุดกิจการ แต่โรงแรมกลับล้างไพ่ใหม่ เพื่อคัดเอาพนักงานหนุ่ม-สาว เข้ามาแทนพนักงานเก่าที่อายุงานนาน ค่าจ้างสูง สิทธิประโยชน์-สวัสดิการเยอะ โดยไม่คำนึงถึงพนักงานที่ทำงานมานานกว่า 20-30 ปี จนอายุ 40-50 ปี ว่าจะหางานใหม่ได้อย่างไร

วิจิตร กล่าวว่า อยากให้ผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง เท่าเทียม อย่าเลือกปฏิบัติหรือปล่อยให้จบที่การจ่ายค่าชดเชย จะต้องคุ้มครองแรงงานด้วย ทั้งนี้ กังวลว่าหากปล่อยให้มีการโละพนักงานคนเก่าได้ จะเกิดลัทธิเอาอย่าง เกิดการเลิกจ้างเป็นโดมิโนแน่ๆ

ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า คนงานตระหนักดีว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นแหล่งทำมาหากินของประเทศชาติ ก็พยายามไม่ประท้วง รวมตัวปิดถนน เพราะเกรงจะสร้างภาพไม่ดีต่อการท่องเที่ยว แต่รัฐในฐานะผู้กุมกลไกทางกฎหมายก็ต้องช่วยเหลือลูกจ้างด้วย หากลูกจ้างมองว่าพึ่งกฎหมายไม่ได้ ก็อาจพึ่งตัวเอง เมื่อนั้นก็อาจจะสายไปแล้ว

 

 


--------------------------------

เพิ่มเติม
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 กำหนดว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net