Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวการบังคับไล่ที่ชาวบ้าน เป็นข่าวที่พบเห็นได้ในหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับในกัมพูชา ใครที่เคยมากรุงพนมเปญเมื่อสักกยี่สิบปีก่อน หากได้กลับอีกคราคงจะจำไม่ได้ ด้วยตึกรามบ้านช่องขึ้นจนแน่นขนัด พื้นที่ว่างเปล่าแทบไม่เหลือให้เห็น จะว่าไปแล้ว หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่เคยมีการอพยพผู้คนออกไปใช้แรงงานในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของประชาการหลายล้านคน รวมไปถึงสงครามกลางเมืองอันเป็นการสู้รบระหว่างเขมรแดงและเจ้าสีหนุฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายรัฐบาลที่สนับสนุนโดยเวียดนามที่เพิ่งยุติลงในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 กัมพูชาถือว่าพัฒนาประเทศได้รวดเร็วเลยทีเดียว

กรุงพนมเปญในวันนี้ ท้องถนนสว่างไสว มีธุรกิจและร้านค้าต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไป ด้วยอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ กัมพูชาจึงเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากเวียดนามและจีน โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศที่ให้เงินสนับสนุนแก่รัฐบาลกัมพูชามากที่สุด การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้กรุงพนมเปญที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วคับแคบลงในพริบตา เมื่อการขยายตัวของเมืองมาถึงขีดจำกัด ทางเลือกที่ทางการกัมพูชาเลือกใช้ก็คือ การบังคับไล่ที่ "เพื่อการพัฒนา"

ในอดีต ใจกลางกรุงพนมเปญมีทะเลสาบที่เรียกว่า บองกัก ซึ่งทะเลสาบแห่งนี้มีชุมชนชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับน้ำอาศัยอยู่นับพันครัวเรือน ต่อมาเมื่อการพัฒนากลืนกินพื้นที่ว่างไปหมด ก็มาถึงคราวของพื้นน้ำ รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจให้สัมปทานแก่บรรษัทเอกชนเข้าทำการถมทะเลสาบเพื่อจะได้นำที่ดินมาใช้ในการพัฒนา ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนต้องถูกไล่ที่ ซึ่งการไล่ที่ ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียบ้านแต่เพียงอย่างเดียว มันยังหมายถึงการสูญเสียวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ไปด้วย

การบังคับไล่ที่อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในเมืองไทย เนื่องจากมันไม่ได้เกิดขึ้นใจกลางกรุง รวมทั้งยังไม่มีภาพชาวบ้านที่ถูกไล่ที่ชุมนุมประท้วงโดยสันติเพื่อยืนยันสิทธิของเขาก่อนโดนไล่ตีหัวร้างข้างแตกแบบที่ปรากฏในกัมพูชา ทว่าประเทศไทยก็ใช่ว่าจะปราศจากซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ การสร้างเขื่อนรวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งรัฐอื่นๆ เช่น ถนน และทางด่วน ก็ก่อให้เกิดคำถามทั้งเรื่องการไล่ที่และสูญเสียวิถีชีวิตได้เช่นกัน จริงอยู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นต่อรัฐและประชากรโดยรวม (คำถามที่ว่า ใครคือประชากรโดยรวมทั้งหมด ยังเป็นคำถามที่จำเป็นต้องตอบแต่ ณ ที่นี้จะขอแขวนไว้ก่อน) ทว่ารัฐเองก็จำเป็นจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะประกันความยุติธรรมแก่ผู้ถูกย้ายที่อย่างไร

การบังคับเอาที่ หรือที่เรียกกันแบบน่ารักๆ ว่า การเวรคืนที่ดินนั้น เป็นสิ่งที่ทำกันอยู่ทั่วไปในหลายๆ ประเทศ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการเรียกคืนที่ดิน เพราะหลายต่อหลายครั้ง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำในพื้นที่ที่มีผู้อาศัยอยู่แล้ว หากไม่มีการเวนคืนที่ดิน โครงการพัฒนาก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในบางโครงการก็คงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ก่อให้เกิดความเจริญและการพัฒนา

อย่างไรก็ดีหากจะมีการเวนคืนที่ดิน คำถามอย่างน้อยสองข้อที่ควรจะต้องตอบให้ได้เสียก่อนก็คือ หนึ่ง โครงการพัฒนานั้นเป็นประโยชน์ต่อใคร และสอง หากอ้างหลักประชาธิปไตยที่ต้องรักษาผลประโยชน์เพื่อคนส่วนมาก (การพัฒนา) แล้วคนส่วนน้อยที่ถูกบังคับให้เป็นผู้เสียสละย้ายที่ รัฐมีมาตรการดูแลพวกเขาเหล่านั้นเช่นไร นี่ยังไม่นับรวมไปถึงคำถามด้านสิ่งแวดล้อมที่ว่า ผลที่ได้จากการพัฒนาและราคาที่ต้องจ่ายในแง่ความเสียหายของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมในระยะยาวนั้นมันคุ้มกันไหม

ในกรณีกัมพูชานั้น คำตอบของคำถามทั้งสองข้อ ดูจะไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ประการแรกที่ว่า การพัฒนานั้นเป็นผลประโยชน์ต่อใคร ในกรณีของการบังคับย้ายที่ชุมชนทะเลสาบบองกักนั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นประโยชน์ต่อนายทุนโดยแท้ เนื่องจากเป็นการสัมปทานที่ดินให้แก่เอกชน มิใช่ถมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐอาจอ้างว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม หากแต่เมื่อพิจารณาโดยใกล้ชิดแล้วก็จะเห็นได้ว่า มันเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะแท้ที่จริงแล้ว ผลประโยชน์ทางธุรกิจในกัมพูชาก็กระจุกตัวอยู่แต่ในหมู่นายทุนและผู้นำระดับสูงในพรรครัฐบาลเท่านั้น จริงอยู่การขยายตัวของภาคธุรกิจ อาจก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงค่าจ้างแรงงานที่ต่ำในกัมพูชาแล้วการจ้างงานที่เกิดขึ้นก็เป็นแต่เพียงการขยายตัวของการสะสมทุนและขูดรีดแรงงานโดยที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่ได้ตกถึงมือและท้องของผู้ใช้แรงงานแม้แต่น้อย

ในส่วนของคำถามที่ว่า รัฐมีการดูแลผู้ที่ต้อง ”เสียสละ” ย้ายที่ออกไปมากน้อยหรือไม่อย่างไรนั้น ในกรณีชุมชนบองกัก สิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากรัฐบาล ไม่ใช่การจ่ายเงินชดเชย หากแต่เป็นความแห้งแล้งและความรุนแรง

ชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกย้ายไปอยู่ใกล้ๆ กับเมืองพนมอุดง เมืองหลวงเก่าของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงพื้นที่แห้งแล้ง ลองจินตนาการดูว่า คนที่เคยอาศัยทำมาหากินกับน้ำ เมื่อต้องมาอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง พวกเขาจะทำอย่างไร จริงอยู่ชาวบ้านบางส่วนที่ยอมย้ายแต่โดยดี อาจได้รับค่าตอบแทนบ้าง แต่มันคงเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก และเมื่อเทียบกับวิถีชีวิตที่สูญเสียไป ค่าชดเชยนั้นคงเป็นได้แค่เศษกระดาษที่ช่วยให้พอประทังชีวิตได้ไปอีกไม่กี่มื้อ ส่วนชาวบ้านที่รวมตัวกันคัดค้านการย้ายที่โดยสันติก็ได้รับแจกท็อปบูท ลูกกระสุนและทัวร์ห้องกรงจากทางรัฐไปตามระเบียบ

กรณีการบังคับไล่ที่ในกัมพูชาอาจจะดุเดือดรุนแรงเกินไปหากจะนำมาเปรียบเทียบกับการเวนคืนที่ดินเพื่อการพัฒนาในเมืองไทย แต่มันก็เกิดคำถามหลายข้อที่ทำให้เราต้องฉุกคิดและตอบคำถามเหล่านั้น คำถามแรกเกี่ยวกับผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา แน่นอน โครงการเขื่อนหรือโครงการถนนบางโครงการอาจดูเป็นโครงการที่เป็นสาธารณะประโยชน์มากกว่าการไล่ที่ทะเลสาบบองกัก ซึ่งแน่นอนว่า เป็นผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แต่หากพิจารณาให้ลึก ผลประโยชน์ที่ดูเป็นสาธารณะในเมืองไทยแท้จริงแล้วก็กระจุกตัว โดยเฉพาะโครงการเขื่อนที่ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือป้องกันน้ำท่วม ก็ดูจะเป็นประโยชน์ที่เป็นคนเมือง ในขณะที่บางครั้งคนที่เสียสละถูกไล่ที่เพื่อการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากลับเข้าถึงไฟฟ้าได้ยากลำบาก ในส่วนของคำถามที่ว่า เมื่อย้ายที่แล้ว มีการดูแลผู้ถูกย้ายที่มากน้อยแค่ไหน ในประเทศไทยอาจมีการชดเชยที่ดูดีกว่าในกัมพูชา แต่ว่าในระยะยาว รัฐไทยก็คงไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการสูญเสียวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ได้ดีไปกว่าทางการกัมพูชาเสียเท่าไหร่

แน่นอนว่า ในอนาคต รัฐไทยก็คงจะผุดโครงการที่ทำให้คนบางกลุ่มต้องถูกบังคับย้ายที่เพื่อแลกกับการพัฒนาขึ้นมาอีก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกๆ โครงการพัฒนา มีราคาที่จะต้องจ่ายไป ซึ่งก็คือวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่มซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนชายขอบ (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนชนบทที่ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญ แต่รวมถึงกลุ่มคนชั้นล่างที่ไร้อำนาจ เช่น กลุ่มคนจนเมืองที่อาศัยในเขตชุมชนแออัด ซึ่งอาจถูกไล่ที่เพื่อการสร้างทางด่วนด้วย) นอกจากนี้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ถูกพิจารณารวมในบทความนี้ก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายไป

บทความชิ้นนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านการพัฒนาดังกล่าว เพราะคงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริงที่จะยุติโครงการพัฒนาทั้งหลาย แต่บทความชิ้นนี้ อยากจะเสนอว่า ก่อนลงมือทำการเวนคืนหรือไล่ที่ชาวบ้านเพื่อการพัฒนา รัฐควรทำการศึกษาอย่างจริงจังเสียก่อนว่า การพัฒนาเหล่านั้นจะยังประโยชน์แก่ใคร แก่คนส่วนใหญ่หรือคนเพียงหยิบมือในสังคม และหากแม้โครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่จริง รัฐก็จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่า จะทำอย่างไรกับคนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในสังคมประชาธิปไตย แม้สิทธิของคนส่วนน้อยก็ต้องได้รับความคุ้มครองเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่คนส่วนน้อยต้องเสียสละอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของตนเพื่อคนส่วนใหญ่ การชดเชยด้วยเงินคงไม่เพียงพอ การชดเชยด้านการฝึกอาชีพเพื่อปรับตัวกับชีวิตใหม่ การรื้อฟื้นและพิทักษ์อัตลักษณ์ รวมไปถึงการให้เครดิตแก่การเสียสละของพวกเขา ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ

และท้ายที่สุดคงต้องฝากถึงเพื่อนมิตรประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินในเมืองที่มักเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเหล่านี้ว่า หากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรม (มาประท้วงนั่นแหละ) ได้โปรดอย่าโวยวายว่า พวกนี้มาทำรถติดเศรษฐกิจย่อยยับ บลาๆๆ เพราะแม้นท่านจะจ่ายภาษี แต่อย่างน้อยท่านก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่า จะถูกไล่ที่เหมือนพวกเขาเหล่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net